วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death ชวนออกแบบชีวิตเพื่อการอยู่ดีและตายดี 

Human

เพราะ ‘ความตาย’ เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตของเราได้ เช่นเดียวกับการเกิด เติบโต เจ็บป่วย และล่วงเลยเข้าสู่วัยชรา แต่เรามักไม่ค่อยพูดถึงความตายกันเป็นปกตินัก อาจเพราะมุมมองที่มีต่อเรื่องดังกล่าวที่มาพร้อมกับความหวาดหวั่น หวาดกลัว ไม่เป็นมงคล นึกถึงเมื่อไรก็ใจหาย หรืออาจคิดว่ายังไม่ถึงเวลา ชีวิตยังอีกไกล ความตายยังเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ยิ่งวิกฤตโควิดที่ผ่านมาเสมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ผู้คนหันมาตั้งคำถามกับความตายมากขึ้นและถี่ขึ้น เพราะความไม่แน่นอนของชีวิตที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ 

วันที่เรามีโอกาสได้คุยกับ สุ้ย – วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death เราเปิดหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับความตาย ตั้งแต่เรื่องการทำงานที่เธอและทีมทำอยู่เพื่อสนับสนุนการอยู่ดีและตายดี ผ่านการสร้างเครื่องมืออย่าง เกมไพ่ไขชีวิต, สมุดเบาใจ, กิจกรรม Happy Death Day (เปลี่ยนวันตายให้กลายเป็นวันสุข), live exhibition ที่ชื่อ ‘งานศพซ้อมตาย’ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายชุมชน อาทิ โครงการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี ไปจนถึงมุมมองส่วนตัวของเธอในเรื่องนี้ ที่พอจะทำให้เราได้เห็นและเข้าใจความตายในมิติที่หลากหลาย และอาจเป็นแนวทางของการตระเตรียมตัวและใจอย่างสุขใจและไร้กังวลในวันที่ปลายทางชีวิตมาเยือน

จุดเปลี่ยนชีวิตสู่การเริ่มต้นใหม่

สุ้ยเกิดในครอบครัวคนจีนแคะ บิดามารดาล่องเรืออพยพมาจากจีนโพ้นทะเลเพื่อมาตั้งรกรากที่เมืองไทย อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก เธอเลือกเรียนวิชาชีพด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และใช้เวลา 2 ปีหลังจากเรียนจบเป็นพยาบาลวิชาชีพในหอสังเกตอาการผู้ป่วยและแผนกฉุกเฉิน (ER) โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะบทบาทพยาบาลนี่เองที่ทำให้เธอเจอปัญหาของระบบสาธารณสุขด้วยตัวเองและมองเห็นว่า ความรู้ที่ร่ำเรียนมาไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะยังมีปัจจัยด้านอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เธอตัดสินใจลาออกจากการเป็นพยาบาลและเลือกเรียนต่อปริญญาโทด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สาขาการแพทย์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะอยากช่วยเหลือประชาชนที่ทุกข์ยากจากปัญหาสุขภาพมากกว่าเป็นหน่วยตั้งรับในโรงพยาบาล จนได้เป็นนักวิจัยอย่างที่ตั้งใจไว้

“จริงๆ เราคลุกคลีกับกิจกรรมทางสังคมมาตั้งแต่สมัยเรียน ทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย การเป็นประธานชมรมสลัมของมหาวิทยาลัยมหิดล การร่วมจัดตั้งเป็นเครือข่ายชมรมสลัม 5 สถาบัน ซึ่งหล่อหลอมความคิดในเรื่องปัญหาสังคมที่แท้จริงว่าคืออะไร อย่างเวลาไปค่าย เราได้เห็นชาวบ้านทานยาแก้ปวดจนกระเพาะทะลุ หรือเวลาป่วยแล้วไม่ได้ไปโรงพยาบาลซึ่งไม่ใช่เพราะพวกเขาขี้เกียจไปหาหมอ กลัวเข็มฉีดยา หรือว่าไม่สนใจสุขภาพ แต่เป็นเพราะความเหลื่อมล้ำและมีปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ที่ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพที่มีคุณภาพได้ เลยทำให้รู้ว่าการจะดูแลสุขภาพของประชาชนให้มีคุณภาพจะต้องแก้ปัญหาในเชิงระบบ พอมาทำงานพยาบาลยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นว่าคนไข้เต็มไปด้วยความทุกข์ หนำซ้ำระบบยังซ้ำเติมความทุกข์ของเขาเข้าไปอีก เราเห็นผู้ป่วยเดินทางมาไกล มาถึงไม่มีที่พัก แออัด ต้องเข้าคิว บางคนวันแรกมายังไม่ได้ตรวจ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปจองบัตรคิวตรงไหน แล้วหลายๆ ครั้ง เราเองนี่แหละที่ดุพวกเขาว่า ‘ทำไมเพิ่งมา ทำไมปล่อยให้เป็นหนักแล้วถึงมาหาคุณหมอ’ ทั้งๆ ที่ช่องว่างตรงนั้นกว้างมาก เรามีโอกาสได้คุยกับชาวบ้านจนทราบว่าพวกเขามาด้วยความกังวล ไม่รู้ว่าจะพึ่งพาใคร การที่เขาตัดสินใจมาแสดงว่าที่สุดแล้วจริงๆ เพราะบางคนต้องขายที่นา ต้องเป็นหนี้เป็นสินเพื่อจะมาจ่ายค่ารักษา มาใช้เป็นค่ารถ การตัดสินใจเรียนต่อโททางด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ เพราะเรารู้สึกว่าปัญหาสาธารณสุขแก้ด้วยแนวคิดทางการแพทย์อย่างเดียวไม่พอแล้ว แต่ต้องเข้าใจระบบและโครงสร้างด้วย นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเริ่มก้าวเข้ามาในงานด้านสังคม”  

‘ตายดี’ วิถีที่เลือกได้

การเรียนปริญญาโททำให้เธอมีโอกาสเปลี่ยนสายงานไปสู่การเป็นนักวิจัยที่ดึงเธอเข้าไปสู่โลกของงานสาธารณสุขซึ่งเกี่ยวพันไปกับมิติในเชิงสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ แรงงานข้ามชาติ การค้าประเวณีในเขตลุ่มแม่น้ำโขง ประเด็นด้านอนามัยเจริญพันธุ์ในสตรีที่เป็นแรงงานข้ามชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย ในระหว่างที่ทุกอย่างกำลังดำเนินไปได้อย่างดี คุณพ่อของสุ้ยเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอด วิกฤตครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่เธอได้สัมผัสกับความตายในฐานะของผู้ใกล้ชิด ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอหันหัวเรือมาสนใจเรื่องการเตรียมตัวตาย 

“เรื่องการเตรียมตัวตาย จริงๆ เริ่มมาตั้งแต่ตอนปี 2544 เพราะคุณพ่อป่วย ซึ่งมะเร็งที่เยื่อหุ้มปอดของคุณพ่อไม่มีทางรักษาและท่านจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน เวลานั้นครอบครัวเราไม่เคยมีคนเสียชีวิตมาก่อน ซึ่งแม้จะจบและทำงานพยาบาลมา แต่เราไม่รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไร จะดูแลท่านแบบไหน เตรียมตัวและทำใจอย่างไรหากท่านจากไป ความรู้สึกและการปฏิบัติตัวรวนไปหมด แล้วความรู้ทางพยาบาลในช่วงเวลานั้นไม่เคยสอนว่าเราจะดูแลคนไข้ให้ตายดีได้อย่างไร มีแต่ว่าจะช่วยให้เขารอดได้อย่างไร วันที่คุณพ่อเริ่มไม่ไหว คุณหมอให้ตัดสินใจว่าจะยื้อหรือจะหยุดการรักษาและให้คุณพ่อจากไป ตอนนั้นเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก เลยโทรหาคุณแม่ ซึ่งคุณแม่เป็นพาร์กินสัน ติดเตียงอยู่ที่บ้าน แต่ยังรู้สึกตัวและพูดคุยรู้เรื่อง คุณแม่ถามง่ายมากว่า ‘พ่อรู้ตัวไหม? กินได้หรือเปล่า?’ พอเราบอกไม่รู้ตัวแล้ว พูดไม่ได้แล้ว ทานไม่ได้แล้ว ต้องใส่สายยาง แม่ตอบกลับมาว่า ‘แสดงว่าคุณพ่อมาถึงสุดทางแล้ว’ คำตอบคุณแม่เหมือนปลดล็อกเราหมดเลย ครอบครัวเราตัดสินใจให้ท่านจากไปตามธรรมชาติ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เรารู้ว่าการเลือกให้คนไข้ตายดีเป็นการตัดสินใจที่ยากเหมือนกันนะ ขนาดเราเป็นบุคลากรสุขภาพที่มีความรู้ยังยากเลย แล้วคนอื่นก็น่าจะพบกับความยากนี้เหมือนกันกับเรา”

“พอดีกันกับอาจารย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ที่ท่านกลับมาจาก Harvard แล้วมาตั้งศูนย์วิจัยสังคมและสุขภาพ อาจารย์มีโครงการวิจัยหนึ่งที่เรียกว่า ‘กระบวนทัศน์ว่าด้วยเรื่องตายและการจัดการความตายในสังคมไทย’ พอทีมวิจัยมาชวนไปทำด้วยกัน ตัวเราเองกำลังอยู่ในช่วงที่ค้นหาคำตอบว่าเราจะช่วยผู้ป่วยให้ตายดีได้อย่างไร มีความเชื่ออะไรบ้าง เราเลยตอบตกลงเพราะตอนนั้นยังมีคุณแม่อีกคน คิดว่าคงจะต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้แล้ว การศึกษาวิจัยเป็นรายกรณีทำให้เราได้เข้าไปรับรู้เรื่องราวในชีวิตหลายๆ เคสที่มีการจากไป ทำให้เราเห็นว่าชีวิตแต่ละคนไม่มีใครเหมือนกันเลย บางคนการตายเรียบง่ายและงดงาม ขณะที่การตายของอีกคนนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมมากมาย ยิ่งได้เห็นชีวิตคนเหล่านี้มากเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกเป็นประโยชน์กับตัวเรามากเท่านั้น เลยเกิดหมุดหมายในใจเลยว่าเรื่องความตายเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และจะทำไปตลอดชีวิต กระทั่งเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งมีพระไพศาล วิสาโล เป็นประธาน มาชวนให้เข้าร่วม ‘โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ’ ทำงานในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความตาย ซึ่งตรงนั้นแหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำ Peaceful Death” 

ในปี 2561 โครงการความตายพูดได้ ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพุทธิกา ให้ดำเนินงานเป็นกลุ่มอิสระ ในชื่อ Peaceful Death โดยมีพันธกิจหลักคือสนับสนุนให้สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตายดี โดยมาพร้อมเป้าหมายที่ครอบคลุม 3 เรื่องใหญ่ หนึ่ง – คือการสร้างเสริมความตระหนักเรื่องวิถีสู่การตายอย่างสงบ การวางแผนชีวิตในระยะสุดท้าย รวมถึงการแสวงหาแนวทางที่ทำอย่างไรให้คนมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องความตาย เพื่อให้คนมองความตายว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและไม่ได้น่ากลัว สอง – การโปรโมทเรื่องการดูแลประคับประคอง เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตในระยะท้ายและตายดี  และสาม – คือสนับสนุนให้มีการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า โดยนำเสนอเอกสารสำหรับสื่อสารเจตนาของผู้ป่วยที่เรียกว่า ‘สมุดเบาใจ’ ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยทบทวน วางแผนชีวิต และสื่อสารเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อที่ครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้ทราบเจตนาของเจ้าของชีวิตและตอบสนองความปรารถนาของผู้ป่วยโดยไม่ต้องเดาใจ

สนทนาเรื่องความตายกับความท้าทายที่ต้องก้าวผ่าน

“แม้ในความเป็นจริงความตายจะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ทัศนคติของคนในสังคมส่วนใหญ่ยังมองว่าความตายเป็นเรื่องอีกไกล อีกนาน ยังไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ แล้วความคิดแบบนี้เป็นกันทั่วโลกเลย แต่ในเอเชียอาจจะเยอะหน่อยเพราะเรามีคติความเชื่อที่ไม่อยากให้พูดถึงเรื่องตายเพราะไม่เป็นมงคล เราเลยพยายามคิดค้นวิธีการสื่อสารเพื่อแปรเปลี่ยนวัฒนธรรมความเชื่อเหล่าให้เป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ เช่น การจัดงาน Happy Death Day (เปลี่ยนวันตายให้กลายเป็นวันสุข) ที่เราตั้งใจสื่อสารว่าการเตรียมตัวตายไม่ใช่เรื่องคนแก่ ไม่ใช่เรื่องของคนมีธรรมะสูงส่ง แต่คือเรื่องของเราทุกคน ถ้าวันหนึ่งเป็นเรา เป็นครอบครัวของเรา มีอะไรที่เราสามารถรู้และเตรียมตัวก่อนได้ไหม เพื่อให้เราได้ดูแลคนที่เรารักหรือแม้กระทั่งตัวเราในวันที่ต้องจากไปอย่างดีที่สุดและไม่มีอะไรค้างคาใจ รวมทั้ง live exhibition ที่ชื่อ ‘งานศพซ้อมตาย’ ที่เราชวนนักเขียนชื่อดัง คุณนิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) มาออกแบบงานศพของตัวเองตามความต้องการในสมุดเบาใจ การซ้อมตายในกิจกรรมเหมือนเป็นการกระตุ้นเราให้กระตือรือร้นว่าเราอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน ใครหรืออะไรที่มีความหมายต่อเรา ซึ่งหลายๆ ครั้ง เราอาจไม่ค่อยใส่ใจดูแลเขา พอถึงวันที่ต้องจากกัน เรากลับมานั่งเสียใจ แต่พอได้ถูกสะกิดในประเด็นดังกล่าว ได้รู้ว่าคนคนนี้มีความหมาย เราจะกลับไปดูแลความสัมพันธ์ให้ดีและใช้ชีวิตที่เหลืออย่างเป็นสุขได้มากขึ้น เป็นต้น

“ความท้าทายที่สอง การขับเคลื่อนประเด็นด้านงานสังคมแบบนี้ถือเป็นงานใหญ่ แต่เราเป็นองค์กรเล็กๆ ทำให้มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรต่างๆ เช่น เรื่องเงินทุน แต่โชคดีว่าที่ผ่านมาเราได้ทุนจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ที่สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง หรือทรัพยากรบุคคลที่เรามีคนทำงานอยู่เพียง 2-3 คน ดังนั้น จึงต้องอาศัยพละกำลังพอสมควรในการที่ขับเคลื่อนอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญๆ โดยเฉพาะเรื่องในเชิงนโยบาย ซึ่งถ้ามองจากภาพใหญ่ เรื่องตายดีที่เราทำอยู่เรียกว่าอยู่รั้งท้ายของปัญหาสาธารณสุข เพราะความสนใจหลักพุ่งเป้าไปที่การทำอย่างไรให้คนหายจากโรค แล้วคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องการดูแลประคับประคอง ดังนั้น เราจึงพยายามทำหลายอย่าง ทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการตายดี การผลักดันให้เกิดนโยบายเรื่องการวางแผนการดูแลล่วงหน้า การจัดตั้งสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ความพยายามในการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองกับภาคนโยบาย จนถึงตอนนี้ ในภาคนโยบายเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น แม้จะยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่อย่างน้อยเราได้เห็นศูนย์การดูแลประคับประคองกระจายอยู่ในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยได้เยอะพอสมควรเลย

“สุดท้ายเป็นความยากในเรื่องของประเด็นสื่อสารที่เวลาพูดถึงความตาย คนมักนึกถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่ความตายเป็นเรื่องของการอยู่ด้วย เราคิดว่าคนเราจะตายดีต้องดูว่าเขาใช้ชีวิตมาแบบไหน ถ้าเขาอยู่ดี เราก็เชื่อว่าเขาจะตายดีได้ ซึ่งน้อยคนที่จะคิดเรื่องพวกนี้ ฉะนั้น เราจึงพยายามทำความเข้าใจกับสังคม คืออย่ารอให้ถึงระยะสุดท้ายแล้วค่อยมาคิด แต่เราสามารถตั้งคำถามกับชีวิตในปัจจุบันแบบไม่ต้องรอให้ป่วยได้เลยว่าเราได้เตรียมหรือวางแผนไว้ไหม  ถ้าเราวางแผน แม้วันนั้นอาจยังไม่เกิด แต่ถ้าเขามาแบบกะทันหัน เรายังพอมีแนวทางที่คิดเตรียมไว้ล่วงหน้าเป็นไกด์ไลน์ได้ เราคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่คนในสังคมต้องปรับทัศนคติของคน เพราะนี่เป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายที่เราจะไม่ได้มีโอกาสกลับมาอีกแล้ว มีอะไรที่จะทำให้คุณไปโดยที่ไม่ห่วง ไม่ได้ทิ้งภาระไว้ เราก็จะจากไปด้วยความสุขและสบายใจ”

เบาใจ อิ่มใจ ภูมิใจ

“การคลุกคลีกับเรื่องความตายทำให้เราได้เห็นเรื่องราวชีวิตของผู้คน ซึ่งช่วยเตือนใจและกระตุ้นตัวเราให้เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ เพื่อพร้อมรับมือกับวาระสุดท้ายของทั้งคนที่เรารักและตัวเราเอง ที่สำคัญเลยคือทำให้เราตระหนักว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้น เราจึงไม่ประมาทกับชีวิต เราออกแบบได้ว่าอยากใช้ชีวิตที่เหลือแบบไหน การได้ทบทวนเรื่องความตายอย่างสม่ำเสมอทำให้ชีวิตเราเบาขึ้นเยอะ เหมือนได้ปลดสัมภาระที่แบกมาตลอดชีวิตที่ผ่านมา 

“นอกจากใจที่เบาลงแล้ว เวลามีคนเขียนมาบอกว่าขอบคุณเราและทีมงานที่ทำสมุดเบาใจขึ้น เพราะสมุดเล่มนั้นทำให้พ่อแม่ของเขาได้บอกความต้องการและจากไปด้วยดี ทำให้เขาไม่มีอะไรค้างคาใจ หรือการที่มีคนมาบอกว่าเขาได้ประโยชน์จากข้อมูลการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ทำให้เขาดูแลพ่อแม่ได้อย่างดีในช่วงเวลานั้น หรือว่าบางคนมาบอกว่า การมีโอกาสร่วมกิจกรรมทำให้เขามั่นใจมากขึ้น ได้รู้วิธีที่จะไปดูแลคนรอบข้าง หรือหลายครั้งที่ช่วยเยียวยาตัวเองด้วย การที่เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำไปเกิดประโยชน์กับผู้คน สร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้หลายๆ คนได้ตายดี ทำให้ลูกหลานไม่รู้สึกติดค้าง นี่คือความสุข สุขที่เราได้ทำงานที่มีคุณค่า เป็นงานที่ดีกับตัวเองและผู้คน ได้เกื้อกูลผู้อื่นและสังคม เราภูมิใจและดีใจที่ได้ทำงานแบบนี้”

สร้างระบบนิเวศแห่งการเกื้อกูลและแบ่งปัน

“แต่ก่อนอาจจะรู้สึกว่าไม่เป็นไรหรอก ถ้ามีสตางค์ก็ตายดีได้ ซึ่งอาจจะมีส่วนจริงบ้าง แต่เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญไปทั้งหมด ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดว่าเรามีโอกาสที่จะเข้าถึงการตายดีไหม ซึ่งการที่เรามีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันอยู่รายรอบ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนคนหนึ่งเข้าถึงการตายดีได้มากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมทุกวันนี้ที่ซับซ้อนและตัวใครตัวมัน หลายครั้งเราเลยไม่ค่อยสนใจใคร คิดว่าดูแลตัวเราและคนในบ้านก็พอ แต่ในความเป็นจริง เรายังคงอิงอาศัยคนอื่นในสังคมด้วย ซึ่งหากสังคมมีสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลกัน จะทำให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นไปได้ง่ายขึ้น

“เราจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งเราอยากจะตายดี เราได้ใช้ชีวิตให้อยู่ดีแล้วหรือยัง แล้วจะทำอย่างไรถึงจะอยู่ดี รวมถึงสร้างสังคมที่เกื้อกูลแบบนั้นได้ ที่ Peaceful Death เราเริ่มต้นจากการทำเรื่อง ‘ความตายพูดได้’ ซึ่งเราพยายามสื่อสารให้เห็นว่าความตายเป็นเรื่องที่คุยได้กันไปแล้ว ในช่วง 5 ปีมานี้ เราเลยอยากโฟกัสในประเด็นที่ไกลขึ้นไปอีก เนื่องจากเราเริ่มเห็นว่ามีคนส่วนหนึ่งที่แม้เขาจะเขียนสมุดเบาใจแล้ว ได้เจอทีมประคับประคองแล้ว แต่โอกาสที่จะตายดีก็ยังยากอยู่ ยิ่งเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีเราพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้บางบ้านมีลูกแค่คนเดียว ลูกเองต้องไปทำมาหากินเพื่อจะมีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว ญาติผู้ใหญ่จึงไม่มีผู้ดูแลและเกิดภาวะขาดแคลนผู้ดูแล ทำให้คนแก่ต้องอยู่คนเดียว แล้วสังคมปัจจุบันเรามีความปัจเจกมากขึ้น ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้คนตายอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น นั่นเลยเป็นที่มาของ ‘ชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี’ โดย Peaceful Death ดำเนินการมาถึงปีที่ 5 แล้ว ชุมชนกรุณา คือ แนวคิดและปฏิบัติการในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกคนหรือสมาชิกของชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลความทุกข์จากความเจ็บป่วย การตาย และการสูญเสีย สนับสนุนและเกื้อกูลให้ผู้ป่วยมีช่วงเวลาสุดท้ายที่มีคุณภาพและจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี หลังจากทำมา 5 ปี ตอนนี้เราเริ่มเห็นความงอกงามในหลายพื้นที่แล้ว ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน สงขลา จันทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น และจะขยายไปยังที่อื่นๆ ต่อไป 

“ตอนนี้ นอกจากเรื่องชุมชนกรุณาและกิจกรรมอื่นๆ ในแง่ขององค์กรเราอยากให้ Peaceful Death เป็นองค์กรที่มีความมั่นคง มีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เพราะอีกไม่นานคงจะหมดยุคเราแล้วล่ะ แต่จะทำอย่างนั้นได้ เราจะต้องมีความมั่นคงมากพอที่จะดูแลคนทำงานให้เขาอยู่ได้ ตอนนี้เราคิดเรื่องนี้อยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้นได้ อีกเรื่องคือ แม้ Peaceful Death จะทำงานมาเยอะมากและเป็นงานที่ถือว่ามาไกลหากเทียบกับหลายๆ ประเทศ แต่เรามีโอกาสไปบอกเล่าถึงสิ่งที่เราทำกับประเทศอื่นๆ ไม่มากนัก สิ่งที่อยากเห็นคงเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ของกันและกันในระดับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งหากทำได้ งานของ Peaceful Death น่าจะถูกมองเห็นและได้รับการสนับสนุนจากภาคนโยบายของบ้านเรามากขึ้น”

“ส่วนเรื่องส่วนตัว เราเองอยากจะสร้างพื้นที่ที่ดูแลใจคนทำงานเพื่อสังคม โดยพื้นที่ในที่นี้ไม่ได้อยากให้เป็นองค์กร แต่เป็นการสร้างชุมชนที่เราช่วยดูแลกัน  ตอนนี้เรากำลังปลูกบ้านที่ขอนแก่น ซึ่งบ้านหลังนี้เราอยากสร้างสเปซให้น้องๆ พี่ๆ มาใช้เวลาร่วมกัน มาทำกับข้าวกินกัน มีพื้นที่ได้คุยกัน อยากให้เป็นพื้นที่สบายๆ ที่หากใครมีปัญหา มีเรื่องหนักอกหนักใจ อยากมาปรึกษา อยากมีที่ได้นั่งพักใจให้หายเหนื่อย ก็สามารถมาคุยมาดูแลหัวใจกันได้  สุดท้าย ด้วยเราทำงานมาเยอะมาก จนตอนนี้ 30 ปีได้แล้ว เราตกผลึกอะไรหลายๆ อย่าง จึงอยากมาเล่าสู่กันฟังโดยหวังว่าบทเรียนและประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาอาจส่งต่อประโยชน์หรือให้ข้อคิดกับใครบางคนได้ค่ะ (ยิ้ม)” 

เพิ่มเติม: www.facebook.com/peacefuldeath2011  
ภาพ: จิณณไตญ ธนกฤตา

บทความที่เกี่ยวข้อง