“เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา
และการรักษาในระยะเริ่มต้นย่อมง่ายกว่า…
การรักษาในระยะที่เป็นรุนแรง”
เป็นเรื่องที่รู้กันดีว่า ช่วงสิ้นปีอย่างนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งเทศกาลตรวจสุขภาพประจำปีที่แทบทุกโรงพยาบาลจะจัดแพ็กเกจตรวจสุขภาพออกมาให้เราเลือกสรรในราคาที่เย้ายวนใจ โดยจะมีตั้งแต่แพ็กเกจตรวจแบบกรุบกริบไปจนถึงแพ็กเกจตรวจแบบจัดเต็ม ส่วนใหญ่เราก็มักจะเลือกตรวจแบบหลังนี่แหละ เพราะคิดว่าไหนๆ ก็ลางานฝ่ารถติดไปโรงพยาบาลแล้ว ก็ตรวจกวาดไปให้หมด ซึ่งบอกได้เลยว่า ‘เกินเหตุ!’ เสียเงิน เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
แม้การตรวจสุขภาพประจำปีจะเป็นวิธีหนึ่งในการเฝ้าระวังสุขภาพที่ได้ผลยอดเยี่ยม แต่การตรวจโดยไม่มีหลักการหรือตรวจตามๆ เขาไป ก็ถือเป็นเรื่องอันตรายที่เราไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะการใช้ชีวิตของเรานั้นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การพักผ่อน การกินอาหาร การออกกำลังกาย ความเครียด บางคนเป็นนักดื่ม บางคนสูบบุหรี่จัด ฯลฯ ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันเหล่านี้ย่อมมีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่แตกต่างกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้น หากเพียงตรวจตามเพื่อน ตรวจตามแพ็กเกจเหมาจ่ายที่จัดมาเพื่อคนส่วนใหญ่ อาจจะเป็นการตรวจสุ่มๆ ส่งๆ ไม่ตรงจุดที่แท้จริง และไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แถมยังทำให้เราชะล่าใจและใช้ชีวิตผิดๆ ต่อไป
ไม่เป็นไร ≠ ปลอดภัย
เพราะชีวิตที่ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ได้หมายความว่าเรามีสุขภาพแข็งแรง ขณะที่ร่างกายถูกใช้งานทุกวัน แน่นอนว่าย่อมมีการเสื่อมไปตามธรรมชาติเป็นธรรมดา การตรวจสุขภาพนั้นเป็นเสมือนตัวช่วยให้เรารู้ว่า อวัยวะใดที่เริ่มเสื่อม กำลังเสื่อม หรือเสื่อมไปแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการบ้าง จะได้เฝ้าระวังหรือบำรุงรักษาอย่างถูกจุด ที่สำคัญเป็นการเช็คไปในตัวว่าตลอดปีที่ผ่านมาเราดำเนินชีวิตผิดทางไปหรือเปล่า เช่น กินหวานจัดไปไหม กินปิ้งย่างมากไปหรือเปล่า นั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์มากไปไหม ฯลฯ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาทบทวนและปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตที่เคยทำลายสุขภาพได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาลุกลามบานปลายจนกลายเป็น ‘โรคร้าย’ ขึ้นมาก่อน
นี่เองเป็นเหตุผลให้เราควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อย ขอย้ำว่า ‘อย่างน้อย’ ปีละ 1-2 ครั้ง นั่นหมายความว่า หากจะไปตรวจบ่อยครั้งกว่านั้นและไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเทศกาลตรวจสุขภาพปลายปีจึงจะไปตรวจก็ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง เช่น โรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม เบาหวาน ไขมันในเลือด ฯลฯ สามารถไปตรวจสุขภาพบ่อยๆ เพราะนั่นหมายถึงเราสามารถป้องกันไว้ก่อนเกิดปัญหาบานปลาย รวมถึงยืดอายุการใช้งานให้กับอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายของเราได้มากขึ้น
ตรวจสุขภาพที่ ‘ใช่!’ ตามไลฟ์สไตล์เราเอง
‘สุขภาพ’ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์ นิสัย พฤติกรรม ความเชื่อ ความชอบ สิ่งแวดล้อม พันธุกรรม ฯลฯ ซึ่งโปรแกรมตรวจสุขภาพไปตามช่วงอายุหรือตรวจตามแพ็กเกจเหมาจ่ายที่ทางโรงพยาบาลจัดไว้ให้คนทั่วไป เช่น ตรวจวัดความดันโลหิต ชีพจร, ตรวจหาดรรชนีมวลกาย, ตรวจความผิดปกติของเม็ดเลือด, ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด, ตรวจการทำงานของตับ-ไต, ตรวจวัดมวลกระดูกและตรวจระดับกรดยูริกจากเลือด และตรวจเอกซเรย์ปอด ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงการตรวจสุขภาพเบื้องต้นที่อาจจะไม่ครอบคลุมเพียงพอ
นั่นเป็นที่มาของเทรนด์ใหม่ในการตรวจสุขภาพที่เวิร์กกว่า คือ ‘การตรวจสุขภาพตามไลฟ์สไตล์’ ซึ่งเป็นการตรวจสุขภาพแบบพุ่งเป้าไปยังจุดที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เช่น คนที่มีโรคประจำตัว ต้องกินยาเป็นประจำ หรือนักดื่ม นักเที่ยวที่ชอบปาร์ตี้ หรือผู้ที่เคยมีภาวะติดเชื้อที่ตับมาก่อน คนกลุ่มนี้อาจจะต้องเน้นไปตรวจค่าตับและไตอย่างสม่ำเสมอ สิงห์อมควันหรือใช้ชีวิตในระยะประชิดกับนักสูบบุหรี่ก็ควรตรวจหามะเร็งปอด ภาวะเส้นเลือดอุดตันเป็นประจำ ส่วนนักปิ้งย่าง ลูกค้าระดับวีไอพีของร้านหมูกระทะ นอกจากภาวะอ้วนและระดับไขมันแล้ว ควรตรวจเบาหวานไปจนถึงมะเร็งร่วมด้วย ขณะที่หนุ่มสาวที่นิยม one night stand รักสนุกแบบไม่ผูกพันก็ต้องใส่ใจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนัก หรือสาวคนไหนที่มีประวัติคนในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม นั่นหมายถึงความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฯลฯ
ไม่รู้ไลฟ์สไตล์ ‘โรคร้าย’ จะถามหา
รู้อย่างนี้แล้ว สิ่งแรกที่เราควรทำก็คือ สำรวจไลฟ์สไตล์ของตัวเองว่าใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยงอะไรบ้าง และมีปัจจัยอะไรที่เราควรระวังเป็นพิเศษ รวมถึงคอยสังเกตอาการผิดปกติหรือความเสื่อมของร่างกายที่แฝงอยู่ สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นข้อมูลในการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาวิธีตรวจสุขภาพที่ตรงจุดและเหมาะสมกับเรามากที่สุด และเมื่อผลตรวจออกมาแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ ยอมรับและทำความเข้าใจกับผลตรวจ จากนั้นนำมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น พฤติกรรมการกิน, ออกกำลังกาย, พักผ่อนให้เพียงพอ, ลดละเลิกเครื่องดื่มมึนเมา เป็นต้น เพื่อยืดอายุการใช้งานร่างกาย
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของ ‘ข้อเท็จจริง’ อย่าหลอกหมอ แม้กระทั่งหลอกตัวเองก็ห้ามเด็ดขาด เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่กลัวจะเป็นโรคร้าย พอรู้ว่าจะต้องไปตรวจสุขภาพก็ใช้วิธีเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับไลฟ์สไตล์ก่อนไปตรวจสุขภาพ เพื่อให้ได้ผลตรวจสุขภาพที่น่าพึงพอใจ แต่เมื่อการตรวจสุขภาพผ่านไปก็กลับใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ซึ่งนอกจากการตรวจสุขภาพจะเปล่าประโยชน์แล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายให้กับตัวเองอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะผลตรวจที่บิดเบือนทำให้เราคิดเองเออเองว่า ตัวเองสุขภาพแข็งแรงและดำเนินชีวิตแบบประมาทต่อไป โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นช่องทางที่ทำให้โรคต่างๆ เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้น
‘สุขภาพดี’ ไม่ได้อยู่ที่บุญทำกรรมแต่ง
เพราะโรคร้ายไม่ใช่เรื่องโชคลาง แต่มันแฝงมากับ ‘ไลฟ์สไตล์’ การใช้ชีวิตแบบผิดๆ และบ่อยครั้งก็เป็นตัวกระตุ้นโรคทางพันธุกรรมให้เกิดขึ้น เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น การตรวจสุขภาพก็ไม่ต่างอะไรกับการตรวจสภาพเครื่องยนต์ของรถ ยิ่งตรวจบ่อยเท่าไรก็สามารถเจอความผิดปกติได้เร็ว รักษาได้ง่ายอย่างทันท่วงที และยืดอายุการใช้งานของร่างกายเราได้มากเท่านั้น ฉะนั้น อย่าเอาแต่ใช้งานอย่างเดียว แต่ควรจะรู้จักการบำรุงรักษา ไม่มัวรอให้เกิดปัญหาบานปลายกลายเป็นโรคร้ายแรงเสียก่อน เพราะร่างกายคนเรา ‘ยกเครื่อง’ เปลี่ยนไม่ได้เหมือนรถยนต์
สำคัญกว่านั้น เมื่อป่วยแล้ว ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่เดือดร้อน แต่ยังโยงไปถึงคนรอบตัวอีกมากมายที่ต้องร้อนใจ เป็นห่วง กระทั่งเป็นภาระ ไม่ว่าจะเป็นลูก คนรัก พ่อแม่ เจ้านาย ลูกน้อง ฯลฯ ดังนั้น การตรวจสุขภาพนั้นเป็นเหมือนหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น รวมถึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรประหยัด เพราะเมื่อเทียบกับการที่เราต้องไปนอนโรงพยาบาลแล้ว เชื่อเถอะว่าค่าการตรวจสุขภาพนั้นถูกกว่าเยอะ แถมไม่ต้องเสียเวลาไปนอนโรงพยาบาลอีกด้วย
อย่ากลัว อย่าเบื่อหน่าย อย่าชะล่าใจ จนละเลยการตรวจสุขภาพของตัวเอง และเพื่อให้ได้ประสิทธิผลมากที่สุด อย่าลืมสำรวจไลฟ์สไตล์ รวมถึงสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเองที่อาจเกิดขึ้น และนำสิ่งเหล่านั้นไปเป็น ‘ข้อมูล’ เพื่อขอรับการตรวจสุขภาพอย่างตรงจุดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ในปัจจุบันถือเป็นความโชคดีของคนไทยที่มีสิทธิ การตรวจสุขภาพฟรี! รองรับอยู่พอสมควร นั่นเอื้อให้เราสามารถเข้าถึงการตรวจสุขภาพประจำปีได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม สิทธิผู้ถือบัตรทอง รวมถึงสิทธิข้าราชการ เป็นต้น ทาง hhc thailand จึงขออาสารวบรวมสิทธิที่ให้เราสามารถไปตรวจสุขภาพประจำปีแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาให้ ดังนี้
บัตรประกันสังคม
ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 สามารถใช้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมเพื่อ “ตรวจสุขภาพประจำปี” โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ณ สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการตรวจสุขภาพกับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งสามารถตรวจเช็กได้ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th/wpr/main/login โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
การตรวจร่างกายตามระบบ
- ตรวจคัดกรองทางการได้ยิน Finger Rub Test: 15 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี
- ตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข: 30-39 ปี ทุก 3 ปี, 40-54 ปี 1 ครั้ง/ปี, 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเหมาะสมหรือมีความเสี่ยง
- ตรวจตาโดยความดูแลของจักษุแพทย์: 40-54 ปี 1 ครั้ง/ปี, 55 ปีขึ้นไป ทุก 1-2 ปี
- ตรวจสายตาด้วย Snellen Eye Chart: 55 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC: 18-54 ปี 1 ครั้ง/ปี, 55-70 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี
- ตรวจปัสสาวะ UA: 55 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี
การตรวจสารเคมีในเลือด
- ตรวจน้ำตาลในเลือด FBS: 35- 54 ปี ทุก 3 ปี, 55 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี
- ตรวจการทำงานของไต Cr: 55 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี
- ตรวจไขมันในเส้นเลือดชนิด Total Cholesterol & HDL: 20 ปีขึ้นไป ทุก 5 ปี
การตรวจอื่นๆ
- ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี HBsAG สำหรับผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 1 ครั้ง/ปี
- ตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear): 35-54 ปี ทุก 3 ปี, 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเหมาะสมหรือมีความเสี่ยง
- ตรวจเลือดในอุจจาระ FOBT: 50 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี
- ตรวจเอกซเรย์ปอด Chest X-Ray: 15 ปีขึ้นไป 1 ครั้ง/ปี
ทั้งนี้ ก่อนรับบริการควรโทรไปขอคำแนะนำกับทางโรงพยาบาลในการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ เช่น ควรงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง, พักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง, งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง บางแห่งต้องงดอย่างน้อย 72 ชั่วโมง, กรณีตรวจภายในต้องทิ้งช่วงหลังมีประจำเดือนไปสักระยะ และหากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ สามารถนำผลตรวจหรือรายงานแพทย์มาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย ทั้งนี้ สามารถโทรสอบถามข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
บัตรทองหรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ปัจจุบันแม้ยังไม่มีการมอบสิทธิการตรวจสุขภาพให้กับผู้ถือบัตรทองทั่วไปโดยตรง แต่สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อคัดกรองความเสี่ยงและซักถามประวัติหรือพฤติกรรมสุขภาพเพื่อตรวจสุขภาพทั่วไปตามความจำเป็น จากนั้นจึงเป็นการส่งตรวจตามดุลยพินิจและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น
สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและพักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ สามารถเข้ารับสิทธิการตรวจสุขภาพเพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพ ณ คลินิกผู้สูงอายุครบวงจรทั้ง 64 แห่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ที่สนใจเข้ารับบริการสามารถแจ้งความจำนงได้ที่โรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุข โดยทางหน่วยบริการจะทำบัตรเพื่อเข้ารับบริการที่คลินิกผู้สูงอายุครบวงจรโดยคัดกรองตามรายการทั้ง 11 รายการ ได้แก่
- ตรวจสุขภาพทั่วไป
- เจาะเลือดตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจวัดระดับเม็ดเลือด ระดับไขมัน
- วัดภาวะความซึมเศร้า
- วัดภาวะสมองเสื่อม
- ประเมินด้านโภชนาการ
- ประเมินการใช้ชีวิตประจำวันหรือ ADL
- ประเมินด้านการใช้ยา
- ประเมินภาวะกระดูกพรุน
- คัดกรองภาวะการกลั้นปัสสาวะไม่ได้
- วัดภาวะพลัดตกหกล้ม
- ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพโดยสหสาขาวิชาชีพ
ทั้งนี้ สามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง
บัตรข้าราชการ
ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ สามารถเบิกค่าตรวจสุขภาพประจำปีได้ปีละครั้ง ตามปีงบประมาณ โดยรายการและอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงอายุ คือ
1) ผู้มีอายุไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ ตรวจสุขภาพได้ 6 รายการ
- ตรวจเอกซเรย์ปอดและหัวใจ (Chest X-ray)
- ตรวจปัสสาวะ (Urine Examination/Analysis)
- ตรวจอุจจาระ (Stool Examination-Routine direct smear ร่วมกับ Occult blood)
- ตรวจความสมบูรณ์ (Complete Blood Count: CBC แบบ Automation)
- ตรวจภายใน
- ตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pep Smear)
2) ผู้มีอายุมากกว่า 35 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ตรวจสุขภาพได้ 15 รายการ
- รายการตรวจผู้มีอายุไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ ทุกรายการ
- ตรวจระดับน้ำตาล Glucose
- ตรวจระดับไขมันในเลือด Cholesterol
- ตรวจระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ Triglyceride
- ตรวจการทำงานของไต Blood Urea Nitrogen: BUN
- ตรวจการทำงานของไต Creatinine
- ตรวจการทำงานของตับ SGOT (AST)
- ตรวจการทำงานของตับ SGPT (ALT)
- ตรวจการทำงานของตับ Alkaline Phosphatase
- ตรวจระดับกรดยูริกในเลือด Uric Acid
ทั้งนี้ สามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลการเงินการคลังภาครัฐ กรมบัญชีกลาง โทรศัพท์ 0-2270-6400
มาถึงบรรทัดนี้ น่าจะเปลี่ยนใจใครหลายคนที่กำลังลังเลใจในการตรวจสุขภาพประจำปีเพราะปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี เพราะนี่คือสิทธิที่ทำให้ทุกคนสามารถตรวจเช็กและประเมินสุขภาพเบื้องต้นได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อหาแนวทางในการดูแลร่างกาย รวมถึงป้องกันโรคร้ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ยิ่งตรวจไว พบความผิดปกติไว ก็ช่วยให้เราตัดตอนโรคร้ายได้ทันท่วงที ฉะนั้น อย่ารีรอ ไปตรวจสุขภาพกันเถอะ!
–
อ้างอิง:
www.samitivejhospitals.com
www.paolohospital.com
www.phukethospital.com
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
คู่มือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง
ศูนย์บริการข้อมูลการเงินการคลังภาครัฐ กรมบัญชีกลาง
www.matichon.co.th