รู้ทันภูมิแพ้อากาศ…มีอาการรีบรักษา อย่าปล่อยเรื้อรัง

Health / Others

“ฮัดดดดดดด…เช้ย!” ว่าด้วยการ ‘ฮัดเช้ย’ หรือการจามนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย เพราะมันคือกลไกตามธรรมชาติที่ร่างกายใช้สกัดและขับไล่สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในโพรงจมูกให้ออกมาแบบ fast and furious!

แม้ว่าการจามจะเป็นเรื่องปกติและมีผลดีต่อร่างกาย แต่หากจามบ่อยเกินไป จามติดต่อกันนานๆ หรือจามทุกเช้าสายบ่ายเย็นค่ำเป็นประจำ นั่นไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป เพราะอาจเป็นสัญญาณบอกว่าคุณกำลังเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ

ภูมิแพ้อากาศ คืออะไร?

โดยทั่วไปโรคภูมิแพ้นั้นเกิดจากการได้รับสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ทำให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อสิ่งแปลกปลอมนั้นมากกว่าปกติและแสดงปฏิกิริยาตอบสนองออกมา หรือที่เราเรียกกันว่า ‘อาการแพ้’ นั่นเอง สำหรับโรคภูมิแพ้อากาศ เยื่อบุจมูกจะมีความไวมากเป็นพิเศษ และแสดงอาการแพ้ออกมาบริเวณจมูกและระบบทางเดินหายใจ เช่น จาม น้ำมูกไหล หรือคัดจมูก 

สาเหตุของภูมิแพ้อากาศ

ภูมิแพ้อากาศมักเกิดจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ ในสภาพแวดล้อม เช่น สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การสูดดมมลภาวะจากฝุ่น pm2.5 ควันบุหรี่ ควันธูป ควันรถยนต์ หรือสารเคมี ฝุ่นละอองภายในอาคารบ้านเรือน ไรฝุ่นบนที่นอน ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์เลี้ยง เชื้อราในอากาศ หรือเศษซากจากแมลงตัวเล็กๆ เช่น แมลงสาบ หรือมด เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสิ่งกระตุ้นเหล่านี้มีอยู่รอบตัวเราทั้งภายในบ้านและภายนอกบ้าน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่โดนกระตุ้นแล้วจะมีอาการแพ้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น พันธุกรรม ภูมิต้านทานของร่างกาย ภาวะเจ็บป่วย และความต่อเนื่องของการได้รับสารก่อภูมิแพ้นั้นเข้าไป

คนแพ้อากาศมีอาการอย่างไร?

คนที่เป็นภูมิแพ้อากาศนั้นเยื่อบุจมูกจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ ผลกระทบจึงอยู่ที่บริเวณจมูกและระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) อาการที่พบโดยทั่วไปก็คือ การจาม คันจมูก คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาทางจมูก หรือบางคนไหลลงคอ กลายเป็นเสมหะ ทำให้เกิดอาการคันคอ และไอ อาการเหล่านี้มักจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับว่าได้รับสารก่อภูมิแพ้หรือไม่ 

ร่างกายพังหากปล่อยให้แพ้เรื้อรัง

แม้ว่าภูมิแพ้อากาศจะไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรง แต่หากไม่หาสาเหตุและหาทางรักษา จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังค้างคา อาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ไซนัสอักเสบ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ริดสีดวงจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโรคหอบหืด 

ตัวอย่างอาการที่ฟ้องว่าร่างกายเริ่มพังเพราะปล่อยให้เกิดอาการภูมิแพ้อากาศเรื้อรังมีดังนี้ 

  • ปวดศีรษะเรื้อรัง เกิดจากการที่เยื่อบุจมูกบวมมากจนทำให้การไหลเวียนของอากาศในโพรงจมูกผิดปกติ มีความดันในจมูกเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการปวดจมูกบริเวณตำแหน่งของโพรงไซนัส และอาจปวดไปจนถึงบริเวณกลางศีรษะ
  • ไอเรื้อรัง ผู้ป่วยบางคนมีอาการไอเป็นเวลานาน กินยาเท่าไหร่ก็ไม่หายสักที นั่นอาจเป็นอาการไอที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้อากาศ ที่ทำให้มีน้ำมูกไหลลงคอ เกิดอาการคันคอ และไอเรื้อรัง หากรักษาที่สาเหตุภูมิแพ้ก็จะแก้อาการไอได้
  • มีกลิ่นปาก ปากแห้ง ริมฝีปากอักเสบ การมีน้ำมูกคั่งค้างอยู่ในช่องจมูก และช่องคอเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากจนเกิดกลิ่นปาก รวมทั้งการหายใจทางปากเพราะคัดจมูกจะทำให้น้ำลายแห้ง ส่งผลให้แบคทีเรียเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ การหายใจทางปากยังทำให้ริมฝีปากแห้ง แตก เป็นแผล จนอาจเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่าย
  • ระคายเคืองตา ท่อน้ำตาอุดตัน เกิดจากอาการคัดจมูกที่ทำให้มีการอุดตันของท่อน้ำตา จนทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมา รวมถึงมีอาการคัน ระคายเคืองตา น้ำตาไหล จนอดไม่ได้ที่จะเกาหรือขยี้ตา ซึ่งจะทำให้ผิวหนังที่บอบบางบริเวณรอบดวงตาเกิดการอักเสบได้
  • หูอื้อ เวียนศีรษะ บ้านหมุน เกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกที่อาจลุกลามต่อเนื่องไปถึงบริเวณหู ในส่วนที่เรียกว่าท่อยูสเตเชียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบประสาททรงตัว ทำให้มีอาการหูอื้อ เวียนศีรษะ และบ้านหมุน
  • ท้องอืดท้องเฟ้อ การหายใจทางปากเพราะมีอาการคัดจมูกจากภูมิแพ้ ทำให้มีการกลืนลมเข้าไปในช่องปากและทางเดินอาหารมากกว่าปกติ จนทำให้เกิดภาวะท้องอืดท้องเฟ้อ เรอไม่ออก อึดอัดไม่สบายท้อง
  • อ่อนเพลียในเวลากลางวัน ผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมุกจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับในเวลากลางคืน นอนหลับไม่สนิท และอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับไม่เต็มอิ่ม เกิดความอ่อนเพลียง่วงนอนในเวลากลางวัน

ไม่อยากแพ้…ก็ต้องดูแลตัวเอง

โรคภูมิแพ้อากาศ ถือเป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยมากที่สุด และนับวันจะยิ่งมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เพราะปัญหามลพิษในอากาศมีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบจนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง อย่างไรก็ตาม คนที่แพ้ก็ยังมีวิธีดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ได้ ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 วิธีหลัก ก็คือ 

1) เลือกใช้ยาเพื่อบรรเทาและควบคุมอาการ เช่น ยาต้านฮิสทามีน (antihistamines) เพื่อลดการคันจมูก น้ำมูกไหล ระคายเคืองตา ยาหดหลอดเลือด (decongestant) เพื่อลดอาการคัดจมูก หรือยาสเตียรอยด์ (corticosteroids) ทั้งชนิดพ่นจมูกและชนิดกิน ที่ช่วยลดอาการทางจมูกได้ทุกอาการ เป็นต้น แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน 

2) แก้ปัญหาที่สาเหตุของภูมิแพ้ โดยหลีกเลี่ยงและกำจัดสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ได้แก่

  • ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ ไม่ปล่อยให้มีฝุ่นและเชื้อรา 
  • ทำความสะอาดเครื่องนอนหมอนมุ้งเป็นประจำ หมั่นนำมาตากแดด หรือซักในน้ำร้อนเพื่อกำจัดไรฝุ่น 
  • ดูแลภายในบ้านไม่ให้มีแมลงสาบ แมลงวัน มด หรือยุง ถ้ามีสัตว์เลี้ยงต้องกำจัดขนสัตว์เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีละอองเกสร ฝุ่น ควัน หรือสารระคายเคือง หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
  • เตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อนจัดหรือหนาวจัด 

จะเห็นได้ว่า โรคภูมิแพ้อากาศนั้นเป็นปัญหาเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจสร้างปัญหาใหญ่ให้กับสุขภาพและคุณภาพชีวิตตามมา ดังนั้น หากมีอาการแพ้ขึ้นมาควรรีบหาสาเหตุ หาวิธีบรรเทาอาการไม่ให้รุนแรง สร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นทั้งหลาย รวมทั้งคาถาวิเศษที่ใช้ได้กับทุกโรค นั่นก็คือการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ และทำจิตใจให้ผ่อนคลายไม่เคร่งเครียด

ที่มา:
www.si.mahidol.ac.th 
www.rcot.org

บทความที่เกี่ยวข้อง