ผู้สูงวัยกับการใช้วีลแชร์ในพื้นที่สาธารณะ

หนึ่งในสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้สูงวัยก็คือปัญหาการเคลื่อนไหวและการทรงตัวอันเนื่องมาจากความเสื่อมถอยของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน ความจำเสื่อม รวมทั้งจากโรคประจำตัวต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน โรคเกาต์ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือโรคเกี่ยวกับสายตา ทำให้ไม่สามารถเดินเหินหรือทรงตัวได้มั่นคงแข็งแรง เดินนานๆ ไม่ค่อยไหว เดินเซไปมา มองไม่เห็นทาง หรือไม่มีแรงเดิน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ 

ด้วยเหตุนี้ อุปกรณ์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อผู้สูงวัยก็คือ รถเข็นวีลแชร์ ซึ่งช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น รวมทั้งผู้ดูแลก็สามารถดูแลได้สะดวกขึ้น ในปัจจุบันมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาให้รถวีลแชร์ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม เช่น สามารถปรับเป็นท่ายืนได้เพื่อลดปัญหาเรื่องแผลกดทับ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่ยังเป็นความท้าทายมากที่สุดก็คือ การปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เอื้อต่อการใช้รถเข็นวีลแชร์นั่นเอง

สังคมผู้สูงวัย Vs พื้นที่สาธารณะสำหรับวีลแชร์ 

สิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือ ปรากฎการณ์ที่ผู้สูงวัย (ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับอัตราการเกิดและจำนวนประชากรในวัยทำงานที่มีจำนวนลดน้อยลงไปทุกที สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงว้ยที่อายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ราว 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.73 ของประชากรทั้งประเทศ และเรากำลังก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงวัยเต็มตัว (Complete Aged Society) ในอีกไม่นาน คือจะมีผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 20 หรือทุกๆ 1 ใน 5 คน

การก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัยส่งผลให้กลุ่มผู้ใช้รถวีลแชร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่การออกแบบพื้นที่เพื่อสนับสนุนการใช้รถเข็นวีลแชร์ยังคงไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นทางลาด ทางเชื่อม ความกว้างของประตู หรือการเผื่อพื้นที่สำหรับการหมุนขยับรถเข็น 

หลายประเทศออกตัวนำไปก่อนในการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อการเข้าถึงด้วยรถวีลแชร์ ตัวอย่างเช่น 

  • สิงคโปร์ มีการออกแบบเมืองให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะกับการเข้าถึงของรถเข็น อาคารแทบทุกแห่ง และถนนหนทางมีทางลาดอยู่เสมอ รวมถึงระบบขนส่งมวลชน (MRT) และรถประจำทางก็มีทางเชื่อมให้รถวีลแชร์ขึ้นได้ 
  • เมลเบิร์น, ออสเตรเลีย มีระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย มีการจัดทำ e-book แจกฟรีชื่อ ‘Accessible Melbourne’ ที่มีคำแนะนำสำหรับนักเดินทางที่มีความต้องการพิเศษ แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สวนสัตว์ สวนสาธารณะ หรือการชมทัศนียภาพอันงดงามตามถนนท่องเที่ยว ก็ล้วนอำนวยความสะดวกให้รถเข็นเข้าถึงได้
  • ลาสเวกัส, สหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีชื่อเสียงแค่เรื่องคาสิโนและแหล่งรวมความบันเทิงระดับโลก แต่ยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องการเดินทางโดยรถเข็น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น
  • บาร์เซโลนา, สเปน เป็นเมืองที่รถวีลแชร์เข้าถึงสถานีรถไฟใต้ดินและรถประจำทาง และถนนเส้นท่องเที่ยวก็ค่อนข้างราบเรียบทำให้การชื่นชมทัศนียภาพของเมืองเก่าอันงดงามด้วยรถเข็นเป็นเรื่องง่าย

‘Universal Design’ การออกแบบเพื่อทุกคน

แนวคิดสากลที่กำลังมาแรงอย่าง ‘Universal Design’ คือการมุ่งออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในพื้นที่อาศัยส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น ถนนหนทาง ฟุตบาท สะพานลอย สถานที่ท่องเที่ยว สถานพยาบาล สถานศึกษา หรือระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ฯลฯ ให้รองรับการใช้งานของทุกคน ซึ่งเป็นไปตามหลักแนวคิดที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ต้องการส่งเสริมให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิ รวมทั้งได้รับประโยชน์อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันตามหลักสิทธิมนุษยชนโดยที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ 

ปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยจะออกตัวช้าในเรื่องของ Universal Design แต่ก็เริ่มเห็นความตื่นตัวมากขึ้นจากภาครัฐและเอกชน ตัวอย่างเช่น มีการปรับกฎหมายให้มีการขยายที่จอดรถสำหรับผู้พิการ หรือนโยบายจากกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดให้โรงแรมเพิ่มจำนวนห้องพักสำหรับผู้พิการและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ต้องมีพื้นที่กว้างพอสำหรับรถเข็น และมีการเพิ่มหลักสูตร ‘การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน’ เข้าไปในการเรียนการสอนของคณะเกี่ยวกับการออกแบบในหลายๆ มหาวิทยาลัย มีการจัดงาน Universal Design Academy ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมสภาพแวดล้อมสังคมสูงวัย ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Chula UDC) และภาคีเครือข่าย และล่าสุดก็มีการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal design) เป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา 

‘Wheel Go Round’ ชวนผู้สูงวัยเที่ยวทั่วไทยด้วยรถวีลแชร์ 

อีกหนึ่งปัญหาที่น่าเป็นห่วงในผู้สูงวัยก็คือ ภาวะเครียดและซึมเศร้าอันเกิดจากการที่ตนเองนั้นไม่แข็งแรงพอจะใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม หรือไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองต้องพึ่งพาลูกหลานหรือผู้ดูแล ทำให้รู้สึกไร้ค่า ซึ่งภาวะเครียดและซึมเศร้าเช่นนี้ไม่ดีต่อสุขภาพกายและใจอย่างยิ่ง อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ 

รู้หรือไม่ว่ากิจกรรมที่ช่วยคลายเครียดให้ผู้สูงวัยได้ดี คือการออกไปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่การเดินทางด้วยรถเข็นวีลแชร์ในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และกลายเป็นอุปสรรคที่หลายคนท้อใจจนไม่อยากออกไปไหน จุดนี้เองที่ทำให้โครงการ ‘Wheel Go Round’ ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ เอาไว้ตรวจสอบความพร้อมในการเข้าถึงของสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ผับบาร์ สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ไปจนถึงศาสนสถานต่างๆ ครอบคลุมทั่วไทย และอีกหลายประเทศ โดยเน้นข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวก 4 ประเภทหลัก คือ ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ และลิฟต์ และมีการใช้สีแบ่งข้อมูลออกเป็น 4 ระดับ คือ 

  • สีแดง หมายถึง สถานที่นั้นไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ แม้จะมีผู้ติดตามคอยอำนวยความสะดวกก็ตาม
  • สีเหลือง หมายถึง สถานที่นั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ ผู้ใช้วีลแชร์อาจต้องมีผู้ติดตามมาช่วยอำนวยความสะดวก 
  • สีเขียว หมายถึง สถานที่นั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ 
  • สีเทา หมายถึง ไม่มีข้อมูลของสิ่งอำนวยความสะดวกนั้น

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่ www.wheelgoround.in.th นอกจากนี้ทีมงานยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมแบ่งปันข้อมูลได้ด้วยเช่นกัน ผ่านสามขั้นตอนง่ายๆ คือ ปักหมุดสถานที่บนหน้าเว็บไซต์ ใส่ข้อมูลสถานที่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกของสถานที่นั้น จากนั้นก็เพิ่มรูปภาพเข้าไป เป็นอันเสร็จสิ้น นอกจากการแบ่งปันข้อมูลสถานที่ต่างๆ แล้ว ทีมงาน Wheel Go Round ยังมีการจัดกิจกรรมสนุกๆ เช่น จัดทริปเดินทางสั้นๆ หรือการชมภาพยนตร์ร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้ชาววีลแชร์กล้าออกมาท่องโลกและได้สร้างเสริมมิตรภาพในกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์ด้วยกัน ติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ที่ FB page: wheelgoround 

อ้างอิง:
www.wheelgoround.in.th
rs.mahidol.ac.th
www.thaihealth.or.th
www.dop.go.th
www.lonelyplanet.com

Share :
go to top