วิธีการรับมือ​ เมื่ออัลไซเมอร์​ไม่ใช่แค่​ ‘ลืม’

Brain / Health

รู้หรือไม่ว่า โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) ถูกค้นพบตั้งแต่ พ.ศ. 2449 โดยจิตแพทย์​ชาวเยอรมันที่ชื่อ ​Alois Alzheimer โรคนี้จึงถูกตั้งชื่อตามผู้ค้นพบ โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหลักที่พบได้ถึง 80 % ของภาวะสมองเสื่อม ซึ่ง​คาดว่าใน​ พ.ศ.​ 2573 ประเทศไทย​จะมีผู้ป่วย​อัลไซเมอร์​ราว 1.2 ล้านคน​ ในขณะที่ผู้ป่วยแต่ละคน​จะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ​ 8 -​10 ปี​ ดังนั้นการเตรียมตัวรับมือกับโรคอัลไซเมอร์ในตอนนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม

อาการของโรคอัลไซเมอร์ 5 ระยะ

โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากการสะสม​ของเสียซึ่งเกิดจากเซลล์ประสาท ที่เรียกว่า​ beta​ – Amyloid Protein จับตัวกันเป็นก้อนจึงเกิดเป็น​​ Amyloid Plaque ซึ่งเป็นพิษสะสมอยู่ตามเซลล์ประสาทของผู้ป่วย​ ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าการเสื่อมตามธรรมชาติ​ของผู้สูงอายุที่มีความหลงลืมแบบทั่วไป ซึ่งโรคอัลไซเมอร์นั้นส่งผลต่อสมองหลายส่วน โดยเฉพาะสมองส่วนที่ควบคุมเกี่ยวกับความคิด​ ความทรงจำ ​และการใช้ภาษา​ ซึ่งสามารถแบ่งระยะของโรคอัลไซเมอร์ได้เป็น 5 ระยะ คือ

อาการในช่วงแรกๆ ของโรคอัลไซเมอร์นั้นจะเริ่มจากการสูญเสียความจำระยะสั้นก่อน เนื่องจากตัวโรคจะทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำใหม่ๆ เกิดความเสื่อมขึ้นก่อน เช่น เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นภายในหลักวัน หรือหลักชั่วโมง ผู้ป่วยจะจำไม่ได้ แต่จะยังจำเหตุการณ์ในอดีตระยะยาวได้ เช่น วันเกิดวันที่เท่าไหร่ บ้านเกิดอยู่ที่ไหน มีลูกกี่คน ยกเว้นในกรณีที่โรคอัลไซเมอร์เป็นรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ความจำระยะกลางและความจำระยะยาวจึงจะค่อยๆ สูญเสียตามมา เมื่ออาการของโรคดำเนินไประยะหนึ่งจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน​ เช่น ลืมวิธีการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ลืมวิธีการใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหาร ​ลืมวิธีการแต่งตัว การอาบน้ำ การขับถ่าย จึงพบได้บ่อยที่จะเห็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะสุดท้ายเป็นผู้ป่วยติดเตียง

วิธีรับมือเมื่ออัลไซเมอร์ไม่ใช่แค่ ‘ลืม’

นอกจากอาการหลงลืมที่เกิดขึ้นแล้ว โรคอัลไซเมอร์ยังส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอีกด้วย เช่น มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดก้าวร้าวได้ง่าย หวาดระแวง วิตกกังวล ไม่เข้าใจเหตุและผล ย้ำคิดย้ำทำ บางครั้งอาจดูเหมือนนิสัยเปลี่ยนไป เอาแต่ใจ จนทำให้ญาติที่ต้องดูแลรู้สึกท้อใจได้ แต่อยากให้เข้าใจว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจและไม่ได้อยากเป็นแบบนี้ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากสมองที่ผิดปกติ ทำให้ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การตัดสินใจ การใช้เหตุผลลดลง จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าว โดยปัญหาในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในแต่ละด้าน มีเทคนิคแนะนำดังนี้

เมื่อต้องเป็น ‘ผู้ดูแล’ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า​ เมื่อผู้ป่วยไม่มีความสามารถที่จะดูแลตนเองได้ การจัดหาผู้ดูแล​จึงเป็นสิ่งจำเป็น​  และ​สำคัญต่อชีวิตผู้ป่วยเป็นอันมาก​ เมื่อตกลงกันในครอบครัว​ได้แล้ว​ว่าจะให้ผู้ใดทำหน้าที่นี้​ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย​ต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้ เรื่อง​ราว ​และการดำเนินไปของโรค​ ตลอดจนพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ป่วย​ที่จะต้องพบเจอ​ จนเข้าใจได้ถูกต้องก่อนเป็นอันดับแรก

‘ผู้ดูแล’​ ไม่ว่าจะเป็น​คนในครอบครัว​ หรือ ผู้ที่จัดหามาทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย​ เมื่อทำงานไปได้สักระยะหนึ่ง​ ย่อมจะเกิดความเครียด​ ลำบากใจ​ จนเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้​ จึงต้องหาตัวช่วยในการผ่อนคลาย​ ทั้งผู้ป่วย​และ​ตัวผู้ดูแลเอง ตัวช่วยดังกล่าว​เรียกว่า​ ‘กิจกรรมบำบัด’ มีหลายอย่าง​ เช่น​   

  • กิจกรรมการออกกำลังกาย​  ด้วยท่าบริหารง่ายๆ​ ช้าๆ​ เบาๆ​ แม้ผู้ป่วยที่นั่งวีลแชร์ก็สามารถทำได้​ เมื่อผู้ดูแล​เป็นผู้นำออกกำลังกาย​ก็จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งตัวผู้ป่วยและตัวผู้ดูแลเองด้วย กิจกรรมนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์​จึงควรทำอย่างสมํ่าเสมอ​ อย่างน้อยสัปดาห์ละ​ 3 -​5 ครั้ง​ และต้องพึงระวังว่า​ท่าบริหารที่นำมาใช้​ต้องเป็นท่าช้าๆ แต่มั่นคง​ ไม่กระแทกข้อเข่า​หรือ​เสี่ยงต่อการหกล้ม​ ซึ่งการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด​คือ​ การพาผู้ป่วยที่เดินได้ไปเดินเล่นในสนามหญ้า
  • กิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูสมองได้ดี ​คือ​การพูดคุย​ ดูภาพที่สวยงาม​ ฟังเพลงที่มีดนตรีเบาๆ ถ้าสามารถ​หาภาพสถานที่​​หรือ​เพลง​ที่อยู่ในยุคสมัย​ของผู้ป่วยเมื่อครั้งหนุ่มสาวได้​จะช่วยรื้อฟื้น​และกระตุ้นความทรงจำได้เป็นอันมาก​ เมื่อหาภาพ​และเพลงได้แล้ว ​ผู้ดูแลควรชวนพูดคุย​และ​ตั้งคำถาม​ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่​หรือ​บทเพลง​ให้ผู้ป่วยได้อธิบายโต้ตอบ​ แต่ทั้งนี้​ ต้องไม่โมโห​หรือ​หัวเราะเมื่อผู้ป่วยตอบคำถามผิด​ ไม่บังคับให้ผู้ป่วยตอบคำถามที่จำไม่ได้​ ถ้าผู้ป่วยเริ่มหงุดหงิด​ควรพัก​หรือเปลี่ยนกิจกรรมทันที
  • การสาธิต​การดูแลตนเองให้กับผู้ป่วย​ เช่น​ การใช้ไม้เท้าก้าวเดินช้าๆ ระมัดระวังการหกล้ม​ การสวมใส่เสื้อผ้า​ การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน​ ควรสอนแบบสาธิตให้ดูเป็นขั้นตอน​ และให้ทำตามช้าๆ​ ใช้คำพูดสั้น​ กระชับ และชัดเจน​ เพื่อป้องกันความสับสน​ อาจต้องจับมือให้ทำตามและ​แนะนำไปด้วย​ แล้วต้องกลับมาทำซํ้า​หากผู้ป่วยยังทำไม่ได้

‘กำลังใจของผู้ดูแล’ สำคัญต่อการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้น​มีผลต่อสุขภาพกาย​และ​ใจ​ของผู้ดูแล​เป็นอย่างมาก​ หากเป็นบุตรหลาน​หรือ​ญาติ​จะยิ่งเกิดความรู้สึกท้อแท้​หมดหวัง​มากกว่าผู้ดูแลทั่วไป อยากให้ญาติผู้ที่ดูแลเข้าใจผู้ป่วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์ เมื่อเราเข้าใจอย่างนั้นได้จะช่วยให้ความรู้สึกไม่ดีต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วยลดลง​ อย่างไรก็ตามถึงแม้ญาติผู้ที่ดูแลจะเข้าใจอาการของผู้ป่วยเป็นอย่างดี แต่การดูแลผู้ป่วยตลอดเวลาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานก็ทำให้ผู้ดูแลรู้สึกหมดไฟได้ ดังนั้นจึงควรมีคนผลัดเปลี่ยนช่วยกันดูแลบ้าง เพื่อไม่ให้ความเหนื่อยล้าสะสมอยู่กับญาติผู้ดูแลเพียงคนเดียว รวมถึงตัวผู้ดูแลเองก็ต้องหาเวลาสำหรับการพักผ่อน ดูแลกายและใจของตัวเองด้วยเช่นกัน ขอให้ถือเสมือนว่าการทำหน้าที่ของท่านนี้เป็นการทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่

บทความที่เกี่ยวข้อง