‘ถามซ้ำๆ จำไม่ได้’ อาการแบบนี้แค่ขี้ลืมจริงหรือ?

Brain / Health

‘คนแก่ขี้ลืม’ คำนี้คงเป็นคำฮิตติดหู หากคุณอาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุในครอบครัว เพราะความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดผ่านทางคำพูดมาตลอดว่าคนแก่มักจะหลงๆ ลืมๆ เป็นเรื่องปกติ จนบางทีคุณอาจจะมีความเอ๊ะ! อยู่บ้างกับการหลงลืมของผู้สูงวัย เช่น การถูกถามคำถามเดิมซ้ำๆ ทั้งที่เพิ่งตอบไปไม่ถึงสามนาที บางทีคุณอาจจะพบว่ามีพัสดุชิ้นเดิมมาส่งติดๆ กันสองสามวัน หรือตื่นนอนมาคุณอาจพบว่าของที่เคยวางไว้บนโต๊ะอาหารในทุกๆ วันถูกย้ายไปวางไว้บนโต๊ะเขียนหนังสือ เป็นต้น หากคุณเริ่มมีความเอ๊ะ! กับพฤติกรรมเหล่านี้ของคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้สูงอายุในบ้านแล้วละก็ ร่วมคลายความสงสัยกับ พญ. อาทิตา ชูหลำ อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กันได้ที่นี่ค่ะ

‘ถามซ้ำๆ จำไม่ได้’ แบบไหนเรียกสมองเสื่อม

ก่อนอื่นหมอขอทำความเข้าใจเรื่องโรคสมองเสื่อมก่อนค่ะ ‘ภาวะสมองเสื่อม’ เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอยหรือบกพร่องลงจากพื้นฐานเดิมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนรู้และความจำ การตัดสินใจ การวางแผน การใช้ภาษาสื่อสาร สมาธิหรือความใส่ใจ การรับรู้ทิศทางรูปร่าง รวมถึงความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องรอบตัวและการเข้าสังคม โดยการบกพร่องดังกล่าวจะต้องส่งผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม และต้องไม่อยู่ในภาวะเพ้อสับสนจากสาเหตุอื่น รวมถึงไม่มีภาวะซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชรุนแรงในขณะวินิจฉัย 

ภาวะสมองเสื่อมอาจมีได้หลายสาเหตุ ‘โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์’ เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมและเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด  ซึ่งอาการสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์นั้นจะมีอาการเด่นในการทำงานของสมองที่บกพร่องในด้านการเรียนรู้และความจำ ผู้ป่วยอาจมีอาการถามซ้ำๆ พูดซ้ำๆ และจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เป็นอาการนำในระยะแรกๆของโรค จากนั้นเมื่อโรคเป็นมากขึ้นก็อาจจะมีความบกพร่องในด้านอื่นๆ ตามมาด้วย หากผู้สูงอายุในครอบครัวเริ่มมีความถดถอยจากพื้นฐานเดิมในด้านความจำและการตัดสินใจจนส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยตนเอง อาจเข้าข่ายกลุ่มอาการที่สงสัยภาวะสมองเสื่อม หมอแนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมต่อไป 

‘อัลไซเมอร์’ มากกว่าแค่ขี้ลืม

ระยะเวลาดำเนินโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มีความหลายหลายมากตั้งแต่ 3-11 ปี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 ปีหลังจากวินิจฉัยโรค การดำเนินโรคอาจเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับโรคร่วมและพื้นฐานทางด้านร่างกายและการดูแลปฏิบัติตัวเพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน ซึ่งความสามารถในการทำงานของสมองจะถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยการดำเนินโรคในระยะนี้แบ่งเป็น

  • ระยะสมองเสื่อมเล็กน้อย

ผู้ป่วยอาจมีอาการถดถอยด้านความจำในส่วนของเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น พูดหรือถามซ้ำๆ แต่ยังพอจำเรื่องราวในอดีตได้ ทักษะอื่นๆ อาจบกพร่องลงเล็กน้อย ยังพอช่วยเหลือตัวเองง่ายๆ ได้บ้าง

  • ระยะสมองเสื่อมปานกลาง 

ผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียความทรงจำมากขึ้น และสูญเสียทักษะด้านอื่นๆ อย่างชัดเจน อาจเริ่มมีปัญหาหลงทิศทาง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก นึกไม่ออก และเริ่มมีปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมมากขึ้น รวมไปถึงการช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงอยู่ในภาวะพึ่งพิงต้องมีผู้ช่วยเหลือเกือบทุกอย่าง

  • ระยะสมองเสื่อมรุนแรง 

ผู้ป่วยจะเสียความทรงจำอย่างมาก อาจจำลูกหลานคนใกล้ชิดไม่ได้ รวมถึงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ต้องมีคนดูแลตลอดเวลา อารมณ์และพฤติกรรมแย่ลง เป็นได้ทั้งก้าวร้าวรุนแรงหรือนิ่งเฉยไม่สนใจสิ่งรอบตัว การเคลื่อนไหวแย่ลงจนอาจมีภาวะติดเตียงในที่สุด

ทำอย่างไร? หากเป็น ‘อัลไซเมอร์’

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานการรักษาโรคให้หายขาดหรือชะลอการดำเนินโรค การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการดูแลรักษาตามอาการ เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน เข้าสังคมได้มากและนานที่สุดโดยแบ่งเป็น

การรักษาโดยไม่ใช้ยา (Non-pharmacological Management)

การรักษาด้วยวิธีนี้มีอยู่หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับภาวะความรุนแรงของโรคและขีดความสามารถในการเรียนรู้ของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมตามระยะของโรค เช่น

  • การดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันและการฝึกทักษะการเข้าสังคม ให้ผู้ป่วยได้ร่วมดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันของตนเอง โดยมีผู้ดูแลคอยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือตามขีดความสามารถของผู้ป่วย
  • การฟื้นฟูด้านกายภาพ อาจจัดการปรับอุปกรณ์ให้ง่ายต่อการใช้งานหรือปรับกิจกรรมให้เรียบง่ายและปลอดภัย รวมไปถึงการฝึกกระตุ้นกิจกรรมการเคลื่อนไหวจะทำให้ผู้ป่วยได้ฝึกสมรรถภาพทางกายภาพได้ดียิ่งขึ้น
  • การดูแลด้านพฤติกรรมและจิตบำบัด โดยการให้ความรู้แก่ผู้ดูแลเกี่ยวกับโรคและอาการทางด้านพฤติกรรมของผู้ป่วย ทำให้ผู้ดูแลมีความเข้าใจผู้ป่วย ลดความตึงเครียด และมีวิธีการดูแลได้อย่างเหมาะสม เช่น การเบี่ยงเบนความสนในผู้ป่วยออกจากเรื่องที่กำลังหงุดหงิดหรือโมโห การเสริมสร้างด้านอารมณ์ด้วยดนตรีบำบัด เป็นต้น
  • กิจกรรมส่งเสริมการกระตุ้นความสามารถในการรับรู้และความเข้าใจ เช่น การเล่นเกมส์ การทำกิจกรรมกลุ่ม การต่อภาพใบ้ภาพ 

ทั้งนี้กิจกรรมต่างๆ ต้องเหมาะสมกับสภาพร่างกายและความสามารถที่ผู้ป่วยพอทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดดันซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมต่อต้านหรือมีอารมณ์ที่รุนแรงตามมาเมื่อไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้

การรักษาด้วยยา (Pharmacological Management)

การรักษาด้วยยาที่ใช้บ่อยในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก

  1. ยาที่ใช้รักษาตามอาการด้านการรับรู้และความเข้าใจ ได้แก่ยากลุ่มที่ยับยั้งการทำลายสารสื่อประสาทในสมองให้ทำงานได้มากขึ้น (Acetylcholine Esterase Inhibitor) เช่นยา Donepezil, Galantamine, Rivastigmine เป็นต้น และยากลุ่ม NMDA Receptor Antagonist เช่น Memantine ทำให้ glutamate ไม่สามารถจับกับ receptor ได้ทำให้ลดการเกิดพิษต่อเซลล์ประสาท 
  2. ยาที่ใช้รักษาตามอาการทางจิตและพฤติกรรม เนื่องจากผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มักมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงระยะใดระยะหนึ่งของโรค ทำให้เป็นอุปสรรคในการดูแลและการเข้าสังคม ซึ่งอาจต้องใช้ยาร่วมรักษา เช่น ยาต้านเศร้า ยาต้านอาการทางจิตประสาท ยาลดความกระวนกระวายและอาการวิตกกังวล ยาปรับการนอน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าอาการขี้ลืมที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุนั้น ไม่ใช่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์เสมอไป หากผู้สูงวัยยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ แต่…หากมีอาการหลงลืมรวมถึงความสามารถในการเรียนรู้และความเข้าใจนั้นลดลงกว่าที่เคยทำได้ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตชีวิตประจำวันแล้ว หมอแนะนำให้พาไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์ หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะสามารถช่วยเพิ่มระยะเวลาการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

บทความที่เกี่ยวข้อง