‘โรคกระดูกพรุน’ รู้เร็ว ดูแลไว ป้องกันได้

ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเผชิญกับโรคเรื้อรังต่างๆ หนึ่งในโรคเรื้อรังที่เป็นภัยเงียบคือ โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) มีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศในอนาคต โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ทำให้มวลกระดูกลดลง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระดูก ส่งผลให้กระดูกเปราะบางและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณกระดูกสันหลังและข้อสะโพก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ 

รู้เร็ว

เนื่องจากโรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการและมักพบอาการเมื่อมีกระดูกหักเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้เครื่องมือที่แม่นยำเพื่อช่วยในการวินิจฉัย เครื่องมือที่นิยมใช้และเป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือ เครื่องตรวจวัดความหนาแน่นกระดูก การตรวจวัดด้วยวิธีนี้สามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว และไม่เจ็บ ผลการตรวจจะทำให้รู้ว่ากระดูกมีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใด นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยแล้ว เครื่องมือดังกล่าวยังช่วยในการประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนอีกด้วย โดยแพทย์จะแนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วยเครื่องตรวจวัดความหนาแน่นกระดูก เมื่อพบว่ามีพฤติกรรมหรืออยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่

  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีและผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดก่อนอายุ 45 ปี
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีรูปร่างผอมบาง
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนหรือมีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
  • ผู้สูงอายุที่มีส่วนสูงลดลงมากกว่า 2 เซนติเมตรในระยะเวลา 1-3 ปี
  • ผู้ที่มีประวัติกระดูกหักบริเวณกระดูกสันหลังหรือข้อสะโพกจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไตหรือตับเรื้อรัง โรคข้ออักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

    ดังนั้นหากท่านกำลังเป็นหรือมีพฤติกรรมเหล่านี้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน

ดูแลไว

โดยทั่วไปการสร้างกระดูกจะเริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 25 ปี โดยช่วงอายุ 25-30 ปีจะเป็นช่วงที่กระดูกมีความแข็งแรงและมีความหนาแน่นมากที่สุด หลังจากนั้นความหนาแน่นของกระดูกจะคงที่หรือค่อยๆ ลดลงจนอายุประมาณ 40-50 ปี สำหรับเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน ความหนาแน่นของกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สูญเสียมวลกระดูกได้มากถึง 1 ใน 3 ของมวลกระดูกทั้งหมด ดังนั้นการดูแลสุขภาพกระดูกตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

วิธีการดูแลและบำรุงสุขภาพของกระดูกมีหลายวิธี ได้แก่ การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ รวมถึงการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม งดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรค เช่น งดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือมีส่วนผสมของกาเฟอีน นอกจากนี้ การรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีเสริมแบบเม็ดยังช่วยในการบำรุงสุขภาพกระดูกอีกด้วย โดยการรับประทานยาเหล่านี้จะช่วยรักษาสมดุลของแคลเซียม เพื่อให้มวลกระดูกอยู่ในระดับที่เหมาะสม 

ป้องกันได้

การป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พร้อมดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารให้ถูกวิธี ดังนี้ 

  • การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและฝึกการทรงตัว เพื่อป้องกันการหกล้ม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดกระดูกหัก โดยการออกกำลังกายที่ถูกต้องควรเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มสาว และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละประมาณ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน สำหรับวิธีการออกกำลังกายที่แนะนำคือ การเดิน การวิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ เต้นรำ โยคะ และรำไทเก๊ก
     
  • การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ตัวอย่างอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปังโฮลวีต ปลากรอบ เต้าหู้ เห็ด ไข่ไก่ ปลาแซลมอน นอกจากนี้ วิตามินซีและวิตามินเคก็มีความสำคัญต่อการสร้างกระดูกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะวิตามินเค-2 ซึ่งพบได้ในอาหารประเภทหมัก เช่น ชีสและถั่วหมักของญี่ปุ่น
  • ในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาต้านโรคกระดูกพรุนและต้องได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์ก่อนเริ่มยา เพื่อเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพราะยาแต่ละกลุ่มมีข้อดี ข้อเสีย และข้อบ่งชี้แตกต่างกันไป

Share :
go to top