‘อิคิไก’ วิถีแห่งสุขสไตล์ญี่ปุ่น

Care / Self Care

ในภาษาญี่ปุ่น คำว่า ‘อิคิ’ (iki) หมายถึง ชีวิตหรือการมีชีวิต และคำว่า ‘ไก’ (gai) คือ เหตุผลหรือคุณค่า
อิคิไก (ikigai – 生き甲斐) จึงหมายถึง เหตุผลของการมีชีวิตอยู่

เคยไหม…ที่คุณไม่รู้ว่าจะลืมตาตื่นเช้าขึ้นมาทำไม
เคยไหม…ที่คุณไม่อยากลุกจากที่นอนเลย แม้นาฬิกาปลุกจะแผดเสียงร้องจนน่ารำคาญ
เคยไหม…ที่คุณรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้จำเจ น่าเบื่อที่สุด  
เคยไหม…ที่คุณตอบไม่ได้ว่า ความสุขของคุณคืออะไร?
และไม่รู้ว่า ทุกวันนี้คุณมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร?  

หากคุณเคย เราอยากให้คุณลองมาทำความรู้จักกับ ‘อิคิไก’ หลักปรัชญาชีวิตของคนญี่ปุ่นที่แฝงไปด้วยวิถีเซน ภายใต้หลักการง่ายๆ 4 ประการ คือ
1) อะไรคือสิ่งที่คุณรักที่จะทำหรือมีความสุขที่ได้ทำ (What you LOVE)
2) อะไรคือสิ่งที่คุณถนัดหรือทำได้ดี  (What you are GOOD AT)
3) อะไรคือสิ่งที่คนพร้อมจ่ายหรือสร้างรายได้ให้คุณ (What you can be PAID FOR)
4) อะไรคือสิ่งที่โลกต้องการหรือเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น (What the World NEEDS)

อิคิไกก็คือจุดร่วมของหลักการทั้งสี่ข้างต้น เมื่อใดก็ตามที่เราได้ทำสิ่งที่เรารักและถนัดให้เกิดรายได้กับตัวเองและเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น เมื่อนั้นแหละเราได้ค้นพบอิคิไกของตัวเอง และได้คำตอบต่อคำถามที่ว่า อะไรกันที่ทำให้เราลืมตาตื่นขึ้นมาในทุกๆ เช้า 

ในหนังสือ The Little Book of Ikigai: อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ โดย คุณเคน โมงิ (Ken Mogi) นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำถึง ‘หนทางค้นพบอิคิไก’ ไว้อย่างสนใจ ดังนี้

1. ลองเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ แต่จริงจังกับมันมากๆ

ในหนังสือได้ยกตัวอย่างร้าน ‘ซุคิยาบาชิ’ ของคุณจิโร่ โอโนะ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นร้านซูชิที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเคยได้รับเลือกให้เป็นเมนูรับรองประธานาธิบดีโอบามา เมื่อครั้งที่ไปเยือนญี่ปุ่น แต่ใครจะเชื่อว่า ความยิ่งใหญ่นี้แท้ที่จริงกลับมีจุดเริ่มต้นมาจากความคิดง่ายๆ ของคุณจิโร่ที่อยากลงทุนทำร้านอาหารสักร้าน และมาลงตัวที่ ‘ร้านซูชิ’ เพราะใช้ต้นทุนต่ำที่สุด เพียงแต่เขาเริ่มต้นมันอย่างจริงจัง ใส่พลังอย่างเต็มที่ เพราะเขาไม่ได้ทำซูชิเพียงแค่ขายได้ แต่เขาตั้งใจจะทำซูชิให้อร่อยขึ้นเรื่อยๆ ค้นคว้าหาความรู้และทดลองด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บไข่ปลาแซลมอนให้ได้รสชาติอร่อยเหมือนกันทุกฤดู จากเดิมที่จำกัดอยู่เพียงช่วงฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้น หรือการเอาฟางข้าวหลากหลายพันธุ์มารมควันเนื้อปลาหลายชนิด เพื่อให้ได้เนื้อปลารมควันที่อร่อยที่สุด แต่ที่เลื่องลือมากๆ เห็นจะเป็นการวัดอุณหภูมิของเนื้อปลาและมือของผู้ปั้นซูชิ เพื่อให้ได้ซูชิที่อร่อยที่สุด ณ ขณะที่ผู้ปั้นส่งให้ผู้รับประทาน สิ่งเหล่านี้แหละที่น่าจะเป็นอิคิไกของคุณจิโร่ และทำให้ร้านของเขาขึ้นแท่นร้านซูชิที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

2. ทำช่วงเช้าให้เป็นเวลาที่ดี

คุณเคน โมงิ ให้ข้อสังเกตไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า หากอยากรู้ว่า วันทั้งวันของเรานั้นจะเป็นอย่างไร ให้ดูง่ายๆ จากเช้าวันนั้นเราตื่นมาด้วยอารมณ์แบบไหน เราทำอะไรในตอนเช้า และเจอคนแบบไหนในตอนเช้า เขาเชื่อว่าช่วงเช้าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ทันทีที่เราตื่นขึ้นมา เราควรสบตาคนที่เราผูกพันและกล่าวคำทักทายกันอย่างอบอุ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ศูนย์กลางการหลั่งฮอร์โมนและระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีการมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถทำเป็นกิจวัตรได้เลย เช่น การดื่มกาแฟที่ชอบ หรือกินขนมชิ้นโปรดสักชิ้น ฯลฯ เหมือนเป็นรางวัลให้ตัวเอง นั่นทำให้ทุกๆ เช้าของเรามีความหมายอย่างน่าประหลาด 

3. ให้คำมั่นสัญญากับตัวเอง

‘โคดาวาริ’ (Kodawari – こだわり) ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง คำมั่นสัญญา (commitment) หรือการพูดและลงมือทำอย่างมุ่งมั่น และทำให้ดีเกินความจำเป็น โดยที่คำสัญญานั้นต้องมีความหมายกับชีวิต เช่น หากเราอยากลองวิ่ง ให้บอกกับตัวเองไปเลยว่า ภายใน 6 เดือน เราจะจบฮาล์ฟมาราธอนให้ได้ ฯลฯ คำสัญญาแบบนี้จะทำให้ชีวิตเรามีความหมาย ทั้งยังเป็นทัศนคติที่ก่อร่างสร้างเป็นแก่นกลางของอิคิไก

ในหนังสือ The Little Book of Ikigai ยกตัวอย่าง เซมบิคิยะ ร้านผลไม้ที่นับเป็นหอเกียรติยศแห่งผลไม้ กล่าวคือ ผลไม้ที่จะมาวางขายที่นี่ได้นั้นจะต้องเป็นสุดยอดแห่งผลไม้จริงๆ หนึ่งในนั้นก็คือ แตงมัสก์เมลอน ซึ่งเป็นเมลอนที่มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน ขึ้นแท่นเป็นของขวัญชั้นดีที่คนญี่ปุ่นนิยมซื้อไปฝากบุคคลที่เคารพนับถือ สนนราคาลูกละกว่า 2 หมื่นเยน หรือราว 6 พันบาท ที่เป็นแบบนั้นได้เพราะเขาใช้วิธีการปลูกแบบ 1 ต่อ 1 คือ ต้นเมลอน 1 ต้น จะมีลูกได้เพียง 1 ลูกเท่านั้น แน่นอนว่าสารอาหารทั้งหมด รวมถึงการดูแลเอาใจใส่จะมุ่งไปที่เมลอนเพียงลูกเดียว ซึ่งไม่ต่างกับการให้คำมั่นสัญญาหรือการใส่พลังอย่างเต็มที่กับสิ่งที่เราตั้งใจ หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า ‘โคดาวาริ’ นั่นเอง

4. สัมพันธ์กับทุกสิ่ง ทุกคน ให้เหมือนว่าเราจะเจอกันเพียงครั้งเดียวในชีวิต

“อิจิโกะ อิจิเอะ” (Ichigo-Ichie – 期一会) เป็นวลีเด็ดของคนญี่ปุ่นที่หมายความว่า “หนึ่งชีวิต หนึ่งครั้ง” ซึ่งซ่อนปรัชญาการใช้ชีวิตที่สุดลึกล้ำอย่างการให้ใส่ใจกับทุกสิ่ง ทุกคนตรงหน้า ให้เหมือนว่าเราจะเจอสิ่งนั้นหรือคนนั้นแค่ครั้งเดียวในชีวิต นอกจากจะทำให้เราใส่ใจกับสิ่งต่างๆ และให้ความสำคัญกับทุกเสี้ยววินาทีมากขึ้น ยังจะทำให้เราไม่มีวันเสียใจหรือเสียดาย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เพราะเราได้ปฏิบัติกับสิ่งนั้นและคนนั้นอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถแล้ว   

5. จดจ่อกับสิ่งที่ทำและดื่มด่ำความสุขกับสิ่งนั้น โดยไม่สนใจว่าจะมีใครเห็นหรือเปล่า

ในหนังสือ The Little Book of Ikigai ได้ยกตัวอย่างบาร์เทนเดอร์คนหนึ่งซึ่งยืนอยู่หลังบาร์และใช้เวลาปรุงรสเครื่องดื่มให้อร่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้กว่า 7 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่สนใจว่าจะมีใครมาชื่นชม หรือมีสื่อมาสัมภาษณ์เขาหรือเปล่า เขาเพียงจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ทำสิ่งนั้นอย่างเต็มกำลัง และนั่นเองทำให้ความสุขเกิดขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกที่เขาได้เริ่มทำสิ่งนั้น ซึ่งนับเป็นสุขง่ายๆ และมีความหมายที่สามารถสัมผัสได้ทันที โดยไม่ต้องรอ

6. ทำงานอดิเรกที่รักอย่างจริงจัง

‘ดัตสึซาระ’ (Datsu-sara – 脱サラ) ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึงปรากฏการณ์ที่มนุษย์เงินเดือนลาออกจากงาน เพราะรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่ตื่นเต้นหรือท้าทายพอ นั่นทำให้ คุณเคน โมงิ แนะนำว่า อิคิไกอาจจะไม่จำเป็นต้องค้นพบในหน้าที่การงานหลักที่เราใช้เลี้ยงชีพอยู่ก็ได้ เพราะมันอาจจะไม่ตอบสนองต่อความหมายของการมีชีวิตอยู่ของเราโดยตรง แต่เรายังมีเวลาอื่นๆ นอกเหนือเวลางาน ซึ่งสามารถใช้ไปกับการทำงานอดิเรกที่เราโปรดปราน หลงใหล และมีความสุขกับมันมาก เช่น การแต่งคอสเพลย์ (cosplay) หรือการถ่ายภาพ การดูนก ตกปลา หรือวาดภาพ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็สามารถเข้ามาเติมเต็มหัวใจและทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีความหมายขึ้นมาได้เช่นกัน

7. ปลดปล่อยตัวเองออกจากเงื่อนไขแห่งความสุขที่ตั้งขึ้น

คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในมายาคติของความฝัน มักมีความเชื่อว่า ต้องทำสิ่งนั้น ต้องเป็นสิ่งนี้ แล้วเราจะมีความสุข ซึ่งนั่นอาจจะเป็น ‘จุดโฟกัสลวงตา’ คือ เราเชื่อไปเอง หรือสร้างเงื่อนไขให้ตัวเอง ถ้ามีสิ่งนั้น ฉันจึงจะมีความสุข ทั้งที่จริงแล้ว เราอาจจะมีความสุขกับสิ่งอื่นๆ ได้อีกมากมาย เพราะความสุขนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว มนุษย์ทุกคนล้วนมีความสุขในแบบของตัวเองได้และไม่จำเป็นต้องสุขเหมือนใคร เพียงแค่เริ่มต้นจากการปลดปล่อยตัวเองออกจากเงื่อนไขที่เราตั้งขึ้นมาทั้งหลายแหล่ และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ชื่นชมกับสิ่งที่เรามีอยู่อย่างใส่ใจ เพียงเท่านี้อิคิไกก็อยู่ไม่ไกล และไม่ต้องไปไล่ล่าตามหาที่ไหนเลย ตรงกันข้าม ขณะที่เราออกไปใช้ชีวิตตามหาไล่ล่าสิ่งที่เราคิดไปเองว่า ถ้าเรามี ถ้าเราเป็น ถ้าเราทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ได้ เราจะมีความสุข บางทีอิคิไกที่เฝ้าตามหานั้นอาจจะไกลห่างจากเราไปเรื่อยๆ  

ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักใช้เวลาไปกับการออกไล่ล่า ตามหา ไขว่คว้าสิ่งที่คิดไปเองว่า ถ้ามี ถ้าเป็น หรือ ถ้าทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ได้ แล้วจะมีความสุข ทั้งที่จริงแล้ว หนทางแห่งความสุขนั้นเริ่มต้นขึ้นง่ายๆ แค่ ‘ใส่ใจ’ กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบข้างที่เราอาจจะเคยมองข้ามไปในแต่ละวัน…แค่นั้นเอง

นี่แหละคือแก่นแห่งความสุขตามแบบฉบับของชาวอาทิตย์อุทัยภายใต้หลักการของ ‘อิคิไก’

ที่มา:
themomentum.co
becommon.co
mover.in.th
www.youtube.com

บทความที่เกี่ยวข้อง