สุทธิศักดิ์ จำปา Tiktoker สายสุขภาพที่เชื่อว่า ‘ความพยายามไม่ทำร้ายคนที่ตั้งใจ’

Human / Social-Inspiration

“เภสัชฟลุคกี้ หนึ่งนาทีนี้มีคำตอบแน่นอนค่ะ” ประโยคเปิดคลิปสั้นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของ สุทธิศักดิ์ จำปา และทำให้เราได้รู้จัก ‘เภสัชฟลุคกี้’ เมื่อหลายปีก่อนในฐานะ Tiktoker เจ้าของแอคเคาน์ @flukiie ซึ่งถือเป็นครีเอเตอร์รายแรกๆ ของ TikTok ที่นำเอาความรู้ด้านสุขภาพมาส่งต่อให้ผู้คนด้วยวิธีการแปลกใหม่ในแบบเอ็ดดูเทนเมนท์ที่มีดีทั้งสาระและบันเทิงจนขึ้นแท่นดาว TikTok และอินฟลูเอนเซอร์สายสุขภาพมาตั้งแต่เปิดตัวจนถึงปัจจุบัน 

ปีนี้ นับเป็นปีที่ 3 แล้วจากวันแรกที่ฟลุคตัดสินใจเดินบนถนนสายใหม่ในฐานะคอนเทนท์ครีเอเตอร์ แน่นอนว่าในตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เราได้เห็นพัฒนาการหลายๆ อย่างในตัวเขา และอาจมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกมากมายในอนาคตข้างหน้า แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อว่าฟลุคจะไม่มีวันเปลี่ยนคือความแน่วแน่ที่อยากจะนำความรู้ความสามารถที่ตัวเองมีมาก่อประโยชน์ในวงกว้างให้กับสังคม ที่มากไปกว่านั้นคือการที่เขาจะใช้ ‘จุดร่วม’ ระหว่างสิ่งที่ถนัดและสิ่งที่รักมา ‘สร้างและส่งต่อ’ แรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นต่อไป

เภสัชฟลุคกี้ หนึ่งนาทีนี้มีคำตอบแน่นอนค่ะ

ฟลุคเป็นคนเชียงใหม่ เรียนที่นั่นตั้งแต่เด็กจนจบคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มจับงานแรกกับอาชีพผู้แทนยาในกรุงเทพฯ งานที่เขาหมายมั่นปั้นมือมาตั้งแต่ตอนเรียนว่าอยากจะทำและไม่ผิดคาดกับที่ตั้งใจไว้ เพราะการทำงานเป็นผู้แทนยาคือชีวิตที่สนุกและได้รับประสบการณ์มากมาย 2 ปีหลังจากนั้น เขาตัดสินใจกลับมาที่เชียงใหม่เพื่อมาอยู่กับคุณแม่ และอยากเปิดร้านยาของตัวเองเพราะอยากลองใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมากับบทบาทเภสัชกรอย่างเต็มตัว แต่ถึงอย่างนั้น เขายังรู้สึกว่าไม่ใช่ชีวิตในแบบที่ต้องการ ฟลุคทบทวนถึงสิ่งที่เขาสนใจและสำรวจดูควบคู่กันไปว่าในสายเภสัชฯ ยังมีอะไรที่สามารถทำได้อีกไหม เขาจึงลองพัฒนาตัวเองสู่บทบาทคอนเทนท์ครีเอเตอร์สายสุขภาพบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Youtube และ Facebook แต่เวลานั้นผลตอบรับยังไม่เยอะเท่าที่ควร จนแอคเคาน์ @flukiie เปิดตัวใน TikTok ที่ที่เขาได้สร้างทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พร้อมๆ กับการส่งต่อความรู้สุขภาพแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

“ตอนนั้นเป็นช่วงโควิดที่ทุกคนต้องอยู่บ้านพอดี ฟลุคเริ่มเล่น TikTok และเห็นว่าแพลตฟอร์มนี้ใหม่มากๆ ถ้าพูดแบบคนทำธุรกิจ คือที่นี่ยังไม่ใช่ Red Ocean ที่เต็มไปด้วยคู่แข่ง ซึ่งภาพของ TikTok คือแอพพลิเคชันที่เน้นความสนุกสนาน ตอนนั้นคอนเทนท์ส่วนใหญ่จะเป็นคลิปเต้น ร้องเพลง ลิปซิงค์ แต่ยังไม่มีคนมาจับเรื่องการให้ความรู้ ฟลุคคิดว่าตัวเองทำมาหลายแพลตฟอร์มแล้ว น่าจะลองดูสักหน่อย”

แอคเคาน์ @flukiie เปิดตัวคลิปแรกกับประเด็นสุดฮอตในเวลานั้นอย่าง ‘ฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันเชื้อโควิด 19 ได้จริงไหม’ และตามมาด้วยเนื้อหาเรื่องยาและสุขภาพฉบับย่อยง่ายที่เขาหยิบยกมาจากประสบการณ์จริงตอนเปิดร้านยากับสารพันปัญหาแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นยาพารากิน 1 หรือ 2 เม็ดกันแน่? จูบปากกันติด HIV ไหม? กินแตงกวาจะไปล้างยาคุม จริงหรือ? อีโนทานตอนฟองฟู่หรือฟองหมด? ทิฟฟี่หรือดีคอลเจนดีกว่ากัน? ทำให้เภสัชฟลุคกี้กลายเป็นที่รู้จักและขึ้นแท่นดาว Tiktok สายสุขภาพอย่างรวดเร็วและมีคนติดตามต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน 

‘คุมกำเนิด’ ความรู้พื้นฐานที่ต้องเข้าถึงประชาชน

“จากเนื้อหาที่เคยกำหนดไว้เป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่ 1. เรื่องยาที่คนมักเข้าใจผิดและไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง 2. ประเด็นด้านสุขภาพที่เป็นกระแสในสังคมในช่วงเวลานั้นๆ และ 3. การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิด เพราะฟลุคอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อม แต่พอเติบโตมาได้สัก 2-3 ปี เราจึงพยายามตีกรอบสิ่งที่อยากนำเสนอให้แคบลง เวลานี้ เนื้อหาใน Tiktok จึงเน้นไปที่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือประเด็นที่อยู่ในกระแสปัจจุบัน และเรื่องการคุมกำเนิดที่ยังคงเป็นเป้าหมายของการทำอยู่เสมอ ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่วันแรก เพราะเรื่องการท้องไม่พร้อมมาจากความไม่รู้ ความอายที่จะถาม แล้วจนถึงปัจจุบันเรายังไม่มีการให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดที่ถูกต้องและปลอดภัยอย่างจริงจังและเห็นผล เราต้องยอมรับว่าเด็กไทยไม่มีความรู้ในส่วนนี้มากพอจึงทำให้ปัญหาท้องไม่พร้อมยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม การได้มาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ทำให้ฟลุครู้ว่าจริงๆ แล้ว เด็กๆ สนใจเรื่องเหล่านี้มาก เพียงแต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะไปถามใครหรืออายที่จะถาม ถ้าเราใช้เวลาสักไม่กี่นาทีทำให้พวกเขาได้รับความรู้ที่ถูกต้องได้ ฟลุคคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก 

“จริงๆ เรื่องการคุมกำเนิดในช่วง 2-3 ปีที่ช่องของฟลุค แม้จะได้ส่งต่อความรู้ออกไปในหลายๆ วง ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มเติมความรู้ และเปลี่ยนแปลงความเข้าใจผิด รวมถึงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนฟังได้พอสมควร แต่สิ่งที่อยากจะได้มากกว่าคืออยากให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนมาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้เรื่องของการคุมกำเนิดถูกส่งต่อไปได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพด้วยข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น รวมไปถึงการสร้างทัศนคติใหม่ว่าเรื่องเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดเป็นความรู้พื้นฐานสุขภาพที่คนคนหนึ่งมีสิทธิ์และสมควรที่จะได้รับรู้ เมื่อเด็กๆ ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง นั่นจะช่วยลดปัญหาการท้องไม่พร้อม เรื่องโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอื่นๆ อีกมากมายได้ การได้รับการผลักดันจากองค์กรต่างๆ มากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเข้าถึงคนได้ดีอีกระดับหนึ่งเลยค่ะ” 

วิทยาศาสตร์ VS ความเชื่อ 

“เรื่องสุขภาพ แม้จะเป็นวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนมีความเชื่อของตัวเอง เช่น เป็นหวัดห้ามทานไอศกรีมนะ ประจำเดือนมาห้ามดื่มน้ำเย็นเพราะจะทำให้เลือดแข็งตัว ทั้งที่จริงๆ การดื่มน้ำเย็นจะผ่านไปที่กระเพาะซึ่งอยู่คนละส่วนกับมดลูก เพราะฉะนั้น คนที่มาพร้อมความเชื่อ มีภูมิหลัง หรือหากป่วยจะปฏิบัติมาอย่างนี้ตลอดระยะเวลา 20-30 ปี การที่ทำคลิปใน TikTok แล้วมีคนมาเห็นแย้งเป็นเรื่องที่ฟลุคว่าปกติ แต่ขณะเดียวกัน นั่นเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราต้องใส่ใจเรื่องการผลิตเนื้อหา การตรวจสอบข้อมูล การนำเสนอ และอดทนรอที่จะให้ความรู้ค่อยๆ เข้าไปเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนทีละน้อย

“ความเข้าใจผิดคลาสสิกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาของระบบสาธารณะสุขของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เรียกว่ามีทุกวัน ทุกร้านยา และเภสัชกรทุกคนต้องเจอ คือเวลาเจ็บคอ คนไทยมักจะมาขอซื้อยาแก้อักเสบเสมอ เป็นเหมือนความเชื่อมาช้านาน ฟลุคคิดว่าความเข้าใจผิดจะไม่เกิดขึ้นหากเราเดินไปร้านยาแล้วบอกอาการเภสัชกรว่าช่วยดูให้หน่อยได้ไหมว่าอาการเจ็บคอที่เราเป็นแบบนี้ควรจะทานยาอะไร นั่นจะทำให้เภสัชกรสามารถจ่ายยาโดยใช้ความรู้มาดูแล แต่หากคนไทยมาขอยาแก้อักเสบ โดยพ่วงกับว่าวันนั้นบังเอิญไม่มีการซักประวัติเกิดขึ้นหรือว่าร้านยานั้นๆ ไม่มีเภสัชกรมาคอยแนะนำ หรือแม้แต่มีเภสัชกรคอยจ่ายยาที่ถูกต้องให้ แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็จะดื้อเอาแต่ยาแคปซูลสีฟ้าเขียว ซึ่งเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบ แต่ที่จริงแล้วนั่นคือยาฆ่าเชื้อ ดังนั้น ทุกครั้งที่เจ็บคอแล้วทานยาฆ่าเชื้อมาเรื่อยๆ จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะดื้อยา การทานยาฆ่าเชื้อโดยไม่สมเหตุสมผล เช่น เจ็บคอโดยมีสาเหตุจากการตะโกนหรือนอนห้องแอร์ หรือคอบวมจากการดื่มน้ำน้อย การไปซื้อยาฆ่าเชื้อหรืออาจจะมียาตัวนี้ติดอยู่ที่บ้านอยู่แล้ว แล้วเราเข้าใจว่านี่คือยาแก้อักเสบที่จะรักษาอาการได้ ที่สำคัญคือทานไม่ครบโดสด้วยแล้ว นั่นจะทำให้เกิดภาวะดื้อยาเกิดขึ้น แบบนี้มีโทษมากๆ เลยนะคะ เพราะหากวันหนึ่งเราติดเชื้อขึ้นมาจริงๆ โอกาสที่จะใช้ยาฆ่าเชื้อตัวนี้อาจจะไม่ได้แล้ว เพราะว่าเราใช้ไปเยอะแล้วตลอดช่วงชีวิตของเรา คุณหมออาจต้องจ่ายยาที่แรงขึ้น ซึ่งยาที่แรงก็จะมาพร้อมผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป นี่จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ซึ่งฟลุค เภสัชกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะสื่อสารอยู่ตลอดว่า ‘ยาแก้อักเสบ ≠ ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ’ เพราะฉะนั้น ถ้าเจ็บคอวันเดียว ไม่มีการติดเชื้อที่คอ ไม่มีไข้ กรณีนี้สามารถทานยาแก้อักเสบสำหรับรักษาอาการนี้ได้”

กำไรจากการให้คือความสุข  

“ฟลุคเป็นเด็กสายวิทย์มาตลอด ก่อนจะมาเป็นเภสัชกร เราเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยมา 6 ปี แล้วออกมาทำงาน แต่การเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์คือการเริ่มจากศูนย์จริงๆ เพราะเราไม่ได้เรียนอะไรที่เกี่ยวกับมีเดีย การแสดง การโฆษณาอะไรทั้งสิ้น ทำได้เพราะอาศัยครูพักลักจำ ศึกษาจากช่องอื่นๆ เป็นตัวอย่าง แล้วนำมาพัฒนาและสร้างสรรค์ในกระบวนท่าของเรา จนสุดท้ายออกมาเป็นช่องนี้ได้ ดังนั้น การมาผลิตคอนเทนท์ใน TikTok เมื่อ 2-3 ปีก่อนถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับฟลุค จนถึงวันนี้ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เพราะฉะนั้น ในประสบการณ์ที่ผ่านมาฟลุคได้อะไรเยอะมากๆ รวมทั้งการได้ค้นพบอีกพาร์ทของชีวิตที่ตอนนี้กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพในปัจจุบันแล้ว  

“ในแง่ของใจ เวลาได้อ่านคอมเม้นต์ประมาณว่า “หนูคิดผิดมาตลอดเลยค่ะ เดี๋ยวจะไปบอกคุณแม่และเปิดเสียงดังๆ ให้แม่ฟังเลย” ฟลุคทั้งดีใจและภูมิใจว่าอย่างน้อยๆ สิ่งที่เราพูดไปเราได้รับฟีตแบ็คที่ดีกลับมา แล้วถ้าความรู้ที่เรามาเล่าสามารถให้ความรู้และเปลี่ยนแปลงความคิดของคน จากที่เขาอาจเคยเข้าใจผิดกลายเป็นเข้าใจถูกและส่งผลให้การใช้ชีวิตเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แม้แค่ 1 คนก็มีความหมายมากสำหรับฟลุคแล้วนะ ดังนั้น การได้มาทำงานตรงนี้ นอกจากมีโอกาสให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนอื่นแล้ว ผู้ชมเองยังให้กำลังใจและความสุขฟลุคกลับมาเช่นกัน เหมือนเราได้ส่งต่อพลังงานที่ดีให้กันและกัน นี่เป็นขุมพลังที่ทำให้ฟลุคอยากเดินหน้าเพื่อเรียนรู้และพัฒนาทั้งทักษะทุกๆ ด้านของตัวเอง รวมทั้งรูปแบบการนำเสนอให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ”

ทุกความสำเร็จเริ่มต้นจาก ‘ลงมือทำ’  

“จากการทำงานที่หลากหลายที่ผ่านมาทั้งการเป็นผู้แทนยา เปิดร้านยา เป็นเภสัชกร วิทยากร คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และตอนนี้กำลังจะเป็นเจ้าของธุรกิจ แน่นอนอยู่แล้วว่าเวลาที่เราเติบโตขึ้น ความคิดทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตเราก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย การเปลี่ยนงานในหลายๆ บทบาทเกิดขึ้นจากการที่ฟลุคตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดว่าสิ่งที่ทำตอบโจทย์ชีวิตเราแค่ไหน เรามีความสุขแค่ไหน แล้วเราจะอยู่กับสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ ได้ไหม วันแรกเราอยากเป็นผู้แทนยาเพราะว่าอยากเรียนรู้อาชีพนี้ เรารู้สึกว่าจะต้องมีความสุขและสนุกที่จะได้เรียนรู้กับอาชีพนี้ แล้วก็ได้รับกลับมาอย่างที่หวังไว้ แต่เราจะกลับมานั่งทบทวนอยู่เสมอว่าอาชีพที่ทำอยู่ ณ เวลานั้น เป็นอย่างไร ดี-ไม่ดีตรงไหน เรายังอยากจะทำอยู่ไหม และอะไรคือความสุขของเราจริงๆ พอเรารู้ว่าตรงนี้ไม่ใช่ความสุขของเราแล้ว ฟลุคจะไม่ลังเลที่จะเดินออกมา ฟลุคไม่ถึงกับตั้งคำถามกับตัวเองในทุกๆ วันว่าวันนี้เราจะต้องทำอะไรบ้าง อะไรที่จะทำให้วันนี้เป็นวันที่สุขสดใสของเรากันนะ แต่จะเป็นทุกๆ ครั้งที่รู้สึกว่าเราอาจจะต้องการการเปลี่ยนแปลง หรือว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ค่อยชัดเจนสำหรับเรา การทำงานที่หลากหลายเป็นเหมือนกับเจอร์นี่ที่ทำให้เราเขยิบเข้าใกล้กับความชอบและความสุขของเราจริงๆ

“จนถึงตอนนี้ ฟลุคไม่เคยเสียดายเวลาที่เราเปลี่ยนงาน เพราะทุกๆ งานให้ทั้งประสบการณ์และทักษะที่ทำให้เป็นเราในทุกวันนี้ การทำงานผู้แทนยาให้ความรู้เรื่องมาร์เก็ตติ้งและการขาย การทำร้านยาทำให้เราเจอคนไข้และได้ข้อมูลจริงๆ จากผู้ป่วยว่าพวกเขาเข้าใจผิดเรื่องอะไรอยู่บ้าง มีประเด็นไหนที่จะเข้ามาถามเราทุกวัน นี่คือคลังข้อมูลที่ทำให้เกิดช่องของฟลุคในปัจจุบัน จากข้อมูลที่เราเคยอยู่หน้างานที่เราสื่อสารกับคนไข้เพียง 1 คน การได้มาอยู่หน้ากล้องที่ทำให้เสียงที่ส่งออกไปกว้างและไกลกว่าที่เคยทำมา สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน แต่เป็นสิ่งที่เราได้ทุ่มเทเวลาไปเมื่ออดีต ประสบการณ์ในทุกช่วงชีวิตของฟลุคจึงสามารถนำมาใช้กับทุกวันนี้ได้หมดเลย  

“ฟลุคบอกหลายๆ คนเสมอว่า บางทีเราไม่ต้องรู้หรอกนะว่าเราชอบอะไร คนมักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคิดว่าเราชอบอะไรนะ ซึ่งการไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรไม่ใช่เรื่องผิดอะไร บางคนคิดมาทั้งชีวิตก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร มันเป็นคำถามที่จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ดังนั้น คุณไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเอง แต่สิ่งที่ฟลุคสนับสนุนเสมอคือ ‘การลงมือทำ’ ฟลุคเองเป็นคนไม่กลัวที่จะลงมือทำ เพราะอย่างน้อยที่สุด หากเราไม่เจอสิ่งที่เราชอบ แต่เราจะเจอสิ่งที่ไม่ชอบแน่นอน ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าเสียดาย เมื่อรู้แล้วว่าไม่ชอบก็ตัดทิ้ง การตัดสิ่งที่เราไม่มีความสุขออกไป จะทำให้สโคปการหาความสุขของเราแคบลง เราก็จะได้เจอสิ่งที่เป็นความสุขที่แท้จริงหรือสิ่งที่เราชอบได้ง่ายขึ้นในทุกๆ ครั้ง 

“สำหรับคนที่ทำงาน ฟลุคอยากบอกว่า เราไม่มีทางเจองานที่เหมาะกับเรา 100% ทุกงานมีอุปสรรค ฟลุคก็เหมือนกันที่ทุกปีจะมีอะไรให้ต้องแก้ไขอยู่ตลอด การดีลกับสถานการณ์แบบนี้คือการหาหนทางให้ได้ว่าเราจะแก้ไขอย่างไรให้ดีที่สุด ซึ่งเราอาจจะไม่ต้องแก้ทั้งหมด 100% ในวันเดียว ฟลุคจะค่อยๆ แก้ไป ช่วงแรกที่ตื้อๆ ตันๆ เราจะปล่อยเวลาไปก่อน ทำอะไรที่เรามีความสุขก่อน เช่น นอน ดูหนัง ฟังเพลง จนสมองเราเริ่มโปร่งแล้วค่อยๆ แก้ไปทีละน้อย ซึ่งสุดท้ายปัญหานั้นอาจจะถูกแก้ไม่ครบ 100% ก็ได้ แต่ว่าสิ่งที่ฟลุคให้ความสำคัญมากกว่าคือเรื่องของการดีลกับตัวเองว่าหากเราเจอปัญหาแบบนี้ เราจะจัดการกับภาวะของตัวเองอย่างไร 

“อันที่จริงมันเป็นวิทยาศาสตร์นะคะเวลาเราเจอปัญหาอะไรขึ้นมา ในร่างกายของคนเราจะหลั่งฮอร์โมนและสารต่างๆ ที่ทำให้เราคิดอะไรไม่ออก ทำให้เรารู้สึกว่าสับสนไปหมดเลย สมมติเราเจอเรื่องร้ายๆ เข้ามา อันดับแรกสมองจะปฏิเสธก่อน อันดับที่สองเราอาจจะโทษหาคนผิด เช่น เธอผิดนะ ตัวฉันผิดเอง เพราะฉะนั้น เมื่อปัญหาเข้ามาปะทะเรา ปัญหานั้นยังไม่ต้องรีบแก้ไขขนาดนั้น ลองให้เวลากับตัวเองเพื่อปรับอารมณ์ความรู้สึกก่อน จนสมองเราโล่งขึ้น เมื่อถึงเวลานั้น เราจะเริ่มมีสติและสมาธิในการแก้ไขปัญหามากขึ้น ถ้าเรามั่วไปถกเถียงอยู่ในสมองของตัวเอง ปัญหาอาจจะยิ่งไปกันใหญ่ เอาเข้าจริง เวลามีปัญหาอะไรเข้ามา พอเราผ่านไปได้ เราจะรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นเป็นการเข้ามาทดสอบและให้อะไรกับเรา ไม่ใช่ทิ้งแค่ความเครียดหรือกังวลให้เราอย่างเดียว แต่สอนให้เราเติบโตไปด้วย” 

ความพยายามไม่ทอดทิ้งใคร

“สิ่งที่เหนี่ยวจิตใจมาโดยตลอดคือ ‘ความพยายามไม่ทอดทิ้งใคร’ ฟลุครู้สึกว่าความสำเร็จของคนเรามีหลายสเต็ป การตั้งเป้าเช่นว่าขอมียอดฟอลหนึ่งแสนหรือหนึ่งล้านฟอลคือสำเร็จของชีวิต แบบนั้นทำให้ฟลุครู้สึกว่าเป็นการจบการเดินทางของตัวเองเร็วเกินไปหน่อย ดังนั้น ฟลุคจึงไม่หยุดพยายาม เพราะมันให้อะไรกับเราอยู่แล้ว ทำไปเถอะ ได้ไม่ได้อย่างไร อย่างน้อยๆ การลงมือทำวันนี้ให้เรามากกว่าเมื่อวานอยู่แล้ว อย่างตอนที่เริ่มทำคอนเทนท์ใน Youtube และ TikTok ใหม่ๆ ฟลุคนั่งฝึกอยู่ 1 ปีเต็มแบบไม่มีรายได้อะไรเลย ไม่ทำงานอย่างอื่นเลยนอกจากงานนี้ ไม่ใช่ว่าลงคลิปทุกวันตลอด 1 ปีนะ แต่เป็น 1 ปีที่เรียนตัดต่อด้วยตัวเอง ไปคุยกับคนนั้นคนนี้ วางแผนอะไรต่อมิอะไร จนกระทั่งท้ายๆ ปีถึงเริ่มลงคลิปใน Youtube ซึ่งใน 1 ปีนั้น ครอบครัวยังไม่เข้าใจเลยว่าเราทำอะไร เคยคิดอยู่เหมือนกันว่าปีนั้นถ้าฟลุคหยุดไปก็คงไม่มีฟลุคในวันนี้ เพราะฉะนั้น เลยขอบคุณตัวเองมากๆ ที่ไม่เคยหยุด แม้จะไม่มีรายได้อะไรเลยก็ตาม ฟลุคไม่รู้หรอกว่าความสำเร็จในชีวิตจริงๆ ของตัวเองคืออะไรและจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน แต่การลงมือทำวันนี้จะทำให้เราได้อะไรแน่นอนในอนาคต ดังนั้น เวลาและความทุ่มเทไปคือการที่เรากำลังสั่งสมความรู้และประสบการณ์ที่จะทำให้เข้าใกล้ความสำเร็จในแต่ละขั้นของชีวิตที่เราคาดหวังไว้ 

“อีกหนึ่งแรงขับดันที่ฟลุคมักนึกถึงเสมอคือ ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ ท่านเป็นเภสัชกร มีคนเรียกท่านว่าเภสัชกรยิปซี เพราะว่าท่านใช้ทุนส่วนตัวไปวิจัยเรื่องยารักษาโรคเอดส์ในแอฟริกา แล้วเวลานั้นแอฟริกามีปัญหาเรื่องการเมืองหนักมาก อันตรายมาก แต่ท่านก็เสี่ยงชีวิตไปและพยายามทำทุกอย่างในความสามารถที่จะทำได้จนกระทั่งโรคที่เคยไม่มีทางรักษา โรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเยอะมาก และยารักษามีราคาแพง กลายเป็นโรคที่มีคนเสียชีวิตน้อยลงมากในปัจจุบัน ท่านทำให้ยารักษาโรคนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทยที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถซื้อยาได้ในราคาถูก สิ่งที่ท่านทำให้เห็นมาตลอดคือการที่คนคนหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงโลกและชีวิตของผู้คนได้ ทุกวันนี้ท่านไม่ได้แตะเรื่องเอดส์ขนาดนั้นแล้วเพราะว่าท่านทำสำเร็จแล้ว แต่ท่านขยับไปดูในเรื่องของการผลักดันสมุนไพรไทยให้ไปสู่สากล เป็นตำรับยาจากท้องถิ่นที่มีฤทธิ์ในการรักษาโรค  ดร. กฤษณา ยังคงเป็นแรงบันดาลใจเสมอ ทำให้ฟลุคไม่เคยหยุดเรียนรู้ ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ไม่หยุดที่จะให้อะไรกับคนอื่น เพราะเราเองก็อยากทำอะไรให้ยิ่งใหญ่ให้ได้แบบนั้นเหมือนกัน 

“ดังนั้น ความฝันสูงสุดของฟลุคคือ ‘การส่งต่อ’ ที่ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่คือสิ่งที่ได้เราเรียนรู้มาตลอดช่วงชีวิตให้กับผู้คน ฟลุคอยากให้สิ่งที่ทำอยู่ให้ประโยชน์กับคนจริงๆ และให้มากกว่านี้ ในอนาคตจะต้องดีกว่านี้ คนจะต้องรู้จักเราเยอะกว่านี้ คนจะต้องนึกถึงหน้าเราถ้าพูดถึงเภสัชกรบนโลกออนไลน์ที่มาพร้อมกับคลังความรู้และความสนุก คนที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านคุมกำเนิดเพราะอยากช่วยคลี่คลายปัญหาที่สังคมเราเผชิญอยู่จริงๆ สุดท้ายคืออยากให้สิ่งที่เราทำเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คน มันจะดีมากๆ เลยถ้ามีคนมาบอกว่า เราเป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้ ไม่รู้ว่าเป็นฝันที่เกินเอื้อมไปไหม แต่ฟลุคจะพยายามในทุกๆ วันเพื่อให้เข้าใกล้ความฝันนั้นให้ได้ค่ะ”

ช่างภาพ: สราวุฒิ ขันโปธิ
เพิ่มเติม: www.tiktok.com/@flukiie
ขอบคุณสถานที่: Building A Cafe

บทความที่เกี่ยวข้อง