บ้านมีชีวิต: The Urban Village Project ออกแบบบ้านในเมืองใหญ่ให้ ‘ไม่เหงา’ แถมยังย่อมเยาและยั่งยืน

Care / Social Care

ปัจจุบัน เมืองใหญ่หลายแห่งกำลังเผชิญปัญหาการเติบโตของเมืองที่รวดเร็วเกินไป การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มลพิษทางอากาศ ค่าครองชีพสูงลิ่ว และที่อยู่อาศัยที่ไม่เพียงพอ ที่สำคัญ งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า แม้ผู้คนจำนวนไม่น้อยจะอาศัยอยู่ใกล้กัน แต่พวกเขากลับมีความสัมพันธ์ที่เหินห่างและเปลี่ยวเหงา จนไม่สามารถสร้างชุมชนที่เป็นปึกแผ่นได้ ดังนั้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยหาแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ เมื่อกันยายนที่ผ่านมา SPACE10 ห้องทดลองทางงานออกแบบและการวิจัยของ IKEA จึงนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ The Urban Village Project ขึ้นในงาน Democratic Design Days 2019 โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์มุ่งเปลี่ยนแปลงพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ให้กลายเป็นสถานที่ที่น่าอยู่มากขึ้น เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

The Urban Village Project เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง SPACE10 และ EFFEKT Architects โดยในขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่แนวคิดเบื้องต้นอยู่ อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตและที่อยู่อาศัยของเราทุกคนได้ เราจึงรวบรวมไอเดียที่น่าสนใจของพวกเขามาและปรับแต่งเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เพื่อให้คุณสามารถลองนำไปใช้กันได้ ดังต่อไปนี้

ชีวิตจะรื่นรมย์ขึ้นด้วย ‘ความเป็นชุมชน’

The Urban Village Project เสนอไอเดียว่า นอกจากพื้นที่ส่วนตัวที่จะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกได้ถึงความเป็นส่วนตัวที่ปลอดภัยและสบายใจแล้ว ที่อยู่อาศัยควรจะมี ‘พื้นที่สาธารณะส่วนกลาง’ เพื่อให้เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงได้เข้ามาใช้เวลาร่วมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็น สวนสาธารณะ สวนหย่อม สถานที่ออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น และพื้นที่ที่สามารถให้พวกเขาได้ทำอาหารและรับประทานอาหารร่วมกันเป็นครั้งคราว ทั้งหมดเพื่อให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จนเกิดเป็นชุมชนที่อบอุ่นและแข็งแรง ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในทางกายภาพ เช่น ความปลอดภัยของทรัพย์สิน และทางจิตใจ นั่นคือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้คนในชุมชน

‘สิ่งแวดล้อม’ ที่ดีสร้างคุณภาพชีวิตที่ ‘ยั่งยืน’

ชุมชนควรมีการจัดการเรื่องขยะอย่างเป็นระเบียบ มีการแยกขยะนำไปรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล และนำขยะอินทรีย์ไปหมักปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดภาระด้านการจัดเก็บขยะ แถมยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ไร้สารตกค้างไปใช้ในครัวเรือนอีกด้วย โดยถังหมักปุ๋ยชีวภาพนี้สามารถจัดทำขึ้นเป็นส่วนกลางเพื่อใช้ร่วมกันภายในชุมชนได้ เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์เครื่องมือช่างและอุปกรณ์ทำสวนต่างๆ เช่น บันได สว่านไฟฟ้า รถตัดหญ้า ฯลฯ ที่ชุมชนสามารถลงขันจัดซื้อมาใช้ร่วมกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและประหยัดทรัพยากร

ที่อยู่อาศัยที่เรา ‘จ่ายได้’
บ้านที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่อยู่ที่การออกแบบจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับการใช้งาน รวมทั้งอาจมีการออกแบบให้พื้นที่ภายในเชื่อมต่อสู่ธรรมชาติภายนอก และการสร้างพื้นที่สำหรับชุมชนอย่างที่กล่าวไปข้างต้น การเลือกโครงสร้างบ้านแบบ PREFAB หรือ PRECAST (บ้านสำเร็จรูป) ยังช่วยประหยัดงบประมาณได้อีกมาก เช่นเดียวกับการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบ flat pack หรือเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถแยกออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้นำไปประกอบเอง ก็ช่วยลดต้นทุนได้อีกไม่น้อยเช่นกัน

นอกจากนั้น การออกแบบให้ที่อยู่อาศัยและชุมชนมีการใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) เช่น ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานมวลชีวภาพ รวมทั้งการผลิตแหล่งอาหารง่ายๆ ในชุมชน เช่น แปลงพืชผักสวนครัว สวนแนวตั้งบนดาดฟ้า ก็ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวไปพร้อมๆ กับการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก:
www.space10.com
www.designboom.com

บทความที่เกี่ยวข้อง