‘หลอดเลือดสมอง’ โรคที่วัย 40+ ควรระวัง

Brain / Health

ปัญหาทางสมองซึ่งคนวัย 40 ปีขึ้นไปมักมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการต่างๆ เนื่องจากมีความกังวลว่าตัวเองจะเป็นมากที่สุดก็คือ ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ ไม่ว่าจะมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนแรง หรืออาการชาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คำถามแรกๆ ที่มักจะถามแพทย์ก็คือตนเองนั้นจะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตหรือไม่ บ้างก็มาปรึกษาด้วยความวิตกกังวล เนื่องจากมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ จึงกังวลว่าตนเองอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ด้วย จึงอยากปรึกษาเพื่อหาทางป้องกันตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีอาการผิดปกติซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้คนเรามีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวขึ้น เรียกได้ว่าก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างแท้จริง แต่ถ้าเลือกได้เราก็คงอยากจะค่อยๆ แก่ตัวไปอย่างแข็งแรงและช่วยเหลือตัวเองได้ให้มากที่สุดจริงไหมคะ

รู้จัก ‘โรคหลอดเลือดสมอง’

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke มี 2 ชนิด ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ชนิด ‘ตีบ’ กับ ‘แตก’ โดย 80% ที่พบนั้นมักเป็นชนิดตีบหรืออุดตันซึ่งพบได้บ่อยกว่าชนิดแตก 

เมื่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบหรืออุดตันก็จะทำให้เนื้อสมองเกิดภาวะขาดเลือดซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุพลภาพตามมา โดยสาเหตุของการอุดตันก็เนื่องมาจากมี ‘ลิ่มเลือด’ ที่ก่อตัวขึ้นในบริเวณอื่นแล้วไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเป็นลิ่มเลือดที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดสมองเองแล้วขยายขนาดขึ้นจนเกิดการอุดตันก็ได้ ส่วนกรณีหลอดเลือดตีบก็มักจะเป็นการสะสมของ ‘ไขมันที่ผนังหลอดเลือด’ ซึ่งเมื่อเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนไม่สามารถลำเลียงเลือดไปยังสมองได้ในที่สุดนั่นเอง

กรณีหลอดเลือดสมองแตกมักเกิดในกรณีที่เส้นเลือดสมองมีความเปราะบางจากสาเหตุต่างๆ ทำให้เกิดการปริแตกได้ง่าย โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ ‘ภาวะความดันโลหิตสูง’ ซึ่งการที่มีเลือดออกในสมองนั้นค่อนข้างอันตรายมากเพราะสามารถเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้

อาการที่ต้องระวัง ‘โรคหลอดเลือดสมอง’

เมื่อสมองเกิดการขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมองก็จะทำให้สมองส่วนนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ซึ่งจะรุนแรงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและตำแหน่งของเนื้อสมองที่ถูกทำลาย 

อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ได้แก่ อาการอ่อนแรงหรือชาที่ใบหน้า และ/หรือ แขนขาแบบครึ่งซีก, อาการลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด มุมปากตก กลืนลำบาก, อาการตามัว/บอด มองเห็นภาพซ้อน, อาการเดินเซ ทรงตัวลำบาก, อาการปวดศีรษะรุนแรง หรืออาการเวียนศีรษะที่เป็นทันทีทันใด หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ในทันที

ปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองนั้นมีทั้งปัจจัยที่เราป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ ในส่วนที่ป้องกันไม่ได้ เช่น อายุ เชื้อชาติ และเพศ โดยอายุที่เพิ่มขึ้น (มากกว่า 55 ปี) ความเสื่อมของหลอดเลือดก็เพิ่มขึ้นไปด้วย เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง กลุ่มคนที่มีเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน ละตินอเมริกัน และเอเชียนจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ นอกจากนี้ก็ได้แก่ โรคหรือภาวะที่ทำให้เลือดแข็งตัวผิดปกติ และกลุ่มโรคที่มีหลอดเลือดผิดปกติมาแต่กำเนิดต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนที่เราไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เราป้องกันได้ เช่น โรคอ้วน การสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation และการใช้ฮอร์โมนชนิดเอสโตรเจน ซึ่งหากเรางดเว้นปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ หรือสามารถควบคุมโรคประจำตัวต่างๆ ที่มีให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไปพบแพทย์ และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลหรือแป้งสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และหากมีอาการเตือนที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองตามที่กล่าวมาแล้ว อย่ารีรอที่จะรีบไปพบแพทย์ทันที แม้ว่าอาการนั้นจะหายไปแล้วก็ตาม

ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง

หากยังไม่มีหรือไม่ทราบว่าเรามีโรคประจำตัวที่เป็นความเสี่ยงหรือไม่ การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงและทำการรักษาอย่างเหมาะสมก่อนที่จะเกิดปัญหา เพราะหลายๆ ปัจจัยเสี่ยงนั้นแม้เรามีอยู่แต่อาจจะไม่แสดงอาการอะไรเลยหากเราไม่ได้ไปตรวจ โดยเฉพาะหากมีประวัติความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดสมองในครอบครัวเราก็อาจอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรงดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม รับประทานอาหารให้สมดุล ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะใช้ยา อาหารเสริม หรือฮอร์โมนชนิดใดๆ เป็นระยะเวลานานๆ ก็จะสามารถลดโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง