นพ.ภัทรวุฒิ วัฒนศัพท์ หมอนักดนตรีผู้เชื่อมสหศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน 

Human / Social-Inspiration

หมอหนึ่ง – รศ.ดร.นพ.ภัทรวุฒิ วัฒนศัพท์ เป็นแพทย์หู คอ จมูก ที่เชี่ยวชาญการผ่าตัดมะเร็งศรีษะและคอ ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ (ขอนแก่น) เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนักดนตรีมือฉกาจที่มีทักษะระดับอาชีพ เป็นนักวิจัยที่หยิบเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสุนทรียะของดนตรีมาออกแบบอุปกรณ์และวิธีรักษาเพื่อผู้ป่วยของเขา เป็นนักบริหารที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ร่วมงาน และยังเป็นนักพัฒนาที่เชื่อเสมอว่าการเรียนรู้จะนำไปสู่การเติบโตทั้งภายนอกและภายใน 

นี่เป็นแค่การเกริ่นนำสั้นๆ เท่านั้น เพราะเราชวนหมอหนึ่งมาพูดคุยเรื่องราวอีกมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งแรงบันดาลใจแรกของการเป็นหมอ การเป็นนักเรียนแพทย์ สู่อาชีพแพทย์เฉพาะทางอย่างเต็มตัว และสิ่งต่างๆ ที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็นหมอหนึ่งที่โครตคูลและเป็นที่รักอย่างทุกวันนี้ รวมไปถึงบทบาทอื่นๆ อีกมากมายที่คุณหมอทำอยู่ และอีกหลายๆ สิ่งที่อยากทำและจะทำให้สำเร็จ ตั้งแต่การออกแบบและพัฒนามาตรฐานการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ตลอดจนผลักดันการดูแลชีวิตก่อนป่วยโดยใช้การศึกษามาเป็นเครื่องมือ ไปฟังหมอหนึ่งเล่าอะไรๆ เหล่านี้กัน

ว่าด้วยเรื่องศาสตร์และศิลป์ของการเป็นหมอ

ด้วยพื้นฐานของครอบครัวที่คุณพ่อเป็นหมอ ส่วนคุณแม่จบมาทางพยาบาลก่อนจะผันตัวไปทำงานด้านการศึกษา ทำให้หมอหนึ่งได้เห็นแบบอย่างของท่านทั้งคู่มาตั้งแต่เด็ก เมื่อก้าวเข้าสู่วัยที่จะต้องเลือกเส้นทางอาชีพของตัวเอง การมีคุณพ่อเป็นต้นแบบและอยากทำให้ได้อย่างท่าน กับความประทับใจที่ได้เห็นงานของหมอที่ช่วยซ่อมร่างกายมนุษย์เพื่อให้พวกเขาหายจากโรคและกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และด้วยความที่เล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ชอบกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะลงมือทำ เมื่อได้เป็นนักศึกษาแพทย์อย่างเต็มตัว คุณหมอจึงสนใจเรื่องการผ่าตัดมากเป็นพิเศษ โดยเลือกเรียนต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด 

“พอเรียนจบ ด้วยแรงบันดาลใจจากคุณพ่อ ท่านเป็นศัลยแพทย์ทางด้านศรีษะและลำคอ ผมเลยเลือกต่อยอดด้วยการฝึกอบรมด้านหู คอ จมูก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่ขอนแก่น เน้นงานผ่าตัดรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งพบว่าคนไข้มักจะมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว แถมผ่าตัดไป ตัวโรคกลับมาเป็นซ้ำ ผมมาคิดดูแล้วเหมือนกับเราแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด ทำให้ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านระบาดวิทยาโรคมะเร็งที่ Harvard School of Public Health มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และไปดูด้านการผ่าตัดมะเร็งศีรษะและคอที่ Memorial-Sloan Kettering Cancer Center ที่นิวยอร์ค นี่จึงเป็นที่มาของการเป็นแพทย์หู คอ จมูก โดยเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องของมะเร็งศีรษะและคอในปัจจุบันครับ

“ประสบการณ์ตั้งแต่เรียนจบจนถึงวันนี้ ยืนยันความจริงที่ว่าอาชีพแพทย์มีความเป็นศาสตร์และศิลป์ มีคำกล่าวหนึ่งของ William Osler ซึ่งท่านเป็นบิดาการแพทย์สมัยใหม่ที่ว่า “Medicine is a science of uncertainty and an art of probability.” หรือการแพทย์เป็นทั้งศาสตร์ของความไม่แน่นอน และยังเป็นศิลปะของความน่าจะเป็นในเวลาเดียวกัน หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ วิทยาศาสตร์โดยทั่วไปค่อนข้างมีความแน่นอน เป็นเหตุเป็นผล เช่น เมื่อเราต้มน้ำให้เดือดจนถึงอุณหภูมิ 100 องศา น้ำจะระเหยกลายเป็นไอ แต่ในทางการแพทย์ ด้วยเงื่อนไขเดียวกัน อาจไม่ได้คำตอบเดียว บางครั้ง 1+1 อาจจะเท่ากับ 3 ก็ได้ เพราะเรายังมองไม่เห็นเลข 1 อีกตัวที่ซ่อนอยู่ นั่นจึงต้องมีเรื่องของ Art of Probability (ศิลปะแห่งความน่าจะเป็น) เข้ามา วิชาระบาดวิทยา ก็ช่วยอธิบายว่าทำไม คนไข้ 2 คนมาด้วยอาการเหมือนกันทุกอย่าง แต่แพทย์อาจจะวินิจฉัยออกมาเป็นคนละอย่าง หรือการรักษาแบบเดียวกันอาจจะได้ผลออกมาแตกต่างกัน ความไม่ตรงไปตรงมาแบบนี้สำหรับผมเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้เจอทั้งความสำเร็จและล้มเหลวตลอดเส้นทางการดูแลคนไข้

“อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของอาชีพแพทย์ คือการตัดสินใจ เพราะมันคือจุดเปลี่ยนของชีวิตคน ทันทีที่เราตัดสินใจ ซึ่งแน่นอนว่าคนไข้ต้องยินยอมพร้อมใจกับทางเลือกนั้น แต่นั่นแปลว่าเราต้องยอมรับโอกาส ความเสี่ยง และพร้อมรับมือกับทุกสิ่งไม่ว่าจะดีร้ายที่ตามมา เส้นทางชีวิตส่วนที่เหลือของพวกเขาจะเป็นแบบไหนขึ้นกับการตัดสินใจในวันนั้น ซึ่งชัดเจนมากในโรคมะเร็ง สมัยเป็นอาจารย์ใหม่ๆ มีคุณป้าท่านหนึ่ง ท่านเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Anaplastic ที่รู้กันว่ามีความรุนแรงและผลการผ่าตัดจะไม่ค่อยดี แต่ผมประเมินดูแล้วว่าน่าจะผ่าตัดได้ ผมยังจำได้เลยว่าก่อนผ่าตัด ลูกศิษย์มาทักว่า ‘อาจารย์จะผ่าจริงๆ เหรอ ดูเหมือนก้อนอยู่ชิดกับหลอดอาหารมากเลยนะครับ’ ผมยังยืนยันความมั่นใจไปว่า ‘ผ่าได้’ ผมเตรียมการทุกอย่างไว้อย่างพร้อม รวมถึงแผนสำรองหากเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด ผลการผ่าตัดออกมาดีนะครับ แต่หลายวันต่อมาเกิดรอยรั่วในหลอดอาหารเข้าหลอดลม ตรงตำแหน่งที่เย็บซ่อมไว้  ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากเศษอาหารหลุดเข้าหลอดลมจากรอยรั่วที่ทะลุถึงกัน ส่งผลให้คนไข้เกิดอาการสำลักไอทุกครั้งที่กลืน และใช้ชีวิตอย่างลำบาก เราพยายามเข้าไปเย็บซ่อมอยู่หลายครั้ง ทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนไข้ได้รับผลกระทบจากรูรั่วน้อยที่สุด แต่ก็ยังรั่วซ้ำ คุณป้าท่านนี้ใช้ชีวิตต่อมาได้อีกประมาณ 1 ปีก็จากไป จากก่อนหน้าที่เราประเมินว่าท่านอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน แม้ในเวลาที่คนไข้ยังมีชีวิตอยู่จะกำลังใจดีมาก รวมถึงอายุท่านที่ดูเหมือนยืดมาได้อีก 6 เดือน แต่ก็ทำให้คนไข้มีความลำบากในการใช้ชีวิตจากการตัดสินใจของผม อาจจะบอกยากว่าเวลา 6 เดือนที่ได้มา คุ้มกันไหมกับคุณภาพชีวิตที่แย่ลง แต่ในใจผมยังรู้สึกผิดและได้บอกกับคนไข้อย่างตรงไปตรงมา

“แม้การรักษาคุณป้าในครั้งนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เป็นบทเรียนที่ทำให้ผมต้องคิดอย่างละเอียด รอบคอบ และรอบด้าน ก่อนตัดสินใจร่วมกับคนไข้ ผมต้องขอบคุณคุณป้าที่มาสอนบทเรียนหลายอย่างกับผม นี่เป็นกรณีที่เตือนใจผมเสมอว่าการที่เราจะคิด ประเมิน และตัดสินใจในการดูแลคนไข้ 1 คน ไม่ใช่แค่การเอาชนะตัวโรคให้หายเท่านั้น แต่เราต้องชั่งน้ำหนักกับคุณภาพชีวิตหลังการรักษาด้วยว่า หากเราเลือกวิธีนี้ คนไข้จะได้รับผลกระทบอย่างไร ในบางครั้ง เราอาจจะไม่ชนะตัวโรคแต่หากทำให้เขามีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพได้ ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ และบทเรียนครั้งนั้น ยังทำให้ผมรู้จักถอยในเคสที่ควรถอย กล้าลุยในเคสที่ควรลุยได้อย่างเต็มที่ครับ”

ดนตรีบำบัดโรค

คงเป็นเพราะคุณพ่อที่ชอบเล่นดนตรี ทำให้พี่น้องครอบครัววัฒนศัพท์ รวมทั้งคุณหมออยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการฟังและการเล่นดนตรีมาแทบทุกประเภทตั้งแต่เด็ก นอกรั้วบ้านคุณหมอยังเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ทั้งวงโยธวาทิต วงดนตรีลูกทุ่ง วงสตริง จนมาตั้งวงกับเพื่อนๆ ก็ใช้เวลาว่าง ไปกับการแกะเพลง เขียนโน้ตให้สมาชิกในวง อีกทั้งการได้มารู้จักและเรียนเปียโนแจ๊สกับอาจารย์ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ซึ่งเปิดโลกทางดนตรีให้กับหมอหนึ่งไปอีกมากโข 

“สิ่งที่ทำให้ผมได้พัฒนาทักษะดนตรีไปได้มาก คือช่วงวัยเด็กที่ต้องรับหน้าที่เล่นเปียโนแบคอัพการร้องเพลงให้กับแขกของคุณพ่อกับคุณแม่ เนื่องจากท่านทั้งสองเป็นผู้บริหาร จึงมีการจัดเลี้ยงที่บ้านบ่อยๆ ทั้งหน่วยงาน ลูกศิษย์ แขกเหรื่อจากต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยียนกันอยู่ตลอด พอได้ที่ก็จะหมุนเวียนกันขึ้นมาร้องเพลง มีทุกสไตล์ ทุกภาษา บางเพลงที่แขกเลือกร้อง ผมแทบจะไม่เคยได้ยิน ก็ใช้วิธีฟัง เกาะทำนองจากการร้องแล้วบรรเลงด้นตามไปสดๆ จนจบเพลง พอได้ทำแบบนี้อยู่บ่อยๆ ทำให้ได้พัฒนาทักษะการฟัง ได้ฝึกการเล่นดนตรีซัพพอร์ตคนร้องเพลง จนภายหลังพบว่าทักษะเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากเลย ทั้งในการเล่นดนตรีเอง รวมถึงการนำดนตรีมาใช้ในทางบำบัดคนไข้ด้วย 

“มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมได้เห็นพลังแห่งดนตรีคือเมื่อสิบกว่าปีก่อน มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ผมเคารพมากๆ ผมกับท่านเราเคยสัญญากันว่าจะมาเล่นดนตรีแจมกัน ท่านกำลังหัดเป่าแซกโซโฟนอยู่ในเวลานั้น จนมาทราบข่าวว่าท่านป่วยเป็นมะเร็ง ผมตั้งใจว่าจะไปเยี่ยม แต่ด้วยเหตุต่างๆ ทำให้ไม่ได้ไปสักที กระทั่งมารู้อีกทีเมื่อท่านป่วยหนักไม่รู้สึกตัวแล้ว ผมตัดสินใจหอบหิ้วเครื่องดนตรีจากขอนแก่นไปกรุงเทพฯ ไปถึงผมจับมืออาจารย์แล้วบอกว่า ‘ผมมาแล้วนะครับ ที่เราสัญญากันว่าจะเล่นดนตรี มาเล่นด้วยกันนะครับ’ อาจารยไม่ตอบ แต่ผมรู้สึกได้ว่าท่านบีบมือผมเบาๆ ผมตั้งเปียโนไฟฟ้าไว้ข้างเตียง แล้วนำไซโลโฟน ซึ่งเป็นระนาดของเด็กที่เตรียมมาไปตั้งไว้บนเตียงข้างตัวอาจารย์ แล้วหยิบไม้ตีไซโลโฟนใส่มือท่านไว้ ทันทีที่ผมเริ่มเล่นเปียโน ก็มีเสียงไซโลโฟนดังขึ้น อาจารย์พยายามขยับมือ แล้วเคาะตัวโน๊ตจากไซโลโฟนออกมา ถึงฟังไม่ออกว่าเพลงอะไร แต่ว่ามันมีจังหวะ มีทำนองที่ตอบโต้กันไปมา เราเล่นไปด้วยกันเกือบ 20 นาที หยุดบ้าง เล่นบ้าง จนจบเพลง ก่อนกลับผมไปลา ท่านบีบมือผมพร้อมกับเห็นน้ำตาท่านไหลลงมาข้างแก้ม  ในฐานะที่ผมเป็นแพทย์ ผมไม่สามารถช่วยรักษาอาจารย์ได้ แต่ด้วยดนตรี ทำให้ผมสามารถสื่อสารกับท่านได้และทำให้ผมรู้ว่าอาจารย์ยังคงอยู่ในห้องนั้น แม้จะไม่มีคำพูดใดๆ ออกมาแม้แต่คำเดียว นั่นเป็นการสนทนาผ่านเสียงเพลงกันครั้งแรกและครั้งสุดท้ายก่อนท่านจากไป”

สำหรับหมอหนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ได้อย่างดีเลยว่า ดนตรีเป็นเครื่องมือที่ให้มากกว่าความจรรโลงใจ แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการไปเรียนรู้ด้านดนตรีบำบัดที่ Berklee College of Music ศาสตร์ที่หมอหนึ่งได้นำมาต่อยอดเพื่อดูแลและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไข้อีกมากมาย  

“ผมคลุกคลีกับการใช้ดนตรีมาบำบัดผู้ป่วย จนได้รับเชิญให้ไปร่วมก่อตั้งสมาคมดนตรีและการแพทย์นานาชาติ (International Association for Music and Medicine) ที่ประเทศไอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2552 ไปแบบโนเนมเลย แต่ด้วยความสนใจ ทำให้เราได้เรียนรู้และร่วมงานสมาคมอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานสมาคมในปี 2559 ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ได้รู้จักและร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีบำบัดและเวชศาสตร์ดนตรีจากทั่วโลกมากขึ้นไปอีก และได้มาพัฒนางานด้านดนตรีเพื่อการบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง หนึ่งในสิ่งที่ผมได้ทำคือการนำดนตรีมาใช้กับคนไข้มะเร็งกล่องเสียง ซึ่งในระยะลุกลามจะถูกผ่าตัดกล่องเสียงออกไป ทำให้พูดไม่ได้ สื่อสารลำบาก ผมจึงออกแบบเครื่องดนตรีโดยประยุกต์เมโลเดียนที่ปกติเป่าทางปากมาเป่าตรงหลอดคอแทน และตั้งชื่อว่า ‘Tracheomelodica’ ซึ่งมาจากคำว่า ‘Trachea’ ที่แปลว่าหลอดลม ส่วน ‘Melodica’ ก็คือเมโลเดียน หลังจากออกแบบและนำไปวิจัยเชิงทดลองก็พบว่าเครื่องนี้ทำให้การขยายปอดดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตคนไข้ดีขึ้นตามไปด้วย เราจึงนำไปใช้กับคนไข้ที่มีความพร้อม เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังผ่าตัด”

เพราะเรียนรู้จึงเติบโต เพราะมีคุณค่าจึงเป็นสุข

“ด้วยความที่ผมเป็นคนที่สนใจอะไรหลายอย่าง จะเรียกว่าคนแบบวิถีเป็ดก็ได้ อะไรที่เป็นประโยชน์ผมจะชอบศึกษาและเรียนรู้ ในวัยเด็กเรายังได้เติบโต แต่พอเป็นผู้ใหญ่จนแก่วัยนี้แล้ว ร่างกายมีแต่จะเสื่อมลง จะเหลือก็แต่ภายในที่สามารถเติบโตต่อไปได้ ผมจึงชอบเรียนรู้ และลงมือทำสิ่งใหม่ๆ  การเรียนรู้จึงถือเป็นความสุข เป็นรางวัลชีวิตที่เข้ามาเติมเต็มตัวเรา ให้เรากระปรี้ประเปร่า เหมือนกลับไปเป็นเด็ก และอยากนำสิ่งที่เรียนรู้ไปทำประโยชน์ให้คนอื่นๆ ขณะเดียวกัน พอเรารู้ว่าตัวเองมีประโยชน์กับคนอื่น มันเป็นเสมือนกำลังใจที่มาเติมไฟให้เราอยากที่จะทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่อไปอีก เหมือนการหายใจเข้า หายใจออก สลับกันไป คำถามที่ว่าเราเกิดมาทำไม สำหรับผมคือการเกิดมาเพื่อทำประโยชน์ให้กับผู้คนและสังคม ฟังดูเหมือนกับโลกสวย แต่ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่าและมีพลังที่จะใช้ชีวิตต่อไป”

ลูกไม้ใต้ต้น

“สำหรับผมสิ่งสำคัญของ ‘บ้านและครอบครัว’ คือ คนที่อยู่ในนั้น ผมเติบโตมากับครอบครัวที่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างใกล้ชิด คุณแม่จะปลูกฝังให้กอด หอม และบอกรักกันทุกวันเป็นเรื่องปกติ ผมว่าความหมายของบ้านคือการที่สมาชิกได้รัก ถูกรัก เข้าใจ ห่วงใย และดูแลกัน แม้บางช่วงเราอาจไม่มีเวลาให้กันอย่างเต็มที่ แต่ความห่วงใย ใส่ใจ และความผูกพันยังยึดโยงเราไว้ ทำให้รู้สึกอุ่นใจและมั่นคงจากภายใน 

“ผมคิดว่าการเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น ได้เห็นคุณพ่อคุณแม่เป็นแบบอย่างสำคัญในชีวิต มีส่วนสำคัญที่ขัดเกลาให้ผมเป็นผมอย่างทุกวันนี้ คุณแม่เป็นแบบอย่างของคนที่ใส่ใจคนรอบข้าง การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ร่วมรู้สึก หรือ empathy เป็นคนทำงานที่ลงไปลุยงานด้วยกันกับผู้ร่วมงานโดยไม่ได้ถือตนว่าเราเป็นใคร อยู่ในบทบาทไหนขององค์กร ทำให้เมื่อผมมาทำงานและอยู่ในหน้าที่ของการบริหาร จึงไม่ลังเลที่จะลงไปลุยงานกับน้องๆ ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกเขา ซึ่งรางวัลที่ได้รับกลับมาคือ ใจผู้ร่วมงานที่พร้อมจะสู้งานไปด้วยกันกับเรา ส่วนคุณพ่อจะเป็นผู้บริหารมาตลอดชีวิต  ท่านแสดงให้เห็นเสมอว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ ท่านยังเป็นคนตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างมาก ถือเป็นต้นแบบของการทำงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกันและทำได้ดีเสียด้วย นั่นเลยหล่อหลอมให้ผมมีฐานความคิดว่าทุกสิ่งเป็นไปได้หากเราตั้งใจและพยายาม

“ผมยังมีอาจารย์ที่เป็นแรงบันดาลใจของผมเสมอมา คือ อาจารย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล ซึ่งท่านเป็นโสต ศอ นาสิกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดหู  และเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิหู คอ จมูกชนบท ถือเป็นปูชนียบุคคลที่เป็นแบบอย่างในอุดมคติให้กับแพทย์รุ่นหลังเลยก็ว่าได้ สมัยท่านจบจากเมืองนอกมาใหม่ๆ ท่านใช้เงินส่วนตัวจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกผ่าตัดรักษาคนไข้โรคหูน้ำหนวกในถิ่นทุรกันดาร ท่านยังประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์สำหรับหู คอ จมูก ที่เรียกว่าชั้นยอดกว่าอุปกรณ์แบรนด์เนมจากต่างประเทศเสียอีก  โดยเครื่องมือของท่านจะมีคุณภาพและราคาถูกเพื่อให้หมอสามารถนำไปใช้กันได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งยังตระเวนคอยช่วยดูแลและให้คำปรึกษาลูกศิษย์อยู่เสมอ ปีนี้ท่านอายุ 87 แล้ว แต่ยังแข็งแรงทั้งกายและใจ ประโยคที่พวกเราลูกศิษย์มักจะได้ยินจากท่านคือ ‘อั๊วะจะเลิกทำแล้วนะ เดี๋ยวจะตายแล้ว’ แต่นั่นคือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และผมได้ยินประโยคลาตายของอาจารย์มาเกือบจะทุกปี จนล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ ท่านก็บอกว่าจะเป็นทริปสุดท้ายที่จะขับรถมาขอนแก่นแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์ทำน่าจะเรียกได้ว่ามรณานุสติ ทำให้อาจารย์ใช้เวลาในทุกๆ ลมหายใจอย่างมีความหมาย ทำงานที่เป็นประโยชน์อย่างมีความสุข และทุกครั้งที่มีโอกาสได้พบและทำงานร่วมกับท่าน ผมก็จะได้รับความสุขไปด้วย ทุกวันนี้ก็ดีใจที่ได้สืบสานปณิธานการทำงานของอาจารย์ในรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด 

“คงเพราะมีครอบครัวและอาจารย์หลายๆ ท่านเป็นต้นแบบในการทำงาน ทุกวันนี้ ผมจึงยังมีไฟและมีฝันที่อยากจะทำอะไรต่อมิอะไรอยู่ตลอด เรื่องการศึกษาก็เป็นเรื่องหนึ่งที่กำลังสนใจ เพราะผมรู้สึกว่าการรักษาคนไข้มะเร็งที่ทำอยู่ เป็นการดูแลที่ปลายทางมากๆ คนไข้ส่วนใหญ่อยู่ในระยะลุกลามที่มีทางเลือกไม่มากนักให้เราต้องตัดสินใจ หรือแม้ว่าเราจะย้อนเวลากลับไปเพื่อคัดกรองวินิจฉัยให้ได้เร็วขึ้น หรือย้อนเลยไปไกลกว่านั้นถึงการป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่างๆ แต่ก็ยังไม่ทันการณ์ ผมคิดว่าเราคงต้องย้อนไปถึงวัยเด็กแล้วล่ะว่า เราจะเตรียมคนรุ่นใหม่ขึ้นมาอย่างไรเพื่อให้พวกเขารู้จักการดูแลและใช้ชีวิตเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดีในบั้นปลายชีวิต ก่อนที่จะถึงวัยที่ต้องมาเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงความท้าทายต่างๆ ในชีวิต ผมจึงอยากนำประสบการณ์จากสิ่งที่ได้เรียนรู้ ทั้งมิติทางด้านศิลปะ ดนตรี วิทยาศาสตร์ การแพทย์ ความสำเร็จ และล้มเหลวในชีวิตที่ผ่านมา มาสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้พวกเขาตั้งแต่วัยเด็ก ให้มีประสบการณ์เพื่อที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตัวเอง ครอบครัว ไปจนถึงคนรอบข้างได้อย่างมีความสุขและสุขภาพดี สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในโลกในอนาคต ตอนนี้กำลังคิดและเตรียมการอยู่ ซึ่งคงจะมีอะไรสนุกๆ เกิดขึ้นในอนาคตนี้แน่ๆ ครับ (ยิ้ม)” 

ภาพ: จิณณไตญ ธนกฤตา

บทความที่เกี่ยวข้อง