มองโลกอย่างที่เป็นอยู่แบบ ปู จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์

Human / Self-Inspiration

ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังเฟื่องฟู เวลานั้น เราได้เห็นแมกาซีนน้อยใหญ่ตบเท้าเข้าสู่วงการกันอย่างคึกคัก ท่ามกลางความหลากหลายนั้น Cheeze นับว่าเป็นแมกาซีนในตลาด niche ที่แหวกขนบด้วยการนำเสนอคอนเทนต์หลักผ่านภาพสตรีทแฟชั่นของบุคคลแสนธรรมดาบนท้องถนน แบบที่ทั้งเนื้อในและปกก็ไม่ได้ฟีเจอร์คนเด่นดังในสังคม ด้วยจุดเด่นที่ว่านี้ รวมไปถึงการวางโพซิชั่นแบบเป็นกันเอง ก็ทำให้ Cheeze ขึ้นแท่นแมกกาซีนวัยรุ่นที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางบนถนนสายแฟชั่นของวัยรุ่นและครองความนิยมบนแผงหนังสือที่เบียดกันแน่นในเวลานั้น

ว่ากันว่า นิตยสารหนึ่งฉบับไม่เพียงแต่จะสะท้อนให้เราเห็นถึงความเป็นไปของสังคมทั้งค่านิยมและความคิดของผู้คนแต่ละยุคสมัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังบ่งบอกถึงตัวตน วิธีคิด ความสนใจ และกระบวนการทำงานของทั้งทีมผู้ผลิต ตลอดจนบรรณาธิการในช่วงเวลาเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับ ปู จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Cheeze และ Looker ที่สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน วันนี้ นอกจากจิรัฏฐ์จะมาเล่าถึงความรักที่เขามีต่อการทำหนังสือและวิธีการบริหารงานอย่างไรท่ามกลางความผันแปรของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแล้ว บทสัมภาษณ์นี้ยังเปิดเผยถึงอีกหนึ่งบทบาทในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจผ่านงานเขียนของเขา พร้อมๆ ไปกับคำแนะนำแบบหมดเปลือกถึงการใช้ชีวิตให้อยู่อย่างดีบนโลกที่มีทั้งความมืดและความสว่างนั้นทำได้อย่างไร  

Passion Income ทำสิ่งที่ชอบให้เป็นงาน

“ผมไม่ได้เรียนทางด้านนิเทศฯ มาโดยตรง แต่จบศิลปะจากครุศิลป์ จุฬาฯ เน้นการเป็นครู เลยได้นำทักษะนั้นมาใช้กับการทำงาน การถ่ายทอดความคิดสู่ทีม สื่อสารในสิ่งที่เราจะทำให้เขาเห็นเหมือนที่เราเห็น เพื่อทำงานให้ได้อย่างที่เราคิด ส่วนการดูแลบริหารองค์กร สำหรับผมมันไม่แตกต่างไปจากการดูแลจัดการชีวิตด้านอื่นๆ แต่แน่นอนว่ามันก็จะมีบางแง่มุมของการบริหารที่ความรู้เท่ากับศูนย์เลยก็มี นั่นก็ต้องเรียนรู้หลายอย่างเหมือนกัน บางเรื่องก็ใช้วิธีครูพักลักจำเอารอบๆ ตัว แล้วผมดันมีความเชื่อที่ว่า เราจะไม่มีวันรวยถ้าไปตั้งเป้ากับเงินตั้งแต่วันแรกในการทำงาน ผมเอางานมาก่อน แล้วก็เอาความรัก ความสนุก และความสุขเป็นสิ่งขับเคลื่อน เดี๋ยวเงินก็ตามมาเอง อย่าง Cheeze เนื้อหาทั้งหมดก็มาจากสิ่งต่างๆ ที่ผมชอบและสนใจนี่แหละ”

เจตจำนงในการทำงานของจิรัฏฐ์จึงเป็นการทำงานด้วยความสุขและหัวใจที่อยากจะทำ โดยมีปลายทางไม่ใช่เพียงเพื่อการสร้างงานที่ดีที่สุด แต่คือการทำให้แต่ละงานดำเนินไปอย่างเต็มประสิทธิภาพและอยู่ยั้งยืนยงเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้

บริหารงานให้เฟื่องฟูสไตล์ปู จิรัฏฐ์

“เวลาทำงานผมค่อนข้างดุ ดุกับสิ่งที่จะออกมา เพราะงานที่ดีจะวัดคุณค่าคนได้ อย่างที่บอก เป้าหมายของผมคือการทำงานให้ดี เวลาเด็กๆ ไปทำงาน ผมไม่สามารถจะตามไปดูทุกคนได้ ชื่อเสียงจะโดนพูดถึงก็ต่อเมื่อเราทำงานที่ดีออกไป ซึ่งผมหวงแหนเรื่องเหล่านี้มาก น้องๆ ทีมงานเกือบทุกคนผมจะคัดเลือก สัมภาษณ์ และฝึกฝนเองหมด ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้”

ในยุคที่ทุกอย่างยังเป็น hard copy คนอีกสองกลุ่มที่เขาต้องเชื่อมสัมพันธ์ด้วยก็คือนายทุนและเอเจนซี่โฆษณาที่เรียกได้ว่าเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของแมกาซีนเล่มนั้นๆ เลยทีเดียว นั่นทำให้เขาต้องบริหารและบาลานซ์ระหว่างสิ่งที่อยากทำกับสิ่งที่ทำให้หนังสืออยู่รอดได้ เพื่อให้บริษัทแม่ยังยินดีที่จะลงทุนต่อไปได้เรื่อยๆ “แล้วการบริหารงานนิตยสารสักเล่มให้อยู่รอด เรายังต้องได้รับการสนับสนุนจากเอเจนซี่โฆษณาด้วย ซึ่งไม่ง่ายเลย แม้คุณจะทำหนังสือดี มีคนอ่านเยอะแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีโฆษณา อย่างไรก็เจ๊ง สิ่งที่ผมทำคือสร้างยอดขายให้หนังสือก่อน จับหัวใจเขาให้ถูกจังหวะ ช่วงแรกผมไม่สนใจโฆษณาเลย ขาดทุนยับ เพราะเน้นคนอ่านอย่างเดียว แต่พอยอดขายดีขึ้น ชื่อได้เข้าไปอยู่ในลำดับต้นๆ ของโพลสำรวจเรทติ้ง เอเจนซี่ก็เริ่มสนใจเรา”

จนกระทั่ง Cheeze ที่มีฟอร์แมตแบบสตรีท โฟโต้ แมกาซีน ซึ่งแทบไม่ได้อยู่ในสารบบของวงการแมกาซีนไทย ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในเวลานั้น

วิกฤตใหญ่ในวันที่สิ่งพิมพ์กำลังจะตายและออนไลน์เข้ามาแทนที่

ความท้าทายสำคัญในช่วงชีวิตที่ผ่านมาของจิรัฏฐ์ คือช่วงเวลาขาลงของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งแม้เขาจะเจอวิกฤตนี้ช้ากว่าแมกาซีนหัวอื่นๆ ด้วย Cheeze Magazine ยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มคนสายแฟชั่น และทำให้เขาพอมีเวลากับการหาทางออกอยู่พอสมควร แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง จิรัฏฐ์ก็พบว่าสถานการณ์ที่เขาเจอไม่ได้ใกล้เคียงคำว่าง่ายเลย

“ช่วงที่วงการหนังสือถูกแทรกแซงด้วยสื่อออนไลน์ ผมเริ่มเจอวิกฤตเรื่องรายได้ของบริษัท และความนิยมของการอ่านหนังสือลดลงเรื่อยๆ วิกฤตที่เจอคือความรู้สึกผิดที่เราไม่สามารถทำรายได้ให้บริษัทได้เหมือนเดิม แล้วผมโตในระบบของอนาล็อกด้วย ณ ตอนนั้นเลยเป็นสถานการณ์ที่ยากมากทีเดียวสำหรับการกระโดดไปทำธุรกิจออนไลน์ในขณะที่เราเองเป็นเพียงผู้ใช้งานมัน นึกออกใช่ไหม ตอนนั้นเราเป็นเพียงผู้บริโภคแบบผิวเผิน ไม่มีความรู้เพียงพอในการจะทำธุรกิจและให้บริการด้านนี้ จริงๆ ก็มีการเริ่มทำไปหลายอย่างเหมือนกัน แต่ด้วยออนไลน์คือสิ่งใหม่ในโลกใบนี้ ผู้บริโภคก็ยังไม่นิ่ง ผู้ให้บริการก็ยังไม่เจอรูปแบบที่ชัดเจน กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำเลยไม่สำเร็จ พอไม่สำเร็จ ก็รู้สึกเคว้งนะครับ แล้วเราอยู่ใต้การบริหารของบริษัทใหญ่อีกทีที่ตัวเลขเป็นสิ่งที่สำคัญ เรียกว่าอยู่เหนือการควบคุมเลยก็ว่าได้ จนท้ายที่สุด ผมรวบรวมความกล้าเดินเข้าไปคุยกับบอร์ดบริหารของ Matching Studio เพื่อขอซื้อบริษัทออกมาบริหารเอง ซึ่งคิดว่าสามารถควบคุมและจัดการได้ง่ายกว่า เสี่ยงได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ถ้าเจ๊งก็ไม่ต้องมานั่งขอโทษใคร เพราะเป็นเงินตัวเองแล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มเปลี่ยนแพลตฟอร์มมาเป็นแบบออนไลน์

เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไป ทั้งแพลตฟอร์ม ความสนใจของคนอ่าน สื่อที่พวกเขาเลือกเสพ หรือผู้มีอิทธิพลทางความคิดที่เปลี่ยนมือจากนักแสดงนักร้องไปสู่อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มใหม่ๆ วิสัยทัศน์และทัศนคติของทีมงานจึงต้องรื้อใหม่ทั้งหมด จากที่เราจะปิดต้นฉบับกันเดือนละครั้ง พอออนไลน์เข้ามา ทุกอย่างต้องรวดเร็ว บางเรื่องพูดช้าไปหนึ่งวัน มันก็เชยแล้วนะ แต่ตอนนี้อาจจะระดับชั่วโมงหรือนาทีไปแล้ว ที่สำคัญมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นเยอะมากและเกิดใหม่ทุกวัน นี่เลยเป็นสิ่งที่ผมและทีมต้องปรับตัวกันขนานใหญ่เลยล่ะ”

@ppoojiradt เพจส่งพลังแบบลูบหลัง ตบไหล่ ให้กำลังใจคน

“ช่วงเฟสบุ๊กมาแรกๆ ผมนี่เรียกว่าติดงอมแงมเลยนะ ก็ลองโพสต์นั่นนี่ไปเรื่อย ทดลองเล่นสนุกกับมัน โดยไม่ได้คิดว่ามันคืออะไรในอนาคต แค่รู้ว่ามันคือของใหม่ที่โคตรสนุก เล่นไปเล่นมาจนค้นพบตัวเองอีกด้านในการสื่อสารกับคนในยุคโซเชียล จนได้เปิดเพจแบบจริงๆ จังๆ ซึ่งก่อนที่จะเปิดเพจ ด้วยหน้าที่ของบรรณาธิการหนังสือ ผมต้องเขียนบทบรรณาธิการ ซึ่งใน 1 เล่ม จะมีแค่หน้าเดียว พื้นที่ของผมมีแค่นั้น แล้วผมก็ชอบเขียนบันทึก เลยคิดว่าน่าจะลองถ่ายทอดมุมมองชีวิตของเราดู ซึ่งตรงกันข้ามกับเรื่องแฟชั่นที่ผมทำเลย สโคปเนื้อหาในเฟสบุ๊กของผมก็จะเป็นการนำเสนอมุมมอง ความคิด คำให้แรงบันดาลใจ ซึ่งผมจะชอบ push คน มากกว่าไปให้พลังงานลบๆ กับเขา

ผมเชื่อมั่นเสมอว่าโลกมี 2 ด้าน ซึ่งสิ่งที่ผมเห็นในฐานะของคนรับสาร ผมจะรู้สึกว่าวันที่เราเจอเรื่องแย่ๆ แล้วไถจอมือถือไปเจอเรื่องแย่ๆ อีกจะทำให้ทุกอย่างแย่ไปกันใหญ่ ผมไม่ได้มองโลกบวกจ๋า แต่มองโลกในความเป็นจริงของมัน เพจนี้เลยตั้งขึ้นด้วยความตั้งใจที่อยากจะให้กำลังใจคนและผมเองก็ชอบลูบหลังมากกว่า เพราะเราไม่รู้เลยว่าแต่ละคนเจออะไรกันมาบ้างในแต่ละวัน แทนที่จะใส่ด้านเกรี้ยวกราดที่เราเห็นกันค่อนข้างเยอะในปัจจุบัน เราก็อยากพ้อยต์ไปที่การซัพพอร์ตเขาในทางบวก ผมไม่ได้หลอกจิตใจคน แต่ผมเชื่อว่ามนุษย์ เวลาดำดิ่งไปแล้ว มันต้องการการดึงขึ้นมา ต้องการโอกาส ต้องการการดูแลใจกัน เพราะฉะนั้น กับบางคน สิ่งที่เขาเจอมา บางทีก็ช้ำพอแล้ว ในความรู้สึกเราแค่ตบหลัง ตบไหล่ หรือว่าลูบหลัง พยายามลงไปอยู่เป็นเพื่อนเขาเท่านั้นเอง

ผมพยายามบาลานซ์สิ่งที่เขียนไม่ให้ไปในทิศทาง สู้เว้ย ชีวิตไม่เป็นไรหรอก มองบวกทุกเรื่อง แต่คนเรา ถ้าเจ็บก็ร้องไห้ได้ มันไม่ได้แย่ ผมเองก็ร้องไห้บ่อย คนเราจะฮึกเหิมอะไรได้ตลอดเวลา คนเราเหนื่อยได้ ถ้าเหนื่อยก็พัก ในชีวิตของคนเราไม่ว่าอยู่สถานะไหน มันก็เจอปัญหาได้หมด แค่ทุกข์ของเรามันคนละรูปแบบ ก็ต้องเรียนรู้และจัดการความทุกข์ของตัวเองไปเรื่อยๆ

ผมรู้สึกว่า… ถ้าสิ่งที่ผมเขียนพอจะมีประโยชน์กับคนบางคนที่ผมอาจไม่รู้จัก ไม่เคยเจอ อาจไม่มีโอกาสได้เจอ แต่ถ้าเขาได้ประโยชน์ นั่นถือว่าเพียงพอแล้วนะ และมันก็กลายมาเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบไปเลย จะเขียนเล่นๆ ไม่ได้แล้ว มันอาจจะไม่ได้เงิน แต่ก็กลายเป็นงานที่ผมรู้สึกดีมากๆ”

ชีวิตที่ไม่เคยมีหัวโขน

“ผมไม่ได้เป็นคนยึดติดว่าจะต้องเป็นใคร ต้องสวมมงกุฎอะไร เป้าหมายคือแค่ใช้ชีวิตให้มีความสุข เอาตัวรอดให้ได้ ที่เหลือก็บาลานซ์ชีวิตไป และไม่ได้วางตัวเลขไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะต้องทำเงินกี่ร้อยกี่พัน เรื่องของความสำเร็จวัดเอาแค่ความภูมิใจและดีใจที่ได้รับการต้อนรับจากสังคมว่าสิ่งที่ผมทำอยู่มันโอเคนะ แค่นั้นพอแล้ว มีที่ยืนแล้วไปต่อได้”

ขาดทุนคือกำไร

“อย่างที่บอก ผมเป็นคนอ่อนด้อยเรื่องของการอยากรวย ไม่ใช่ไม่อยากรวย แค่ว่าไม่ค่อยเข้าถึงแก่นแท้ของการรวยสักทีว่าทำอย่างไรถึงจะรวย แต่ทำแล้วสุขนี่ถนัดมาก ชีวิตที่ผ่านมา ผมเรียนรู้ว่าบางสิ่งบางอย่างมันต้องทำ ไม่ได้กำไรก็ไม่เป็นไร แม้ในวันที่งานขาดทุน ผมก็ยังยิ้มได้ แล้วผมก็ชัดเจนกับทัศนคติแบบนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว มันหล่อเลี้ยงชีวิตได้จริงๆ นะ ทำให้ผมมีเรี่ยวแรงที่จะกลับไปทำงานใหม่ๆ ได้อีกเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้หลอกตัวเองถึงขนาดนั้นว่าเงินไม่สำคัญ เพียงแต่จะไม่เอาเงินมาเป็นตัวนำเท่านั้นเอง แต่คนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอแหละ วันหนึ่งผมอาจจะไขว่คว้าเรื่องเงินก็ได้ เพียงแต่ ณ วันนี้ สิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตของเราคือความสุขเท่านั้นเอง”

งาน ‘ลงเล บีช ไลฟ์ เฟสติวัล’ (Longlay Beach Life Festival) คือหนึ่งในผลงานที่อธิบายสิ่งที่จิรัฏฐ์พูดไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะในครั้งแรกของการจัดงานก็แทบจะมองไม่เห็นคำว่า ‘กำไร’ แต่ที่สิ่งเขาได้กลับมานั้นยิ่งใหญ่กว่ามาก “บางเรื่องไม่จำเป็นต้องได้กำไรเป็นเงิน เพราะนั่นคือการลงทุน ในขณะที่ผมขาดทุนยับในครั้งแรกกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนชายหาด ณ วันนั้นก็ได้ส่งผลให้เรายิ้มได้ ทุกคนที่ทำงานกับเรายิ้มได้ คนไปร่วมงานก็ยิ้ม แม้เงินในกระเป๋าจะแฟบ แต่มันส่งผลให้เรามีงานอยู่มาจนทุกวันนี้ ได้ทำครั้งที่ 2 และกำลังจะทำครั้งที่ 3 และมันอาจได้กำไร ผมมองว่าต้นทุนของสังคม เพื่อนฝูง เครือข่าย คือความสำคัญในการสร้างแบรนด์ของผม ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมันจะสร้างความยืนยาวในการทำงาน และกำไรมันจะกลับมาหาเราไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่งเอง”  

ค้นหาสิ่งที่รัก ไม่ปฏิเสธความรู้ และจงประนีประนอมกับชีวิต

“ผมมองว่าการจะใช้ชีวิตหรือทำงานให้มีความสุขต้องทำจากสิ่งที่ตัวเองอยากทำก่อน ถ้าวัดกันที่ความเก่ง สมัยก่อนก็มีความเก่งแบบสากลไม่กี่อย่าง แต่ทุกวันนี้ ความเก่งเปิดกว้างขึ้นเยอะให้เราสามารถเอาสิ่งเหล่านี้มาสร้างประโยชน์และสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ โลกตอนนี้แทบจะไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าแต่ละคนจะมีความเก่งสักอย่างหนึ่งอยู่ในตัว หามันให้เจอ แล้วความเก่งในมุมมองของผมไม่จำเป็นต้องเก่งกว่าใคร แค่ทำอะไรเก่งที่สุด และเป็นความเก่งที่สุดในตัวคุณเอง หาให้เจอ… ต้องหาสิ่งที่คุณยินดีที่จะทำมันก่อน แล้วก็เอาออกมาทำ สิ่งที่คุณยินดีที่จะทำมันจะทำให้คุณทำงานเท่าไหร่ก็ไม่เหนื่อย ซึ่งนั่นแสดงว่ามันต้องให้อะไรกับชีวิตคุณ  

สองผมอยากจะบอกว่าความรู้ยังสำคัญเสมอ ถ้าเรากำลังจะทำอะไรสักอย่าง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม แค่มีใจอยาก บางทีก็อาจจะไม่พอ ความอยากเอาไว้เป็นสารตั้งต้น แต่เมื่อเริ่มลงมือทำเมื่อไหร่ เราต้องใช้องค์ความรู้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่าปฏิเสธความรู้ เอาความรู้มาใส่ความอยาก แล้วพัฒนาไปเรื่อยๆ การทำซ้ำๆ ในท้ายที่สุด คุณจะเห็นผล แม้มันจะยังไม่สำเร็จในครั้งที่ 20 แต่เชื่อเถอะ คุณจะมีความชำนาญ คุณจะมีบทเรียน และคุณจะได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดจาก 20 ครั้งที่ผ่านมา อย่าเพิ่งถอดใจ

ถ้าจะแถมข้อสามอีกเรื่องคือ จงอะลุ้มอล่วยในวันที่โลกไม่เป็นใจ เชื่อเถอะว่าคุณจะต้องเจอแน่ๆ ทำดีมาทุกอย่าง ทำดีมาทุกวัน วันหนึ่งมันก็อาจจะพังได้ บางสิ่งบางอย่างเราควบคุมไม่ได้และมันพร้อมจะมาปะทะตัวเราได้ทุกเมื่อ นั่นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเจอ ในชีวิตผมที่เห็นว่ามี Cheeze มี Looker มีงานลงเลฯ ทำนู่นนี่หลายอย่าง จริงๆ ผมทำเจ๊งมาเยอะนะ ทำหนังสือก็เจ๊งมาหลายเล่ม อีเว้นท์ก็พังมาหลายงาน แต่ก็ได้เรียนรู้จากการทำเจ๊งทำพังนี่แหละ มันเป็นกำไรของการเจ๊ง เป็นบทเรียนให้สิ่งที่เห็นมันไปรอด

สิ่งที่ทำให้เราเหนื่อยที่สุดคือการล้มเหลวติดๆ กัน ซึ่งส่วนใหญ่เราก็จะยอมแพ้และหมดแรงเมื่อมันเกิดขึ้นซ้ำๆ แต่ถ้าเรายอมรับ เข้าใจ และเรียนรู้จากมันได้ เราจะดำเนินชีวิตแบบมองโลกบนความเป็นจริงได้ว่า ความล้มเหลวนี่โคตรเป็นเรื่องธรรมดาเลย

ภาพ: มณีนุช บุญเรือง
ขอบคุณสถานที่: Cheeze Magazine

บทความที่เกี่ยวข้อง