ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร กับ ‘เยือนเย็น’ วิสาหกิจที่สร้างวิถีชีวาภิบาลเพื่อการ ‘อยู่สบาย ตายสงบที่บ้าน’

Human / Social-Inspiration

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยซึ่งได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ถูกเอ่ยถึง เราเชื่อว่าใครหลายคนอาจจินตนาการไปถึงภาพของผู้ที่ต้องรอคอยความตาย แบบที่ไม่สามารถรับการดูแลหรือการรักษาใดๆ ได้อีก ทว่าในความเป็นจริง กลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวยังสามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่ โดยไม่ต้องทนต่อความเจ็บปวดหรืออาการที่อาจรบกวนชีวิตได้ทั้งที่โรคไม่หายก็ตาม

หากขยายความการดูแลแบบประคับประคองให้ฟังแบบย่อๆ ก็คือการดูแลที่ให้ความสำคัญไปกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ตั้งแต่การเริ่มเผชิญภาวะความเจ็บป่วยที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตตราบจนวาระสุดท้าย เพื่อลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่ ‘เยือนเย็น’ วิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งนี้ใช้ในการดูแลผู้ป่วยมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว  

หมออิศ – ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร และศาสตราจารย์ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการเยือนเย็น จะมาเล่าให้เราฟังถึงวิสาหกิจอันเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแห่งเดียวในประเทศไทยที่มุ่งขยายความเข้าใจและขับเคลื่อนเรื่อง ‘ตายดี’ ผ่านการดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วย ตลอดจนสมาชิกภายในครอบครัวสามารถเลือกการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งส่งพลังใจในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอย่างสุขสงบที่สุด 

สร้างความหวังที่ปลายทาง

หมออิศคือแพทย์ผู้มีดีกรีด้านกุมารเวชศาสตร์โรคเลือด จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ไปเรียนต่อ ณ สถาบันด้านการแพทย์อันดับต้นๆ ของโลกอย่างมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ และฝึกอบรมเป็นกุมารแพทย์ รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและมะเร็งเด็กอยู่ที่อเมริกาอยู่ 8 ปีเต็ม ก่อนจะเดินทางกลับมาทำงานเป็นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็งในเด็กและโรคเลือดในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จนถึงปัจจุบัน   

แน่นอนว่า การรักษาโรคมะเร็งในเด็กมายาวนานกว่า 15 ปี มีคนไข้เด็กจำนวนมากของคุณหมอได้รับการเยียวยาและรักษาจนหายดี แต่ท่ามกลางความสำเร็จของการรักษา ยังมีคนไข้อีกจำนวนไม่น้อยที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน แม้จะต้องผ่านเส้นทางการรักษาที่ทรหดและยาวนานก็ตาม นั่นจึงทำให้หมออิศตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นและพยายามค้นหาทางออกที่เหมาะสมและเป็นไปได้เพื่อคนไข้กลุ่มหลังของเขา 

“ตอนที่ผมกลับมาเมืองไทย ความตั้งใจคือการรักษามะเร็งในเด็กไทยให้ได้และมีคุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ พอทำงานมาได้ราว 10 ปี ผมพบความท้าทายอย่างหนึ่งที่ว่า แล้วคนไข้เด็กที่รักษาไม่หายล่ะ? นั่นเป็นความผิดหวังของทั้งผู้ปกครองและตัวผมเองด้วย นี่จึงเป็นโจทย์ยากสำหรับทุกคน ทั้งผู้ปกครองที่อยากให้ลูกๆ เขาหายแม้บางครั้งจะมีความหวังเพียงเล็กน้อยก็ยังดี แต่ในความจริงคนที่เจ็บตัวคือเด็กๆ ซึ่งเอาเข้าจริง พวกเขาไม่ได้สนใจเลยว่าฉันจะหายหรือไม่หาย จะตายหรือเปล่า เขาสนแต่ว่าฉันจะได้ไปเล่นไหม จะได้ไปโรงเรียนไหม จะได้ทานไอศกรีมไหม เราจึงเกิดคำถามว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นดีที่สุดจริงหรือเปล่า เพราะการรักษาที่ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุดจะจบลงด้วยการจากลาซึ่งเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ แต่ถามว่าทำไมต้องจบลงด้วยความผิดหวังด้วยล่ะ เราจบลงด้วยความสุขสมหวังไม่ได้เหรอ แม้จะเสียชีวิตแต่สมหวัง นั่นคือโจทย์ที่ผมต้องหาคำตอบ จนกระทั่งพบทางออกของเรื่องนี้กับคำถามเรียบง่ายว่า พวกเขาอยากใช้ชีวิตแบบไหน? เมื่อได้คำตอบ เราก็เข้าไปเติมเต็มคุณภาพชีวิตให้กับเขา” 

นี่จึงกลายเป็นที่มาของการก่อตั้ง ‘มูลนิธิสายธารแห่งความหวัง’ (Wishing Well Foundation) องค์กรที่ถูกบริหารอย่างอิสระ โดยมีหมออิศเป็นผู้ดูแลกิจการทุกอย่างภายใน เป็นตัวกลางสานฝันในสิ่งที่เด็กๆ ได้รับการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน สถานที่ แรงกาย หรืออะไรก็ตามที่สามารถช่วยสานฝันให้เด็กๆ ได้จากบรรดาอาสาสมัครและผู้สนับสนุนทั่วสารทิศ โดยมูลนิธิแห่งนี้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2546 แล้ว เพื่อให้กลายเป็นกุศโลบายที่จะทำให้ผู้คนหันมาสนใจเสียงของเด็กๆว่าพวกเขาฝันอยากจะทำอะไรและใช้ชีวิตแบบไหนในปลายทางชีวิต

“เราอยากชวนเด็กออกมานอกบริบทและวังวนของการรักษา โดยการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ตัดสินใจว่าอยากทำอะไรและอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขได้ ซึ่งเราเชียร์ให้ผู้ปกครองได้เติมเต็มสิ่งเหล่านั้นให้เขา กลายเป็นว่าเด็กๆ ได้พบความสุข ไม่ต้องเจ็บตัวจากการรักษาที่ไม่ได้ผล ได้อยู่กับโรคอย่างสันติ ถึงแม้ทุกอย่างจะจบลง แต่เป็นการจบลงแบบที่พวกเขาได้ทำครบแล้ว ได้มีความสุขระหว่างทาง ไม่เสียเวลาไปเจ็บตัวในโรงพยาบาลจนจากไป เมื่อเด็กๆ มีความสุข พ่อแม่ รวมทั้งตัวผมเองก็มีความสุขไปด้วย” 

หน่วยแพทย์ผู้ออกแบบวิถีชีวาภิบาล  

ในแต่ละปี มีผู้ป่วยมะเร็งเด็กอยู่ราว 1,000 คน โดยเด็กที่รักษาไม่หายมีจำนวนปีละ 500 คน ขณะที่มะเร็งในผู้ใหญ่มีจำนวนอยู่ที่ปีละ 130,000 คน และส่วนใหญ่เป็นมะเร็งชนิดที่รักษายากเสียด้วย คำถามเดิมจึงตามมาอีกครั้งว่า แล้วใครจะเป็นดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่รักษาไม่หายล่ะ? 

การก่อร่างวิสาหกิจเพื่อสังคมในนาม ‘เยือนเย็น’ จึงเกิดขึ้นในปี 2561 กับบทบาทของการเป็นหน่วยแพทย์ที่ใช้การดูแลแบบประคับประคองมาเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณถึงที่บ้านให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งและกลุ่มผู้สูงอายุ

“ต้องเข้าใจว่าบริบทในประเทศไทย แพทย์มีจำนวนน้อย ทำงานหนัก ดังนั้น แพทย์จึงไม่มีเวลามากพอที่จะมาคุยเรื่องชีวิตว่าคนไข้อยากใช้ชีวิตอย่างไร ขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าบรรดาคนไข้ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งเข้าใจสัจธรรมชีวิต และหลายๆ ท่านเขาได้ใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อเรานำเสนอว่ามีทางเลือกที่สามารถอยู่กับมะเร็งหรือโรคที่เป็นอยู่ได้อย่างสันติ สามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่ และมีความสุขอยู่ที่บ้านได้นะ คนไข้ส่วนหนึ่งจะเลือกว่าไม่ต้องยืดชีวิตของพวกเขาก็ได้ ซึ่งเราจะต้องสื่อสารกับเจ้าของชีวิตก่อนว่าพวกเขาต้องการอะไร ชีวิตแบบไหนที่เขามองหา และเราจะเชื่อมโยงความต้องการของคนไข้กับญาติ แต่การเลือกทางสายนี้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อเราได้คำตอบแล้วว่าคุณภาพชีวิตที่ดีในแบบที่เจ้าของชีวิตต้องการคืออะไร และครอบครัวพร้อมตอบรับกับสิ่งเหล่านั้นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการเปลี่ยนจากการที่พาพ่อแม่ไปโรงพยาบาลมาเป็นการเติมเต็มความสุขไปด้วยกันทั้งครอบครัวที่บ้าน ซึ่งผมว่าเป็นทางออกที่ยอดเยี่ยมนะ”

“นี่คืองานที่เยือนเย็นทำ งานที่จะไปช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนที่เป็นโรคซึ่งรักษายาก โดยมีชื่อเรียกภายหลังว่า ‘Palliative Care’ หรือ ‘การดูแลแบบประคับประคอง’ ซึ่งสำหรับผม เลือกใช้คำว่า ‘ชีวาภิบาล’ คำคำนี้คือทางเลือกที่คุณจะใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ การให้ความสำคัญไปกับคุณภาพชีวิต และให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่าถ้าคุณเป็นโรคมะเร็งหรือโรครักษายากในยุคนี้ คุณไม่ต้องกลัวความเจ็บปวดทรมาน เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดความทรมานทั้งหมดในการอยู่กับโรคและจากโลกใบนี้ไปอย่างสงบและสันติ”

ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) นั่นคือกำไรที่ได้มาจะไม่เข้ากระเป๋าใคร แต่จะใช้เพื่อดำเนินธุรกิจต่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยรายได้หลักของเยือนเย็นมาจากการสนับสนุนของผู้ที่มาใช้บริการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 5,000 บาทต่อหนึ่งการเยี่ยม 

“ผมถามตัวเองเหมือนกันว่าแล้วจะต้องเท่าไหร่ล่ะที่จะทำให้วิสาหกิจนี้อยู่ได้ เพราะเราเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร เราคิดแค่ให้เราอยู่ได้ มีงบประมาณที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็พอแล้ว แต่เมื่อทำงานจริงๆ คนไข้บางรายไม่สามารถจ่ายไหว แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะเราอยากทำให้อยู่แล้ว ดังนั้น เขามีเงินสนับสนุนเท่าไหร่ เราก็ยินดีรับเท่าที่เขามี ถ้าได้มาก เราก็ปันไปช่วยผู้ป่วยรายอื่นที่จ่ายไม่ไหว ฉะนั้น ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นการรับบริจาคไปเสียอย่างนั้น เยือนเย็นจะดูเพียงแค่ว่าให้อยู่ได้ อาจจะขาดทุนบ้างเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร พวกเรายินดีทำครับ (ยิ้ม)”

บนถนนสายขรุขระ

“การทำงานที่เกี่ยวข้องกับความตาย ความยากแรกคงเป็นการดีลกับอารมณ์ความรู้สึก ที่จริงๆ ถือเป็นเรื่องที่หนักเอาการอยู่เหมือนกัน หลายๆ คนจึงทำงานนี้ไม่ได้ด้วยเหตุนี้นี่แหละ แต่ก็มีคนที่ทำได้ สำหรับผมคงจะมีคุณสมบัติบางประการที่สามารถอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ได้อย่างเข้าใจ เพราะได้พิจารณาอย่างดีแล้วว่าทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมชาติ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของคน ผมเข้าใจอารมณ์ทุกอย่างและสามารถรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ คงเป็นประมาณว่า เพราะผมมีมุมมองความคิดแบบนี้จึงทำได้ จริงๆ การร้องไห้เสียใจเมื่อเห็นผู้คนจากไป ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร ผมเข้าใจได้ว่าคนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น ซึ่งเราก็เลือกทำงานอื่นที่มันเหมาะสมกับสภาวะทางจิตตัวเอง ผมไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนต้องทำงานนี้ได้

“เอาจริงๆ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากพอสมควร เพราะเยือนเย็นไม่ใช่บริการปกติที่โฆษณาไปแล้วมาไถ่ถามกันได้เลยว่า เธอจะมาทางนี้กับฉันใช่ไหม เพราะคนในสังคมมีหลากหลายความคิด ดังนั้น เราจึงต้องใช้เวลาไปกับพูดคุยและสื่อสารกันเยอะพอสมควร นี่จึงเป็นความยากที่สองกับการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ แล้วจะพีอาร์อย่างไรล่ะ ผมยอมรับว่าไม่ได้ทำเลย อาศัยการประชาสัมพันธ์ด้วยการบอกเล่าผ่านสื่อต่างๆ แบบนี้ และการแนะนำแบบปากต่อปากเท่านั้นเอง

“เราจะเห็นได้ว่าในระบบสาธารณสุขมักจะประเมินว่าเราทุกคนอยากยืดชีวิต แต่ไม่เสมอไปนะครับ เพราะมีผู้ป่วยบางรายเขาเลือกหนทางที่ไม่ต้องการทุกข์กับกระบวนการรักษา การที่เราอยากเข้าถึงและสนับสนุนในเส้นทางที่เขาเลือกตั้งแต่เริ่มต้น เพราะการได้คุยตั้งแต่แรก เราจะรู้ว่าคนไข้คิดอย่างไร พวกเขาเป็นนักสู้ ยอมทำทุกอย่าง หรือเป็นกลุ่มที่ขออยู่สบายตายสงบ ดังนั้น การที่มีโอกาสเข้าถึงผู้ป่วยก่อนที่เขาจะเป็นมากหรือก่อนที่เขาจะสื่อสารไม่ได้ ทำให้พวกเขารู้ว่ามีทางเลือกนี้อยู่นะ นั่นจะทำให้เราสามารถพูดคุยและร่วมวางแผนตามที่เจ้าของชีวิตต้องการได้ เหมือนเป็นการนำเสนอเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ชีวิตที่เหลือได้ตามที่ต้องการ เวลานี้เราจึงอยากให้คนรับรู้การมีอยู่ของเยือนเย็นมากขึ้น”

จากปีแรกที่เยือนเย็นมีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยราว 50 ราย ได้เพิ่มจำนวนเป็น 100 และกว่า 300 ราย ในปีที่ 2 และ 3 จนถึงเวลานี้ วิสาหกิจแห่งนี้มีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยกว่า 700 ชีวิตแล้ว ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงชลบุรี หัวหิน และประจวบคีรีขันธ์ โดยมีการวางแผนที่จะขยายเครือข่ายไปยังแพทย์ผู้ที่มีปรัชญาเดียวกันทั้งในเชียงใหม่ สัตหีบ ชลบุรี เพชรบุรี ในอนาคตด้วยเช่นกัน

‘พินัยกรรมชีวิต’ เพื่อการจากไปที่เราออกแบบได้เอง

“สำหรับผม เราทุุกคนควรจะคิดว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต เพราะถ้าเราเข้าใจชีวิตแล้วว่า ‘ที่จริงฉันก็พอแล้วนะ ถ้าฉันเป็นอะไรหนักหนาสาหัสขึ้นมา เช่น โรคหัวใจที่อาจเกิดอะไรขึ้นมาแบบกะทันหัน ฉันยอมรับได้ แพทย์ไม่ต้องแทรกแซงธรรมชาติ ไม่ต้องปั้มหัวใจแล้วนะ’ เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิในร่างของเจ้าของชีวิตที่ใครก็ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่าย เพราะนี่คือทางเลือกของเรา ซึ่งผมจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้ สำคัญที่สุดคือคุณเลือกเอง ไม่ใช่คนอื่นรอบตัวเลือก 

“แต่แน่นอนว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากของครอบครัวกับเจ้าของชีวิตที่ฝั่งหนึ่งจะบอกว่านี่ชีวิตฉัน ฉันอยากอยู่แค่นี้ แต่ครอบครัวบอกว่า ฉันอยากให้เธออยู่นานๆ ทุกครอบครัวไม่มีใครอยากที่จะปล่อยให้ญาติผู้ใหญ่ของเราจากไป ยังทำใจไม่ได้ สิ่งที่เราทำคือเราต้องสื่อสารกับเจ้าของชีวิตตอนที่เขาคุยได้เสียก่อนว่าเขาประสงค์อย่างไร และลูกๆ ต้องได้ฟังความประสงค์นั้น ผมจะถามทุกคนว่าเห็นด้วยไหม เราจะเคารพในสิ่งที่พ่อแม่เราต้องการไหม แล้วถ้ามีใครบางคนไม่เห็นด้วย เป็นใครสักคนซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าเขาคงไม่เห็นด้วยแน่นอนและอาจจะมาเปลี่ยนแผน ในกรณีแบบนี้ในวาระสุดท้าย ทางออกที่ผมนำเสนอคือผมจะบอกเจ้าของชีวิตให้เขียนหนังสือแสดงเจตนา (Living will) ไว้ว่าเราต้องการอะไรให้เป็นลายลักษณ์อักษร นั่นจะมีผลทางกฎหมายทันที สมมติเวลานั้นเกิดขึ้นจริงๆ แพทย์ที่ดูแลอยู่ไม่ว่าจะเป็นผมหรือเป็นใครก็แล้วแต่ จะต้องทำตามความประสงค์ของเจ้าของชีวิตโดยที่ไม่ต้องฟังเสียงใคร รวมถึงคนในครอบครัว เพราะกฎหมายระบุไว้อย่างนั้น นี่เป็นทางออกซึ่งเป็นตัวช่วยหนึ่งในการตัดสินใจ เมื่อมีเอกสาร เราจะไปบอกญาติทุกคนได้ ดังนั้น ห้ามบ่น ห้ามวิจารณ์ นี่เป็นสิ่งที่คนไข้หรือเจ้าของชีวิตเลือกแล้ว”

ความสุขบนความสุขของคนอื่น

“ผมเชื่อเสมอว่า ‘โอกาสมีมาเสมอ ถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อม’ นี่เป็นหลักการสำคัญในการทำงานและการดำเนินชีวิต โดยนิสัยผมเป็นพวกชอบทำอะไรนอกกรอบ จะให้เป็นหมอรักษาคนไข้ไปเรื่อยๆ เลยไม่ท้าทายเท่าไหร่ แต่ผมอยากทำอะไรที่สามารถตอบโจทย์คนไข้จริงๆ ได้ ต้องมีทางออกที่ดีกว่าวิธีปกติสิ ผมชอบโจทย์ยากๆ ชอบอะไรที่ไม่มีจำเจ ดังนั้น เป้าหมายของผมจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเวลา อย่างที่บอก ผมน่าจะเป็นคนทำงานตามโอกาสที่เรามองเห็นในขณะนั้นเสียมากกว่า อย่างเช่นงานที่ทำอยู่ได้ตอบโจทย์ปัญหาเรื่องผู้สูงอายุ เป็นการดีลกับความตาย เป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการแต่ยังไม่มีใครกล้าทำ เหมือนการปฏิวัติวงการสาธารณสุขโดยวิธีที่แบบใหม่ วิธีที่คนต้องการจริงๆ ดังนั้น เป้าหมายในชีวิตผมคงบอกได้กว้างๆ ว่าคือการทำงานที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและมีความหมายกับชีวิตของคน ทำให้พวกเขาหายทุกข์ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  ใช้ความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้คน

“การรักษามะเร็งเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ช่วงหนึ่งเพราะเรามีเป้าหมายว่าเราจะรักษาอย่างไรเพื่อให้คนไข้หายให้ได้มากที่สุด เราจึงจัดสูตรยาที่ดีที่สุดมาเพื่อให้คนไข้ได้รับยาสูตรนี้ แล้วก็นับตัวเลขว่ามีคนหายกี่คน มีคนเสียชีวิตกี่คน อย่างนั้นเลยนะครับ แต่งานลักษณะนั้นกลับไม่มีมิติทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และตัวเลขล้วนๆ แต่ตั้งแต่การทำทั้งมูลนิธิฯ และวิสาหกิจฯ แต่ละเคสแตกต่างกันหมด ผมมีโอกาสได้ไปนั่งฟังทุกชีวิตว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร มีประสบการณ์ชีวิตอะไรบ้าง อะไรที่อยากทำ อะไรที่ไม่อยากเจอ คุณค่าชีวิตของพวกเขาคืออะไร การได้ฟัง การยอมรับในตัวพวกเขาแบบไม่ตัดสิน ได้เติมเต็มในสิ่งที่เขาต้องการ ทำให้คนไข้แต่ละรายได้ทำตามที่วาดหวังไว้ มีความสุขและสงบก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไป นั่นไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความท้าทายและประสบการณ์ที่มีคุณค่าในฐานะของหมอ แต่ยังเป็นความภูมิใจและความสุขใจที่ได้เห็นคนไข้ไม่ต้องทรมาน ได้เห็นเขาอยู่บ้านสบายๆ ซึ่งสำหรับผม การได้อยู่บ้านในวันสุดท้ายบนโลกใบนี้เป็นเรื่องที่ดีนะ”

ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ 

มูลนิธิสายธารแห่งความหวัง (Wishing Well Foundation) 
www.wishingwellthailand.org

เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม (Yuenyen SE)
www.facebook.com/yuenyenSE

บทความที่เกี่ยวข้อง