เคล็ดลับความสุขจากนักวิจัยด้านความสุข

Care / Self Care

“ขอให้มีความสุข” เป็นคำอวยพรที่เรามักจะได้รับหรือมอบให้กับคนอื่นบ่อยๆ เพราะความสุขคือความรู้สึกดีๆ ที่ใครๆ ก็อยากมี ความสุขอาจหมายถึงความรู้สึกสบายใจเมื่อได้อยู่กับคนที่เรารัก การได้ทำสิ่งที่อยากทำ หรือได้ครอบครองในสิ่งที่อยากได้ ฟังดูก็เป็นเรื่องง่ายๆ แต่มันกลับไม่ง่ายเสมอไป เพราะในชีวิตจริงไม่ได้มีแต่เรื่องสมหวัง และยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ เครียด กังวล จนหมดความสุข หรือหาหนทางไปสู่ความสุขไม่เจอ

วันนี้ชีวิตดี by hhc Thailand ก็เลยนำเคล็ดลับน่าสนใจจากนักจิตวิทยาที่ศึกษาด้านความสุขโดยเฉพาะมาฝาก หวังว่าจะช่วยให้การมีความสุขของผู้อ่านนั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ

นี่คือเคล็ดลับความสุขที่ โรเบิร์ต วาลดิงเกอร์ นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้มาจากการติดตามชีวิตกลุ่มตัวอย่างจำนวน 725 คนเป็นเวลามากกว่า 80 ปี โดยเริ่มต้นเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่ยาวนานที่สุดในการศึกษาพัฒนาการของผู้ใหญ่เลยก็ว่าได้ และโรเบิร์ตคือผู้อำนวยการรุ่นที่ 4 ที่มารับช่วงดูแลต่อ

กลุ่มตัวอย่างในโปรเจ็กต์นี้ถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือนักศึกษาชั้นปีที่สองของฮาร์วาร์ดอายุ 19 ปี และกลุ่มที่สองคือวัยรุ่นจากย่านที่ยากจนที่สุดของบอสตัน ซึ่งถูกเลือกมาจากครอบครัวที่มีปัญหาและด้อยโอกาสมากที่สุด

ทั้งสองกลุ่มจะถูกสัมภาษณ์เจาะลึกไปถึงความคิดและชีวิตส่วนตัว ตามไปบ้านเพื่อสัมภาษณ์ครอบครัว ทั้งถ่ายรูป บันทึกเสียง และอัดวิดีโอ ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด รวมถึงผลสแกนสมอง และผล DNA ด้วย โดยนักวิจัยจะคอยติดตามอัพเดทกันทุกสองปี และเมื่อกลุ่มตัวอย่างมีภรรยา มีลูก ก็ตามสัมภาษณ์กันต่อไปอีก 

จากการรวบรวมข้อมูลรอบด้านเป็นเวลายาวนาน ได้เผยให้เห็นว่า

  • คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น ครอบครัว เพื่อน หรือคนในชุมชน จะมีความสุขและสุขภาพดีกว่าคนที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร โดยคนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวมักจะไม่ค่อยมีความสุข แถมสุขภาพแย่ลงในช่วงวัยกลางคน การทำงานของสมองลดลงเร็วกว่า และมีอายุสั้นกว่า
  • แต่สิ่งสำคัญมากกว่า ‘จำนวน’ ของผู้คนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย คือ ‘คุณภาพ’ ของความสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนเยอะก็ได้ มีเพื่อนน้อยแต่ทำดีต่อกันก็พอ เพราะการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนั้นไม่ดีต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น การแต่งงานที่มีความขัดแย้งสูงนั้นบางทีอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าการหย่าร้างเสียอีก 
  • การมีความสัมพันธ์ที่ดีนอกจากจะดีต่อร่างกายแล้ว ยังดีต่อสมองด้วย และคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่รู้สึกว่าตนเองสามารถไว้วางใจและพึ่งพาอีกคนหนึ่งได้ในยามจำเป็น สมองและความจำของคนเหล่านั้นจะไม่ค่อยมีปัญหา โดยเฉพาะในช่วงวัยชราที่มักประสบปัญหาความจำเสื่อม 
  • ความอบอุ่นของความสัมพันธ์นั้นจะส่งผลเชิงบวกโดยตรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน หรือโรคข้ออักเสบ 
  • คนที่มีเครือข่ายทางสังคมกว้างขวางและทำกิจกรรมทางสังคมเป็นประจำจะช่วยชลอการเสื่อมของความจำได้
  • แน่นอนว่าความมั่นคงทางการเงิน และการมีเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวเป็นเรื่องจำเป็น แต่คนที่เสียสละทุกอย่างเพื่องานมากเกินมักจะลงเอยด้วยความรู้สึกว่าพวกเขาตัดสินใจพลาดไป น่าจะใช้เวลาให้กับการดูแลความสัมพันธ์กับคนรอบตัวให้มากกว่านี้ ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี
  • ในแง่ของการใช้จ่ายเงินเพื่อความสุข การจ่ายเงินเพื่อได้รับประสบการณ์ดีๆ นั้นคุ้มค่ามากกว่าจ่ายเพื่อสิ่งของที่เป็นวัตถุ เพราะประสบการณ์อาจช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น หรือช่วยให้มีความสุขจากการได้พบปะผู้คนใหม่ๆ
  • ที่น่าสนใจคือ กลุ่มตัวอย่างบอกว่าพวกเขามีความสุขมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยตั้งแต่ช่วงวัยกลางคนเป็นต้นไปพวกเขาเริ่มให้ความสนใจกับข้อมูลเชิงบวกมากกว่าข้อมูลเชิงลบ จดจำเรื่องดีๆ ในอดีตมากกว่าเรื่องไม่ดี และเพลิดเพลินกับช่วงเวลาปัจจุบันมากขึ้น นั่นเพราะว่าเมื่อเรารู้สึกว่าเวลามีจำกัด ความสุขจะกลายเป็นเรื่องสำคัญ 

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่คุณโรเบิร์ตพบว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนเรามีสุขภาพดีและมีชีวิตที่มีความสุข หาใช่การร่ำรวยมีเงินทอง หรือมีชื่อเสียง (ซึ่งอาจจะสำคัญในช่วงเวลาหนึ่ง) แต่คือการมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้คนรอบตัวนั่นเอง 

ชวนอ่านบทความสร้างความสุขจาก hhc Thailand:

อ้างอิง:
Ted.com
hsph.harvard.edu

บทความที่เกี่ยวข้อง