รับมืออย่างไร? หากคนในครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์

โรคทั่วไปส่วนใหญ่ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมักก่อให้เกิดความทุกข์กับผู้ป่วยเป็นหลัก แต่สำหรับโรคอัลไซเมอร์นั้นอาจแตกต่างออกไป เนื่องจากความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมักกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยและคนในครอบครัว ซึ่งการดูแลผู้ป่วยสำคัญที่สุดคือ ความรักและความเข้าใจจากครอบครัว ดังนั้นผู้ดูแลผู้ป่วยอาจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค อาการที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละระยะของโรค รวมถึงหลักการดูแลรักษาในเบื้องต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัว ปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับสภาพครอบครัวและสภาพผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป ทั้งนี้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยที่ไม่ส่งผลให้ผู้ดูแลมีภาวะตึงเครียดในการดูแลมากเกินไป

เมื่อผู้สูงวัยไม่ยอมรับการรักษา

การสื่อสารกับคนในครอบครัวนั้นขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ภายในครอบครัวซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติยังสนับสนุนให้ทุกคนในครอบครัวได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงร่วมกันของตัวโรคที่ผู้ป่วยเป็น ตั้งแต่อาการของผู้ป่วยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีความถดถอยลงจากพื้นฐานเดิม การวินิจฉัยโรค การดำเนินโรค และแนวทางการรักษาที่เป็นไปได้ เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมวางแผนการดูแลผู้ป่วยร่วมกันในระยะยาว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยและผู้ดูแลเอง 

การสื่อสารให้สมาชิกในครอบครัวหรือตัวผู้ป่วยเองยอมรับเพื่อเข้ารับการประเมินรักษา อาจต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการเข้ารับการประเมินว่า อาการที่เกิดขึ้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากได้รับการคัดกรองหรือการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกวิธีอาจช่วยป้องกันแก้ไขสาเหตุอื่นที่สามารถรักษาได้ออกไป และหากเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ก็ยังมีวิธีการรักษาตามอาการที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยข้อมูลในปัจจุบันพบว่า การเริ่มต้นรักษาเร็วจะให้ผลดีกว่าการรักษาช้า เพื่อช่วยเพิ่มระยะเวลาคงสภาพการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้นานที่สุด

ข้อควรรู้! เมื่อต้องดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์แต่ละคนมีความต้องการความช่วยเหลือหรือสนับสนุนที่ไม่เหมือนกัน แล้วแต่อาการและระยะความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปผู้ดูแลควรทำความเข้าใจเรื่องโรคสมองเสื่อม รวมทั้งอาการแต่ละระยะที่อาจเกิดขึ้น และยอมรับขีดจำกัดความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ของผู้ป่วย ผู้ดูแลจึงควรเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของตัวเอง เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และไม่ทำให้ตัวผู้ดูแลมีความเหนื่อยล้าทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจนส่งผลกระทบต่อการดูการดูแลตัวเองและการดูแลผู้ป่วย 

ปัญหาหลักๆที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อมอัลไซเมอร์แบ่งออกเป็น

  • ปัญหาทางด้านความจำ ความเข้าใจที่ผู้ป่วยจะมีความถดถอยลง เช่น ความจำที่แย่ลง ลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ถามคำถามเดิมซ้ำๆ ผู้ดูแลควรทำความเข้าใจว่า อาการดังกล่าวเป็นอาการที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าตนเองลืมเลยทำให้มีอาการพูดซ้ำถามซ้ำ หรือคิดว่าสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเนื่องจากจำไม่ได้ เมื่อผู้ดูแลเข้าใจจะทำให้ไม่เกิดความหงุดหงิดและเกิดอารมณ์รำคาญ หรือเกิดการโต้เถียงกันในหัวข้อที่ผู้ป่วยลืม การรับมือในเบื้องต้นอาจช่วยฟื้นฟูความจำให้ผู้ป่วยด้วยการให้คำใบ้เพื่อให้ผู้ป่วยฝึกการระลึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือหากในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นอาจจะไม่สามารถระลึกได้แม้ให้คำใบ้ ควรใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจไปคุยเรื่องอื่นเพื่อให้ผู้ป่วยไม่วนเวียนอยู่กับคำถามเดิม ๆ เพื่อลดการเกิดอารมณ์หงุดหงิดต่อกันได้ อาจมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันระหว่างผู้ดูแลและผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นความสามารถในการรับรู้และความเข้าใจของผู้ป่วย เช่น การเล่นเกม การดูภาพและเล่าเรื่องในอดีต หรือการทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยเคยชอบและยังพอทำได้ร่วมกัน
  • ปัญหาเรื่องความถดถอยในการทำกิจวัตรประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาวะพึ่งพิงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ป่วยอาจลืมขั้นตอนการทำและไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นได้ด้วยตนเอง เช่น ลืมขั้นตอนการอาบน้ำสระผม ทำให้อาบน้ำไม่สะอาด หรืออาจไม่อยากอาบน้ำ การรับมือในระยะแรกอาจต้องสังเกตพฤติกรรมผู้ป่วยแต่ละรายว่ายังมีความสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ควรให้ผู้ป่วยได้ร่วมดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันของตนเอง โดยมีผู้ดูแลคอยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือตามขีดความสามารถของผู้ป่วย รวมไปถึงการจัดสิ่งแวดล้อมให้อำนวยความสะดวกง่ายต่อการใช้งาน
  • ปัญหาเรื่องอารมณ์และพฤติกรรม เป็นปัญหาที่เจอบ่อยพบได้ทุกระยะของโรค ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ฉุนเฉียว ก้าวร้าว กระสับกระส่าย เห็นภาพหลอนหลงผิดได้ การเตรียมพร้อมรับมือควรหาสาเหตุที่อาจเป็นตัวกระตุ้นที่แก้ไขได้ เช่น ความเจ็บปวด ความไม่สุขสบายตัว นอกจากนี้อาจใช้การสื่อสารที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่น เช่น การสัมผัสที่อ่อนโยน การแสดงออกทางกายหรือน้ำเสียงที่นุ่มนวล รวมไปถึงการสื่อสารด้วยภาษาง่ายๆ ชัดเจน เพื่อลดการต่อต้านของผู้ป่วย อาจส่งเสริมกิจกรรมที่บำบัดทางด้านอารมณ์ เช่น การทำงานศิลปะและดนตรี และหากอาการรุนแรงอาจปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเรื่องการใช้ยาช่วยในระยะสั้นๆ เพื่อลดอาการที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยและคนรอบข้างได้

กิจกรรมสัมพันธ์ผู้ป่วยและผู้ดูแล

หมออยากให้ผู้ดูแลทุกคนเข้าใจว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สามารถทำได้ทุกกิจกรรมตามขีดความสามารถของผู้ป่วยเอง เป้าหมายโดยรวมคือ

  • การบริหารทางด้านกายภาพ เช่น การออกกำลังกาย ไทเก๊ก จี้กง หรือกิจกรรมเข้าจังหวะอย่าง การเต้นลีลาส การร้องเพลง การรำวง เป็นต้น 
  • การกระตุ้นความสามารถในการรับรู้และความเข้าใจของผู้ป่วย เช่น การเล่นเกม ต่อภาพ ใบ้คำ กระตุ้นการฝึกการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การช่วยกันจัดยาของตัวเองร่วมกับผู้ดูแล 
  • กิจกรรมส่งเสริมด้านอารมณ์และพฤติกรรมอย่างการทำงานศิลปะและดนตรี โดยเลือกพิจารณากิจกรรมง่ายๆ ที่อาจปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของแต่ละครอบครัวและความสามารถของผู้ป่วย 

กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ หากผู้ดูแลมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับผู้ป่วย ก็จะช่วยให้ความเพลิดเพลินและสานสัมพันธ์ต่อกันระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล ทำให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นและตัวผู้ดูแลเองก็ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป

ซัพพอร์ตจิตใจผู้ป่วยอย่างไรดี

อาการหลงลืมสามารถส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ของผู้ป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการช่วงแรกๆ ซึ่งผู้ป่วยอาจยังมีหน้าที่การงานที่ยังต้องเข้าสังคมทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง การดูแลจึงต้องเน้นความรักและความเข้าใจจากบุคคลรอบข้างและครอบครัวเป็นสำคัญ ผู้ดูแลอาจต้องมีวิธีในการสื่อสารด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่อ่อนโยน เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นและยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ให้กำลังใจในสิ่งที่ผู้ป่วยยังสามารถทำได้ดี รวมทั้งการหาตัวช่วยเพื่อให้ดำเนินกิจวัตรประจำวันยังสามารถทำได้ เช่น การจดบันทึกช่วยจำ การเขียนไดอารี หรือการฝึกพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้เกิดความถดถอยอย่างรวดเร็ว

โรคอัลไซเมอร์ ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มียารักษาโรคให้หายขาด แต่ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอย่างที่คิด หากครอบครัวมีความเข้าใจในตัวโรค และนำเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาที่ถูกต้องก็จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยที่ไม่ส่งผลให้ผู้ดูแลมีภาวะตึงเครียดในการดูแลผู้ป่วยมากเกินไปได้ ส่วนผู้ดูแลเองนั้นนอกจากจะดูแลผู้ป่วยแล้วก็ต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเอง เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่พร้อมจะดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่ทุกคนในครอบครัวมุ่งหวัง

Share :
go to top