‘การรับฟังด้วยหัวใจ’ ช่วยแบ่งเบาภาระทางใจ ป้องกันการสูญเสียจากการฆ่าตัวตาย

Care / Social Care

เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงที่ประเทศไทยของเรามีสถิติการพยายามฆ่าตัวตายมากถึง 50,000 คนต่อปี (ข้อมูลของปี 2561 จากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.) โดยสาเหตุของการพยายามฆ่าตัวตายนั้นมาจากปัญหาที่ทับซ้อนสะสมและหาทางออกไม่ได้ ตั้งแต่ ปัญหาเจ็บป่วยเรื้อรัง ปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาของผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยและไม่มีคนดูแล ปัญหาปากท้องที่มักนำไปสู่ความเครียดและกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด และเป็นจำนวนถึง 50% ของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเหล่านี้ ที่มีต้นตอมาจากโรคซึมเศร้า นอกจากนั้น ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตยังบอกอีกว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษา 1.5 ล้านคน ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่าน่าจะมีผู้ที่ประสบกับปัญหาโรคซึมศร้าอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้อง

จำนวนตัวเลขเหล่านี้แสดงถึงความเป็นไปได้อย่างสูงที่เราทุกคนจะล้วนมีคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนใกล้ชิดที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือสะสมปัญหาจนเกิดความเครียดเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนซับซ้อนและจำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟู แต่หนทางหนึ่งที่เราสามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ของพวกเขาได้คือ การรับฟัง 

ใช่แล้วค่ะ คุณอ่านไม่ผิดหรอกว่า เราสามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าและความเครียดของคนรอบข้างเราได้เพียงแค่ ‘รับฟัง’ พวกเขาเท่านั้น เพราะลองนึกดูสิว่าเวลาที่เรามีปัญหารุมเร้าหรือเกิดรู้สึกท้อแท้ในชีวิตขึ้นมา บางทีเราก็แค่อยากคุยกับใครสักคนที่เข้าใจเราหรือได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นในใจออกมา แล้วเมื่อเรามีใครสักคนที่รับฟัง แค่นั้นเอง เราก็มีแรงที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาและเดินหน้าต่อในชีวิตกันแล้ว 

แต่การรับฟังที่จะสามารถช่วยบรรเทาทุกข์ในใจได้จำเป็นต้องเป็นการรับฟังแบบ ‘การรับฟังอย่างตั้งใจ’ (Active listening) หรือคำแปลภาษาไทยจากสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยที่เราชอบมากที่สุดคือ ‘การรับฟังด้วยใจ’

การรับฟังอย่างตั้งใจ หรือ การรับฟังด้วยใจ  มีหลักสำคัญอยู่ 5 ข้อ

1. ตัดสิ่งรบกวนจากภายนอก 

อันดับแรก เมื่อผู้ที่กำลังมีปัญหาหรือว่าเผชิญกับภาวะซึมเศร้าเข้ามาพูดคุยกับคุณ คุณจำเป็นต้องทำให้เขารู้สึกว่าคุณพร้อมรับฟังเขา คุณมีเวลาให้เขาอย่างเต็มที่ และคุณสนใจปัญหาของเขา ดังนั้นระหว่างพูดคุย ไม่ควรให้ปัจจัยภายนอกเข้ามารบกวนบทสนทนา เช่น คุณควรปิดโทรศัพท์มือถือหรืออย่างน้อยก็ปิดเสียงและเอาโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ไว้ห่างตัว และอย่าให้ความคิดอื่นเข้ามารบกวนความคิดของคุณระหว่างที่สนทนา 

2. ใช้ภาษากายที่เหมาะสม

พยายามหลีกเลี่ยงการกอดอก เพราะท่าทางนี้คือภาษากายที่สื่อถึงการปิดกั้น และเราแนะนำให้คุณยิ้มตอบระหว่างที่รับฟังคู่สนทนา พยักหน้าเป็นครั้งคราวเพื่อแสดงว่าคุณกำลังตั้งใจฟังเขาจริงๆ นอกจากนั้นอีกภาษากายหนึ่งที่สื่อถึงความสนอกสนใจ คือ การนั่งโดยโน้มตัวไปข้างหน้าเข้าหาคู่สนทนา 

การสบตา (eye contact) เป็นอีกหนึ่งภาษากายที่สำคัญมากสำหรับการรับฟังด้วยใจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณควรสบตาหรือจ้องตาเขาตลอดเวลา เพราะอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติและอึดอัดขึ้นมาได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำช่วงเวลาการสบตาไว้ที่ 50-70% ของช่วงเวลาการสนทนาทั้งหมด หรือในทางปฏิบัติคือ สบตากับคู่สนทนา 4-5 วินาที ก่อนละสายตาไปมองที่อื่นแวบนึง แล้วค่อยกลับมาสบตาเขาอีกครั้ง

3. พูดทวนในสิ่งที่คู่สนทนาพูด

การพูดทวนเพื่อสรุปในสิ่งที่คู่สนทนาพูดกับคุณจะแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังรับฟังเขาอย่างตั้งใจจริงๆ ที่สำคัญอีกอย่าง การพูดทวนจะเป็นการเปิดโอกาสให้คุณมั่นใจว่าเข้าใจปัญหาของเขาได้ถูกต้อง หรือหากคุณเกิดความเข้าใจผิดในบางส่วน คู่สนทนาจะได้แก้ไขการสื่อสารได้ถูกต้อง

4. ใช้คำถามปลายเปิด 

แม้ว่าคุณจะกำลังรับบทผู้ฟังเป็นหลัก แต่คุณก็ควรถามคำถามคู่สนทนากลับไปบ้างเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณสนใจปัญหาของพวกเขาและอยากเป็นที่พึ่งให้เขาได้ระบายจริงๆ โดยคำถามที่คุณควรใช้คือ คำถามปลายเปิด เช่น คุณช่วยเล่าเรื่องนี้ให้ฟังอีกหน่อยได้ไหม? แล้วคุณคิดหรือว่ารู้สึกอย่างไร? คุณคิดว่าคุณควรจะทำอย่างไรเพื่อเดินหน้าต่อไป? จำไว้นะคะว่า การที่คุณจะสามารถคิดหาคำถามปลายเปิดเหล่านี้ได้ คุณต้องสนใจและอยากรู้ปัญหาของเขาจริงๆ ส่วนคำถามปลายปิดที่จะเปิดโอกาสให้มีคำตอบแค่ ใช่ หรือ ไม่ใช่ เท่านั้น ให้พยายามหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้บทสนทนาถึงทางตันได้ง่ายๆ

5. ไม่ตัดสิน

หลักการข้อนี้สำคัญมากนะคะ เพราะตราบใดก็ตามที่คุณวางตัวเป็นกลาง ไม่ตัดสินสิ่งที่เขากำลังเผชิญ สิ่งที่เขาคิดและทำ คุณก็จะได้รับความไว้วางใจจากเขา และคุณจะเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) ให้เขาได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจออกมา ท่องไว้ให้ขึ้นใจนะคะว่า อย่าตัดสิน อย่าวิพากษ์วิจารณ์ อย่าทำให้เขารู้สึกอับอาย โดยเฉพาะการพูดที่คุณคิดว่าจะเป็นการให้กำลังใจเขา อย่างเช่น “ฉันผ่านปัญหานี้มาแล้ว ถ้าฉันทำได้ เธอก็ต้องทำได้” เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังเอาตัวเองเป็นมาตรวัด โดยไม่สนใจปัญหาของเขาและไม่เข้าใจเลยว่าทุกคนบนโลกนี้ล้วนแตกต่างกัน

แน่นอนว่า การรับฟังโดยไม่ตัดสินนี้เป็นการกระทำที่ไม่ง่าย แต่คุณก็สามารถฝึกให้มีทักษะนี้มากขึ้นได้ โดยอันดับแรก เราแนะนำให้คุณหาโอกาสเรียนรู้เรื่องราวที่แตกต่างกันของผู้คนหลากหลายในสังคมอยู่เสมอ แค่นี้ คุณก็จะเริ่มเข้าใจคนอื่นๆ มากขึ้นแล้ว

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ที่กำลังมีปัญหาชีวิตรุมเร้า เผชิญกับภาวะซึมเศร้า หรืออยากฝึกฝนอบรมเป็นผู้รับฟังด้วยใจ (Active listener) เพื่อเป็นอาสาสมัครกับทางสมาคมฯ หรือว่านำทักษะดังกล่าวไปใช้ช่วยเหลือคนรอบข้าง เราอยากแนะนำให้คุณรู้จักกับสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย (The Samaritans of Thailand) ค่ะ

สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 โดย ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่เมื่อครั้งไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยาที่อังกฤษ ได้รู้จักกับสมาคมสะมาริตันส์ ที่ก่อตั้งโดยบาทหลวง Chad Varah จากโบสถ์ St.Stephen Walbrook เพื่อทำหน้าที่เป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ รับฟังปัญหาของคนที่มีทุกข์ทางใจ โดยเป้าหมายหลักของสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยคือ รับฟังเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายและเป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้ที่กำลังพบกับความไม่สบายใจ 

ปัจจุบัน สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยมีสถานที่ตั้งอยู่ทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ส่วนสายด่วนคลายทุกข์เปิดบริการทุกวันสำหรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น. ที่เบอร์โทร 02-113-6789

สำหรับเพื่อนพูดคุยที่ประจำการบนสายด่วนของสมาคมฯ นั้น ล้วนเป็นอาสาสมัครจากหลากหลายอาชีพ และทางสมาคมฯ ก็เปิดการอบรมและรับอาสาสมัครอยู่เป็นประจำทุกปี ดังนั้นใครที่อยากจะฝึกฝนอบรมทักษะการฟังด้วยหัวใจเพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของผู้อื่น เราแนะนำให้ติดตามข่าวสารจากเพจ The Samaritans of Thailand ของทางสมาคมนะคะ

แต่ไม่ว่าคุณจะอยากสมัครเป็นอาสาสมัครของสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยหรือไม่ เราก็อยากให้คุณทุกคนได้ฝึกฝนทักษะการรับฟังด้วยใจนี้ไว้นะคะ เพราะนอกจากคุณจะได้เป็นที่พึ่งทางใจให้คนรอบข้างในเวลาที่พวกเขาต้องการใครสักคนแล้ว เรายังเชื่อว่าทักษะการรับฟังด้วยใจนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบันที่เราทุกคนล้วนมีแนวโน้มจะสนใจแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เพราะอย่างน้อยๆ ช่วงเวลาที่คุณรับฟังผู้อื่นด้วยใจ คุณก็จะได้ละความสนใจจากตัวเองออกไปด้วย

ที่มา:
verywellmind.com
adaymagazine.com

บทความที่เกี่ยวข้อง