ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ…อัลไซเมอร์เมื่อเจอต้องดูแล (ให้ดี!)

Brain / Health

หนึ่งในโรคร้ายที่มีโอกาสมาเยือนเมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยชราคือ อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) 

อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมและเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเป็นโรคที่มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 60 ขึ้นไป แบ่งเป็น 10-15% ในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี และ 20-30% ในผู้ที่อายุมากกว่า 80 ปี

นอกจากอัลไซเมอร์จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตแก่ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยแล้ว ปัจจุบันยังไม่มียาหรือการรักษาชนิดใดที่สามารถรักษาอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ ยาที่แพทย์ใช้จะสามารถชะลออาการของโรคและบรรเทาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เท่านั้น เมื่อระยะของโรคดำเนินไป ผู้ป่วยจะมีความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันลดลงเรื่อยๆ และจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลมากขึ้นตามลำดับ  

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นงานที่ยากและตึงเครียด นอกจากความห่วงใยเอาใจใส่เป็นพิเศษแล้ว ผู้ดูแลยังควรมีทักษะความสามารถในการปรับเปลี่ยนแผนการดูแลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งเพื่อให้ผู้ดูแลสามารถเตรียมตัวรับมือกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ง่ายขึ้น วันนี้ ‘ชีวิตดี by hhc thailand’ จึงได้รวบรวมข้อแนะนำบางอย่างมาให้ลองปรับใช้กัน

จัดตารางกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน

ก่อนอื่น ผู้ดูแลจำเป็นต้องมีข้อมูลก่อนว่า ผู้ป่วยชอบทำอะไร ไม่ชอบอะไร มีความสนใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ และมีศักยภาพในการทำกิจกรรมนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน จากนั้นผู้ดูแลควรจัดตารางกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับเวลาตื่นนอน เวลานอน เวลารับประทานอาหารและยาของผู้ป่วย รวมทั้งควรทราบด้วยว่าช่วงเวลาไหนในแต่ละวันที่เหมาะแก่การทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้ป่วย เพราะผลข้างเคียงจากการใช้ยาและอารมณ์ของผู้ป่วยอาจทำให้บางช่วงเวลาไม่เหมาะแก่การทำกิจกรรม

กิจกรรมที่ควรจัดให้ผู้ป่วยทำในแต่ละวัน

– กิจวัตรประจำวัน เช่น การทำความสะอาดร่างกาย การเลือกเสื้อผ้าของตนเอง ฯลฯ โดยผู้ดูแลควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลกิจวัตรประจำวันของตัวเองให้ได้มากที่สุดและคอยช่วยเหลือในส่วนที่จำเป็น
– กิจกรรมเข้าสังคม ผู้ดูแลควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวและสังคมภายนอกตามความเหมาะสม
– กิจกรรมที่ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง เช่น จัดอัลบั้มภาพของคนในครอบครัว ทายภาพคนดัง เป็นต้น
– กิจกรรมบริหารร่างกายและกระตุ้นระบบประสาทสัมผัส เช่น การเดินเล่น การออกกำลังกายเบาๆ การบีบนวดกล้ามเนื้อ โดยผู้ดูแลต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและจัดกิจกรรมออกกำลังกายให้เหมาะสมกับความแข็งแรงของร่างกาย
– กิจกรรมด้านจิตบำบัดและความคิดสร้างสรรค์ เช่น ดนตรี งานศิลปะ งานฝีมือ

จำให้ดี!: จุดประสงค์ในการสนับสนุนให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ นั้น “ไม่ใช่เพื่อความสำเร็จของผลงานในท้ายที่สุด” แต่เพื่อ “ความเพลิดเพลิน” ของผู้ป่วย ผู้ดูแลควรสังเกตการตอบสนองต่อกิจกรรมต่างๆ ของผู้ป่วยอย่างละเอียด ทั้งในเรื่องศักยภาพทางร่างกายและจิตใจ และความเพลิดเพลิน เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสม

รู้จักวิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง

อัลไซเมอร์จะทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการสื่อสารลดลงเรื่อยๆ เช่น ไม่สามารถเลือกใช้คำตามความหมายที่ต้องการได้ มีปัญหาในการเรียงลำดับประโยค พูดน้อยลง ประสิทธิภาพในการคิดเรียบเรียงน้อยลง ฯลฯ การสื่อสารกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงต้องอาศัยความอดทนเป็นอย่างมาก

การสื่อสารกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้น

ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเริ่มต้นของโรคยังคงสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและบทสนทนาที่มีความหมายได้ แต่ผู้ป่วยอาจไม่สามารถสรรหาคำที่ต้องการใช้ได้ รวมทั้งยังอาจเล่าเรื่องเดิมๆ ซ้ำไปมา

– สมาชิกในครอบครัวและผู้ดูแลควรพูดคุยกับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ
– อดทน ใจเย็น ใช้เวลาในการรับฟังเมื่อผู้ป่วยพยายามอธิบายความต้องการ อารมณ์ และความคิดของตัวเอง
– ถามผู้ป่วยถึงความต้องการ สิ่งที่อยากทำ และสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือ
– อย่าเร่งรัดให้ผู้ป่วยตอบคำถาม ควรให้เวลาผู้ป่วยได้เรียบเรียงความคิดและถ้อยคำอย่างเต็มที่
– หารูปแบบการสื่อสารที่ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ อาจเป็นการพูดคุยต่อหน้า คุยโทรศัพท์ หรือเขียนอีเมล

การสื่อสารกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะปานกลาง

ในระยะนี้ของโรค ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาการสื่อสารมากขึ้น และต้องการความช่วยเหลือมากขึ้นเช่นกัน
– หาสถานที่ที่สงบเงียบเพื่อพูดคุยกับผู้ป่วย ควรเป็นสถานที่ที่ปราศจากเสียงรบกวนและสิ่งเร้าที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียสมาธิ
– พูดคุยกับผู้ป่วยช้าๆ ชัดๆ
– สบตากับผู้ป่วยระหว่างพูดคุยเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสนใจในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการสื่อสาร
– ให้เวลาผู้ป่วยได้เรียงเรียงความคิดและถ้อยคำอย่างเต็มที่ ไม่เร่งรัดผู้ป่วย
– ถามคำถามทีละคำถาม และใช้คำถามง่ายๆ ที่ผู้ป่วยสามารถตอบได้ว่า ใช่หรือไม่
– หลีกเลี่ยงการวิจารณ์ การแก้ไขในสิ่งที่ผู้ป่วยพูด หรือการโต้แย้ง

การสื่อสารกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะสุดท้าย

เมื่ออาการป่วยดำเนินมาถึงระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะต้องพึ่งพาการสื่อสารทางกายเป็นหลัก เช่น การแสดงออกทางสีหน้า น้ำเสียง เป็นต้น
– เมื่อเข้าหาผู้ป่วย ให้เดินเข้าไปทางด้านหน้าและแนะนำตัวเองเป็นลำดับแรก
– ใช้การสัมผัส ภาพ เสียง กลิ่น หรือรสชาติ ในการสื่อสารกับผู้ป่วย
– พยายามตีความความรู้สึกของผู้ป่วยจากการสื่อสารนั้นๆ
– ให้ความเคารพผู้ป่วย อย่าพูดหรือปฏิบัติเหมือนกับว่าผู้ป่วยไม่ได้อยู่ตรงนั้น
– ไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้ดูแลไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการสื่อสาร เพราะสิ่งสำคัญกว่านั้นคือการอยู่เคียงข้างผู้ป่วยและความปรารถนาดี

สนับสนุนให้ผู้ป่วยดูแลและให้ความสำคัญกับการแต่งกาย

การดูแลรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายให้ดูดีอยู่เสมอ จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีกับตัวเองได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะสุดท้ายมักไม่สนใจจะดูแลสุขลักษณะและการแต่งกายของตัวเอง ข้อแนะนำมีดังนี้

– เมื่อให้ผู้ป่วยเลือกเสื้อผ้าของตัวเอง ควรจำกัดตัวเลือกไว้เพียง 2 ตัวเลือก โดยเป็นเสื้อผ้าที่มีสีสันและรูปแบบที่ผู้ป่วยชอบ
– เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่ง่าย เช่น เสื้อติดกระดุมหน้าแทนเสื้อสวมคอ รวมทั้งควรมีเนื้อผ้านุ่มและยืดหยุ่นได้
– เลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย ไม่ลื่น
– เผื่อระยะเวลาในการอาบน้ำและแต่งกายของผู้ป่วยไว้ให้มาก และให้ผู้ป่วยทำตามขั้นตอนทีละขั้น
– หากผู้ป่วยต้องการใส่เสื้อผ้าชุดเดิมซ้ำๆ ควรจัดเตรียมเสื้อผ้าแบบเดียวกันไว้หลายชุดเพื่อสับเปลี่ยนในแต่ละวัน การที่ผู้ป่วยเลือกจะสวมใส่เครื่องแต่งกายแบบเดิมหรือเสื้อผ้าที่ไม่เข้าชุดกันนั้น ไม่ใช่สิ่งสำคัญ ตราบใดที่ผู้ป่วยยังคงสามารถแต่งกายได้เอง หรือมีความสบายใจกับชุดที่เลือก และรักษาสุขอนามัยได้
– หากผู้ป่วยมีร้านเสริมสวยหรือร้านตัดผมประจำ พยายามพาผู้ป่วยไปร้านนั้นอย่างสม่ำเสมอเหมือนที่เคยทำ หรือหากเริ่มเกิดปัญหาในการพาผู้ป่วยเดินทางไปที่ร้าน อาจพาช่างตัดผมที่ผู้ป่วยคุ้นเคยมาให้บริการที่บ้าน
– ให้ผู้ป่วยได้ใช้เครื่องอาบน้ำต่างๆ ที่ชอบ เช่น สบู่ แชมพู และควรเก็บอุปกรณ์การแต่งกายที่มีคมหรืออาจเป็นอันตรายไว้ให้ห่างจากผู้ป่วย เช่น มีดโกนหนวด
– กระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลการแต่งกายด้วยตัวเองด้วยการทำกิจกรรมนั้นๆ ไปพร้อมกับผู้ป่วย เช่น หวีผมแล้วให้ผู้ป่วยทำตาม

สุดท้าย ผู้ดูแลยังควรดูแลให้ผู้ป่วยได้รับอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ กินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญ ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ควรแบ่งเวลาให้ตัวเองในการพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายอย่างพอเหมาะ เพื่อไม่ให้การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นงานที่เครียดจนเกิดโทษต่อตัวเองได้

อ้างอิง:
alz.org
nia.nih.gov
azthai.org

บทความที่เกี่ยวข้อง