รู้หรือไม่? ‘อารมณ์สุข อารมณ์เศร้า’ ส่งผลต่อสมอง

Brain / Health

การดูแลสุขภาพของเราในเรื่องของสมองเป็นสิ่งสำคัญ เราอาจจะเข้าใจว่า ‘สมอง’ มีหน้าที่ควบคุมการทำงานส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมถึงอารมณ์และความรู้สึก แต่รู้หรือไม่ว่า ‘อารมณ์’ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ส่งผลต่อการทำงานของสมองด้วยเช่นกัน อารมณ์และสมองมีความสัมพันธ์กันทั้งสองทิศทาง มีการศึกษาการทำงานของสมองด้วย fMRI (Functional Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจการทำหน้าที่ของสมอง โดยการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของระดับออกซิเจน เมื่อมีการไหลเวียนของเลือดในขณะที่สมองส่วนนั้นๆ กำลังทำงานหรือหยุดพักพบว่า ในขณะที่มีอารมณ์เศร้า กลัว หรือ วิตกกังวล สมองที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์แต่ละส่วนก็จะมีการทำงานที่แตกต่างกันไป

สมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอารมณ์ (limbic system) นั้นได้รับความสนใจและทำการศึกษามายาวนาน โดยมีความเกี่ยวข้องกับหลายๆ บริเวณที่สำคัญของสมอง ทั้งสมองส่วน cortical area ไปจนถึงสมองส่วนของ subcortical area ไม่ว่าจะเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์ (prefrontal cortex) ส่วนที่ทำหน้าที่เรียนรู้ละความจำ (hippocampus) ส่วนที่ตอบสนองต่อความเครียด (amygdala) ส่วนที่ทำหน้าที่ประมวลผลอารมณ์และการควบคุมพฤติกรรม (cingulate gyrus) ยังรวมไปถึงสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความดันเลือด ความต้องการพื้นฐานของร่างกายและการสร้างฮอร์โมนต่างๆ (hypothalamus) อีกด้วย ซึ่งจะพบว่าส่วนของสมองเหล่านี้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และนอกเหนือจากการรับผิดชอบเกี่ยวกับอารมณ์แล้ว ยังรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องของความจำและพฤติกรรมของมนุษย์อีกด้วย

‘อารมณ์’ กับการทำงานของสมอง

อารมณ์ของคนเรามีได้หลากหลาย ซึ่งอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์เรามักได้แก่ อารมณ์โกรธ กลัว ประหลาดใจ ขยะแขยง รังเกียจ มีความสุข สนุกสนาน และเศร้า แต่ในบางภาษาและบางวัฒนธรรมอาจจะมีอารมณ์อื่นๆ มากกว่านี้ได้ อารมณ์แต่ละชนิดก็มีความเกี่ยวข้องและกระตุ้นสมองแต่ละส่วนมากน้อยแตกต่างกัน เช่น เมื่อมีเรื่องที่ทำให้ตกใจกลัว สมองส่วนอมิกดาลา (amygdala) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเหตุผลและอารมณ์จะถูกกระตุ้น ทำให้วงจรต่างๆ ทำงานและมีการส่งกระแสประสาทไปยังก้านสมองซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานงานของร่างกาย และมีการตอบสนองต่อความกลัวด้วยการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงาน จึงเกิดอาการใจสั่น เหงื่อแตก มือเท้าเย็น เป็นต้น

‘อารมณ์ทางบวก’ สมองทำงานอย่างไร

นอกจากอารมณ์ทางบวกที่มีผลกระตุ้นสมองส่วนเกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์ (prefrontal cortex) และสมองส่วนอื่นๆที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอารมณ์ (limbic system) แล้วยังพบว่า อารมณ์ในทางบวกมีการกระตุ้นสารเคมีต่างๆในสมอง เช่น ฮอร์โมนแห่งความสุข (endorphin) ฮอร์โมนทำให้รู้สึกดี (dopamine) ฮอร์โมนที่ลดอาการซึมเศร้า (serotonin) ฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อภาวะเครียด (norepinephrine) และฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ (melatonin) ซึ่งสารสื่อประสาท (neurotransmitter) เหล่านี้นอกจากมีบทบาทในเรื่องของอารมณ์แล้วยังมีบทบาทในเรื่องของการเรียนรู้และความจำอีกด้วย หรือโดยสรุปคืออารมณ์ทางบวกส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และการจำที่ดียิ่งขึ้น

‘อารมณ์ทางลบ’ กับผลกระทบต่อสมอง

มีการศึกษาพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาเป็นระยะเวลานานและเรื้อรัง จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ นอกจากนี้ในการศึกษาหลายๆ การศึกษายังพบความสัมพันธ์ของภาวะซึมเศร้ากับขนาดของสมอง และการทำงานของสมองที่ลดลงในบริเวณที่จำเพาะต่างๆ เช่น hippocampus ซึ่งเป็นสมองที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความจำ และสมองส่วน prefrontal cortex ซึ่งเป็นสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน การตัดสินใจ และการคิดเป็นระบบอย่างซับซ้อน และในทางตรงกันข้ามผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสมอง เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ต่างก็มีความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าได้สูงกว่าบุคคลทั่วไปเช่นกัน

‘อารมณ์ทางลบ’ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยทางด้านจิตสังคม (psychosocial factor) มีผลต่อการเกิดอารมณ์ทางลบได้มาก เช่น การเผชิญความเครียดเป็นระยะเวลานานๆ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ปัญหาทางด้านหน้าที่การงานหรือเศรษฐกิจ ล้วนแล้วแต่สามารถกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางด้านลบได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่กับโรคโควิด-19 ที่ทุกคนต้องปรับตัวให้มีการทำงานและการใช้ชีวิตในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป มีโอกาสได้พบเจอผู้อื่นหรือเข้าสังคมกับผู้อื่นได้น้อยลง หากผู้ใดมีปัญหาในการปรับตัวกับการใช้ชีวิตแบบใหม่ได้ยาก เช่น ผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ มากกว่าคนอายุน้อย อาจทำให้เกิดเป็นภาวะเครียดสะสมเรื้อรังจนทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้

การดูแลสุขภาพในเรื่องของสมองนั้นจะเห็นได้ว่าอารมณ์กับสมองนั้นมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางบวกหรือลบย่อมส่งผลต่อการทำงานของสมองทั้งสิ้น ดังนั้นการบริหารอารมณ์ให้สมดุลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการบริหารอารมณ์ให้สมดุลนั้นไม่ใช่การพยายามกำจัดอารมณ์ทางด้านลบหรือพยายามเพิ่มอารมณ์ในเชิงบวก หากแต่คือการตระหนักรู้อารมณ์ของตนเองและยอมรับในอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ รวมถึงการรับรู้ว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้นก็สามารถลดน้อยและหายไปได้ โดยใช้หลักการ mindfulness practice ซึ่งจะทำให้สามารถรับมือกับอารมณ์ทั้งหลายได้สมดุลมากขึ้น โดยไม่ต้องพยายามไปจัดการกับมัน

บทความที่เกี่ยวข้อง