นายแพทย์ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ เมื่อความเครียดคือพลังผลักดันสู่ความสำเร็จ 

Human / Self-Inspiration

นายแพทย์ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ หมอบิ้วด์ หรือ หมอภีม คือคนหนุ่มไฟแรงที่ควบหลายบทบาท หลายคนอาจจดจำเขาได้จากการเป็นผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการสุขภาพ แต่ในอีกฟากฝั่งหนึ่ง เขาคืออายุรแพทย์สาขาประสาทวิทยา, อาจารย์พิเศษด้านระบบประสาทและสมอง และผู้ร่วมก่อตั้ง Beaker and Bitter ร้านกาแฟแนววิทยาศาสตร์สุดล้ำในซอยสายลม 1 ย่านอารีย์ใจกลางกรุงเทพมหานคร หากเราลองย้อนดูความสำเร็จของหมอบิ้วด์ ไม่เคยมีคำว่า ‘บังเอิญ’ อยู่ในนั้น เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากับ 4 อาชีพของเขา เรียกได้ว่ามีทั้งสุขสมหวังและล้มเหลว แถมท้ายด้วยข้อสอบหินๆ ที่เข้ามาทักทายและท้าทายอยู่เป็นระยะๆ แบบที่เขาต้องอาศัยความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังกว่าจะเอื้อมไปแตะหลักชัยในแต่ละเส้นทาง

หลายๆ แง่มุมในการพูดคุยครั้งนี้จึงเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้เราเห็นถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาก่อนการเป็นคุณหมอ อันเป็นรอยต่อของชีวิตที่ต้องเลือกระหว่างความคาดหวังและความชอบ, การลงสนามจริงที่มีชีวิตของคนเป็นเดิมพัน รวมทั้งความรักและแพสชันในบทบาทคู่ขนานอย่างงานในสายนิเทศศาสตร์และการเป็นเจ้าของธุรกิจ ไปจนถึงการจัดการกับความเครียดและแรงกดดันด้วยการมองความสำเร็จเป็นหมุดหมาย และตัวอักษรด้านล่างทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่ถูกบ่มมากว่า 34 ปีของเขาที่เราขอชวนทุกคนมาค้นหาความเป็นหมอบิ้วด์ไปด้วยกัน

ผม ‘นายแพทย์ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์’ ครับ

คุณหมอบิ้วด์เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการย้อนไปถึงความทรงจำในวัยเด็กกับเส้นทางก่อนก้าวสู่การเป็นคุณหมอให้เราฟังว่า “คำตอบเดิมและคำตอบเดียวของการเป็นหมอคือคุณปู่ครับ ด้วยคุณปู่มีอาชีพเดิมเป็นเซลล์ขายยา ท่านมีโรงงานยาของตัวเองและรักในเรื่องสุขภาพมาก ท่านเลยมีความฝันอย่างหนึ่งคือการได้เห็นลูกเป็นหมอ แต่ในรุ่นของลูกยังไม่มีใครทำให้ได้ ดังนั้น ความหวังเลยตกลงมาสู่รุ่นหลาน ด้วยผมเป็นหลานคนโต เพราะฉะนั้น จึงถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าโตขึ้นไป ถ้าเรียนไหวก็อยากให้เป็นคุณหมอนะ เมื่อได้รับการซึมซับมา ผมเองก็สำรวจและประเมินตัวเองมาเสมอว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้หรือเปล่า ชอบอาชีพนี้จริงๆ ไหม ส่วนตัวผมชอบวิทยาศาสตร์ เกรดเฉลี่ยอยู่ในระดับดี เลยคิดว่าน่าจะไปต่อได้

แต่ในระหว่างทางผมมีอีกความสนใจหนึ่งคือกิจกรรมในสายนิเทศศาสตร์อย่างการเป็นพิธีกรและการพูด ซึ่งแม้จะไม่ได้ทำมากมาย แต่ผมรู้สึกว่าตัวเองชอบและทำได้ดี เลยมีความลังเลเกิดขึ้นในเวลานั้นและเป็นที่มาของคำขอกับทางบ้านว่า “ถ้าไม่ติดหมอ บิ้วด์ขอไปเรียนนิเทศฯ” ตอนนั้นทางครอบครัวตกใจพอสมควรว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะความมั่นใจว่าผมน่าจะเรียนหมอค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กจนถึงช่วงมัธยมปลาย อย่างเวลากลับมาบ้าน ผมจะต้องโทรไปหาคุณปู่ที่อยู่อีกบ้านหนึ่งเพื่อบอกว่ากลับมาถึงบ้านแล้วนะ ด้วยการกล่าวคำว่า “สวัสดีครับ นายแพทย์ภีมณพัชญ์พูดครับ” ซึ่งเป็นประโยคที่คุณปู่ให้พูดแบบนั้นเพื่อเป็นการปลูกฝัง ทุกครั้งที่นึกย้อนกลับไป ผมคิดเหมือนกันนะว่า “ถ้าวันนั้นเราทำไม่ได้นี่กดดันมากเลยนะ” (ยิ้ม) พอขึ้น ม.6 ผมเริ่มไม่พูดประโยคนี้แล้ว เพราะว่าเราเริ่มชั่งใจอยู่เหมือนกันว่าจะเดินต่อไปที่เส้นทางสายไหนดี แต่สุดท้าย ผมตัดสินใจสอบตรงเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตครับ” 

‘ความ(คาด)หวัง’ ความจริงบนเส้นทางของการเป็นหมอ

“บริบทของความเป็นหมอที่เราคิดในวัยเด็กกับความจริงที่เจอแตกต่างกันมากพอสมควรและยังมีอีกหลายมิติที่ไม่เคยอยู่ในหัวมาก่อน เช่น เรื่องของการบริหารและงานด้านบริการสังคมที่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้พบเจอเมื่อเข้ามาทำงานจริง และยังมีรายระเอียดปลีกย่อยอีกเยอะที่ต้องเจอและเรียนรู้ เรียกว่ามีเรื่องให้เซอร์ไพรส์ในทุกช่วงอายุเลยครับ” และหนึ่งในความท้าทายของอาชีพหมอที่หมอบิ้วด์เชื่อว่าหมอทุกคนจะเจอเหมือนกันคือ ‘ความคาดหวัง’ 

“ความคาดหวังของคนไข้คือเขาอยากหายดี กลับมาเป็นปกติ แต่บางโรคเรารู้ว่าเราทำได้เพียงแค่ให้ทุเลาขึ้นได้ เช่น ถ้าคนไข้มาหาคุณหมอผิวหนังด้วยพื้นฐานผิวที่ดีอยู่แล้ว และต้องการกลับออกมาด้วยความสวยเพิ่มขึ้น 120% สิ่งนี้คือความคาดหวัง ซึ่งในศาสตร์บางแขนงอาจทำได้ เช่น ทางความงามที่จะขึ้นอยู่กับฝีมือและเทคโนโลยี แต่ในแง่ของหมอที่ดูแลรักษาเรื่องของการเจ็บป่วย ในบางโรคอาจจะทำได้ถึง 100% แต่สำหรับบางโรค การทำให้ดีขึ้น 60-80% นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ดีที่สุดแล้ว นี่จึงเป็นประเด็นที่คุณหมอทุกคนน่าจะต้องเจอ ซึ่งในการจัดการกับสถานการณ์ลักษณะนี้สำหรับผมจะเป็นเรื่องของการสื่อสารที่ต้องใช้การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับคนไข้ถึงปัจจัยของตัวโรค การรักษา และสภาวะร่างกาย พูดง่ายๆ คือเป็นการจูนความคาดหวังระหว่างคุณหมอและคนไข้หรือญาติคนไข้ให้มาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด”

นักเรียนคือครู

นอกเหนือไปจากงานหลักอย่างการเป็นอารุยแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและสมองแล้ว หมอบิ้วด์ยังอีกพ่วงอีกหนึ่งบทบาทนั่นคืออาจารย์พิเศษให้กับคณะแพทย์และคณะวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรังสิตด้วยเช่นกัน 

“วิชาที่ผมสอนให้กับนักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์คือ Neuroanotomy หรือวิชาประสาทกายวิภาคศาสตร์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวิชาศาสตร์มืด (หัวเราะ) เพราะเป็นวิชาที่ยาก นักศึกษามาถึงจะตั้งบังเกอร์เลยว่าวิชานี้ยาก ซึ่งผมเองก็รู้สึกว่ายากจริงๆ ตั้งแต่สมัยที่ตัวเองเป็นนักศึกษาแพทย์แล้ว การได้มาเป็นอาจารย์นอกจากความสนุกและได้ปัดฝุ่นความรู้ที่ร่ำเรียนมาแล้ว ก็เหมือนเป็นโอกาสให้ผมได้กลับไปแก้ไขในจุดยากและข้อสงสัยที่เราเคยอยากยกมือถามในสมัยเป็นนักศึกษาให้กับน้องๆ ขณะเดียวกันบทบาทดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมการทำงานในโรงพยาบาลของผมด้วย เพราะเมื่อเราต้องเตรียมตัวไปสอน การเป็นหมอนานๆ ยิ่งหมอเฉพาะทางด้วยแล้ว เราจะเริ่มคุยภาษาคนไม่รู้เรื่อง (ยิ้ม) ผมคุยกับคนที่ทำงานอยู่แวดวงเดียวกันจนชินกับการใช้ศัพท์เฉพาะแทนไปเสียทุกอย่าง พอเห็นหน้าน้องๆ ที่ดูงงๆ เวลาใช้ศัพท์ของแพทย์สอนพวกเขา เลยทำให้ผมกลับมาทบทวนตัวเองว่า เรารู้จักศัพท์คำนี้หรือความรู้เรื่องนี้ตอนอายุเท่าไหร่ ก็ตอนที่เราโตกว่าน้องๆ นี่นา ดังนั้น ผมจึงต้องเอากลับไปแก้ไขและยังต้องกลับมาคิดอีกตลบว่า แล้วถ้าเกิดคนที่คุยกับเราเป็นคนไข้ที่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางแบบเราล่ะ ผมจึงต้องปรับตัวเองเพื่อสื่อสารไปกับกลุ่มคนที่แตกต่างทั้งนักศึกษาและคนไข้ได้รู้เรื่อง โดยใช้ภาษาที่พวกเขาสามารถเข้าใจได้ตรงกัน แน่นอนว่าถ้าทำได้ การสอนและการรักษาจะสร้างความเข้าใจให้กับพวกเขามากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย”

ถ้าไม่เรียนหมอ ผมจะเรียนนิเทศฯ

“อย่างที่ผมบอกว่างานสายนิเทศฯ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ผมชอบ ถึงกับเคยคิดว่าจะเรียนต่อในสายนี้เลย แต่พอสอบเข้าหมอได้ผมตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะไม่เป็นเด็กกิจกรรม จะกลับไปเป็นเด็กเรียน และตั้งใจเรียนเหมือนเดิม สุดท้ายก็ทำไม่ได้ครับ (หัวเราะ) เพราะว่ายังมีกิจกรรมสนุกๆ มาให้ผมได้ลองทำอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยนักศึกษาแพทย์จนกระทั่งจบมา ผมอยู่ในวงการแพทย์รหัสนักศึกษาคือปี 49 ขณะที่ในวงการของการเป็นผู้ประกาศข่าว เอาแค่ในวงการนะครับ คือปี 50 จนถึงปัจจุบัน” 

ด้วยความชอบและแพสชันเป็นพื้นฐาน รวมทั้งอยากจะพิสูจน์ตัวเองว่ายังสามารถทำสิ่งรักสิ่งนี้ได้หรือไม่ เมื่อมีโอกาส หมอบิ้วด์จึงไม่รีรอ ทั้งการสอบบัตรผู้ประกาศข่าวที่กรมประชาสัมพันธ์เก็บไว้ ไปจนถึงการเข้าอบรมโครงการผู้ประกาศข่าวเพื่อฝึกทักษะด้านการอ่านข่าวและพัฒนาบุคลิกภาพ “ช่วงปี 6 ผมอยากรู้ว่าตัวเองยังชอบงานด้านนี้อยู่หรือเปล่า แถมไม่เคยอ่านข่าวและอยู่หน้ากล้องหน้าจอมาก่อนด้วย เลยลองเข้าอบรมการเป็นผู้ประกาศข่าวกับทางช่อง 9 ก็ได้คำตอบว่า เรายังชอบอยู่และสามารถทำได้ในระดับที่โอเคเลย หลังจากนั้นไม่นาน ทางช่อง 9 เปิดรับสมัครผู้ประกาศข่าวรุ่นที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นโครงการระดับประเทศเลย ผมไปสมัครและเข้ารอบมาเรื่อยๆ จากหลักพัน เหลือหลักร้อย เหลือ 50 จนมา 20 คนสุดท้ายที่ผู้เข้ารอบจะต้องไปเข้าค่าย แต่สุดท้ายผมไม่เข้ารอบ ตอนนั้นเป็นครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นความล้มเหลวในชีวิต เพราะที่ผ่านมา เมื่อผมพยายามจะทำอะไรก็ตาม ผมมักจะได้หมดเลย แต่ครั้งนั้น ไม่สำเร็จ ก็เสียใจไปตามระเบียบ” 

กระทั่งปี 2555 เมื่อเรียนจบและไปทำงานเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์น ทางช่อง 9 ติดต่อกลับมาอีกครั้ง และในครั้งนี้หมอบิ้วด์ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ประกาศอย่างที่เขาตั้งใจในที่สุด “โชคดีที่งานผู้ประกาศเป็นสล็อตงานที่มีไม่มาก ผมเลยสามารถทำควบคู่กับงานหลักได้ งานหลักของผมคือการอ่านข่าวต้นชั่วโมง ซึ่งถ้าดูเผินๆ เหมือนว่าไม่น่ายาก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ง่ายเลยตรงที่ว่า ทุกอย่างจะต้องเร็วและข่าวมีความหลากหลาย ตั้งแต่อาชญากรรม อุบัติเหตุ รายงานด่วน ข่าวราชสำนัก ข่าวกีฬา และข่าวต่างประเทศ แต่เวลาที่เราได้เตรียมตัวจะน้อยมาก บางทีสคริปต์เสร็จตอนอีก 5 นาทีจะต้องออนแอร์แล้ว แล้วในมือผมมีข่าวอยู่ 3-7 ข่าวที่ต้องอ่านและจำหัวโปรยให้ได้ทั้งหมด สำหรับผม การเป็นผู้ประกาศทำให้ผมได้ฝึกทักษะการใช้ short-term memory การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และมีความท้าทายที่สนุกมากๆ เข้ามาทดสอบตัวเองอยู่เสมอเลยครับ” 

วิทยาศาสตร์ กาแฟ และการบริหารธุรกิจ

Beaker and Bitter คือชื่อร้านกาแฟที่เกิดขึ้นจากการผสมของคำ 2 คำ นั่นคือ ‘แก้วบีกเกอร์’ ที่ใช้ในห้องทดลองและคำว่า ‘bitter’ ที่หมายถึงความขมของกาแฟและยา โดยตัวอักษร B และ K ยังเชื่อมโยงไปถึงชื่อของหมอบิ้วด์และเคน (เขม อินทรรักษ์) สองผู้ก่อตั้งที่ตั้งใจพลิกฟื้นพื้นที่โรงงานยาอายุกว่า 50 ปีของครอบครัวให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ที่นี่จึงไม่ใช่เพียงคาเฟ่ที่เสิร์ฟกาแฟรสดี หรือเป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถมาสัมผัสกับประสบการณ์สนุกๆ และใช้เวลาอย่างมีคุณภาพด้วยฟังก์ชั่นใช้สอยที่หลากหลายเท่านั้น แต่ยังเป็นสนามประลองยุทธ์แห่งใหม่ของหมอบิ้วด์กับบทบาทเจ้านายและเจ้าของธุรกิจอีกด้วย

“จุดตั้งต้นของ Beaker and Bitter คือผมกับเคนคุยกันว่าอยากทำคาเฟ่ ตัวเคนเขามีไอเดียและสกิลเรื่องของคาเฟ่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ว่าเราทั้งคู่ไม่ใช่บาริสต้า เมื่อสรุปไอเดียว่าจะทำ เราเริ่มต้นจากการไปหาสถานที่ก่อนว่าจะทำที่ไหน หาอยู่นาน พึ่งกระทั่งหมอดู จนสุดท้ายมาลงตัวที่โรงงานยาของคุณปู่ผมที่ไม่มีการใช้งานและเรื่องราวของตัวอาคารเองก็มีความน่าสนใจ เมื่อตัดสินใจแล้ว เราเลยเริ่มตั้งชื่อและเริ่มวางแนวทางของว่าร้านของเราจะไปในทิศทางไหน”

ด้วยพื้นที่ที่เคยเป็นโรงงานยามาก่อน Beaker and Bitter จึงไม่จำเป็นต้องสร้างเรื่องราวใดๆ มาเพิ่มเติม เพียงแต่หยิบสิ่งที่มาอยู่มาต่อยอดและถ่ายทอดให้สนุกขึ้นเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ของการสำรวจโรงงานยาแห่งนี้ ทั้งบรรยากาศของห้องแล็บ การนำอุปกรณ์จริงมาจัดวางให้เห็นว่าการผลิตยาทำกันแบบไหน โดยมีกิจกรรมและแคมเปญต่างๆ ในการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับผู้มาเยือน การเพิ่มพื้นที่ co-working space ที่มีต้นแบบมาจากบรรยากาศในห้องสมุด แถมท้ายด้วยสเปซพิเศษอย่างห้องเงียบที่ลูกค้าสามารถใช้พื้นที่ในการทำงานหรืออ่านหนังสือโดยไม่มีสิ่งรบกวน 

“ด้วยเราทั้งคู่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำคาเฟ่มาก่อน ทุกอย่างเลยเริ่มต้นกันใหม่หมด พวกเราทั้งถามจากคนที่เคยทำธุรกิจนี้มาก่อน ไปลงเรียนและหาความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับกาแฟ เพื่อให้รู้ว่าต้องทำอะไร ใช้อะไร ต้องดูแลพนักงานอย่างไร ซึ่งก่อนที่จะมาทำร้านนี้ ผมไม่เคยทำธุรกิจเลยครับ Beaker and Bitter คือที่แรก พอต้องมาเป็นนักธุรกิจ สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือการบริหารทุน การทำงานกับคนที่หลากหลายที่ทำให้ต้องงัดสกิลเรื่องการสื่อสารมาใช้เยอะมากเลย และผมต้องทำทุกอย่างเพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งการออกแบบเมนูเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ การจัดแคมเปญและกิจกรรมต่างๆ ยิ่งตัวคาเฟ่เปิดเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ปี 2020 เปิดมา 1 เดือนก็เจอกับสถานการณ์โควิดเลย ซึ่งเป็นวิกฤติที่ไม่มีใครสามารถให้คำแนะนำใครได้จริงๆ เพราะทุกคนไม่เคยเจอกับสถานการณ์แบบนี้มาก่อน จนคุณพ่อผมบอกว่า “บิ้วด์ ป๊าให้เวลา 6 เดือน ถ้า 6 เดือนแล้วแววไม่ดีหรือขาดทุนแน่ๆ ต้องจบนะ” เลยเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ ซึ่งไม่ง่ายเลยครับ บางเดือนติดลบ บางเดือนเฉียดฉิว แต่เราก็รอดมาได้และนี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจ เป็นความท้าทายที่สุดมากๆ ครับ” 

แต่ละบทบาทคือกระจกเงาสะท้อนกัน

“ในแต่ละบทบาท แทบจะไม่มีอะไรมาเอื้อหรือเกื้อหนุนกันได้เลย แต่ผมมองว่า การทำงานในบทบาทที่ต่างกัน เหมือนเราได้มีกระจกที่สะท้อนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าในบทบาทนี้ เราคือลูกน้อง เราเห็นอะไรจากมุมมองและนิสัยเจ้านายบ้าง ทัศนคติแบบไหนที่เราสามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ทำให้เมื่อเราอยู่ที่ Beaker and Bitter เราสามารถดึงเอาทัศนคติที่เป็น role model นั้นมาใช้ในการบริหารคนและขับเคลื่อนให้น้องๆ สามารถทำงานออกมาได้ดีในบรรยากาศการทำงานที่ดีได้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าท้าทายสำหรับทุกๆ งาน คือการบริหารเวลา ในหนึ่งสัปดาห์ ผมเป็นหมออยู่ 5 วัน เป็นผู้ประกาศข่าว 1 วัน ขณะเดียวกันผมต้องดูแลคาเฟ่ 7 วัน ผมจะทำอย่างไรได้บ้างให้ทุกงานยังคงมาตรฐานที่ดี คำตอบคือผมต้องบริหารเวลาให้มีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย แน่นอนว่าเวลาผมตรวจจะเป็นช่วงที่ยาวนาน แบบนั้นเราต้องไว้ใจในระบบที่วางไว้ โดยปล่อยให้ทุกอย่างรันไปและทำงานตรงหน้าอย่างเต็มที่ เหมือนเป็นการฝึกเรื่องความไว้ใจไปในตัว ตอนนี้ผมใช้เวลาคุ้มมากๆ ครับ (หัวเราะ)” 

ในดำจะมีขาวเสมอ

“ทุกครั้งที่เจออุปสรรค ผมจะคิดเสมอว่านี่ยังไม่ใช่ worst-case ยังไม่ใช่อะไรที่แย่ที่สุด และมักจะมีความโชคดีในความโชคร้ายเสมอ อย่างเหตุการณ์ที่รู้สึกเฮิร์ตที่สุดคือการไม่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกาศ นึกถึงทีไรผมยังรู้สึกเสียใจอยู่ แต่เมื่อมองย้อนกลับ ถ้าผมได้เป็นตัวจริงในวันนั้น ผมอาจจะไม่ได้เป็นหมอเฉพาะทางในวันนี้ และอาจจะไม่ได้มีทุนมาทำธุรกิจที่ผมรัก เพราะฉะนั้น ทุกปัญหา อุปสรรค หรือวิกฤตยังไม่ใช่ worst-case และย่อมมีโอกาสในวิกฤตทุกครั้งเสมอ แต่เพียงเมื่อเราเจอความยากบางอย่างระหว่างทาง เราต้องตั้งสติก่อน แล้วก็ค่อยๆ หาลู่ทางในการแก้ปัญหา  

ในทุกๆ บทบาทหน้าที่ ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยเจอกับภาวะเครียดและกดดัน แต่สิ่งที่ผมแนะนำได้คืออยากจะให้ทุกคนโฟกัสไปที่เป้าหมายหรือความสำเร็จที่รอคอยอยู่ ไม่ใช่ที่ความเครียดนั้น อยากให้ถือว่าความเครียดเป็นแรงผลักดันให้เกิดความสำเร็จดีกว่าเป็นตัวฉุดรั้ง ตัวผมเอง ผมเจอกับความเครียดในรูปแบบที่ไม่เคยเหมือนกันเลย ทั้งในความเป็นหมอ อาจารย์ ผู้ประกาศ หรือการเป็นเจ้าของธุรกิจ หลายๆ คนอาจคลายความเครียดด้วยสิ่งที่สร้างความผ่อนคลาย แต่ผมชอบเปลี่ยนจากการผ่อนคลายความเครียดตรงนั้นโดยไปหาสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างอื่น แต่ในความเครียดที่เกิดขึ้นจะมีความสำเร็จซ่อนอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้น เมื่อผมเครียดปุ๊บ ผมรู้แล้วแหละเดี๋ยวมันจะตัดจบ เพราะเราต้องไปทำอย่างอื่นแทน ผมเรียกว่าเป็นการถ่ายเทความเครียดซึ่งกันและกัน แต่ว่าได้ผลสำเร็จสองอย่าง เป็นความตื่นเต้นและความท้าทายซึ่งทำให้ชีวิตในแต่ละวันของผมมีสีสันและครบรสครับ”

ภาพ: มณีนุช บุญเรือง 
ขอบคุณสถานที่: Beaker and Bitter 

บทความที่เกี่ยวข้อง