ปล่อยภูมิแพ้ให้เรื้อรัง ระวังเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ

Health / Others

มลพิษทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันนี้ทำให้หลายคนเกิดอาการ ‘ภูมิแพ้กำเริบ’ กันไปเป็นแถบๆ โดยอาการดังกล่าวไม่เพียงส่งผลให้คุณจามวันละเป็นสิบรอบและน้ำมูกยืดน้ำมูกไหลเท่านั้น แต่หากคุณเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง อีกอวัยวะหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบไปด้วยก็คือ หู 

หู คอ จมูก … เพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กัน

ถ้าสังเกตแผนกต่างๆ ที่อยู่ในโรงพยาบาล คุณน่าจะเคยเห็นแผนกที่มีชื่อว่า ‘หู คอ จมูก’ (Ear Throat Nose Center) สาเหตุที่ทางการแพทย์รวมเอาอวัยวะทั้งสามนี้เข้าไว้ด้วยกัน เพราะหู คอ จมูก รวมถึงปาก เป็นช่องทางเดินที่เชื่อมต่อกันได้ และหลายครั้งที่การเจ็บป่วยในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติในอีกอวัยวะตามมา

ในกรณีของภูมิแพ้หรือหวัดก็เช่นกัน หากมีอาการคัดจมูกนานๆ เข้า ก็อาจเกิดความระคายเคืองแก่ ‘ท่อยูสเตเชียน’ (Eustachian Tube) หรือ ท่อปรับแรงดันหู ที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก และมีหน้าที่ปรับความดันของหูชั้นกลาง รวมทั้งระบายและหมุนเวียนอากาศในหูชั้นกลาง นอกจากนั้น ภูมิแพ้ยังอาจทำให้บริเวณท่อยูสเตเชียนเกิดอาการบวม ซึ่งจะไปปิดกั้นการระบายของเหลวออกจากหูชั้นกลาง เมื่อมีของเหลวสะสมอยู่บริเวณด้านหลังเยื่อแก้วหูมาก ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเติบโตของแบคทีเรียและไวรัสในช่องหู ทำให้เกิดการติดเชื้อจนกลายเป็น โรคหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) ตามมา

สังเกตอาการ หูชั้นกลางอักเสบ

อาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบที่พบมากในผู้ที่เป็นภูมิแพ้หรือหวัดเรื้อรัง มีดังนี้

  • หูอื้อ การได้ยินลดลง
  • เจ็บหู โดยอาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
  • รู้สึกเหมือนมีบางอย่างอุดตันอยู่ในหู รู้สึกแน่นในหู
  • มีเสียงดังในหู
  • อาจมีของเหลวไหลออกมาจากช่องหู
  • เมื่อแพทย์ส่องดูในช่องหูจะพบว่า เยื้อแก้วหูแดง มีอาการบวมในช่องหู
  • บางรายอาจมีการทรงตัวที่ผิดปกติ (แต่พบได้น้อยมาก)

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจพัฒนากลายเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือ หูน้ำหนวก (Chronic Otitis Media) ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) ฝีหลังหู (Subperiosteal Abscess) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) และ ฝีในสมอง (Brain Abscess) เป็นต้น

การรักษา

หากผู้ป่วยมีอาการหูชั้นกลางอักเสบเนื่องมาจากภูมิแพ้หรือหวัดเรื้อรัง การรักษาอันดับแรกคือ รักษาอาการภูมิแพ้หรือหวัดให้หายเสียก่อน โดยแพทย์อาจสั่งยาแก้แพ้ (Antihistamine) ร่วมกับยาลดบวม ยาหดหลอดเลือด (Oral Decongestant) และให้พ่นจมูกด้วยยาหดหลอดเลือด (Topical Decongestant) เพื่อให้เยื่อบุบริเวณรูเปิดของท่อยูสเตเชียนยุบตัวลง ของเหลวที่คั่งอยู่ภายในจะได้ระบายออกได้

แต่หากในบางรายที่ให้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณา การเจาะเยื่อแก้วหู (Myringotomy) เพื่อระบายของเหลวที่คั่งในหูชั้นกลางออกและลดอาการปวดหู

การป้องกันและดูแลสุขภาพช่องหู

หากอาการหูชั้นกลางอักเสบของคุณเกิดจากภูมิแพ้เรื้อรัง อันดับแรก คุณควรดูแลตัวเองให้ไกลห่างจากสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ เช่น หากคุณแพ้ฝุ่นหรือมลพิษ ก็ไม่ควรไปในสถานที่ที่มีฝุ่น งดกิจกรรมกลางแจ้งในบริเวณที่มีมลพิษหรือช่วงที่คุณภาพอากาศ (PM2.5) อยู่ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพ หรือหากจำเป็นต้องไปอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ควรใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันอนุภาคชนาดเล็กได้ ที่สำคัญ อย่าลืมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง 

นอกจากนั้น การดูแลสุขภาพหูอีกอย่างที่ผู้เป็นภูมิแพ้ต้องจำให้ขึ้นใจคือ ในระหว่างที่คุณมีอาการคัดจมูก ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ หรืออุดรูจมูกข้างใดข้างหนึ่งแล้วสั่งน้ำมูก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคในจมูกและคอหลุดเข้าไปในหูชั้นกลางได้ และหากคุณมีอาการหูอื้อ รู้สึกแน่นหู อย่าใช้ของมีคมหรือสิ่งของขนาดเล็ก เช่น ไม้จิ้มฟัน กิ๊บหนีบผม เข้าไปพยายามแคะขี้หูเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เยื่อแก้วหูได้รับบาดเจ็บ 

ทางที่ดีที่สุด หากมีอาการผิดปกติในช่องหู ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

ที่มา:
medicalnewstoday.com
my.clevelandclinic.org
rama.mahidol.ac.th
paolohospital.com

บทความที่เกี่ยวข้อง