‘จิตวิทยาการปรึกษา’ คือศาสตร์ที่มุ่งหาหนทางที่จะเอื้อให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขและเต็มศักยภาพ โดยเชื่อว่าหากมนุษย์เข้าใจตนเองและเข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้แล้ว เขาจะสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุข เป็นตัวของตัวเอง และพอใจกับชีวิตที่มีและเป็น โดยศาสตร์ที่ว่าให้ความสำคัญไปกับการศึกษาหาเหตุปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เป็นทุกข์ หรือกลไกที่อธิบายว่าคนเรามีปัญหาชีวิตได้อย่างไร อะไรคือสิ่งขับเคลื่อนหรือเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงให้คนยังคงมีปัญหาชีวิตอยู่ อะไรคือทางแก้ไข และเราจำเป็นต้องรู้อะไรบ้างเพื่อรับมือกับปัญหานั้น โดยจิตวิทยาการปรึกษายังเป็นเส้นทางอาชีพที่ ดร. สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ (เอิ้น) เลือกเดิน ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะเป็นศาสตร์ที่สอดรับไปกับธรรมชาติของการเป็นผู้ที่ชอบรับฟังเท่านั้น แต่การเลือกศึกษาในศาสตร์ดังกล่าวยังทำให้เขามีโอกาสทำความเข้าใจชีวิตของตัวเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วย
เราเลยชวนเอิ้นมาพูดคุยถึงบทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษา อาชีพที่เจ้าตัวเองเคลมว่ายังอินดี้และน้อยคนนักจะรู้จัก แน่นอนว่าต้องมีเรื่องราวชีวิตของเขา ตั้งแต่การเรียนสายตรงด้านจิตวิทยาทั้งตรี-โท-เอก การเป็นเจ้าของเพจนักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง: ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ การก่อตั้งหน่วยบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาอย่าง OneManCounselor ไปจนถึงวิธีคิดในการมองปัญหา การสะสางทุกข์ รวมถึงการแบ่งเวลาในชีวิตที่นักจิตวิทยาหนุ่มคนนี้ทำอยู่ทุกวันตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาว่า เขาทำอย่างไรให้สามารถอยู่ในขอบเขตของความสุขและสมดุลได้อยู่
ใช้การฟังเป็นกระจกสะท้อนใจ
“ภาพกว้างๆ ของจิตวิทยาคือการพยายามทำความเข้าใจและหาคำอธิบายว่า อะไรที่ทำให้คนเรารู้สึก คิด ทำ และมีพฤติกรรมในแบบต่างๆ แน่นอนว่าขอบเขตมันกว้างมาก ซึ่งจิตวิทยาแตกกิ่งก้านไปในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านที่ศึกษาเพื่อให้มนุษย์เราเข้าใจตัวเอง ด้านที่ศึกษาเพื่อให้เราเข้าใจสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่นๆ รวมถึงด้านที่สนใจศึกษาความเป็นพลวัตของสังคมวงกว้าง เพราะฉะนั้น จิตวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่พยายามอธิบายกลไกทางความคิดและจิตใจในทุกสถานที่และทุกสถานการณ์ที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ตรงนั้น นี่คือภาพใหญ่ของศาสตร์จิตวิทยาที่ผมได้รับรู้มาในช่วงปริญญาตรี
“ส่วนสาขาวิชา ‘จิตวิทยาการปรึกษา’ ที่ผมสนใจและเลือกต่อยอดในช่วงปริญญาโทและเอกเพราะมาสะดุดกับคำว่า ‘การปรึกษา’ ซึ่งแต่ก่อนจะมีบางครั้งบางทีที่มีเพื่อนมาเล่าหรือปรึกษาปัญหาชีวิตกับผม แต่เวลานั้นผมทำได้เพียงแค่รับฟังโดยไม่รู้เลยว่าคำพูดไหนหรือวิธีคิดแบบใดที่จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนจริงๆ แม้กระทั่งตัวผม เวลาที่เป็นฝ่ายมีปัญหาชีวิตเองบ้าง ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องจัดการชีวิตตัวเองอย่างไร ซึ่งพอได้เข้ามาศึกษาแล้วถึงพบว่าสาชาวิชาดังกล่าวได้พูดถึงและมีคำตอบให้กับสิ่งที่ผมกำลังสงสัยอยู่ และทำให้ผมได้เห็นกลไกปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองและคนอื่น ได้หลักคิดว่าเราควรจะคิดอย่างไรเมื่อพบกับปัญหา ทั้งยังอธิบายได้ว่าเพราะอะไรเราจึงยังแก้ปัญหาบางลักษณะไม่ได้ ไปจนถึงหากคนคนหนึ่งกำลังต้องเผชิญกับปัญหา เราในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษาจะมีแนวทางช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ผ่านมาอาจยังไม่ได้ให้ภาพนี้กับผมได้ชัดเจนนัก” นี่คือสิ่งที่จุดประกายให้เขาตัดสินใจเข้ามาทำความรู้จักกับโลกแห่งจิตวิทยาการปรึกษาทีละน้อย
วันที่ฉันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง
“ผมเริ่มต้นก่อตั้งเพจ ‘นักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง’ เมื่อประมาณปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของการเรียนปริญญาเอกแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าว สังคมยังมีความเข้าใจผิดเรื่องสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตอยู่เยอะพอสมควร การเปิดเพจนี้จึงเป็นเสมือนพื้นที่ที่ผมตั้งใจใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารเพื่อคลี่คลายความเข้าใจผิดบางอย่างด้วยการให้ความรู้ ใช้แบ่งปันมุมมองในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่งที่มีต่อประเด็นและปัญหาสังคมต่างๆ รวมไปถึงการถ่ายทอดเรื่องราวของนักจิตวิทยาการปรึกษาว่า พวกเขาคือใคร ทำอะไร เป็นประโยชน์อย่างไร ตลอดจนตัวผมในฐานะของการเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา ผมได้เรียนรู้อะไรจากวิชาชีพนี้บ้าง”
เมื่อคอนเทนต์ในประเด็นข้างต้นถูกนำเสนอออกไป ผลงานของเขาได้รับความสนใจและมียอดการแชร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เอิ้นได้เห็นว่าคุณค่าของการทำงานในฐานะนักจิตวิทยาไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในรูปแบบของการคุยแบบหนึ่งต่อหนึ่งเพื่อช่วยคนเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถส่งต่อองค์ความรู้และให้ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ อันก่อประโยชน์ให้กับผู้คนได้เช่นเดียวกัน
“การทำเพจนี้ ไม่ว่าจะเป็นบทความหรือการไลฟ์ ผมรู้สึกว่าได้ช่วยต่อยอดอะไรบางอย่างในความเข้าใจของผู้รับชม รวมทั้งตัวผมเองด้วย ขณะที่การสื่อสารในเรื่องของนักจิตวิทยาการปรึกษาเองยังทำให้คนทั่วไปรู้ว่ามีอาชีพนี้อยู่และรู้ว่าพวกเราสามารถรับฟังและเป็นเพื่อนคู่คิดได้นะหากมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งผมคิดว่าการที่สังคมรับรู้ว่ามีอาชีพนี้อยู่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมเข้าใจมากขึ้นว่านักจิตวิทยาการปรึกษาคือใครและทำอะไร เอาจริงๆ สำหรับในประเทศไทยวงการผมเรียกว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ซึ่งยังอินดี้มากก็ว่าได้ (หัวเราะ) แม้ว่าศาสตร์จิตวิทยาการปรึกษาจะเข้ามาตั้งหลักตั้งฐานในประเทศไทยมากว่า 40 ปีแล้วก็ตาม แต่คนที่ปฏิบัติงานในบทบาทนักจิตวิทยาการปรึกษาจริงๆ ที่มีตัวตนและเข้าถึงได้กลับมีอยู่ไม่มากนัก ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพจที่ผมตั้งขึ้นมาจะทำให้การมีตัวตนอยู่ของนักจิตวิทยาการปรึกษาแจ่มชัดขึ้นในการรับรู้ของผู้คน ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องทางในการช่วยประชาสัมพันธ์วิชาชีพนี้แล้ว ผมยังหวังให้พื้นที่แห่งนี้เป็นต้นแบบของการประกอบอาชีพเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาอิสระ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาจิตวิทยาที่สนใจอยากทำงานในสายดังกล่าว แต่ไม่รู้จะตั้งหลักหรือเริ่มต้นอย่างไร ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วตัวเขาสามารถก่อตั้งและเป็นเจ้าของงานจิตวิทยาการปรึกษาของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องไปอยู่ภายใต้สังกัดหรือหน่วยงานใด”
ปะติดปะต่อ ‘จิ๊กซอว์ความคิด’ ที่ขาดหายไป
“สิ่งที่ผมต้องเตรียมตัวสำหรับการทำงาน ณ อายุตอนนี้ มีอยู่หลักๆ 2 อย่าง หนึ่งคือพักผ่อนให้เพียงพอ กับสองคือการเตรียมใจให้ว่างที่สุด ทำให้ตัวเราให้เป็นเหมือนกระดานเกลี้ยงๆ ที่พร้อมรับฟัง เมื่อทุกๆ ประโยคถูกเล่าออกมา หน้าที่ของผมคือการหยิบจิ๊กซอว์ข้อมูลเหล่านั้นมาวางบนกระดานของผม ปะติดปะต่อภาพชีวิตทั้งหมดเพื่อสะท้อนให้เขาเห็นภาพตัวเองได้ครบถ้วนและชัดเจนที่สุด ขณะเดียวกัน ผมเองยังต้องเตรียมใจล่วงหน้าไว้เหมือนกันเพราะทุกๆ เคสที่เข้ามา ผมไม่มีทางรู้เลยว่าจะช่วยเขาได้มากแค่ไหน หรือช่วยเขาได้จริงไหม อย่างไรก็ตาม ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้เต็มที่ที่สุด ณ เวลานั้น ซึ่งหากมีเงื่อนไขบางอย่างไม่เอื้ออำนวย ผมจะไม่ดันทุรัง แต่จะทำเท่าที่ทำได้ตามสภาพการณ์ตรงนั้น โดยทุกเคสผมมีความคาดหมายว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นควรจะต้องไปในทิศทางบวก หรืออย่างน้อยที่สุดคือเขาจะต้องไม่ติดลบไปมากกว่าเดิม
“ถึงแม้ผมจะไม่สามารถทำให้ทุกเคสจบสมบูรณ์ได้อย่างที่ใจหวัง แต่ลึกๆ ผมอยากให้คู่สนทนาสามารถเข้าใจหลักคิดหรือสูตรที่เขาจะไปปรุงชีวิตของตัวเองต่อได้ เพราะการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นหนทางหนึ่งในการปรับวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องให้กลายเป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก เพราะหากเราตั้งหลักแรกได้ถูกต้องแล้ว หลักต่อๆ ไปก็จะกำหนดให้ถูกต้องได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากเรื่องวิธีคิดแล้ว การเอื้อให้ผู้มาปรึกษาเห็นทางเลือกที่หลากหลายในการแก้ปัญหาก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะบางทีคนเราก็ยึดติดกับวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่ามีวิธีการแก้ปัญหาแบบอื่นด้วยที่อาจให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจได้มากกว่า
“มีเหมือนกันนะครับที่บางปัญหาเราอาจยังแก้ไขมันไม่ได้ในทันทีเพราะมันยังไม่ใช่จังหวะ หรือเรายังจำเป็นต้องรอการอิ่มตัวของประสบการณ์ก่อนถึงจะตกผลึกจนเห็นทางออกของปัญหา เรียกว่าต้องไปให้สุดก่อนถึงจะออกมาได้ บางทีการรอและการไม่ผลีผลามเร่งรัดอะไรในจังหวะที่ไม่ใช่อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วในขณะนั้น”
เพราะความพอใจในชีวิตไม่มีรูปแบบตายตัว
“บ่อยครั้งที่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะเรารู้ไม่เท่าทัน ยังอ่านชีวิตไม่ขาด และอาจถูกขังด้วยกรอบความคิดว่าชีวิตเราควรจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ควรจะมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือคนอื่นควรจะปฏิบัติต่อเราอย่างไร เราเลือกใช้ชีวิตในแบบที่เราคิดว่าควรจะเป็นหรือเป็นแบบนี้แล้วน่าจะดี แต่ไม่เคยถามตัวเองว่าเราอยากได้ชีวิตแบบนั้นจริงๆ ไหม บางทีผมเลยต้องชวนผู้มาปรึกษากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นสำคัญอย่างไร เราให้ความหมายกับสิ่งนั้นอย่างไร และสิ่งนั้นมีความหมายอย่างไรกับตัวเรา เพราะโดยพื้นฐานคนเราจะไม่วิ่งไล่ตามสิ่งที่ไม่มีความหมายกับตัวเอง เช่นว่า สังคมนิยามคนประสบความสำเร็จว่าต้องเป็นแบบนี้ และเราอาจจะไปยึดติดกับคำว่าสำเร็จจากกรอบที่สังคมบอกมา แต่ปรากฏว่า ความสำเร็จแบบที่สังคมบอกมันไม่ได้พอเหมาะพอดีกับเรา หรือจริงๆ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการด้วยซ้ำ แต่เรากลับคิดว่าเราควรจะต้องทำเพราะว่าในสังคมใครๆ ก็ทำกันก็มีกัน ผมมองว่าทุกชีวิตมีสิทธิ์ที่จะแตกต่างกัน ซึ่งเราควรอนุญาตให้เราเป็นเรา และอนุญาตให้คนอื่นเป็นแบบที่เขาเป็น ถ้าเราคิดได้แบบนี้เราก็จะไม่กดดันเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเหมือนคนอื่น และจะไม่ไปก้าวก่ายบังคับให้คนอื่นต้องมาคิดเหมือนเรา แบบนี้เราจะหาความพอใจในชีวิตของตัวเองเจอโดยที่ยังให้เกียรติทั้งตัวเราเองและคนอื่นในสังคมด้วย และนั่นจะนำมาซึ่งสังคมที่สงบสุขและน่าอยู่
“ดังนั้น ทุกๆ ครั้งที่มีการพูดคุย การชวนให้ผู้มาปรึกษาได้กลับทบทวนตัวเองว่า ตกลงแล้วอะไรมีความหมายกับเขากันแน่ เขากำลังทำในสิ่งที่จะไม่มีความหมายกับเขาหรือเปล่า จะดีกว่าไหมถ้าเขาได้เข้าใจตัวเองจริงๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการ อะไรคือสิ่งที่เขาทำแล้วใจเป็นสุข แล้วได้กลับมาหนักแน่นกับการทำในสิ่งที่มีความหมายกับตัวเองจริงๆ โดยสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้สร้างโทษหรือสร้างทุกข์ให้เขา นี่จะเป็นสิ่งที่ช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องการคือความรู้สึกพอใจในชีวิตครับ แน่นอนว่าเป้าหมายเรื่องความพอใจของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน การจะวิ่งไปสู่ความรู้สึกพอใจในชีวิตมีถนนหลายเส้น และหน้าตาของสิ่งที่จะทำให้แต่ละคนรู้สึกพอใจก็มีความแตกต่างกัน แถมความพอใจยังเปลี่ยนแปลงตามประสบการณ์และตามช่วงอายุได้อีก ดังนั้น คำว่า ‘พอใจในชีวิต’ จึงไม่มีรูปแบบตายตัว แต่คนเรามักไปยึดติดในรูปแบบบางอย่างจนทำให้เราเกิดความทุกข์ขึ้นมา อีกอย่างหนึ่ง คนเรามักจะไม่เห็นทางเลือก อย่างที่บอกว่าเรามักยึดติดกับรูปแบบจนลืมไปว่า ชีวิตเรามีทางเลือกหลายทาง ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามในชีวิต เมื่อเขาเห็นทางเลือกที่หลากหลาย และมีโอกาสได้ทดลองจนเห็นว่าแต่ละทางเลือกให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน นั่นจะทำให้เขารู้ได้ว่าทางเลือกไหนใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาต้องการ แล้วเขาก็จะค้นพบทางออกของปัญหาได้
“เอาจริงๆ ผมเองก็เคยเจอสถานการณ์แบบนี้อยู่เหมือนกัน เพราะแต่เดิมผมเคยตั้งใจว่าอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมือนกับคุณพ่อคุณแม่ ผมเติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมของคนเป็นอาจารย์ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วแม้ว่าผมมีใจอยากเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องจิตวิทยาและการใช้ชีวิตให้นักศึกษา แต่ในอาชีพอาจารย์เองอาจมีภาระงานมอบหมายหลายอย่างที่ผมไม่ได้อยากทำ จึงมีช่วงหนึ่งที่ผมใกล้เรียนจบปริญญาเอกแล้วถามตัวเองว่าจะเอาอย่างไรต่อดี จนมีคำว่า ‘สมัครเป็นอาจารย์’ ผุดขึ้นมาพร้อมกับมีความรู้สึกเศร้าพ่วงมาด้วย ผมถามตัวเองต่อว่าทำไมถึงมีความรู้สึกแบบนี้ ก็ได้คำตอบว่าผมรู้สึกเหมือนชีวิตไม่มีทางเลือก เราอยู่ในรั้วการศึกษาตั้งแต่อนุบาลยันปริญญาเอก พอสุดทางแล้วเรายังต้องเดินกลับไปในรั้วการศึกษาอีกหรือ แน่นอนว่าผมไม่ได้หมายความว่าอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้นไม่ดี เพียงแต่ผมอยากมีโอกาสได้ใช้ชีวิตในแบบอื่นแบบที่ตัวเองอยากให้เป็นจริงๆ บ้าง เพราะในหัวผมตอนนั้นเริ่มมีการวาดภาพไว้บ้างแล้วว่าอะไรคือรูปแบบชีวิตที่ผมอยากให้เป็น ซึ่งแน่นอนว่าการเป็นอาจารย์ดูเหมือนจะไม่ตอบโจทย์ เพียงแต่ตอนนั้นผมรู้สึกสิ้นหวังเพราะนึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่ทำอาชีพนี้แล้วผมจะทำอะไรได้อีก
“จนวันหนึ่ง ผมยืนซื้อหมูปิ้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยตอนช่วงเย็น จังหวะที่พี่คนขายเงยหน้าขึ้น ผมจำได้ว่าเคยเห็นแกทำอาชีพอื่นในตอนกลางวันด้วย ผมเลยฉุกคิดว่า เอ๊ะ หรือจริงๆ แล้วเรากำลังปิดกั้นตัวเองเพราะคิดว่าจบปริญญาเอกแล้วจะต้องเป็นอาจารย์ได้เพียงอย่างเดียว ในขณะที่พี่คนขายหมูปิ้งกลับไม่ได้ปิดกั้นและเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะทำอาชีพอื่นได้ด้วย เรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมกลับมานั่งทบทวนและตกผลึกได้ว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์ก็ได้ แต่เราน่าจะสามารถประยุกต์เอาความรู้และประสบการณ์ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมา นำมาสร้างสรรค์สร้างรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตในแบบที่เราพอใจและมีความสุขได้ ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจผันตัวเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาอิสระและก่อตั้งเว็บไซต์ ‘OneManCounselor’ ซึ่งเป็นบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบพบตัวและออนไลน์’ ขึ้นมาหลังที่เรียนจบปริญญาเอกตอนปี 2560 เป็นอาชีพแรกและอาชีพเดียวของผมจนมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งไม่ได้ทำให้คุณค่าของตัวงานลดลงแม้แต่น้อย เพราะรูปแบบการประกอบอาชีพที่ผมเลือกยังคงเป็นงานที่เอื้อเฟื้อให้ผู้คนได้เข้าใจชีวิตและยังได้ประโยชน์จากการเข้าถึงความรู้นี้อยู่
การทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาอิสระยังทำให้ผมมีสิทธิ์ในการกำหนดรูปแบบงานและรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองได้อย่างอิสระ ซึ่งเมื่อทุกอย่างถูกออกแบบโดยเจาะจงกับตัวเองแล้ว การใช้ชีวิตเลยค่อนข้างง่ายและเป็นที่น่าพอใจ นั่นเลยเป็นจุดที่ผมได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ถ้าเรามีสิทธิ์เลือกอะไรให้เหมาะกับตัวเองได้ ให้เลือกก่อน แต่ถ้าเรามีข้อจำกัดบางอย่างจนทำให้เราไม่สามารถเลือกได้ ถึงเวลานั้นให้เราเลือกสิ่งที่ใกล้เคียงกับความเป็นเราที่สุดแล้วค่อยหาทางปรับตัวเอา”
แก้ปัญหาแบบนักแก้ปัญหา
“วันที่เจอปัญหา ผมจะคิดว่ามันคงจะต้องมีอะไรสักอย่างที่ผมยังจัดแจงไม่ดีหรือยังมองไม่ถูกต้องอยู่ เพราะฉะนั้น ผมจะค่อยๆ ไล่เหมือนไล่สายไฟว่าอะไรคือต้นขั้วของการจุดชนวนปัญหานี้ขึ้นมา ขั้วของมันอยู่ตรงไหน ช็อตตรงไหนจึงเกิดเป็นอารมณ์แบบปัจจุบัน พอเราค่อยๆ ไล่สายไฟไป เราจะเจอต้นตอว่า อ๋อ เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ ตอนนั้นเรามีวิธีคิดแบบนี้ เราคาดหวังแบบนี้ กลไกดำเนินไปแบบนี้ ความรู้สึกไม่โอเคเลยเกิดขึ้น จากนั้นจึงมาตั้งคำถามต่อว่า แล้วความรู้สึกไม่ดีที่ว่าเกิดจากทัศนคติที่คับแคบของเราหรือเปล่า? หรือจริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ทางลบที่เราควรยอมรับและรับรู้มันตามจริง? ผมจะพยายามทำคล้ายๆ กับการถอดโครงสร้างก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น มาจากตัวเรากี่ส่วน มาจากข้างนอกกี่ส่วน แล้วค่อยๆ มองหาว่าถ้าไม่คิดแบบนี้ แล้วคิดแบบไหนได้อีก หรือถ้าไม่ทำแบบนี้ แล้วทำแบบไหนได้อีก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ผมรู้สึกโอเค ส่วนการปรึกษาคนอื่นส่วนใหญ่มักเป็นการเล่าให้คุณพ่อ คุณแม่ หรือแฟนฟัง พวกเขาเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัยให้ผมมีโอกาสได้เรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในหัวแล้วถ่ายทอดออกมา โดยการได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ฟัง ยังเป็นอีกหนึ่งกระจกสะท้อนให้ตัวผมได้เห็นตัวเองว่าเป็นอย่างไรด้วยเหมือนกัน”
ชีวิตที่พอดีตัว
“การเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาทำให้ผมเข้าใจคำว่า ‘การให้เกียรติกัน’ ในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น เมื่อเราให้เกียรติกัน เราจะไม่ยกตัวเองไปข่มคนอื่น ในขณะเดียวกัน เราจะไม่ได้กดตัวเองลงต่ำเกินไป มีความเคารพให้กัน และบทสนทนาที่เกิดขึ้นจะเป็นเหมือนเพื่อนเราคนหนึ่งที่เข้ามาพูดคุยเพื่ออภิปราย แลกเปลี่ยน และแบ่งปันมุมมองชีวิตเพื่อให้เกิดการทบทวนและเข้าใจตัวเองมากขึ้น ขณะที่การพูดคุยนั้นยังทำให้ผมได้ตั้งคำถามกับชีวิตตัวเองไปในเวลาเดียวกันด้วย อาชีพนี้สอนให้ผมมีความละเอียดอ่อน เข้าอกเข้าใจ ให้เกียรติทั้งตัวเองและคนอื่นมากขึ้น ซึ่งระดับความเข้าใจชีวิตที่มากขึ้นทำให้ผมวางสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตลงได้ง่ายและใช้ชีวิตได้อย่างพอดีตัวมากขึ้น
“นอกจากคุณค่าที่ได้จากวิชาชีพแล้ว ผมยังมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตั้งใจไว้ นั่นคือชีวิตที่ตัวผมสามารถเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนกำหนดจังหวะและรูปแบบชีวิตได้เอง เหมือนผมเป็นเจ้าของเรือที่สามารถบังคับทิศทางให้ไปตามจุดหมายที่ตั้งใจไว้ได้ตามจังหวะที่ผมต้องการ เช่น ตอนนี้ผมทำงานในสถานที่ที่อยู่ใกล้บ้าน สามารถเดินหรือขี่จักรยานมาทำงานได้ในเวลาไม่ถึง 5 นาที สามารถบริหารจัดการเวลาทำงาน เวลาส่วนตัว และเวลาที่ให้กับครอบครัวได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบคนอื่น จัดสรรค่าใช้จ่ายให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ได้ ไม่มีภาระหนี้สิน เมื่อความกดดันในการที่ต้องหาเงินลดลง ไม่มีเรื่องกังวลมากมาย ผมจึงสามารถใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ และใช้ชีวิตได้อย่างรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผมจงใจออกแบบขึ้นมาเพื่อให้ได้ภาพแบบนี้ขึ้น
“ชีวิตที่เราสามารถให้เวลาทั้งกับงาน กับตัวเอง และกับคนรอบข้างได้ดี คือวิถีของชีวิตที่สุขและสมดุลในนิยามของผม ซึ่งเรียบง่ายมากเลยนะครับ ผมมองว่าชีวิตคนเรามีหลายด้าน ตั้งแต่ด้านการงาน ด้านความสัมพันธ์ที่เราเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ด้านการงานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว และด้านที่เป็นเรื่องส่วนตัว ฉะนั้น ชีวิตจะสุขจะทุกข์เราเลยต้องมองให้เป็นภาพรวมเหมือนบ้านที่มีเสาหลายต้นค้ำจุนอยู่ ผมรู้สึกว่าไม่ควรจะมีเสาต้นไหนที่ถูกเน้นหนักมากเกินไป แต่เราพึงรักษาสภาพและดูแลเสาทุกต้นให้แข็งแรงพอๆ กัน เมื่อเสาทุกต้นมั่นคง หรือชีวิตของเราในทุกๆ ด้านเป็นไปด้วยดี นั่นจะทำให้ความสุขในชีวิตของเรามั่นคงไปด้วยครับ”
–
ภาพ: มณีนุช บุญเรือง
ขอบคุณสถานที่: OneManCounselor