ฝึกเป็น ‘คนใจดี’ ไม่ใช่แค่ดีต่อใจ แต่ยังดีต่อสุขภาพกายด้วย

Care / Self Care

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเคล็ดลับสำคัญของการมีสุขภาพดี นั่นคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ และทำจิตใจให้ผ่อนคลาย แต่รู้หรือเปล่าว่า ยังมีอีกเคล็ดลับเด็ดที่หลายคนอาจไม่เชื่อว่าจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพได้ นั่นก็คือ ‘การเป็นคนใจดี’ 

ต้องบอกก่อนว่าการเป็นคนใจดีในที่นี้หมายถึงการเป็นคนมีน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอย่างจริงใจ คงพอเดาได้ว่ามันย่อมทำให้เกิดความรู้สึกดีตามมา แต่นอกจากความรู้สึกดี ความใจดียังส่งผลดีต่อสุขภาพกายของเราด้วย เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่ข้อสรุปเล่นๆ แต่เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และมีงานวิจัยยืนยันไม่น้อยเลยทีเดียว

เกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย–เมื่อเราเป็นคนใจดี 

  • ความใจดีทำงานกับสมองโดยตรง ทุกครั้งที่เราใจดีกับคนอื่น สมองส่วนที่เรียกว่า Reward Center จะถูกกระตุ้น ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจเหมือนได้รับรางวัล 
  • ความใจดีส่งผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือด งานวิจัยในอเมริกาทำการทดลองในกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ใช้จ่ายเงินเพื่อตัวเอง และกลุ่มที่ใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อวัดผลในสองปีต่อมา พบว่ากลุ่มที่ใช้จ่ายเงินเพื่อผู้อื่นมีความดันโลหิตลดลงมากกว่ากลุ่มที่ใช้จ่ายเพื่อตัวเอง
  • ความใจดีช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ กลุ่มนักวิจัยในปักกิ่งทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างโดยวัดระดับความเจ็บปวดขณะเจาะเลือด พร้อมกับตรวจสอบการทำงานสมองด้วย MRI ผลออกมาพบความเชื่อมโยงว่ากลุ่มตัวอย่างที่แสดงความมีน้ำใจกับผู้อื่น (เช่น บริจาคเลือดเพื่อผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ช่วยหาเงินบริจาคให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้า สละเวลาส่วนตัวเพื่องานอาสาสมัคร หรือช่วยทำความสะอาดห้องให้เพื่อนร่วมห้อง ) มีความทนทานต่อความเจ็บปวดได้ดีขึ้น 
  • ความใจดีช่วยยับยั้งความเครียด หนึ่งในวิธีคลายเครียดที่ได้รับการยืนยันว่าได้ผล นั่นคือการเป็นคนใจดีกับผู้อื่น ในเบื้องต้นมันเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล ส่งผลดีต่อทั้งผู้ให้และผู้รับ จึงช่วยลดระดับคอร์ติซอลหรือสารแห่งความเครียดให้น้อยลง
  • ความใจดีทำให้มีความสุขมากขึ้น นอกจากจะเครียดน้อยลงแล้วยังมีความสุขมากขี้น เรื่องนี้ยืนยันโดยนักวิจัยในสหราชอาณาจักรที่ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-60 ปี ให้ทำกิจกรรมแบบสุ่มทุกวันเป็นเวลา 10 วัน ผลออกมาพบว่าคนที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือคนอื่นและทำกิจกรรมแปลกใหม่ มีความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากนี้ นักวิจัยด้านความสุข Sonja Lyubomirsky และ Kennon Sheldon ยังพบว่าการทำกิจกรรมแสดงความมีน้ำใจหลากหลายอย่างในหนึ่งสัปดาห์จะมีความสุขเพิ่มขึ้นมากกว่าการทำกิจกรรมเดิมซ้ำไปซ้ำมา
  • ความใจดีช่วยให้อายุยืนยาวขึ้น แน่นอนว่าถ้าเราใจดี เราก็จะมีศัตรูน้อย โอกาสจะอายุสั้นเพราะไปมีเรื่องกับคนอื่นก็ลดลง แต่เดี๋ยวก่อน! เรากำลังพูดถึงคือความใจดีที่ส่งผลในระดับ DNA ต่างหาก โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychoneuroendocrinology ในปี 2019 แสดงให้เห็นว่าผลของการปลูกฝังความใจดีมีเมตตาผ่านการทำสมาธิ ช่วยปกป้อง ‘เทโลเมียร์’ ส่วนที่อยู่ปลายสุดของโครโมโซม ที่ทำหน้าที่ปกป้องสายของดีเอ็นเอไม่ให้ถูกทำลายก่อนวัยอันควร ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของเราแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย และอาจช่วยให้มีอายุยืนยาวได้นั่นเอง

งานวิจัยเหล่านี้แม้จะเป็นการทดลองในกลุ่มตัวอย่างบางกลุ่มเท่านั้น แต่ก็ช่วยพิสูจน์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าความใจดีนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพกายไม่มากก็น้อย 

หลักการฝึกความใจดีแบบง่ายๆ

แน่นอนว่าความใจดีควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่การถูกบังคับ แต่ถ้าคุณไม่รู้จะเริ่มต้นเป็นคนใจดีอย่างไรดี เรามีหลักการบางอย่างมาแนะนำค่ะ

  • เริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบ

คุณสามารถเป็นคนใจดีโดยเริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบหรือทักษะที่ถนัดก่อนก็ได้ เช่น ถ้าชอบทำอาหารก็อาจเริ่มจากแบ่งปันสูตรอาหาร ช่วยสอนทำอาหาร ทำอาหารเลี้ยงเพื่อน ทำไปบริจาคคนยากไร้ หรือทำเป็นกิจกรรมจิตอาสาก็ได้ แต่ละคนมีความชอบและถนัดไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเล่นดนตรี ร้องเพลง เทคโนโลยี ศิลปะ หรือฝีมือเย็บปักถักร้อย เราแค่ต่อยอดจากสิ่งที่เราชอบเป็นความใจดีเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้

  • ต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

เป้าหมายหลักของความใจดีคือการช่วยเหลือหรือทำสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่น ดังนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์ของคนอื่นเป็นหลัก และต้องไม่ให้ใครเดือดร้อนจากความใจดีของเรา อย่าลืมว่าสิ่งที่เราคิดว่าดีอาจไม่ดีสำหรับทุกคนก็ได้  ต้องคำนึงถึงเหตุผลแวดล้อมประกอบด้วย เช่น เราใจดีให้อาหารสุนัขจรจัดข้างถนน แต่อาจยิ่งทำให้สุนัขจรจัดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นปัญหาเดือดร้อนต่อคนในชุมชน หรือเราใจดีให้เพื่อนลอกข้อสอบ ทำให้เพื่อนไม่ได้ประเมินความรู้ของตัวเอง แถมอาจทำให้ทั้งเราและเพื่อนโดนทำโทษได้

  • ใจดีกับตัวเองก็สำคัญ

หลายๆ คนอยากเป็นคนใจดี แต่ตัวเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก อาจเจ็บป่วย มีปัญหาทางเศรษฐกิจ มีภาระมากมายต้องดูแล หรือมีปัญหาส่วนตัวสักอย่าง ทำให้หมดแรงหรือไม่มีกำลังพอจะใจดีกับคนอื่น เราอยากบอกว่า คนสำคัญที่สุดที่คุณควรใจดีก็คือตัวเองค่ะ อย่าลืมใจดีกับตัวเองก่อน เติมพลังและกำลังใจให้ตัวเอง แก้ปัญหาของเราให้เสร็จก่อน แล้วเราค่อยออกไปใจดีกับคนอื่นก็ยังไม่สาย 

มาฝึกความใจดีแบบง่ายๆ  ทำได้ทุกวัน

การเป็นคนใจดี ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องใหญ่ๆ ยากๆ หรือให้ผลลัพธ์มากมายเสมอไป เราสามารถใจดีกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน และสามารถทำได้ทุกวัน ตัวอย่างเช่น

  • กล่าวชมเชยสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานอย่างจริงใจ
  • ให้ความช่วยเหลือเมื่อเห็นคนอื่นกำลังลำบาก เช่น ช่วยเปิดประตู หรือช่วยถือของ 
  • ขอบคุณให้ง่ายเข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นคนคุ้นเคยหรือคนแปลกหน้า เช่น คนเก็บขยะ พนักงานเสิร์ฟอาหาร หรือบุรุษไปรษณีย์
  • ทำงานจิตอาสา อาจจะรวมกลุ่มกัน หรือทำตามลำพังก็ได้ เช่น เก็บขยะบนชายหาด หรืออ่านหนังสือให้คนตาบอด
  • ใจดีกับเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน ยอมให้กันบ้าง หนักนิดเบาหน่อยให้อภัยกัน
  • อยู่เคียงข้างเพื่อนในช่วงเวลายากลำบาก 
  • ไม่คอมเม้นต์แย่ๆ บนโลกออนไลน์ 
  • กล่าวชื่นชมตัวเองทุกวัน
  • บริจาคหนังสือให้ห้องสมุด 
  • เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ด่วนตัดสิน 

หวังว่าผู้อ่านคงจะได้แรงบันดาลใจในการเป็นคนใจดีขึ้นมาบ้าง ความใจดีทำให้ทั้งผู้ให้และผู้รับรู้สึกดีมีความสุข และยังส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างไม่น่าเชื่อ! เป็นเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ ที่เริ่มได้จากตัวเราเอง 

ขอให้ทุกคนสุขภาพดีและใจดีต่อกันทุกวัน โลกใบนี้ที่เต็มไปด้วยเรื่องวุ่นวายจะได้น่าอยู่ขึ้นค่ะ 🙂  

อ้างอิง:

everydayhealth.com

mayoclinichealthsystem.org

mentalhealth.org.uk

edition.cnn.com

apa.org

researchgate.net

pnas.org

tandfonline.com

sonjalyubomirsky.com

บทความที่เกี่ยวข้อง