ทำความรู้จัก ‘Palliative Care: การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง’

Care / Family Care

มีคำกล่าวว่า “ความตายไม่ใช่ความล้มเหลวทางการแพทย์เสมอไป แต่ความล้มเหลวที่แท้จริงนั้นคือการที่คนไข้ต้องทุกข์ทรมานต่างหาก”

ประโยคดังกล่าวเกริ่นนำได้อย่างดีถึง ‘การดูแลแบบประคับประคอง’ (Palliative care) ที่จำเป็นต่อผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน หลายคนยังคงมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนักเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยรูปแบบนี้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘การดูแลแบบประคับประคอง

คนส่วนมากเข้าใจว่า การดูแลแบบประคับประคอง จะใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรคร้ายแรงที่ไม่มีทางรักษาแล้วเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้หยุดทำการรักษาตัวโรคทุกอย่างแล้ว แต่ในความเป็นจริง การดูแลแบบประคับประคองสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยโรคร้ายแรงทุกชนิด ไม่เฉพาะแต่มะเร็ง รวมทั้งยังใช้ได้กับผู้ป่วยในทุกช่วงวัยและทุกระยะของโรค โดยสามารถใช้การดูแลแบบประคับประคองไปพร้อมๆ กับการรักษาโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ด้วย ไม่จำเป็นต้องหยุดการรักษาแล้วจึงจะใช้การดูแลแบบประคับประคองเสมอไป

เป้าหมายหลักของการดูแลแบบประคับประคอง คือ ลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยที่เกิดจากโรคหรือผลข้างเคียงจากการรักษา ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางกายภาพหรือทางจิตใจ เช่น ความเจ็บปวดทางกาย ภาวะซึมเศร้า หายใจไม่ออก เหนื่อยล้า ท้องผูก คลื่นไส้วิงเวียน เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ วิตกกังวล เป็นต้น รวมทั้งยังมุ่งบรรเทาความเครียด ทั้งของผู้ป่วยและญาติ กล่าวโดยรวมคือ การดูแลแบบประคับประคองจะเข้ามาปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวให้ดีขึ้น ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างดีที่สุดจนถึงวาระสุดท้าย และช่วยดูแลสภาพจิตใจของญาติให้ยอมรับความสูญเสียได้ หลังจากผู้ป่วยเสียชีวิต

รู้หรือไม่:

  • จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า การเข้ารับการดูแลแบบประคับประคองตั้งแต่ระยะแรกๆ ของโรค ช่วยลดอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ไม่จำเป็นได้ 
  • งานวิจัยหลายชิ้น รวมทั้งที่ตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine พบว่าผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่เข้ารับการดูแลแบบประคับประคองมีอายุยาวนานกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการดูแลในลักษณะนี้

ใครบ้างที่อยู่ในทีมผู้ดูแลแบบประคับประคอง

ทีมผู้ดูแลที่จะทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ประกอบไปด้วยบุคลากรจากหลายสาขาอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา นักบวช นักบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ดูแล (caregiver) โดยบุคลากรทั้งหมดจะทำงานร่วมกับผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย และแพทย์ที่ดูแลรักษาโรคของผู้ป่วยอยู่ ทีมผู้ดูแลจะทำหน้าที่สื่อสารกับแพทย์เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันถึงความต้องการในการรักษาโรคของผู้ป่วย เพราะการดูแลแบบประคับประคองจะมุ่งเน้นไปที่ “ความต้องการของผู้ป่วย” มากเป็นอันดับหนึ่ง

สถิติจาก WHO:

  • ในแต่ละปี องค์การอนามัยโลกคาดว่ามีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคองมากถึง 40 ล้านคน โดย 78% อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง แต่มีเพียง 14% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองได้ โดยอุปสรรคนั้นมาจากทั้งปัญหาเรื่องความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง นโยบายทางสาธารณสุขของแต่ละประเทศ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
  • โลกจะต้องการบุคลากรในทีมการดูแลแบบประคับประคองมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากการเติบโตของสังคมผู้สูงวัย

การดูแลแบบประคับประคองมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบายและมีความสุขที่สุด รวมทั้งให้ผู้ป่วยได้เตรียมพร้อมลาจากโลกนี้ไปอย่างสมบูรณ์ที่สุด หากสนใจเข้ารับการดูแลแบบประคับประคอง ลองสอบถามเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่คุณรักษาตัวอยู่ ทุกโรงพยาบาลจะมีหน่วยงานด้านนี้ที่พร้อมให้คำปรึกษา โดยอาจมีชื่อแตกต่างกันไป เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะใช้ชื่อว่า “ศูนย์ชีวาภิบาล” (Cheewabhibaln Palliative Care Center) และโรงพยาบาลศิริราชใช้ชื่อว่า “ศูนย์บริรักษ์ ศิริราช” (Siriraj Palliative Care Center) เป็นต้น 

ที่มา:
getpalliativecare.org
who.int
baojai.co

บทความที่เกี่ยวข้อง