สมการความสุขจากความเรียบง่ายและธรรมดาของ ผศ.พญ.สุภาพร โรยมณี 

ผศ.พญ.สุภาพร โรยมณี หรือหมอจิ๋ว เป็นชาวอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ที่เดินทางมายังสงขลาเพื่อสานต่อความตั้งใจกับการเป็นหมอด้วยความหวังที่อยากนำวิชาความรู้ไปดูแลคุณแม่ให้หายจากอาการป่วย ความฝันของเธอถูกทำให้เป็นจริงในวันที่เรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และได้เป็นหมอเด็กด้านโรคหัวใจดั่งหวัง แม้จะเติบโตมาจากครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก แต่เธอบอกกับเราว่านั่นคือความโชคดี เพราะต้นทุนที่ไม่ได้มีมากเหมือนใครสอนให้เธอติดดินและเห็นคุณค่าของทุกโอกาสในชีวิตเสมอ เรื่องราวของหมอจิ๋วอาจดูไม่หวือหวา แต่ในความเรียบง่ายนั้นได้ซ่อนวิธีคิดที่น่าสนใจมากมายแบบที่เรานั่งฟังไปก็ได้แต่ยิ้มว่า “คนแบบนี้สินะที่โลกต้องการ” คนที่ถ่อมตนแต่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น คนที่แข็งแกร่งแต่อ่อนโยนและอบอุ่น คนที่โอบกอดตัวตนและต้นกำเนิดของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ คนที่กระตือรือร้นและอิ่มเอมทุกครั้งเมื่ออาชีพของเธอได้ช่วยชีวิตผู้คน 

สัมภาษณ์ฉบับนี้ เราจึงขอชวนผู้อ่านไปเปิดมุมมองและเส้นทางชีวิตของหมอจิ๋วจากงานที่เธอทำ จากกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเด็ก สู่งานด้านการบริหารในฐานะรองคณบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และกิจกรรมพิเศษ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และการเปิดร้านกาแฟ ธัม-มะ-ดา ที่ไม่ธรรมดาเพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องกาแฟๆ กัน   

การทำงานที่มีความหมายช่วยเติมเต็มหัวใจให้ตัวเอง

“หมอเลือกกุมารแพทย์เพราะรู้สึกว่าเด็กๆ เป็นกลุ่มวัยที่แม้เขายังสื่อสารได้ไม่สมบูรณ์เท่ากับผู้ใหญ่อย่างเราๆ แต่พวกเขามีความตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน เวลาป่วยหรือหายดี เราจะรู้ได้เลยจากการแสดงออกของพวกเขา ที่สำคัญคือแววตาที่สดใสเมื่อกลับมาแข็งแรงดังเดิมทำให้หมอมีความสุข จึงเลือกเรียนมาทางด้านกุมารแพทย์ค่ะ” 

ไม่เพียงแต่จะเป็นหมอเด็กที่เชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจเท่านั้น ในบางโรคที่โครงสร้างภายในหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้หมอจิ๋วได้รับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่มาพร้อมภาวะดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย 

“คนไข้ของหมอนอกจากเด็กๆ แล้ว ก็จะมีผู้ป่วยสูงวัยด้วย เวลารักษาจนหายดี พวกเขาจะต่างจากเด็กๆ อยู่ก็ตรงที่เขาจะดีใจ ร้องไห้ และขอบคุณแล้วขอบคุณเล่า หมอคิดว่าอาจเพราะพวกเขาผ่านชีวิตที่เฉียดความเป็นความตาย ผ่านโลกมาเยอะ พอพ้นจากโค้งมรณะมาได้ เราจึงได้เห็นน้ำตาแห่งความยินดีนั้น พร้อมกับแววตาสดใสที่ได้กลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง การเห็นพวกเขาได้มีชีวิตเป็นปกติ ทั้งเด็กๆ ที่กลับมายิ้มและสามารถกลับไปเรียนหนังสือได้เหมือนเดิม หรือปู่ย่าตายยายที่กลับมาแข็งแรง ล้วนเป็นพลังใจสำคัญให้หมอ ทำให้รู้สึกว่าการทำงานของเรามีความหมายทั้งต่อคนอื่นและตัวเอง เป็นสิ่งที่มาเติมเต็มหัวใจเราค่ะ”

กิจวัตรในแต่ละวันของหมอจิ๋วไม่ได้มีเพียงการตรวจรักษาอย่างเดียว แต่ยังทำงานด้านบริหารในฐานะรองคณบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และกิจกรรมพิเศษ ซึ่งทำให้เธอมีบทบาทสำคัญในเรื่องการสื่อสารพันธกิจทั้ง 4 ด้านของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ให้กับบุคคลภายนอกได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นแง่ของการผลิตแพทย์ การให้บริการรักษา ผลผลิตด้านงานวิจัยต่างๆ ของบุคลากร รวมถึงการผลิตและส่งต่อองค์ความรู้ต่างๆ พร้อมๆ ไปกับการดูแลด้านการจัดกิจกรรมพิเศษสำหรับเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กร ไปจนถึงกิจกรรมที่เชื่อมโยงไปกับประชาชน 

“เมื่อหมออยู่ในสถานภาพของการเป็นแพทย์ หมอได้เห็นว่าบุคลากรของเราเต็มที่ในการรักษาเพราะอยากดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด แต่เมื่อทำงานในบทบาทของผู้บริหาร หมอเองจึงได้เห็นอีกแง่มุมว่า งบประมาณแต่ละสตางค์ที่จะเข้ามาในโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะฉะนั้น การมีโอกาสได้ทำหน้าที่ในส่วนบริหารทำให้นอกจากจะสามารถสื่อสารเจตจำนงของคุณหมอไปสู่สาธารณชนได้อย่างลึกซึ้งและเข้าใจแล้ว หมอยังสามารถเชื่อมโยงความช่วยเหลือจากภายนอกในด้านต่างๆ มายังโรงพยาบาลได้ในเวลาเดียวกันด้วย”

จากความชอบสู่ความสุขที่แสน ‘ธัม-มะ-ดา’

เมื่อเสร็จสิ้นจากงานหลัก คุณหมอมักจะใช้เวลาส่วนที่เหลือในแต่ละวัน ณ คาเฟ่ที่อบอวลไปด้วยความสุขและกลิ่นหอมของเมล็ดกาแฟหลากสายพันธ์ุในนาม ‘ธัม-มะ-ดา’ ในจังหวัดสงขลาแห่งนี้

“ธัม-มะ-ดา เริ่มต้นมาจากที่หมอชอบดื่มกาแฟ ประจวบเหมาะกับเพื่อนที่เชียงใหม่มีความรู้ เลยมาชวนให้เราทำ ตอนนั้นหมอตระเวนชิมร้านกาแฟแทบทุกร้านเลยในเชียงใหม่ เรียกว่าดื่มและศึกษาแบบจริงจังมากเหมือนเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างนั้นเลยค่ะ เช่น กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้ามีโครโมโซม 44 คู่นะ เมล็ดกาแฟควรจะดื่มตอนที่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่เก่าเพื่อให้ได้รสชาติและคุณภาพที่ดี รวมทั้งจะส่งผลดีกับตัวคนดื่มมากกว่าทำให้เสียสุขภาพ รู้ว่าการโปรเสสเมล็ดกาแฟแต่ละชนิดมีความแตกต่าง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่ารสชาติของเขามีความเฉพาะตัว เวลาดื่มจึงมีมากกว่าความขม แต่คือความซับซ้อนในรสชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ของกาแฟที่กลายเป็นความชอบและความสนุกของหมอ แล้วพอเรารู้ลึก หมอจึงอยากแบ่งปันความสุขและความรู้ดังกล่าวผ่านร้านกาแฟแห่งนี้ เพื่อให้คนอื่นๆ ได้รับทั้งประสบการณ์และประโยชน์ดีๆ จากการดื่มกาแฟแบบเดียวกันกับที่หมอได้รับ หมอทำธุรกิจก็จริง แต่เราไม่ใช่นักธุรกิจจ๋า เราทำทุกอย่างเพราะรัก ดังนั้น หมอจึงไม่สามารถขายอะไรที่เราไม่รักและไม่ดีได้ ทีนี้คำว่า ‘ธัม-มะ-ดา’ มาจากไหน หมอมองว่าการดื่มกาแฟเป็นความธรรมดาในชีวิตของคนเรา ซึ่งกาแฟธรรมดาดีๆ สักแก้วหนึ่งอาจจะเปลี่ยนวันวันนั้นของใครสักคนให้เป็นวันที่มีพลังดีๆ ได้ คงจะเป็นความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอะไรแบบนั้นมั้งคะ (ยิ้ม)”

ร้านกาแฟแห่งนี้จะให้ความสำคัญไปกับคุณภาพในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การคั่ว การชง อุณหภูมิ รวมถึงสิ่งที่ทานคู่เพื่อส่งเสริมให้รสชาติของกาแฟแต่ละแก้วสามารถสื่อสารกับผู้ดื่มได้อย่างดีที่สุด 

“วัตถุดิบทั้งหมด หมอจะเดินทางไปเลือกเองที่ไร่ในเชียงใหม่ ตอนที่คิดว่าจะเริ่มขาย เราไปหาเจ้าของไร่เพื่อดูเลยว่าเขามีกระบวนการปลูกอย่างไร ต้องมั่นใจว่าเป็นไร่กาแฟออร์แกนิกจริงๆ แบบไม่มีสารเคมีมาปนเปื้อน เราถึงซื้อมาใช้เป็นวัตถุดิบภายในร้าน เมื่อได้เมล็ดมา เราจะคั่วเอง เพราะว่าการคั่วจะมีผลกับรสชาติของกาแฟ เราอยากให้กาแฟแต่ละแก้วที่ออกมาจาก ธัม-มะ-ดา สามารถสื่อรสชาติที่เมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดควรจะเป็นให้ได้มากที่สุด โดยความรู้เหล่านี้ไม่ใช่เพียงหมอที่ทราบ แต่น้องๆ บาริสต้าทุกคนจะมีความรู้ที่รู้ลึกรู้จริงเช่นเดียวกัน ดังนั้น เวลาใครมาดื่ม สมาชิกภายในร้านจะสามารถส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับกาแฟให้กับลูกค้าได้หมด หมอพยายามทำให้ที่นี่มีบรรยากาศของการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันแบบเป็นกันเอง และให้คนรักกาแฟหรือคนที่อยากมาลิ้มลองอะไรใหม่ๆ ได้พลังงานดีๆ และผ่อนคลายกลับไป ปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว และเรายังคงสานต่อความตั้งใจตั้งแต่วันเริ่มก่อตั้งค่ะ” 

รู้ให้ลึก รู้ให้กว้าง รู้ให้รอบ

“ในทุกบทบาท สิ่งสำคัญอย่างแรกที่ทำให้หมอทำแต่ละหน้าได้ดีน่าจะอยู่ที่การเรียนรู้เพื่อให้มีความรู้ในด้านนั้นๆ อย่างลึกซึ้งจริงๆ ตั้งแต่เรื่องของการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ นอกจากความรู้ที่สะสมมาทั้งจากตำราและการทำงานแล้ว ประสบการณ์ที่ได้รับยังก่อให้เกิดความชำนาญ ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่าจะทำเรื่องนี้ได้ดี เพราะความท้าทายของงานแพทย์คือชีวิตของคนไข้ที่เราจะทำอย่างไรให้สามารถรักษาและพาชีวิตเขาให้กลับคืนมาได้ 

“ในแง่ของการบริหาร ก่อนหน้านี้รุ่นพี่ซึ่งเป็นท่านรองฯ คนก่อนได้ชวนหมอให้มาทำตำแหน่งดังกล่าว หมอไม่ชอบการเป็นผู้บริหารและไม่เคยคิดว่าจะเป็นผู้บริหารมาก่อน แต่เมื่อได้ทำ กลายเป็นว่างานในแต่ละวันได้ฝึกและส่งเสริมทักษะหลายๆ ด้านให้ตัวเอง เช่น การบริหาร การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทำให้เรามีโอกาสมองภาพใหญ่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มโอกาสให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้มากขึ้น ให้คนที่เข้ามาอยู่แล้วมีความสุข ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อที่จะส่งต่อสิ่งดีๆ ต่อไป เหล่านี้เป็นทักษะที่เรายังนำไปใช้ประโยชน์กับงานอื่นๆ ได้ด้วย 

“ส่วนงานด้านธุรกิจ หมอจะลงไปคลุกคลีกับทุกๆ กระบวนการเพื่อให้เรารู้ว่าแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร พอเราได้ทำตั้งแต่ต้นจนจบ ทำในทุกๆ บทบาทมาแล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เราจะรู้ว่าความผิดพลาดอยู่ในขั้นตอนไหนและควรแก้ไขอย่างไร แต่หลักสำคัญที่สุดที่ทำให้หมอสามารถทำแต่ละงานได้อย่างดีจนถึงตอนนี้เพราะหมอรักในสิ่งที่ทำ เลยทำให้เราพร้อมที่จะทุ่มเทให้กับทุกอย่าง ทั้งงานเล็ก งานใหญ่ งานตัวเอง งานส่วนรวม หมอจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้ และพยายามทำให้เกินความคาดหมายของคนที่ให้งานเรามาเสมอ หมออยากให้คนที่มารับบริการ ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ บุคลากรในองค์กร ประชาชน หรือลูกค้าได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราทำจริงๆ”

แก้ปัญหาจากสาเหตุ  

“หมอไม่ได้แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ เราพบปัญหา เรามีอารมณ์ความรู้สึก แต่ละวันมีเรื่องราวมากมายมากระทบจิตใจ แต่เมื่อสวมวิญญาณของหน้าที่นี้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องมีคือสติและใจที่นิ่ง เพราะการตัดสินใจของเรามีผลต่อชีวิตและความเป็นความตายของคนอื่น ยิ่งเป็นหมอโรคหัวใจ เรารู้ว่าทุกวินาทีมีค่ามาก เพราะเราอยากได้ทั้งชีวิตของเขา ไม่ใช่เพียงแค่รอดตาย แต่คือให้เขากลับมาปกติสุขที่สุด แต่ละวันหมอไม่รู้ว่าเราจะเจอเคสแบบไหนบ้าง บางวันเป็นเคสที่เราสามารถควบคุมได้ แต่บางวันคนไข้อยู่ในจุดที่เป็นปลายทางของโรคซึ่งรักษายากและซับซ้อน สิ่งที่เรารู้มีเพียงอย่างเดียวคือ พวกเขามาพร้อมกับความหวัง ดังนั้น ทุกวันนี้ สิ่งที่จะป้องกันการเกิดปัญหาในบทบาทของหมอได้คือเราต้องกลับไปสู่พื้นฐาน นั่นคือการเตรียมความพร้อม ทั้งความรู้ เครื่องไม้เครื่องมือ การทำงานกับทีม รวมถึงร่างกายและจิตใจด้วย นี่จึงเป็นสิ่งที่หมอตระหนักอยู่เสมอทั้งในเวลาปกติหรือเวลาที่เราเจอวิกฤต 

“ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาจากงานหลัก การจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น หมอจะขยับออกมาดูว่าเวลานี้เรามีปัญหาอะไรบ้าง สาเหตุคืออะไร จากนั้นจึงลำดับความสำคัญของปัญหาก่อนหลัง และค่อยๆ แก้ไขเป็นเรื่องๆ ไป ทำให้ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาที่คั่งค้างจนกลายเป็นอุปสรรค หลังจากแก้ไขแล้ว ก็จะมาพิจารณาต่อว่าถ้าปัญหาคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นอนาคตอีก เราจะมีวิธีการป้องกันอย่างไรได้บ้าง หากทำได้หมอจะเลือกป้องกันไว้ก่อน คติง่ายๆ คือ ‘แก้ให้เร็ว แก้ให้ถูกทาง และหาวิธีป้องกัน’ ส่วนบางเรื่องบางปัญหาที่ไม่ได้มีเราเป็นเพียงปัจจัยเดียว แต่มีองค์ประกอบหลายอย่างอยู่ในปัญหานั้นที่เราอาจจะไม่สามารถเป็นผู้กำหนดหรือแก้ไขได้ แบบนั้นหมอจะทำในส่วนของตัวเองให้เต็มที่ เรื่องอื่นๆ ที่เหนือการควบคุม เราต้องทำใจค่ะ”

เพราะความจนคือความโชคดี 

“จริงๆ หมอเป็นเด็กยากจน คุณพ่อทำงานรับจ้าง คุณแม่เป็นแม่บ้าน ถือว่ามีฐานะลำบาก บ้านเป็นเพิงสังกะสีแบบที่เขาไว้เก็บของแบบนั้นเลย เราเองไม่อยากให้เพื่อนมาบ้านเพราะว่าบ้านเราไม่มีห้องน้ำ เพราะฉะนั้น ชีวิตของหมอเริ่มต้นจากติดลบ แต่ข้อดีของความยากจนทำให้เราไม่เรียกร้องอะไรมากในชีวิต หมอจึงเป็นคนตั้งใจและเห็นคุณค่าของทุกโอกาสในชีวิตเสมอ คุณพ่อคุณแม่ให้เราได้เพียงแค่การศึกษาและความรัก หมอจึงตั้งใจเรียนและทำทุกอย่างอย่างสุดความสามารถ เวลาคุณครูส่งไปแข่งขันด้านวิชาการต่างๆ หมอคว้าโอกาสเหล่านั้นไว้หมดและทำมันอย่างดีด้วย เมื่อผลออกมาดี ครอบครัวและคุณครูมีความสุข นั่นเป็นแรงผลักดันที่ทำให้หมออยากทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นเรื่อยๆ 

“ในต้นทุนที่มีไม่มาก การมีความรู้และการได้รับการศึกษาช่วยให้หมอสามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องไหนดี ไม่ดี ควร ไม่ควร และเลือกที่จะคิดดีทำดี หมอเป็นคนโชคดีที่ครอบครัวมีความรักเป็นพื้นฐาน จึงทำให้ตัวเองรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยจากภายใน หมอว่าสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้หมอเป็นตัวเองอย่างทุกวันนี้ และถือว่าความจนเป็นโชคดีของชีวิต (ยิ้ม)” 

เต้นรำไปตามจังหวะชีวิต

“สิ่งที่หมอปฏิบัติจนถึงวันนี้คือตั้งใจทำทุกอย่างให้เต็มที่และอยู่กับปัจจุบัน หมายถึงว่าเราคิดให้ดี ทำให้ดี ณ ขณะนี้ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เราต้องยอมรับและจบให้ได้ ถ้าวันนี้หมอทำงานและผลลัพธ์ออกมาดี หมอจะดื่มด่ำความพอใจนั้นให้เรียบร้อยในวันนี้ แล้วเดินหน้าต่อ ไม่ไปยึดติด จบแล้วก็คือวาง จากนั้นจะเริ่มทำดีใหม่ไปเรื่อยๆ เพราะถ้าใจเราไม่เคลียร์มันจะกลายเป็นการสะสม ไม่ว่าจะจากเรื่องเครียด เรื่องดีใจ หรือเสียใจที่มากจนเกินไป เรื่องจิตใจสำคัญที่สุด ไม่อย่างนั้น ใจเราจะไม่พร้อมรับเรื่องใหม่ในวันพรุ่งนี้  

“หมอคิดว่าตัวเองน่าจะเข้ากับคำว่า ‘Work-Life Flow’ มากกว่า อาจเพราะเป็นคนรักงาน ชอบทำงาน เลยรู้สึกว่างานเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตไปแล้ว และคิดว่าคงไม่จำเป็นที่จะต้องแบ่งชีวิตการทำงานออกจากชีวิตส่วนตัวแบบเด็ดขาด แต่หมอสามารถทุ่มเทกับงานแบบนี้ได้คงเพราะคุณพ่อ คุณแม่ และแฟนอยู่ด้วยกันกับเรา เมื่อเสร็จจากงานหลัก หมอจึงใช้เวลาคุณภาพกับครอบครัวและคนที่เรารักได้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ได้ดูแลพวกเขาทั้งเรื่องทางกายและความรู้สึก เหมือนเรามีโอกาสได้ทำหน้าทุกอย่างได้ครบถ้วนทั้งในสายอาชีพและชีวิตส่วนตัว ที่สำคัญคือพวกเราทุกคนต่างเป็นคู่คิดและช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน ถึงหมอจะให้งานนำหน้าก็จริง แต่ทุกอย่างเราอยู่บนความยืดหยุ่น เช่น ในช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สบาย หมอจะเลื่อนลำดับความสำคัญขึ้นมาและเลือกให้เวลากับพวกท่านเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งหมอคงบอกว่าตัวเองโชคดีอีกนั่นแหละที่มีเพื่อนร่วมงานคอยสนับสนุน พวกเขารู้ว่าเราเต็มที่กับงาน ฉะนั้น ในวันที่เราต้องการเวลาให้กับครอบครัว ทุกคนจึงพร้อมใจหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ค่ะ (ยิ้ม)

“หมอไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้แล้วนะคะ เพราะสิ่งที่ทำอยู่ทั้งหมดได้ให้คุณค่าครบทุกด้าน ทั้งการหาเลี้ยงชีพ การเติบโต และการเติมเต็มในแง่จิตใจ ไม่ว่าจะการรักษาคนไข้ซึ่งแต่ละวันหมอพบกับความท้าทายแตกต่างกันไป ทำให้เราต้องหาความรู้และกระตือรือร้นอยู่เสมอ การได้เห็นคนไข้หายและกลับมาใช้ที่ชีวิตได้ทั้งแบบปกติหรือเกือบปกติ นั่นก็ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีความหมายในฐานะของหมอคนหนึ่ง หรือในส่วนการบริหารหมออยู่ในจุดที่พอใจเช่นกัน ถ้าจะมีอะไรนอกเหนือจากนี้ ก็คงอยากจะทำให้พื้นที่ของคณะแพทย์ที่ ม.อ. มีคนรู้จักมากขึ้น อยากให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างองค์กรด้วยกันเอง และองค์กรกับภาคประชาชน เพื่อช่วยกันพัฒนาให้ในแง่วิชาชีพมีความก้าวหน้าและสามารถช่วยเหลือประชาชน รวมไปถึงอยากให้ ม.อ. เป็นที่ที่เหมือนสปริงบอร์ดให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ ยิ่งเขาทุ่มเท ตั้งใจ และใส่พลังเข้ามามากเท่าไหร่ องค์กรก็จะสามารถส่งเสริมผลักดันให้พวกเขาใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้อย่างสูงสุดมากเท่านั้นค่ะ”

ช่างภาพ: วิทยา พานิชกุล

Share :
go to top