สุพัตรา กิจวิสาละ กับภารกิจจัดการชีวิตผู้ป่วยระยะท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

Human / Self-Inspiration

พอนึกถึงชีวิตที่กำลังเดินถอยหลัง เรากลับอยากให้วันเวลาเดินช้าลงเพื่อให้ตัวเองได้ทำสิ่งสำคัญ อยู่กับคนสำคัญ และใช้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่อย่างคุ้มค่าและมีความสุขในแบบที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาท้ายๆ ของชีวิต ที่เราควรจะมีโอกาสได้อยู่อย่างมีคุณค่าและมีความหมายมากที่สุด ในช่วงเวลาดังกล่าวมีคนกลุ่มหนึ่งกำลังทำหน้าที่ของพวกเขาเป็นอย่างดีในการเป็นเพื่อนร่วมทางเพื่อให้อะไรดีๆ แบบที่ว่ามานี้เกิดขึ้นกับชีวิตของใครสักคน 

แหม่ม-สุพัตรา กิจวิสาละ คือหนึ่งในคนกลุ่มที่ว่ากับบทบาทพยาบาลผู้จัดการรายกรณี (Nurse Case Manager) ที่รับผิดชอบในฐานะผู้แทนของผู้ป่วยระยะประคับคองในเรื่องของการวางแผน แสวงหา และกำกับติดตามการรับบริการต่างๆ ที่พึงได้รับจากทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งจะอยู่กับผู้ป่วยและครอบครัวตลอดเส้นทางชีวิต โดยครอบคลุมตั้งแต่การเข้าสู่ระบบการรักษาไปจนถึงการดูแลในช่วงเวลาหลังการเสียชีวิต งานที่คอยย้ำเตือนเธอให้ระลึกอยู่เสมอว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว งานนี้ยังทำให้เราเข้าใจถึงวัฏจักรของชีวิต และเป็นแรงบันดาลใจในการชักชวนให้ผู้คนหันมาใคร่ครวญถึงคุณค่าของการดำรงอยู่ แม้ในวันนั้นจะเป็นวันที่เรากำลังจะจากโลกใบนี้ไป นี่คือเรื่องราวชีวิตของเธอที่ทำให้เรามองการจากลาด้วยความรู้สึกที่ ‘เข้าใจ’ ได้มากขึ้น

งานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

หลังจากก้าวออกจากรั้วโรงเรียนพยาบาล แหม่มเริ่มต้นทำงานกับผู้ป่วยในหอผู้ป่วยอายุรกรรมเป็นที่แรกซึ่งเธอถือเป็นโรงเรียนชีวิตที่สำคัญแห่งหนึ่ง ช่วงหนึ่งปีแรกของชีวิตพยาบาลจบใหม่ที่นี่ เธอได้เริ่มพบเห็นว่าการตายมีลักษณะแตกต่างกัน ก่อนจะหมุนเวียนย้ายไปแผนกเด็กอ่อนที่ทุกวันได้พบว่าพ่อแม่เกือบทั้งหมดจะมารับสมาชิกใหม่ด้วยความรู้สึกยินดีต้อนรับกลับสู่ครอบครัว ที่นี่มีแต่การเกิดใหม่ ไม่มีการตายให้เห็นในช่วงหนึ่งปีของพยาบาลห้องเด็กอ่อนก่อนจะย้ายไปที่หอผู้ป่วยตา หู คอ จมูก ที่ซึ่งเธอได้พบกับการตายอีกครั้ง จากผู้ป่วยกลุ่มมะเร็งศีรษะและคอ ราวสิบปีที่มีชีวิตอยู่ข้างเตียงของผู้ป่วยนับไม่ถ้วน  เธอตัดสินใจพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้นด้วยการเข้าเรียนต่อปริญญาโทสาขาพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อตอบข้อสงสัยว่าพยาบาลจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านั้นสามารถปฏิบัติตามแผนการรักษาได้ดีกว่าที่เธอเคยทำอยู่ทุกๆ วัน ก่อนจะเข้าเรียนต่อวิชาการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยตั้งใจจะนำความรู้มาใช้ดูแลผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น 

“ตอนที่เรียนปริญญาโทด้านพฤติกรรมศาสตร์ มีเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเราเลย และจุดนี้ยังอยู่ในใจเรามาถึงตอนนี้นั่นก็คือการพบว่า การที่คนเราจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรนั้น เขามีที่มาที่เราอาจไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่เกี่ยวข้องที่จะส่งผลให้มนุษย์ ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’อะไรสักอย่าง หลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากตัวเขาด้วยซ้ำ บทเรียนจากที่นั่นทำให้เราไม่ด่วนตัดสินหรือพิพากษาใครอื่นง่ายๆ อีกต่อไป รวมทั้งตัวเองด้วย และเราจะไม่บังคับ สั่งการ หรือสั่งสอนให้ใครก็ตามทำหรือไม่ทำอะไร แล้วคาดหวังว่าเขาจะต้องทำในแบบที่เราต้องการ โดยที่ไม่รู้ถึงสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งของเขา เพราะทุุกคนมีมิติอื่นๆ ในชีวิตก่อนหน้าที่จะมาเจอเรา ถ้าเราได้รู้เรื่องเบื้องหลังของเขาเสียก่อนเพื่อจะอยู่ด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ 

“อย่างบางเคสเช่นคนไข้เบาหวานที่เราเจอ เขาไม่ได้ทานอาหารตามที่ได้รับคำแนะนำไปแล้วกลับมานัดครั้งต่อไปด้วยน้ำตาลที่ไม่ลดลง ใครจะรู้ว่าคนทำกับข้าวอาจเป็นลูกสะใภ้ที่ต้องออกไปทำงานด้วย แล้วต้องทำอาหารให้คนทั้งครอบครัว ให้ลูกกินก่อนไปโรงเรียนด้วย ไม่ใช่ว่าไม่อยากทำ ทั้งอาหารเด็ก อาหารผู้ใหญ่ แต่นี่มีอาหารคนป่วยอีก เขาอยากทำแต่เขามีภาระหน้าที่อื่นๆ ในชีวิตจนไม่มีเวลามากพอ เมื่อเราเข้าใจในจุดนี้ของแต่ละคน วิธีคิด วิธีปฏิบัติ และการมองคนมองโลกของเราก็เปลี่ยนไป ก็ไม่ได้กลับหน้ามือเป็นหลังมือภายในวันเดียวนะ แต่ค่อยๆ สั่งสมผ่านการสังเกตและเรียนรู้ ทั้งในระบบโรงเรียนถ้ามีโอกาส แต่ที่เราเรียนรู้ได้อยู่ตลอดเวลาไม่ต้องรอเข้าโรงเรียนคือการเรียนรู้จากสถานการณ์ตรงหน้าที่เราเจอทุกวัน เป็นคนชอบเรียนรู้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรียนรู้ผ่านชีวิตผู้ป่วยและญาติ พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นครูของเรา เราบอกขอบคุณผู้ป่วยและญาติเสมอๆ ว่าเขาเป็นครูของเรา สอนสรรพวิชาให้เราโดยเฉพาะวิชาชีวิต

“สำหรับ งานดูแลผู้ป่วยประคับประคอง’ ตั้งแต่ตอนเรียบจบพยาบาลใหม่ๆ ในหออายุรกรรมซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังที่เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล และค่อยๆ ถี่ขึ้นในวาระท้ายๆ จนจากไปในที่สุด เวลานั้นยังไม่มีคำคำนี้เกิดขึ้น แต่เราได้เห็นภาวะทรุดลง รักษาตัวโรคไม่ค่อยได้ การดูแลด้านอื่นๆ ยังไม่มีการพูดถึงในวงกว้างแบบทุกวันนี้ อาจจะมีการพูดจาให้กำลังใจผู้ป่วยบ้าง ให้กำลังใจญาติบ้าง แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมเท่าทุกวันนี้ เพราะงานดังกล่าวคือการดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาตัวโรคได้เท่าเดิมแล้ว ต่อมาเมื่อได้ยินคำนี้มากขึ้นในวงการสุขภาพ เราก็เริ่มซื้อหนังสือมาอ่าน เริ่มหาโอกาสเรียนรู้จากครูบาอาจารย์ สร้างเครือข่ายกับผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ รวมถึงการได้ความรู้จากวิชาหนึ่งตอนที่เรียนเฉพาะทางด้านมะเร็ง และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง จึงบูรณาการความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายเหล่านี้เข้าไปในเนื้องานปกติที่ทำทุกวัน และยังทำให้ได้เรียนรู้อยู่ทุกขณะค่ะ

การดูแลแบบประคับประคองจะใช้ในกรณีไหน คงต้องเท้าความถึงรูปแบบการรักษาที่แพทย์จะเริ่มจากการรักษาตัวโรคเป็นหลักก่อน แต่เมื่อใดที่การรักษาตัวโรคไม่ค่อยได้ผล ผู้ป่วยอาจมีเวลาเหลืออีกไม่นาน อาจจะราวหกเดือนถึงหนึ่งปีโดยประมาณ ทีมรักษาก็จะเพิ่มบทบาทของการดูแลแบบประคับประคองเข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้พอมีเวลาจัดการชีวิตช่วงที่เหลือ ซึ่งตัวโรคที่รักษาต่อไม่ได้ก็ทำให้เกิดอาการรบกวน ตัวอย่างเช่น ความเจ็บปวด ความเหนื่อยล้า ทานไม่ได้ นอนไม่หลับ การรักษาแบบประคับประคองตอนนี้ก็เพื่อบรรเทาอาการที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานน้อยที่สุด

“นอกจากดูแลบรรเทาอาการทางกายแล้ว การดูแลแบบประคับประคองยังดูแลครอบคลุมไปถึงจิตใจของผู้ป่วยอีกด้วยด้วย คนเราเมื่อเจ็บป่วยถึงขั้นที่มองเห็นถึงการจบสิ้นชีวิต ย่อมเป็นธรรมดาที่เขาจะทุกข์ใจจากความรู้สึกสูญเสีย แล้วในขณะที่การเสียชีวิตยังมาไม่ถึง แต่สิ่งที่มาถึงก่อนอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ การเสียเงินเสียทอง เสียสูญเวลาจากเรื่องที่เขาเคยได้ทำอย่างภาคภูมิใจ สูญเสียสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายในชีวิต สูญเสียบทบาทที่เคยมีเคยเป็น และกลับต้องมานอนรอการช่วยเหลือจากคนอื่นแม้เรื่องง่ายๆ เช่น ตักข้าวกินเอง เดินไปห้องน้ำเอง หรือที่เป็นเรื่องส่วนตัวที่สงวนหวงแหนไม่เคยให้ใครเข้าถึงก็ต้องมาเปิดเปลือย 

“เคยเจอว่า ใครคนหนึ่งเคยมีสถานะทางสังคมสูงส่ง ทุกวันนี้มีเงินมีทองเหลือเฟือ แต่การเอาเงินมาใช้ตอนนี้ต้องให้คนอื่นจัดการให้และคนถือเงินคนนั้นต้องเห็นควรด้วย นี่คือตัวอย่างความสูญเสียที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจได้ทั้งนั้น เราต้องหาส่วนนี้ให้เจอเพื่อจัดการให้ดีที่สุด เราอาจเป็นหลักในการค้นหา ประเมิน แต่ไม่ใช่ทำตามลำพัง การดูแลคนทุกข์หนึ่งคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต้องทำร่วมกันหลายคนพอสมควร เรียกว่า ‘ทีมดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง’ และในนี้รวมถึงครอบครัวของเขา คู่ชีวิต ลูกหลานเขา และคนที่เราจะต้องไม่ลืมเด็ดขาดคือตัวผู้ป่วยเอง ก็เพราะชีวิตที่อยู่ในความดูแลของเราเป็นชีวิตของเขา ดังนั้น เสียงที่สำคัญคือเสียงจากเจ้าของชีวิตเองด้วย และเราจะส่งเสริมคนที่ใกล้ชิดผู้ป่วยให้เข้ามามีบทบาทด้วย พวกเขาอาจรู้ดีกว่าเราว่าคนไข้สุขและทุกข์กับอะไร ให้ความหมายชีวิตกับอะไร บางอย่างเราทำเอง บางเรื่องส่งเสริมให้พวกเราได้แสดงบทบาทกันในช่วงเวลาที่สำคัญและมีความหมาย แล้วเราก็คอยสนับสนุนประคับประคองเขาอีกที – ใช่ค่ะ – งานดูแลแบบประคับประคองเราดูแลครอบครัวของผู้ป่วยด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ ‘ผู้ดูแลผู้ป่วย’ ซึ่งเป็นงานที่หนักหนาและเรียกร้องพลังงานสูงมาก และได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยของคนที่ตนเองดูแลอยู่ไม่น้อย แบบที่เราไม่สามารถมองข้ามได้เลยทีเดียว หลังการจากไปของผู้ป่วยเรายังติดตามดูแลครอบครัวหรือผู้ดูแลอยู่ ดูว่าเขาสามารถใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร ถ้าเป็นความเศร้าเสียใจที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ เราก็จะส่งทีมที่ทำหน้าที่ในด้านที่ต้องการความช่วยเหลือเข้ามาดูแลต่อ อาจเป็นทีมในชุมชนที่เขาอยู่ หรืออาจกลับเข้าโรงพยาบาลซึ่งบางที่ก็ไม่ใช่โรงพยาบาลเราที่ผู้ป่วยเคยอยู่ เพราะบางครั้งผู้ดูแลกับผู้ป่วยก็มีสิทธิการรักษาคนละโรงพยาบาลกัน

“การดูแลในมิติจิตวิญญาณอาจเป็นคำที่ยังไม่คุ้นว่าทำอะไรในตอนนี้ แต่สิ่งที่เราทำอยู่คือการหาว่า สิ่งที่เขายึดถือเป็นความหมายในการมีชีวิตของเขาคือสิ่งใดหรือใคร และร่วมกันคลี่คลายให้เขาไม่ต้องค้างใจกับเรื่องนั้นอีกต่อไป อย่างเคสลุงผู้ป่วยระยะท้ายคนหนึ่งซึ่งเลี้ยงหลานผู้ชายสี่คนที่ลูกๆ แกเอามาทิ้งไว้ตั้งแต่เล็กๆ ให้ปู่เลี้ยงแล้วหายไปเลย ส่งมาแต่เงินจนหลานๆ โตขึ้น มีหลานชายหนึ่งคนที่เรียนจนถึงระดับปริญญา ลุงบอกว่ารอไปงานรับปริญญาครั้งแรกในชีวิตของลุง และวันนั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว หลานเอารูปถ่ายในชุดครุยมาวางไว้ที่หัวเตียง เราทุกคนไม่รู้จริงๆ ว่าวันรับปริญญาของหลานกับวันสุดท้ายในชีวิตของลุง วันไหนจะมาถึงก่อนกัน เราฟังแล้วก็ชวนกันว่าจากรูปที่วางหัวเตียงเปลี่ยนมาขึ้นผนังทางปลายเตียงแทน ทุกคืนที่ล้มตัวลงนอน ลุงมองมาจากหมอนลุงจะเห็นรูปความสำเร็จของหลานรักที่เป็นผลงานปลูกปั้นที่ลุงภาคภูมิใจจนเอามาคุยให้พยาบาลฟัง เราชวนให้ลุงเตรียมชุดที่จะใส่ไปในวันนั้นแล้วเอามาแขวนไว้ให้เห็นทุกวัน วันนัดหลังจากนั้นหลานคนนี้มาโรงพยาบาลด้วย มาบอกว่าปู่ทำแบบนั้นจริงๆ และมีความสุขกับการตื่นเช้าลืมตามาแล้วเห็นรูปหลาน ก่อนหลับตาก็เห็นรูปหลาน

“จะเห็นว่าการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองนอกจากการดูแลกายและจิตใจแล้ว ถ้าพูดแบบไม่อุดมคติก็คือ ทีมเราดูแลเส้นทางชีวิตของผู้ป่วยทุกมิติ เป็นการดูแลต่อเนื่อง และหากพบว่าผู้ป่วยสมควรส่งต่อไปสถานบริการสุขภาพอื่น เช่นกลับไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ์การรักษาของเขา หรือกลับไปใช้ชีวิตวาระสุดท้ายที่บ้านเกิด เราจะประสานกับทีมดูแลทีมถัดไปที่อยู่ปลายทางจนผู้ป่วยและครอบครัวเองมั่นใจว่า เขาจะได้รับการดูแลที่ต่อเนื่องและได้มาตรฐานที่ดี แต่ก็มีเหมือนกันที่ผู้ป่วยไม่อยากเปลี่ยนโรงพยาบาล ไม่อยากปรับตัวกับทีมรักษาใหม่ๆ ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราโทรคุยกับทีมปลายทางให้ผู้ป่วยและญาติได้รับรู้ด้วยตอนนั้นเลย และพบว่าวิธีนี้ได้ผล คือเขาได้ยินเราสองโรงพยาบาลคุยกันต่อหน้าแล้วเขารู้ว่าพวกเรากำลังทำเพื่อชีวิตเขาหรือญาติคนไข้ จะได้เห็นว่าคนที่เขารักแม้ย้ายโรงพยาบาลแต่ก็ยังมีการรองรับที่ดีกับชีวิตตอนนั้นด้วย อีกอย่างที่เป็นจุดสำคัญของงานประคับประคองคือ การดูแลไปจนถึงสมาชิกครอบครัวควบคู่ไปกับผู้ป่วย และต่อเนื่องยาวไปจนถึงระยะหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วด้วย” 

วิชาชีพที่ให้คุณค่าและหล่อเลี้ยงหัวใจ

“สำหรับเราเองมองว่าความท้าทายในการเป็นพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้คือทุกๆ วันเราจะเจอเรื่องใหม่ ผู้ป่วยหลายคนอาจเป็นโรคเดียวกันหรือกระทั่งอาการเหมือนๆ กัน และทุกชีวิตจบลงที่จุดเดียวกันคือความตาย แต่ทุกชีวิตล้วนมีเรื่องราวแตกต่างกันไป ซึ่งถ้ารักการแก้โจทย์ก็เรียกว่ามาถูกทางเลยค่ะ ชีวิตของเราจึงเจอโจทย์ใหม่ๆ ทุกวัน และอย่างที่เล่าตอนต้นไปแล้วว่า ทุกชีวิตของเขาล้วนสอนเราเสมอ ถ้าเรารักที่จะเรียนรู้นี่คือโรงเรียนที่ดีที่หนึ่งสำหรับเรียนวิชาชีวิต

“งานในความหมายของเรา นอกจากการเป็นอาชีพสุจริต ซึ่งเราสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้แล้ว งานนี้ยังหล่อเลี้ยงหัวใจเราด้วย เป็นงานที่ให้โอกาสในการเรียนรู้ งานที่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ศักยภาพที่เรามีอย่างเต็มที่ งานที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากยกระดับศักยภาพของเราให้ดีขึ้นกว่านี้ งานที่ขัดเกลาใจเราให้มีความละเอียดอ่อนนึกถึงผู้อื่น รู้ร้อนรู้หนาวกับความทุกข์สุขของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีบางครั้งที่เราเหนื่อยเพราะงานดูแลชีวิตคนทุกข์คนโศกเศร้าสูญเสียอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นงานง่ายเสียทีเดียว เช่นเดียวกันงานอื่นๆ ที่ต่างมีจุดยากต้องเรียนรู้ แต่เราตั้งมั่นกับตัวเองเสมอว่าจะทำให้เต็มศักยภาพของตัวเอง เพราะสิ่งที่เรากำลังดูแลคือชีวิตของคนคนหนึ่งและเขามีชีวิตเดียว 

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง เป็นวันที่ชีวิตไม่เป็นไปอย่างใจ ตอนบ่ายแก่ๆ เรากำลังรอให้ถึงเวลากลับบ้าน แต่มีคนไข้เป็นคุณลุงซึ่งป่วยเป็นมะเร็งและเพิ่งได้รับเคมีบำบัดมาที่แผนกที่เราทำงานอยู่ หน้าที่ของเราคือการอธิบายเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้านให้คนไข้ได้รับรู้ ด้วยเพราะคุณลุงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี จึงควรรับรู้ด้วยว่าตนเองต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แต่เขายืนยันที่จะให้รอลูกชายมาก่อนแล้วให้พยาบาลคุยกับลูกชาย พอเราเชิญลูกชายมานั่ง คุณลุงก็เริ่มเล่าเรื่องชีวิตตนเองและลูกๆ ทีละคน ในใจเรารู้สึกว่าไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่เราอยากสื่อสารให้กับคนป่วยและญาติเลย แต่เราก็นั่งฟังท่านเล่าเรื่องนี้จนผลอยหลับไปจนเลยเวลางาน แล้วเราต้องมาคุยกับลูกชายอีกรอบ พอแยกจากพ่อได้ ลูกชายของลุงบอกกับเราว่า “ขอบคุณที่ฟังพ่อผมนะครับ พ่อเป็นยามมาทั้งชีวิต ที่บ้านเรายากจน การที่ลูกๆ เติบโตมาได้ มีอาชีพที่ดีและสุจริตเป็นเรื่องที่พ่อภูมิใจที่สุดในชีวิต และพ่อชอบเล่าเรื่องนี้ไปทั่ว” เช้าวันรุ่งขึ้นเราโทรไปหาครอบครัวนี้อีกครั้งเพื่อติดตามว่าที่คุยกันเมื่อเย็นวาน คุณลุงและลูกชายปฏิบัติตามที่แนะนำแล้วเป็นอย่างไรบ้าง แต่เสียงที่ตอบกลับมาคือเสียงตื่นเต้นของลูกชายว่า ก่อนนี้หลังจากได้ยินคำว่ามะเร็ง พ่อก็จิตตกนอนซมไม่ลุกจากที่นอน เช้านี้พ่อลุกขึ้นมาและชวนลูกชายไปตลาดในหมู่บ้าน และขอบคุณพี่พยาบาลที่รับฟังพ่อเล่าเรื่องความภูมิใจในชีวิต ทั้งที่เรารู้สึกว่าเราก็ไม่ได้ทำอะไรมากมาย แต่คนไข้และญาติก็รู้สึกดีขึ้นมาได้ มันอาจไม่ใช่ทุกงาน แต่หลายๆ กรณีเรามาทบทวนตัวเองแล้วพบว่า งานของเราเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้ เราเขียนบันทึกประสบการณ์ต่างๆ เรื่องไหนได้เรียนรู้อะไร เรื่องงดงามก็เก็บไว้ให้เรารู้สึกชุมชื่นหัวใจ ได้เห็นคุณค่าของตัวเองและวิชาชีพที่ทำอยู่ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อยากผลักดันและยกระดับศักยภาพของตัวเองให้สูงขึ้น ไม่อยากทำได้แบบวันนี้ไปตลอด แต่อยากให้พรุ่งนี้และวันถัดๆ ไปดีกว่านี้ และดียิ่งๆ ขึ้นไป”

บันทึก นึกคิด ทบทวนชีวิต

“การดูแลคนไข้หนึ่งคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจะต้องอาศัยทั้งผู้คนและระบบมากมาย ความสำเร็จต่างๆ เกิดจากการเกื้อหนุนจากผู้คนทั้งที่เป็นทีมสุขภาพและที่ไม่ได้อยู่ในทีมสุขภาพ กระทั่งคนขับรถพยาบาลของเอกชนยังเคยช่วยเราทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขาก็ตั้งหลายหน  เป็นงานที่ไม่ได้มีใครทำคนเดียว เพราะฉะนั้น วันใดที่เหนื่อย เราสามารถบอกทีมได้เลยว่า ‘ฉันเหนื่อย ช่วยมารับไม้ต่อที’ นี่คือวิธีที่เร็วและง่ายที่สุด 

“กับความเหนื่อยล้าระยะยาว รวมถึงความเหนื่อยล้าทางใจมีแน่นอน เราเองเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีข้อจำกัด การได้เห็นหรือมีชีวิตอยู่กับสิ่งใดซ้ำๆ นานๆ โดยเฉพาะความทุกข์ เศร้า สูญเสีย ซึ่งเรียกร้องพลังงานชีวิตระดับสูง แค่เราดูหนังดราม่า 5 เรื่องติดกันก็คงไม่น่าจะไหว แต่ตรงหน้าเรานี่คือชีวิตจริง เป็นความทุกข์และความตายจริงๆ เราจึงต้องคอยระวังไม่ให้ความรู้สึกไปถึงจุดที่กำลังถูกโถมทับจนทรุด สิ่งที่เราทำเพื่อเยียวยาหัวใจคือการเริ่มต้นทุกเช้าด้วยการเขียน ‘Morning Pages’ เป็นอย่างแรกของวันเพื่อเคลียร์สมองให้โล่ง ระหว่างวันมีจดบันทึกเรื่องราวดีๆ ไว้เตือนใจว่าเราพบเจอเหตุการณ์หรือใครบ้างและจบวันด้วยการเขียน ‘Gratitude Journal’ ขอบคุณสามสิ่งดีๆ ที่ทุกวันต้องมีเรื่องที่เราอยากกล่าวขอบคุณ ทำให้เรานอนหลับด้วยความรู้สึกขอบคุณเรื่องที่เราเจอมา รวมถึงเป็นโอกาสให้เราได้บอกรักตัวเอง เราทำหลายอย่างเพื่อรักษาตัวรักษาใจตัวเอง แต่ชอบที่สุดคือการเขียนบันทึก ตอนเกิดเหตุการณ์จริงเหมือนเราเป็นนักบอลที่กำลังคลุกฝุ่นในสนามบอล อาจมองไม่เห็นตัวเอง แต่การนั่งลงจรดปากกาเขียนทำให้เรากลับมาอยู่กับเรื่องนั้นอีกครั้ง ด้วยความรู้สึกที่กำลังมองตัวเองจากขอบสนาม เลยเป็นโอกาสที่เราจะได้ใคร่ครวญ ตรึกตรอง และทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ที่คลี่คลายมากขึ้น”  

นอกจากจะใช้การเขียนบันทึกเป็นเสมือน daily retreat ในแต่ละวันแล้ว แหม่มยังพาตัวเองไปอยู่นอกพื้นที่ปลอดภัยด้วยการไปพบเจอผู้คนที่มีความแตกต่างจากชีวิตประจำวันอีกด้วย ความแตกต่างนี้นำไปสู่การเติบโตของความคิดและการใช้ชีวิตของตัวเอง

“เอาจริงๆ ความสนใจของเรามีมากมาย 108 อย่าง เช่น การเป็นสมาชิกกลุ่ม ‘อ่านออกเสียง’ ซึ่งเป็นกิจกรรมวิพากษ์หนังสือเล่มเดียวกันกับคนที่มีลักษณะหลากหลาย ทั้งครูอาจารย์  นิสิตนักศึกษา แม่บ้าน วิศวะกร ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า คนอื่นๆ มองโลก มองชีวิตต่างจากเราอย่างไร รวมถึงการสมัครไปทริปที่เขาชวนๆ กันทางเฟซบุ๊ก ไปดูศิลปะวัฒนธรรม ไป city walk ชมเมือง เหล่านี้คือการใช้ชีวิตที่แตกต่างหลากหลายที่เรามีโอกาสได้ทำ แต่ถามว่าใช้เวลากับอะไรมากที่สุด ก็คงเป็นการเขียนนี่แหละ ซึ่งการพาตัวเองไปอยู่กับผู้คนที่ต่างไปจากชีวิตประจำวันเพื่อขยายมุมมอง ความคิด เรียกว่าเป็นคนรักความหลากหลาย เสพความแตกต่าง และเติบโตจากความแตกต่าง ที่สำคัญกว่านั้นคือเรากลัวอยู่เหมือนกันว่า การเห็นความทุกข์และความป่วยไข้ทุกวันจะทำให้เรามองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไม่สำคัญ เราบอกตัวเองและเขียนขึ้นสเตตัสในเฟซบุ๊กเลยว่า ‘เราจะไม่ทำให้ความคุ้นชินกลายเป็นความชาชิน แล้วจบด้วยเป็นมนุษย์ด้านชา’ เราจะไม่ยอมให้หัวใจตัวเองด้านชากับความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเด็ดขาด” 

กระบวนการเยี่ยมบ้านบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย 

“การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจะมีหลากหลายมิติ หลายวัตถุประสงค์ แต่จากประสบการณ์การไปเยี่ยมบ้านของตัวเองมีทั้งเคยไปเยี่ยมเองบ้าง ไปกับทีมเยี่ยมบ้านบ้าง และได้ไปในฐานะของจิตอาสาบ้าง ซึ่งจะมีทั้งการเยี่ยมก่อนการจากไปและหลังการจากไป ขอแชร์เท่าที่มีประสบการณ์ส่วนตัวไม่มากเท่าทีมเยี่ยมบ้านที่เขาเยี่ยมกันแทบทุกวัน

“ในกรณีของการเยี่ยมก่อนการจากไป ตอนนั้นไปเยี่ยมเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยสามารถอยู่ที่บ้านได้หรือไม่ กับประเมินว่าผู้ดูแลสามารถดูแลที่บ้านได้หรือไม่ ซึ่งบางทีได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ขึ้นกับระดับอาการหรือศักยภาพผู้ดูแลแค่นั้น แต่หมายรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ด้วย เช่น ถ้าผู้ป่วยมีแผลใหญ่เกินไปที่จะทำที่บ้าน เราอาจจำเป็นต้องพิจารณาให้เขาเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลเพื่อจัดการแผลไปพร้อมกับการพัฒนาทักษะการทำแผลให้กับผู้ดูแล หรืออาจมีกรณีที่ประสานสถานบริการสุขภาพในชุมชนให้เข้ามาร่วมดูแลได้ เมื่ออาการทุเลาค่อยส่งผู้ป่วยกลับบ้านใหม่ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการไปดูสิ่งแวดล้อมในที่พักอาศัยว่าเอื้อต่อการที่ผู้ป่วยจะอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ แน่นอนว่าบ้านไม่เหมือนกับโรงพยาบาลที่มีความสะดวกมากกว่าในด้านเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่าง หากสิ่งแวดล้อมภายในบ้านยังไม่พร้อม หน้าที่ของเราคือการให้คำแนะนำในการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ที่มีภายในบ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดและปลอดภัยเพียงพอกับผู้ป่วยได้ โดยที่ไม่ไปเป็นภาระให้กับผู้ดูแลและมีการติดตามเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง”

ในขณะที่เราคิดว่าผู้ป่วยคือบุคคลที่ต้องฝ่าฟันกับความเจ็บปวดทางกายและใจ ทว่าบนถนนสายเดียวกันนี้ ‘ผู้ดูแล’ ที่มักถูกหลงลืม ก็เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประคับประคองและอยู่เคียงข้าง ซึ่งเป็นหน้าที่อันหนักหนาและก่อให้เกิดความเครียดเช่นเดียวกัน   

“การดูแลคนป่วยเป็นหน้าที่ที่เหนื่อยมาก เหนื่อยชนิดที่ว่ามีผู้ดูแลบางราย ขอทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายครั้งเดียวในชีวิต แต่ถ้าเราจำเป็นต้องดูแล คำแนะนำคือ ผู้ดูแลต้องเข้าใจผู้ป่วย เข้าใจความเจ็บป่วยนั้น รับรู้แต่แรกว่าหน้าที่นี้เหนื่อย ต้องมีแหล่งสนับสนุนซึ่งเราต้องช่วยค้นหา คนอื่นๆ ในครอบครัวต้องรู้ว่าคนดูแลนั้นเหนื่อย ทั้งเหนื่อยล้าทางกายและอ่อนล้าทางอารมณ์จากการอยู่กับคนทุกข์และความทุกข์ทั้งวันทั้งคืน ดังนั้นสมาชิกคนอื่นๆ ต้องรับรู้ว่านี่คือภาระงานอีกงานหนึ่ง ต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องของกิจวัตรประจำวัน ด้านการเงิน และที่สำคัญคือเรื่องของกำลังใจ แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ นั่นคือการวางแผนชีวิตของตัวเราเองให้ครอบคลุมไปถึงวาระสุดท้ายซึ่งบอกไม่ได้ว่าจะเป็นวันไหน บางที…วาระสุดท้ายอาจไม่ได้ยาวไกลเสมอไป เพื่อว่าถ้าวันนั้นมาถึงชีวิตวาระสุดท้ายของเราจะได้เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น ถ้าเราหลับไปไม่ตื่นอีกเลยก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่หากตัวเองตกอยู่ในสภาพของการเป็นผู้ป่วยติดเตียงและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราจะให้ชีวิตของเราอยู่ในการดูแลของใคร เรื่องทรัพย์สิน สิ่งของ และชีวิตของเราในวันที่เราลุกขึ้นไปจัดการเองไม่ได้ เราอยากให้เป็นแบบไหน การวางแผนนี้ยังรวมไปถึงการเลือกวิธีการรักษาว่าเรามีความต้องการแบบไหน แล้วทำสำเนาฝากไว้กับประวัติโรงพยาบาลที่เราไปรักษา มีได้อีกหลายทางค่ะ

“การไปเยี่ยมหลังการจากไปของผู้ป่วย เป็นการเข้าไปเยี่ยมสมาชิกของครอบครัวผู้เสียชีวิตเพื่อดูเรื่องความเป็นอยู่ เข้าไปดูแลจิตใจของคนในครอบครัว ที่ทำประจำคือการติดตามเยี่ยมผู้ดูแลทางโทรศัพท์ ประเมินสิ่งที่ยังคงเป็นภาระหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตลง เพื่อให้พวกเขาไม่มีสิ่งที่ติดค้างจนเกิดเป็นปมในใจในเรื่องต่างๆ มีกรณีหนึ่งที่เรามีโอกาสไปเยี่ยม เจ้าของบ้านพาพวกเราไปดูร่องรอยของลูกชายสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ เราพบข้าวของมากมายที่เป็นของรักของหวงของผู้จากไป ซึ่งกลายเป็นความทุกข์ของคนที่ยังอยู่เพราะไม่รู้จะจัดการกับข้าวของเหล่านี้อย่างไร จะยกให้คนอื่น ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากได้ และคนที่รับไปอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรกับสิ่งของเหล่านี้ พอกลับบ้านไปคราวนั้น มุมมองความคิดเราเปลี่ยนไปเลย เรากลับมาจัดบ้าน จัดห้อง และได้สิ่งของมากมายหลายคันรถกระบะ เรากระจายสิ่งของไปให้คนที่ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ คอนเซ็ปต์นี้จะคล้ายกับเรื่องราวในหนังสือชื่อ ‘The Gentle Art of Swedish Death Cleaning: How to Free Yourself and Your Family from a Lifetime of Clutter’ ของศิลปินนักวาดภาพชาวสวีเดนอย่าง Margareta Magnusson ที่ถ่ายทอดมุมมองเรื่อง Death Cleaning หรือการทำความสะอาดบ้านก่อนตายเพื่อให้พร้อมตายโดยที่จะไม่ทิ้งภาระและความทุกข์ให้กับคนอื่น”

ตะกอนความคิดของการจากลา

“มีครั้งหนึ่งเราได้ไปงานศพของคนไข้ที่เราดูแล เป็นเคสคนไข้ชายอายุสามสิบกลางๆ มีภรรยาและลูกเล็ก เราได้ดูแลเขาประมาณ 3-4 เดือนสุดท้ายก่อนเขาจากไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่สุขสบายเลย จนวันที่เขาจากไปในรุ่งเช้าวันหยุดที่เราไม่ได้ไปทำงาน ภรรยาส่งไลน์มาบอกว่าสามีเสียชีวิตเช้านี้และส่งกำหนดการของงานศพมาให้ด้วย เราดูแล้วเห็นว่าหลังเลิกงานไปทันวันเผา ตอนที่เราเข้าไปถึงวัดพอดีกันกับที่ผู้ร่วมงานกำลังต่อแถวเพื่อขึ้นเมรุ จังหวะนั้นเรายืนมองดูจากระยะที่เห็นภาพรวมทั้งหมดของพิธี เห็นผู้คนที่อยู่ในแถว ภรรยา พ่อ แม่และลูกเขาที่เราเคยเห็นตอนมาเยี่ยมที่ข้างเตียง พวกเขาแต่งตัวดีเรียบร้อยเป็นเกียรติให้ผู้เสียชีวิต เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่านั่นคือสภาพแวดล้อมและผู้คนที่อยู่ในช่วงชีวิตของผู้ชายคนนี้ และชีวิตเขาเองก็เคยมีรูปร่างหน้าตาแบบนี้มาก่อน ซึ่งเป็นภาพที่เราไม่เคยเห็น เพราะคนในโรงพยาบาลมักจะเห็นคนไข้ก็ในช่วงเวลาที่เจ็บป่วยหรือนอนซม พอเราเดินขึ้นเมรุไปเพื่อจะวางดอกไม้จันทน์ ตาเหลือบไปเห็นรูปเขาที่ตั้งอยู่หน้าเมรุ เป็นภาพชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีใบหน้ายิ้มน้อยๆ สดชื่น ดวงตาคู่ที่อยู่ในรูปมีประกายสดใส ผิวพรรณผุดผ่อง ผมเรียบเข้ารูปทรง เป็นภาพซึ่งต่างไปจากที่เราเจอเขาในโรงพยาบาลตลอด 3-4 เดือน ภาพที่เราเห็นเตือนเราว่า ชีวิตของเขาสูญหายไประหว่างที่มาอยู่โรงพยาบาล เราเก็บภาพเขามาคิดอีกหลายครั้งและเขียนบันทึกไว้ด้วย บอกกับตัวเองว่าถ้าเราเห็นคนไข้นอนห่อเหี่ยวทรุดโทรมอยู่ในโรงพยาบาลอีก เราจะไม่ลืมเลยว่า จริงๆ เขาเคยมีชีวิตที่ดี เคยสดใส และเคยยิ้มได้มาก่อน เขามีสังคม มีครอบครัว และเราจะทำหน้าที่คืนรอยยิ้ม ศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้กับเขาอย่างดีที่สุด แม้เวลานั้นจะเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตก็ตาม”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: www.facebook.com/supatra.kidwisala 

บทความที่เกี่ยวข้อง