5 ข้อเตรียมความพร้อมทางการเงินก่อนเกษียณ

Care / Self Care

หลายคนมีความฝันว่า เมื่อเข้าสู่บั้นปลายชีวิตแล้วจะขอใช้ชีวิตอย่างสุขกายสบายใจอยู่กับลูกหลาน ครอบครัว เพื่อนฝูง และงานอดิเรกต่างๆ นานา โดยปลดเกษียณเด็ดขาดจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนอย่างตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา 

แน่นอน ความฝันนั้นเป็นจริงได้ แต่คุณก็ต้องวางแผนเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนที่วันนั้นจะมาถึงเสียก่อน โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญอย่างเงินๆ ทองๆ

เพื่อช่วยให้คุณเดินเข้าสู่วัยเกษียณอย่างสวยงามมั่นคง “ชีวิตดี by hhc thailand” มีคำแนะนำ 5 ข้อให้คุณใช้เตรียมความพร้อมเบื้องต้นสำหรับอนาคตข้างหน้า

1. คำนวณรายจ่ายในวัยเกษียณ

เป็นความเข้าใจผิดที่โลกสวยไปหน่อยถ้าคุณกำลังคิดว่า คุณจะมีรายจ่ายลดลงเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ!

เพราะอย่าลืมว่า เมื่อไม่ต้องทำงานประจำอีกต่อไป คุณจะมีเวลาว่างมากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยหลายคนมักใช้เวลาส่วนมากไปกับการเดินทางท่องเที่ยว สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ช้อปปิ้ง และไหนจะค่าดูแลรักษาสุขภาพที่มักจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุอีกล่ะ… ทุกอย่างที่ว่ามานี้มีราคาที่ต้องจ่ายทั้งนั้น

รายจ่ายในวัยเกษียณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตที่คุณเลือกใช้ ดังนั้นก่อนที่คุณจะพอคำนวณได้คร่าวๆ ว่าคุณจะมีรายจ่ายเท่าไร คุณก็ต้องตอบคำถามตัวเองเสียก่อนว่า “คุณจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไร” เช่น คุณอาจจะอยากท่องเที่ยวไปในหลายๆ สถานที่ที่คุณไม่เคยไป อยากซื้อรถสปอร์ตสักคันอย่างที่เคยฝันไว้ อยากทำงานการกุศลเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม อยากทำงานรับจ๊อบบ้างเป็นครั้งคราวหรือว่าไม่ทำงานเลย และ… “อยากจะอาศัยอยู่ที่ไหน”

คำถามสุดท้ายในเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญที่จะประเมินค่าใช้จ่ายในอนาคตของคุณได้อย่างดีอีกข้อหนึ่ง เพราะถ้าคุณวางแผนจะขายบ้านในเมือง แล้วย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด แน่นอนว่าค่าครองชีพจะลดลงและคุณยังมีเงินก้อนจากอสังหาริมทรัพย์ที่ขายไปอีกด้วย แต่ถ้าคุณอยากจะอยู่ใกล้ๆ ลูกหลานในเมืองใหญ่ คุณก็ต้องเตรียมความพร้อมที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายของคนเมืองไว้ด้วย

2. รายได้จากการลงทุน

ถึงจะไม่ได้ทำงานประจำแล้ว แต่คุณก็ควรจะต้องมีรายได้เข้ากระเป๋าอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น บำนาญ ค่าจ้างจากการทำงานพิเศษ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดอกเบี้ยจากเงินออม และรายได้จากการลงทุนช่องทางต่างๆ

แน่นอนว่าในจำนวนรายได้ทั้งหมด “การลงทุน”​ น่าจะเป็นรายได้ก้อนใหญ่ที่ผู้วางแผนเกษียณควรพิจารณาให้ความสำคัญมากที่สุด อาจเป็นการเล่นหุ้น พันธบัตรออมทรัพย์ กองทุนรวม การปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนที่ใครต่อใครว่าเหมาะสำหรับอนาคตระยะยาว นั่นคือ สินทรัพย์ดิจิตอล หรือ Cryptocurrency 

เลือกช่องทางการลงทุนที่คุณถนัดเป็นหลัก ไม่ควรเลือกตามเทรนด์หรือตามคนอื่น ที่สำคัญ ควรศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วน เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง!

3. ปลดหนี้

ทีนี้ คุณก็พอจะคาดเดารายรับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในวัยเกษียณได้แล้ว และพอจะวางแผนได้ว่าจะรักษาสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายนี้อย่างไร แต่ยังมีอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้คุณลดรายจ่ายได้ นั่นคือการปลดหนี้สินที่มีอยู่ให้หมดก่อนวัยเกษียณ

หากเป็นไปได้ ในช่วงที่คุณยังทำงานมีเงินเดือนอยู่ คุณควรเร่งชำระหนี้สินเชื่อให้หมดเสียก่อน และเมื่อจำเป็นต้องซื้ออะไรในราคาสูง พยายามเลือกชำระด้วยเงินสดแทนการใช้บัตรเครดิต เพื่อลดหนี้บัตรเครดิต เพราะการเดินเข้าสู่วัยเกษียณโดยปราศจากหนี้สินนั้นคือลาภอันประเสริฐเลยทีเดียว

4. ลงทุนกับประกันสุขภาพ

มีคำกล่าวในภาษาอังกฤษที่บอกว่า “You’re not getting any younger” ซึ่งหมายความถึงในวัยหนึ่งที่เราจะชราภาพลงทุกทีๆ ไม่สามารถทำอะไรหลายอย่างได้เหมือนวัยหนุ่มสาว รวมถึงสุขภาพที่มีแต่จะเสื่อมถอยลง

แม้ว่าความชราและความเจ็บป่วยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คุณสามารถเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพได้ เช่น การซื้อประกันสุขภาพ โดยประกันสุขภาพที่คุณเลือกจะมีวงเงินคุ้มครองมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน อย่างน้อยมีประกันคุ้มครองเก็บไว้บ้างก็พอจะอุ่นใจได้เมื่อความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไม่พึงปรารถนามาเยือน

5. วางแผนแต่เนิ่นๆ

คำแนะนำที่ว่ามาข้างต้นอย่างการลงทุนและการปลดหนี้ ล้วนต้องวางแผนและลงมือปฏิบัติก่อนที่คุณจะเกษียณทั้งนั้น และแน่นอน ยิ่งคุณเริ่มต้นเร็วเท่าไร หนี้สินที่มีก็จะหมดเร็วขึ้น เช่นเดียวกับดอกผลจากการลงทุนที่จะมีมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี ไม่มีคำตอบตายตัวว่าคุณควรเริ่มวางแผนวัยเกษียณตั้งแต่เมื่อไร บางคนเริ่มตั้งแต่อายุ 35 บางคนเริ่มช้าหน่อยเมื่อวัย 50 แต่ถ้าคุณเริ่มช้ากว่าใครเพื่อน คุณก็ต้องรู้จักวิธีที่จะทำให้ดอกผลจากการลงทุนงอกเงยขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ส่วนคนที่เริ่มวางแผนเร็วนั้น ก็อย่าเครียดกับแผนการในบั้นปลายชีวิตมากเกินไปจนลืมที่จะหาความสุขให้ตัวเอง

ที่สำคัญ นอกจากเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้ว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่คุณควรดูแลให้ความสำคัญแต่เนิ่นๆ นั่นคือเรื่องสุขภาพ เพราะถึงจะมีเงินทองใช้เหลือเฟือ แต่ถ้าไม่มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง ความสุขที่วางแผนไว้ก็คงหายไปกว่าครึ่ง เพราะฉะนั้น พร้อมๆ กับการเริ่มวางแผนเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายในวัยเกษียณ อย่าลืมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหาเวลาพักผ่อนด้วย

ที่มา:
merrilledge.com
investopedia.com

บทความที่เกี่ยวข้อง