เมื่อ ‘ข้อสะโพกเสื่อม’ แต่ไม่อยาก ‘ผ่าตัด’ ได้จริงหรือ?

Bone & Muscle / Health

หากคุณเป็นคนที่มีอายุในช่วง 40-55 ปี หรือที่ถูกเรียกว่าเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Gen-X) ในปัจจุบัน คงต้องยอมรับว่าคุณอยู่ในวัยที่ต้องดูแลทั้งบุตรหลานและผู้สูงอายุในครอบครัว ช่วงวัยนี้คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการดูแลสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยชรากันแล้ว และการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะความชรานั้นมักตามมาด้วยโรคต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่องแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรค หรือแม้กระทั่งโรคที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายเอง 

เช่นเดียวกันกับ ‘เข็ม’ ผู้จัดการสาวฝ่ายการตลาดวัย 45 ปี ซึ่งต้องดูแลลูกชายวัย 6 ขวบและคุณพ่อซึ่งมีอายุ 70 ปีแล้ว สามเดือนก่อนคุณพ่อของเข็มบ่นว่าปวดสะโพกมาก พอขยับก็เจ็บจนนั่งแทบไม่ได้ เข็มจึงพาคุณพ่อไปตรวจ คุณหมอสรุปว่าคุณพ่อเป็น “ข้อสะโพกเสื่อม” และบอกว่าถ้าต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัด แต่คุณพ่อกลัวการผ่าตัดมาก ทุกวันนี้เวลาปวดก็อาศัยทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ ทำให้เข็มมีความกังวลและมีคำถามค้างคาใจเกี่ยวกับการรักษาของคุณพ่อเป็นอย่างมาก เชื่อว่าปัญหาที่เข็มกำลังเผชิญเกี่ยวกับการไม่ยอมเข้ารับการผ่าตัดของคุณพ่อ น่าจะเป็นปัญหาคลาสสิคที่หลายๆ บ้านอาจต้องเผชิญและคงจะมีคำถามคาใจเช่นเดียวกันกับเข็ม หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ไปติดตามเรื่องราวของเข็มเพื่อนำมาปรับใช้กับการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวกันเลยดีกว่า

“ข้อสะโพกเสื่อม” แต่…ไม่อยาก “ผ่าตัด”

โดยปกติแล้วข้อสะโพกเสื่อมนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ 

  1. ข้อสะโพกเสื่อมที่ไม่พบสาเหตุแน่ชัด ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ
  2. ข้อสะโพกเสื่อมที่มีสาเหตุนำมาก่อน เช่น เบ้าสะโพกผิดปกติแต่กำเนิด เคยได้รับอุบัติเหตุ หรือข้ออักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

ในการรักษานั้นก็มีความแตกต่างกันในแต่ละระยะที่คนไข้มาพบแพทย์ เนื่องจากข้อสะโพกเสื่อมนั้นมีหลายระดับความรุนแรง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในช่วงระยะไหนของโรค หากพบแพทย์ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นก็สามารถรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดก่อนได้ โดยจะเป็นการรักษาแบบใช้ยาร่วมกับแนะนำการปฏิบัติตัวไม่ให้ข้อสะโพกเสื่อมมากขึ้น รวมถึงการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินเพื่อไม่ให้ปวดเวลาเดินลงน้ำหนัก 

ซึ่งในกรณีคุณพ่อของคุณเข็มนั้น ไปพบแพทย์ในระยะที่มีอาการปวดมากแล้ว เมื่อขยับก็มีอาการเจ็บปวด หากไม่รักษาโดยการผ่าตัดก็อาจทำได้แค่ทุเลาอาการในช่วงที่ทานยาเท่านั้นและจะไม่สามารถเดินได้เหมือนปกติ จำเป็นต้องใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยในการเดิน สำหรับการทานยาต่อเนื่องเพื่อบรรเทาอาการปวดนั้น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ขึ้นอยู่กับประเภทของยาที่ใช้ เช่น หากใช้ยากลุ่มลดการปวดอักเสบ (NSAIDs) ก็อาจทำให้เกิดอาการระคายกระเพาะอาหาร หรือทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้ จึงควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง และหากไม่ทำการรักษาโดยการผ่าตัด ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้ข้อเสื่อมมากขึ้น อาจทำให้ขาข้างที่เสื่อมนั้นสั้นลง กล้ามเนื้อสะโพกลีบลง ถ้าเดินเองก็อาจจะมีอาการกะเผลก เดินแล้วตัวเอียงๆ เสี่ยงต่อการหกล้ม แต่ถ้าหากคุณพ่อปวดจนไม่สามารถนอนได้ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินซ้ำอีกครั้ง

“ข้อสะโพกเสื่อม” รักษาด้วยแพทย์ทางเลือกได้หรือไม่

การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมด้วยแพทย์ทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการฝังเข็มหรือการนวดแผนไทยนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าช่วยในการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมได้ ซึ่งการรักษาโดยแพทย์ทางเลือกส่วนใหญ่ได้ผลดีในกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ แต่มีข้อมูลงานวิจัยว่า การฝังเข็มช่วยลดอาการปวดในข้อเข่าเสื่อมได้บ้าง ซึ่งเป็นข้อต่อที่สามารถฝังเข็มได้ถึง ต่างจากข้อสะโพกที่อยู่ลึกและมีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล้อมรอบ การฝังเข็มจึงไม่ค่อยมีบทบาทในภาวะข้อสะโพกเสื่อมเท่าไหร่นัก

ท่าบริหาร…ชะลอการผ่าตัด “ข้อสะโพกเสื่อม”

สำหรับการออกกำลังกายหรือการบริหารข้อสะโพกเพื่อชะลออาการหรือชะลอการผ่าตัดนั้น สามารถทำได้หากอาการของข้อสะโพกเสื่อมนั้นยังมีอาการไม่มาก เช่นปวดเฉพาะตอนลงน้ำหนักแต่ยังขยับได้ไม่ปวดมากนัก ก็สามารถบริหารกล้ามเนื้อรอบสะโพกให้แข็งแรง โดยการยืนลงน้ำหนักขาข้างที่ดี แล้วกางขาข้างที่มีอาการค้างไว้ 5-10 วินาที ทำซ้ำ10-20 ครั้งต่อรอบ เป็นการฝึกเกร็งกล้ามเนื้อสะโพก โดยมือสองข้างอาจจับเก้าอี้ที่มั่นคงเพื่อป้องกันการล้ม แต่หากข้อสะโพกเสื่อมนั้นมีอาการมากแล้ว การบริหารกล้ามเนื้อก็ไม่ค่อยมีส่วนช่วยมากนัก เพราะคนไข้มักจะปวดจนไม่อยากขยับและกล้ามเนื้อก็มักจะลีบลงหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

เสี่ยงแค่ไหนกับการ “ผ่าตัดข้อสะโพกเสื่อม”

ปัจจุบันนี้การผ่าตัดข้อสะโพกเสื่อมที่ได้ผลการรักษาที่ดีคือ “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม” โดยการผ่าตัดเอากระดูกส่วนผิวของกระดูกอ่อนที่สึกกร่อนออกไปแล้วทดแทนด้วยข้อเทียม ก็จะทำให้ข้อสะโพกกลับมาขยับได้โดยไม่มีอาการปวด และยังสามารถแก้ไขเรื่องความยาวของขาที่สั้นลงไปได้ด้วย สำหรับบางคนที่กังวลเรื่องของความเสี่ยงในการผ่าตัดนั้น จริงๆ แล้วความเสี่ยงในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของแต่ละบุคคลด้วย โดยทั่วไปก็จะมีการเสียเลือดระหว่างผ่าตัด แต่ก็จะมีการเตรียมจองเลือดไว้ก่อนทำการผ่าตัดเพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉินอยู่แล้ว ส่วนความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ซึ่งเป็นส่วนน้อยมาก เช่น การบาดเจ็บเส้นประสาทบริเวณที่ผ่าตัด, กระดูกร้าวระหว่างผ่าตัด, ลิ่มเลือดไปอุดตันที่ปอด เป็นต้น ในความเป็นจริงแล้วการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกนั้นจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องปวดเวลาที่ขยับหรือทำการเดิน แต่ก็มีข้อควรระวังในบางท่าทางหลังผ่าตัด เช่น การนั่งไขว่ห้างที่อาจเสี่ยงต่อการหลุดของข้อสะโพกเทียมได้เช่นกัน 

จะเห็นได้ว่าข้อสะโพกเสื่อมนั้น หากไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการก็อาจจะสามารถใช้วิธีการรักษาโดยไม่ต้องทำการผ่าตัดได้ แต่หากจำเป็นต้องทำการผ่าตัดจริงๆ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันนั้นพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ได้น่ากลัวเหมือนในอดีต สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมนั้น นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังจะไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำอีกด้วยเพราะข้อต่อเดิมถูกทดแทนด้วยข้อเทียมไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามตัวข้อเทียมที่ใส่เข้าไปในร่างกายก็มีอายุการใช้งานเช่นกัน ซึ่งการผ่าตัดในผู้ป่วยสูงอายุที่มาติดตามการรักษานั้นอายุการใช้งานข้อเทียมโดยเฉลี่ยประมาณสิบปีขึ้นไป เช่นนี้แล้วอย่าลืมว่า “รู้เร็ว รักษาไว หายง่ายกว่า” หากพบความผิดปกติแล้วรีบไปพบแพทย์กันนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง