‘ฉันคิด ฉันทำ ฉันจึงสำเร็จ’ หมอนักเดินทาง นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค

หมอโจ้-นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค เป็นคนกรุงเทพฯ แต่กำเนิด แต่เพราะหลงใหลในการเดินทาง เขาจึงตัดสินใจเรียนต่อเป็นหมอเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากเรียนจบหมอที่วชิรพยาบาล โรงพยาบาลวชิระ หรือมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชในปัจจุบัน กระทั่งตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตที่บ้านหลังที่ 2 อย่างภูเก็ตกับการเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านท่องเที่ยวและการเดินทาง (Travel Medicine Doctor) ครั้งที่วิกฤตโควิดเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อนที่การเดินทางทั้งโลกหยุดนิ่งพร้อมๆ ไปกับอาชีพของเขา แต่นั่นกลายเป็นโอกาสให้ถนนหลายสายในชีวิตถูกตัดขึ้นมาใหม่ 

ในวันที่หมอโจ้แวะกลับมากรุงเทพฯ เราจึงถือโอกาสชวนเขามานั่งจับเข่าคุยถึงอาชีพ 108 อย่างที่เขาได้ทำ ตั้งแต่หมอ Travel Medicine หมอบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน การแปลงสิ่งที่รักอย่างการเดินทางและสุขภาพ ไปสู่การเล่าเรื่องผ่านเพจ ‘หมอๆ ตะลุยโลก’ พ่วงมาด้วยเพจสุขภาพอย่าง Dr. Joe Akkavich ไปจนถึงการเปิดธุรกิจคลินิกความงาม บริษัทนำเที่ยว ร้านขายอุปกรณ์การเดินทาง The Puffine House เหล่านี้เป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น ลองไปฟังหมอโจ้เล่าชีวิตสุดบ้าพลัง และอะไรอื่นๆ อีกมากมายในสัมภาษณ์ฉบับนี้กัน

เมื่อ 2 ฝัน โคจรมาพบกัน 

“ผมอยากให้อาชีพหมอที่อยากเป็นกับความฝันที่ได้เดินทางรอบโลกเป็นเรื่องเดียวกัน ผมชอบเดินทางมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ มีเวลาเมื่อไหร่ ผมจะแบ็คแพ็คไปเที่ยวตลอด ยิ่งช่วงที่มาทำงานใช้ทุนในจังหวัดระนองและภูเก็ต ผมเริ่มมีเวลามากขึ้น จึงได้ไปไหนมาไหนมากขึ้น แถมยังได้พบกับนักเดินทางมากมายจากการทำงาน เลยคิดว่าถ้ามีคนที่ดูแลสุขภาพให้พวกเขาและเป็นหมอด้วยก็น่าจะดี นั่นคือความคิดตอนประมาณอายุ 25 นะครับ ประจวบเหมาะกับที่ประเทศไทยเปิดสอนพอดี ฝันเลยกลายเป็นจริงที่สามารถนำเรื่องที่ตัวเองชอบกับวิชาชีพที่เรียนมารวมกันได้”

เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว (Travel Medicine) เป็นศาสตร์ทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทาง ซึ่งนอกจากการดูแลในเรื่องโรคติดเชื้อต่างๆ แล้ว ศาสตร์ดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงสุขภาวะด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เกี่ยวข้องไปกับการเดินทาง ตลอดจนให้ความสำคัญไปกับการดูแลรักษาโรคหลังการเดินทางด้วยเช่นกัน 

“งานของหมอเวชศาสตร์การเดินทางจะทำงานในเชิงป้องกัน และทำงานกับคนที่ยังไม่เป็นโรคเพื่อให้เขาไม่เป็นโรค โดยโฟกัสไปที่โรคซึ่งเกิดจากคนเดินทางเป็นหลัก อย่างโรคระบาดประจำถิ่น เช่น โรคไข้เหลืองในแอฟริกาและอเมริกาใต้ หรือในอินเดียก็จะมีไทฟอยด์ ในคองโกจะมีอีโบล่า ส่วนบ้านเราคือไข้เลือดออก ซึ่งถ้าเราอยู่เมืองไทย โอกาสเป็นโรคประจำถิ่นอื่นๆ จะมีน้อย งานในแต่ละวันผมจึงจะได้เจอกับคนถือแผนท่องเที่ยวมาให้เราดูและปรึกษาว่า “คุณหมอ ถ้าจะไปที่นี่ จะต้องทำอะไรบ้าง” ดังนั้น หน้าที่ของผม คือนำแผนของนักเดินทางเหล่านี้มาคุยว่าแต่ละวันคุณจะไปไหนบ้าง คุณจะมีความเสี่ยงของแต่ละโรคกี่เปอร์เซ็นต์ พอเราเห็นความเสี่ยงของโรค เราจะแนะนำวิธีป้องกันว่าโรคนี้ต้องใช้อะไรบ้าง ทานยาได้ไหม หรือเป็นการฉีดวัคซีน หรือถ้าไม่มีทั้งยาและวัคซีน เราจะป้องกันด้วยวิธีไหนได้บ้าง หรือถ้ามีความซับซ้อนเกิดขึ้น เช่น ถ้ามีโรคประจำตัวอยู่ล่ะ อาจจะต้องเปลี่ยนยาที่เคยใช้ไปเป็นยาที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นแทน งานผมเลยจะคล้ายๆ เป็นงานแบบ tailor made ที่แต่ละคนจะมีเงื่อนไขแตกต่างกัน นี่จึงเป็นความสนุกที่ได้เจอเรื่องราวของนักเดินทางจากทุกมุมโลก บางคนที่มาหาก็มีชีวิตผจญภัยแบบที่เราเห็นในหนังแบบนั้นเลย เรียกว่าเปิดโลกของผมไปพอสมควรเลยครับ”

คอนเทนต์ครีเอเตอร์ผู้เล่าเรื่องการเดินทางและสุขภาพ

“จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมเขียนเรื่องราวการเดินทางลงในห้องบลูแพลนเน็ต ในเว็บไซต์พันทิปอยู่แล้ว จนกระทั่งปี 2012 ที่ผมก่อตั้งเพจ ‘หมอๆ ตะลุยโลก’ ร่วมกับคุณหมอวิน (นพ.อัศวิน ชมจิตต์) ในเวลานั้นยังไม่มีใครทำเพจ ยิ่งเพจท่องเที่ยวในเฟซบุ๊กถือเป็นเรื่องใหม่มาก แต่เพราะเราอยากจะแชร์เรื่องราวและสถานที่ที่ได้ไปเลยทำพื้นที่นี้ขึ้นมา พอได้รับฟีดแบคที่ดีจากผู้อ่าน เมื่อมีเวลาว่างและจัดคิวได้ เราจะไปตามที่ต่างๆ แล้วกลับมาเขียนคอนเทนต์ว่าเราไปที่ไหนมาบ้าง ได้ไปทำอะไร และสิ่งที่ได้รับกลับในการเดินทางแต่ละครั้ง จากนั้นจึงเริ่มทำแบบจริงจังมากขึ้น 

“สถานที่ที่ผมประทับใจมากแน่นอนว่าเป็นทริปแรกสุดกับเส้นทางสายทรานไซบีเรีย ถือเป็นทริปที่เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เพราะชีวิตที่ผ่านมาของผมอยู่แต่โรงพยาบาลกับบ้าน พอได้ออกไปดูโลกกว้าง ได้เห็นว่าจริงๆ โลกมีอะไรอีกมากมายที่เราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ กลายเป็นว่าชีวิตที่อยู่ในกรอบเดิมๆ ถูกทลายลง กล้าเดินออกจากการใช้ชีวิตปกติ และคิดว่าเราไม่ควรยืนอยู่ในจุดเดิมๆ เพราะโลกใบนี้ยังมีอะไรอีกมากให้เราไปทำความรู้จัก เหมือนกับการเดินทางทำให้ผมคิดกว้างและลึกขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมได้หลังจากกลับมาจากทรานไซบีเรียรอบแรก” 

นอกจากความคิดที่ตกตะกอน อีกหนึ่งผลผลิตที่ได้จากการเดินทางครั้งนั้นคือหนังสือ ‘ทริปในฝัน 41 วัน ครึ่งซีกโลก จุดเริ่มต้นบนรถไฟทรานส์ – ไซบีเรีย’ สิ่งพิมพ์เล่มแรกภายใต้ชื่อเพจหมอๆ ตะลุยโลก ที่บอกเล่าเรื่องราวบนล้อเหล็กจากจีนไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ การเดินทางอันโด่งดังจากเว็บไซต์พันทิปดอตคอมที่ครองพื้นที่กระทู้แนะนำในห้องบลูแพลนเน็ตยาวข้ามปี ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางสนุกๆ และสุดฮาของหมอนักเดินทั้ง 2 คน เล่มนี้ ตามมาด้วยหนังสือเล่มที่ 2 อย่าง ‘ทริปในฝัน 41 วัน ครึ่งซีกโลก สุดรางปลายทางยุโรป’ ที่หมอๆ พาเราไปตะลุยโลกกันต่อในยุโรปที่ไม่ได้ชวนฝันเหมือนภาพสวยๆ ในโปสต์การ์ด และ ‘ล่าแสงเหนือ AURORA’ พ๊อคเก็ตบุ๊คลำดับที่สามกับภารกิจการเดินทางตามล่าหาแสงเหนือที่มีโจทย์คือเที่ยวอย่างไรในงบประมาณที่จำกัด แต่ได้ความสนุกและเฮฮาแบบไร้ขีดจำกัด

“สำหรับหนังสือ ‘TANZANIA, Here I Am’ ถือเป็นการบินเดี่ยวของผมที่ได้ทำตามฝัน 2 อย่างในการไปเยือนแอฟริกา ฝันแรกคือการได้ไปเป็นหมอที่นั่นเพื่อเพิ่มประสบการณ์ทำงานในฐานะบุคลากรทางการแพทย์และรู้จักกับโรคภัยต่างๆ มากขึ้น ซึ่งก็สมหวังที่ศูนย์การแพทย์คิลิมันจาโร ประเทศแทนซาเนีย และฝันที่สองคือการได้เดินขึ้นภูเขาไฟคิลิมันจาโร หนึ่งในภูเขาที่เป็นที่สุดของโลก ซึ่งผมมีโอกาสได้ไปอย่างที่ตั้งใจไว้ 

“พอทำเพจหมอๆ ตะลุยโลกมาพักหนึ่ง ก็มีจุดที่ผมคิดว่าจะเปลี่ยนเพจนี้ไปเป็นเพจดูแลสุขภาพดีไหม แต่พอมาคิดดูแล้วไม่น่าได้เพราะว่าจุดประสงค์ของเพจไปกันคนละทาง คนที่อยู่ในเพจหมอๆ ตะลุยโลกส่วนใหญ่ไม่ได้สนุกกับการทานของดี แต่สนุกกับการทานของอร่อย ถ้าจะทำเรื่องสุขภาพการเปิดเพจใหม่น่าจะเหมาะสมและสามารถโฟกัสไปที่ประเด็นสุขภาพได้อย่างเต็มที่มากกว่า ส่วนเหตุผลที่ผมอยากทำเพจใหม่ขึ้นเพราะตอนนั้นเป็นช่วงโควิดที่ผมมีเวลาดูแลตัวเองอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องการทาน การออกกำลังกาย การพักผ่อน พอได้ศึกษาเยอะขึ้นและปฏิบัติด้วยตัวเอง เหมือนผมพบกับจุดความรู้ที่สปาร์คในหัวขึ้นมาว่า ในเมื่อผมรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ ทำไมไม่นำความรู้ไปเผยแพร่สู่สาธารณชนล่ะ นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดเพจสุขภาพที่ชื่อ Dr. Joe Akkavich ขึ้นช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมาเพิ่มอีกเพจหนึ่งและทำมาถึงปัจจุบันครับ”

2880 ชั่วโมง กับชีวิตหมอบนแท่นขุดเจาะ

“ช่วงวิกฤตโควิดทำให้ผมต้องหยุดงานในโรงพยาบาลชั่วคราว เผอิญมีคนมาชวนว่าลองไปทำงาน offshore หรือหมอบนแท่นขุดเจาะดูไหม จริงๆ ผมเห็นงานนี้มานานแล้ว แต่ไม่คิดว่าตัวเองจะมีโอกาสได้ทำ เพราะงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันต้องใช้เวลาเยอะ พอมีโอกาสเข้ามาจึงตกลงไปทำอยู่ประมาณ 4 เดือน ในช่วงกลางปีที่ผ่าน 

“สำหรับงาน offshore ในประเทศไทย เราจะพูดถึงแท่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก โดยจำเป็นจะต้องมีแพทย์ไปประจำ 1 คนตามกฎหมาย ตอนที่ผมทำเป็นการไปประจำแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งในเรือลำนั้นมีคนทำงานอยู่ประมาณเกือบๆ 300 คน ซึ่งต้องมีหมอ 1 คน พยาบาล 2 คน หน้าที่ของพวกเราที่อยู่บนนั้นคือทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยปกติหน้าที่หมอคือการคุยกับคนไข้และการรักษาโรค เราทำอยู่แค่นั้นในโรงพยาบาล แต่ที่ offshore หมอจะต้องทำงานด้านสุขอนามัยนอกเหนือไปจากการป้องกันหรือรักษาด้วย เช่น การทำงานร่วมกับทีมพ่อครัวแม่ครัวเพื่อดูแลเรื่องความสะอาดของอาหาร การดูแลสุขอนามัยให้พนักงานในห้องครัวซึ่งปกติถ้าทำงานในโรงพยาบาลจะเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นคนดูแล พอเราไปอยู่ตรงนั้น ด้วยพื้นที่และทรัพยากรที่มีจำกัด ดังนั้น คน 1 คนจึงต้องทำได้หลายหน้าที่ งานที่ไม่เคยจับมาก่อนจึงมีโอกาสได้ทำ 

“สิ่งที่งาน offshore สอนผมคือการได้เรียนรู้ว่าสุขภาพและความสุขของคนต้องเริ่มต้นจากห้องครัว คนทำอาหาร ซึ่งอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสะอาดและมีรสชาติดี เพราะคนทำงานหนัก เวลาที่เขามีเวลาว่าง เขาจะทำได้เพียงทานข้าวและนอนหลับพักผ่อน นั่นคือความสุขสุดๆ ของพวกเขา งานดังกล่าวยังทำให้ผมเรียนรู้อีกอย่างว่าทุกวินาทีมีค่า คนที่อยู่บนนั้นต้องมีขีดความสามารถที่สูงที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าคุณไม่มีคุณสมบัติตรงนี้คุณต้องลงจากแท่นไปอยู่บนฝั่งแทน เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือต้องทำอย่างไรให้ทุกคนปลอดภัยที่สุดเพื่อให้สามารถทำงานให้ได้อย่างเหมาะสมที่สุดเพื่อให้ทุกปฏิบัติการณ์ดำเนินไปอย่างราบรื่นตามเวลาที่กำหนด แล้วถ้าหมอหายไปคนหนึ่ง แท่นนั้นจะต้องหยุดทำงานเลย เพราะนั่นคือกฎหมาย ผมถึงกับโอ้โห… ว่าตำแหน่งนี้สำคัญมากๆ ซึ่งตอนที่ผมตัดสินใจไปทำงาน offshore คิดว่าไปเพื่อเรียนรู้ แล้วผมก็ได้เรียนรู้หลายๆ เรื่อง ถึงตอนนี้ผมยังแอบคิดถึงชีวิตในทะเลอยู่เป็นระยะๆ ครับ (ยิ้ม)” 

สร้างตัวช่วยบริหารเวลา

“ถ้าแบ่งเป็น 100 ผมให้ 70% เป็นเรื่องของการจัดการบริหารในส่วนของธุรกิจ ทั้งคลินิกความงามที่ผมเริ่มเข้ามาดูแลตั้งแต่ช่วงโควิด รวมทั้งร้านขายอุปกรณ์เดินป่า บริษัทนำเที่ยว ส่วนงานรักษาคนน่าจะสัก 30% แต่ก็ไม่ได้รักษาโดยตรงนะครับ จะเป็นเรื่องของการวางแผนสุขภาพมากกว่า ซึ่งผมกำลังจะเปิดคลินิกที่ดูแลเรื่องของสุขภาพที่เป็นส่วนต่อยอดจากการให้ความรู้ในเพจที่ผมตั้งขึ้น 

“พอได้ทำงานทั้งการเป็นหมอและนักธุรกิจ ผมพบว่าบทบาททั้งสองต่างกันเยอะพอสมควร ปกติแพทย์จะเป็นนายตัวเอง สามารถทำงานโดยไม่ต้องสนใจระบบอะไรต่างๆ ได้ เพราะเราสามารถเริ่มต้น ปิด และจบงานได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อมาทำธุรกิจ เราทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว แต่จะต้องมีคนช่วยแต่ละฝ่ายที่ค่อนข้างมาก ซึ่งทักษะเหล่านี้ผมต้องเรียนรู้ตั้งแต่ศูนย์ โชคดีที่ทักษะบางอย่างจากงานหมอทำให้ผมสามารถประยุกต์ใช้กับงานด้านธุรกิจได้อยู่ เช่น การค้นหาข้อมูลต่างๆ การอ่านรายงาน หรือวิธีการทำรีเสิร์ช ซึ่งมีประโยชน์มากๆ ครับ”

แม้ต้องสวมหมวกหลายใบในเวลาเดียวกัน ตั้งแต่การเป็นคุณหมอ นักเล่าเรื่อง นักเดินทาง แถมพ่วงอีกบทบาทอย่างนักธุรกิจ ทว่าการจัดสรรเวลาของคุณหมอก็ถือว่าทำได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องเหมือนกัน 

“พอต้องทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ผมเลยต้องมาบริหารเรื่องเวลาพอสมควรเลย หลักง่ายๆ คืออะไรที่สำคัญแต่ไม่ด่วนจี๋ จะเป็นสิ่งที่ผมใส่เข้าไปใน to do list ในแต่ละวัน เหมือนเป็นการบังคับให้เราต้องทำก่อน เพราะหากไม่ใส่ ผมจะไม่มีวันได้ทำ โดยเฉพาะเรื่องการออกกำลังกาย ถ้าเป็นเรื่องของงาน จะเป็นเรื่องของการแบ่งเวลาว่าวันหนึ่งเราจะทำอะไรบ้าง สิ่งสำคัญสำหรับการจัดเวลาให้งานกับชีวิตส่วนตัวผมไปด้วยกันได้ ผมขอยกเครดิตให้ทีมงานของผม เพราะถ้าผมทำงานทุกอย่างคนเดียวคงเป็นไปไม่ได้ครับ ผมโชคดีที่ได้ทีมซึ่งพวกเราค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวและเรียนรู้การทำงานของกันและกันมาตั้งแต่ช่วงโควิด ทำให้เรารู้ว่าใครทำอะไรได้และทำได้ดีในหน้าที่ไหน นั่นทำให้ทุกงานในทุกบทบาทของผมง่ายขึ้น แต่ยังมีคุณภาพได้อย่างที่ตั้งใจไว้” 

บวก x บวก = บวก²

“แรงบันดาลใจสำหรับผมคือการได้อยู่ท่ามกลางคนที่มีพลังบวก เวลาผมได้อยู่ใกล้ๆ หรือได้เห็นว่าพวกเขาทำอะไร คิดอย่างไร ถึงได้ประสบความสำเร็จและสามารถส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับผู้คนได้ นั่นเป็นเสมือนแรงกระตุ้นให้กับตัวเอง แต่ผมไม่ได้เฝ้ามองเฉยๆ หากมีโอกาสผมจะพยายามหาช่องทางเพื่อไปพบ พูดคุย ไปขอความรู้อะไรแบบนั้น ซึ่งในแต่ละด้านผมจะมีคนที่เป็นต้นแบบ สำหรับเรื่องงาน คนที่มีอิทธิพลกับผมมากคนหนึ่งคือ พี่เวย์ (วาที วิเชียรนิตย์) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ving ผมเห็นเขาตั้งแต่แบรนด์รองเท้า Ving ยังระดมทุนอยู่ใน crowdfunding อยู่เลย พี่เวย์เรียกว่าเจอปัญหาเรื่องเงินทุนตั้งแต่เริ่มต้น แต่เขาก็สามารถหาทางระดมทุนมาเพื่อสร้างแบรนด์ที่เขารักแบบไม่ยอมแพ้ คิดหาวิธีการแก้ปัญหาทั้งเรื่องสินค้าและการบริหาร แม้สุดท้ายจะต้องทิ้งงานโปรแกรมเมอร์เงินเดือนสูงมากออกมาลุยเดี่ยวกับ Ving แต่เพราะเขามุ่งมั่น ผลคือ Ving กลายเป็นที่แบรนด์ที่คนรู้จักไปทั่วประเทศแล้ว ผมได้พี่เวย์เป็นแบบอย่างในแง่ของมาตรฐานในการทำงาน ผมนับถือเขามากๆ ประมาณว่า พี่ทำอะไรของพี่เนี่ย ทำไมถึงทำได้มากมายขนาดนี้ (ยิ้ม)”

จงกล้าฝันและบ้าพอที่จะลงมือทำ

“จะว่าไป ความฝันของผมเยอะอยู่เหมือนกันนะครับ (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีรึเปล่าแต่ถ้าผมอยากรู้หรืออยากทำอะไร ผมจะเอาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น ไปศึกษาเรื่องนั้นแบบจริงๆ จังๆ เรียกว่าไปคลุกคลีอยู่ในวงการนั้นเลยว่าเขาทำอะไรกัน เราจะได้เพิ่มด็อทความรู้ให้ตัวเอง เหมือนสร้างอนาคตให้กับฝันตัวเองอะไรทำนองนั้น

“ถ้าในแง่ของการเป็นแพทย์ ผมวางแผนจะทำ e-clinique ซึ่งเป็นคลินิกออนไลน์โฟกัสเรื่องการดูแลสุขภาพให้กับผู้คนผ่านระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ถ้าเป็นเรื่องของธุรกิจ นอกจากคลินิกด้านความงามที่เข้าไปดูแลโดยตรงแล้ว ผมยังมีร้านขายอุปกรณ์เดินป่าที่ชื่อว่า The Puffine House ที่ผมและพาร์ทเนอร์ดีไซน์โปรดักท์ต่างๆ ขึ้นเอง ซึ่งพวกเราแพลนจะออกแบบโปรดักท์แคมปิ้งภายใต้แบรนด์ตัวเองให้มากขึ้นและอยากให้คนไทยได้รู้จักแบรนด์ของพวกเรามากขึ้นด้วย ส่วนเพจ หมอๆ ตะลุยโลก ผมได้ต่อยอดไปสู่บริษัทนำเที่ยว ซึ่งผมก็อยากทำหลายๆ อย่าง เช่น จะทำทริปแบบไหนให้ลูกค้าดี หรือจะเปิดเส้นทางใหม่เพิ่มดีไหม 

“ถ้าถามไปถึงความสุข ผมแบ่งความสุขตัวเองเป็น 2 อย่าง หนึ่งคือสุขที่ปลอดจากโรค สุขที่รู้สึกว่าตัวเองสุขภาพแข็งแรง อย่างตอนนี้ผมไปตรวจอายุ Metabolic Age (อายุการเผาผลาญ) ปัจจุบันผมอายุ 35 ผมตรวจและพบว่าร่างกายเราเผาผลาญเท่ากับคนอายุ 18 หรือไปตรวจค่า VO2 Max ที่เป็นค่าพลังชีวิตของร่างกายก็อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งหากวันหนึ่งร่างกายของผมได้รับความกระทบกระเทือนหนักๆ ผมน่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ผมรู้สึกว่าช่วงเวลานี้ ผมแข็งแรงกว่าวัยใดๆ ที่ผ่านมา พอร่างกายผมแข็งแรง คล้ายกับว่าผมสามารถเอ็นจอยกับชีวิตได้ดีมากขึ้น อย่างน้อยก็ไม่น่าจะตายด้วยโรคเรื้อรังอะไรในระยะเวลาอันสั้น อาจจะได้แก่ตายประมาณนั้นมั้งครับ (ยิ้ม) 

“สุขที่สองคือสุขทางงาน ผมโชคดีที่ได้ทำงานที่ชอบ ทั้งการเป็นหมอ แถมยังได้ทำเรื่องท่องเที่ยวด้วย ก่อนหน้านี้ผมอยากเป็นนักการทูตเพราะชอบเดินทาง แต่ผมไม่ได้เป็นเพราะมาเรียนหมอเสียก่อน แต่สุดท้ายผมยังสามารถนำงานที่เกี่ยวกับการเดินทางมาผสมผสานกับวิชาชีพแพทย์ได้ แล้วยังสนุกกับทั้งสองบทบาทนี้ไปพร้อมๆ กันได้ด้วย หรือตอนนี้ที่ผมสนใจเรื่อง Preventive Medicine เรื่องโภชนาการ การดูแลสุขภาพต่างๆ พอผมเห็นคนที่ผมดูแลมีสุขภาพดี ผมก็มีความสุข เรื่องของอุปกรณ์เดินทาง ผมเห็นคนมาเลือกซื้ออุปกรณ์เดินทาง นำอุปกรณ์เดินทางที่ผมทำไปใช้ ผมก็มีความสุข เวลาได้เห็นคนนำสิ่งที่เราคิดและทำไปใช้และปฏิบัติจนส่งผลดีต่อชีวิตพวกเขา นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในการทำอะไรดีๆ ต่อคนอื่นมากเลยครับ” 

ติดตามคุณหมอโจ้ นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค ได้ที่
www.worldwantswandering.com
www.hackyourhealth.co
www.thepuffinhouse.com

ภาพ: ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

Share :
go to top