รู้จักเทรนด์การกินเก่าแก่ที่ถูกลืม Food Biodiversity ดีต่อสุขภาพ ดีต่อโลก

Care / Self Care / Social Care

ในช่วงหลายปีมานี้ หลายคนหันมาใส่ใจสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกินคลีน กินผักผลไม้ออร์แกนิก กินไข่จากแม่ไก่อารมณ์ดี (ที่เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ) หรือลดการรับประทานเนื้อสัตว์โดยหันมาเน้นบริโภคผักผลไม้ ธัญพืช ไปจนถึงเนื้อที่ทำจากพืช (plant-based meat) มากขึ้น 

พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปนี้ล้วนเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพทั้งนั้น แต่…ในขณะที่หลายคนพิถีพิถันกับอาหารการกินในทุกด้านๆ พวกเขากลับลืมเรื่องสำคัญมากที่สุดไปอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ การกินอาหารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Food Biodiversity)

กินให้หลากหลาย (สายพันธุ์) ได้สารอาหาร (รอง) ครบถ้วน

ก่อนอื่น อย่าสับสน “การกินให้หลากหลายทางชีวภาพ” กับ “การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่” เพราะนอกจากเราควรจะกินสารอาหารให้ได้ครบทุกหมวดหมู่ตามที่ร่างกายต้องการแล้ว เรายังควรกินอาหารในหมวดหมู่เดียวกันที่มีความแตกต่างทางสายพันธุ์อีกด้วย ซึ่งนี่เองคือ Food Biodiversity

สาเหตุที่เราควรกินอาหารให้หลากหลายทางสายพันธุ์นั้นเป็นเพราะผักผลไม้ที่มีสายพันธุ์ต่างกันแม้เพียงน้อยนิด จะมีสารอาหารรอง (Micronutrients) ที่แตกต่างกันด้วย เช่น กะหล่ำปลีและบ๊อกฉ่อย ที่จัดเป็นพืชในตระกูลกะหล่ำเหมือนกัน อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ช่วยบำรุงกระดูกเหมือนกัน แต่กะหล่ำปลีจะมีกรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) ที่ช่วยยับยั้งไม่ให้น้ำตาลและแป้งกลายเป็นไขมัน ส่วนบ๊อกฉ่อยมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามีน C, E เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) และซีลีเนียม (Selenium) ที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง

หรือแม้แต่ผักผลไม้ในสายพันธุ์เดียวกัน แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ก็จะมีสารอาหารรองแตกต่างกันอีกด้วย เช่น กล้วยที่มีเนื้อสีส้ม (orange-fleshed banana) จะมีเบต้าแคโรทีนสูงกว่ากล้วยเนื้อสีขาวอย่างที่เราคุ้นเคยกัน

ดังนั้นเมื่อเรากินอาหารให้หลากหลายสายพันธุ์ เราก็จะได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วนอย่างแท้จริง 

หลีกหนีความจำเจ เพื่ออาหารหลากหลายทางชีวภาพ

สาเหตุส่วนหนึ่งที่เรามักไม่มีโอกาสเลือกบริโภคผักผลไม้ชนิดใหม่ๆ หรือเนื้อสัตว์อื่นนอกจากเนื้อสัตว์ในกระแสหลัก น่าจะมาจากอุตสาหกรรมอาหารโลกที่ผูกขาดอยู่กับพืชผลและปศุสัตว์เพียงไม่กี่อย่าง นอกจากนั้นก็คงเป็นความเคยชินของเราที่มักเลือกซื้อผักผลไม้ชนิดเดิมๆ จากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่คุ้นเคย ซึ่งมักไม่มีตัวเลือกให้หลากหลายนัก 

เพราะฉะนั้นหากคุณอยากเริ่มต้นบริโภคอาหารให้มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ก่อนอื่นเราแนะนำว่า คุณควรลองไปจับจ่ายผักผลไม้ในตลาดใหม่ๆ บ้าง อาจเป็นตลาดพื้นบ้านที่มีเกษตรกรรายย่อยนำผลผลิตในสวนหรือแม้แต่จากบนรั้วข้างบ้านมาขายด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากผักพื้นบ้านไทยๆ จะออร์แกนิกอย่างแท้จริงแล้ว ก็ยังมีคุณประโยชน์มหาศาลอีกด้วย

ผักพื้นบ้านไทยๆ เช่น 

มะรุม: มีวิตามิน A, C, E โดยมีวิตามิน C สูงกว่าส้มถึง 50% 

มะระขี้นก: มีวิตามิน C และ A สูงมาก รวมทั้งยังอาจมีสารต้านมะเร็งและช่วยลดคลอเรสเตอรอล 

ฟักข้าว: มีไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศ 12 เท่า มีเบต้าแคโรทีนมากกว่าแครอท 10 เท่า อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็ง โรคสมองเสื่อม โรคหัวใจ และโรคซึมเศร้า

กระเจี๊ยบ: มีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่รวมถึงเบต้าแคโรทีน ซีแซนทีน และลูทีน

ฟักแม้ว: มีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีโฟเลตสูง ช่วยให้ทารกในครรภ์มีร่างกายสมบูรณ์

นอกจากนั้น เวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านขายอาหารสุขภาพ คุณควรลองทำความรู้จักผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ด้วย เช่น

โปรตีน: คุณอาจลองเปลี่ยนจากถั่วเหลืองเป็น ถั่วเลนทิล (Lentils) ที่เป็น super food ระดับสุดยอดโปรตีน และยังมีธาตุเหล็กสูงกว่าถั่วชนิดอื่นถึงสองเท่า

ข้าว/แป้งสาลี/แป้งข้าวโพด: ลองหันมากิน บัควีต (Buckwheat) ธัญพืชโปรตีนสูงที่ไม่มีกลูเตน (gluten-free), โฟนีโอ (Fonio) พืชตระกูลข้าวฟ่าง ปลอดกลูเตน ที่มีสารอาหารมากมาย รวมทั้งฟลาโวนอยด์และกรดอะมิโน  หรือ เทฟ (Teff) ธัญพืชน้องใหม่มาแรงที่มีโปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก และโพแทสเซียม

Note: เชื่อไหมว่า บนโลกของเรามีพืชที่กินได้ถึง 30,000 ชนิด แต่มนุษย์เรานำมาบริโภคกันเพียงแค่ 150 ชนิด และ 75% ของอาหารทั้งหมดที่ประชากรโลกกินกันนั้นคือพืชเพียง 12 ชนิด และเนื้อสัตว์จาก 5 สายพันธุ์เท่านั้นเอง 

กินหลากหลายทางชีวภาพ ดีต่อคน ดีต่อโลก

ไม่เพียง Food Biodiversity หรือการกินอาหารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จะทำให้เราได้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายครบถ้วนเท่านั้น แต่การได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางอาหารใหม่ๆ ที่ไม่จำเจก็ยังนับเป็นการเติมเต็มความสุขทางใจอย่างหนึ่งอีกด้วย นอกจากนั้น เมื่อเราหันมากินอาหารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพกันมากๆ จนสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกพืชหลากหลายสายพันธุ์ แทนที่จะปลูกพืชเพียงไม่กี่สายพันธุ์ ก็ยังส่งผลดีอย่างมหาศาลต่อดิน เพราะการปลูกพืชหมุนเวียนหรือหลากหลายสายพันธุ์จะช่วยให้ดินมีคุณภาพดีได้ตามธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีใดๆ เลย

ความหลากหลายของพืชในพื้นที่เพาะปลูกยังก่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เหมือนป่าตามธรรมชาติที่มีพืชหลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันและดูแลพึ่งพากัน เมื่อระบบนิเวศดี พืชและสัตว์จะมีสุขภาพดี สามารถปรับตัวเพื่อสู้กับโรค ศัตรูพืช สภาพอากาศแปรปรวน และภัยธรรมชาติได้มากขึ้น ยังไม่นับว่าพืชผักกระแสรองหลายชนิดปลูกง่าย ทนแล้ง ใช้เวลาเจริญเติบโตสั้น ทำให้ช่วยประหยัดทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น ถั่วเลนทิลที่ต้องการน้ำน้อยมาก บัควีตที่เติบโตได้ดีแม้ในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ แถมใช้เวลาเพียง 8-12 สัปดาห์ก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว มะรุมและกระเจี๊ยบที่ทนแล้งและปลูกง่ายมาก เป็นต้น

สุดท้าย การเพาะปลูกพืชที่มีความหลากหลายยังช่วยรับประกันได้ว่าเราจะมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคเสมอ เพราะหากเราปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด ในกรณีที่เกิดโรคระบาดในสายพันธุ์นั้นๆ ก็มีแนวโน้มว่าเราอาจไม่เหลือผลิตผลไว้ใช้บริโภคได้เพียงพอ

เมื่อ Food Biodiversity มีข้อดีมากมายขนาดนี้ ทั้งต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ และต่อสิ่งแวดล้อม …เราจึงอยากเชิญชวนคุณให้หันมากินให้หลากหลายทางชีวภาพกันดีกว่า 

ที่มา:
thefuturemarket.com
bbc.com

บทความที่เกี่ยวข้อง