สูงวัยแบบสุดยอด… เคล็ดลับสู่การเป็น Super Ager

Care

หลายคนฝันอยากมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว เพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่กับลูกหลาน ทำในสิ่งที่รัก และทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมให้นานเท่านาน แต่มันจะดียิ่งกว่าไหม? หากคุณมีอายุยืนยาว พร้อมสุขภาพกาย ใจ และสมอง ที่แข็งแรงเทียบเท่าคนที่อายุอ่อนกว่าคุณสัก 10 ปี

ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ผู้สูงอายุในวัย 80 จะสามารถมีร่างกายและสมองที่อ่อนวัยเท่ากับคนในวัยกลางคน คำตอบคือ เป็นไปได้ค่ะ แล้วคุณก็ไม่ต้องมีพลังวิเศษแบบ Super Hero ด้วย แต่… คุณต้องเป็น Super Ager

ใครบ้างที่จัดเป็น Super Ager

คำว่า Super Ager หรือแปลเป็นไทยก็คงจะประมาณ ‘สุดยอดผู้สูงวัย’ หรือ ‘สุดยอดสว.’ หมายถึงผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 70-80 หรือมากกว่านั้น แต่มีสมรรถภาพทางกาย จิตใจ และสมองที่แข็งแรงเทียบเท่าหรืออาจดีกว่าคนที่อายุอ่อนกว่าสัก 10 ปี 

ปกติแล้ว เมื่อมีอายุมากขึ้น สมองของคนส่วนมากจะหดเล็กลง โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ที่มักสูญเสียเซลล์สมองไปราว 2.24% ต่อปี แต่สำหรับ Super Ager นั้น พวกเขาจะสูญเสียเซลล์สมองช้ากว่าคนในวัยเดียวกัน คือราว 1.06% ต่อปี รวมทั้งยังมี Entorhinal Cortex หรือเซลล์สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจดจำและเรียนรู้ ที่มีขนาดใหญ่และสุขภาพดีกว่าคนในวัยเดียวกันอีกด้วย 

ว่าแต่… เหล่าสุดยอดสว.เหล่านี้ทำอย่างไรถึงได้มีเซลล์สมองที่แข็งแรงเทียบเท่าคนที่เด็กกว่าเป็นสิบปีได้ขนาดนี้?

เคล็ดลับสู่การเป็น Super Ager

นอกจากหลักการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน อย่าง การกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว หากอยากจะเป็น Super Ager ก็ยังมีอีก 4 ข้อหลักๆ ที่คุณต้องทำดังต่อไปนี้

1. เคลื่อนไหวอยู่เสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

เมื่อคุณมีกิจกรรมให้เคลื่อนไหวออกกำลังกายอยู่เสมอ ปอดของคุณก็จะรับเอาออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น แล้วนำไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเพื่อให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น การออกกำลังกายยังช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้นอกจากจะลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ฯลฯ ก็ยังลดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ด้วย เพราะตามสถิติแล้ว ผู้สูงวัยที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ถึง 3 เท่าตัวเลยทีเดียว 

ส่วนการออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้สูงวัยคือ การออกกำลังกายที่ไม่หนักเกินไป เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน (แนะนำจักรยานที่ตั้งอยู่กับที่และเป็นแบบเอนหลัง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและอาการปวดหลัง) หรือเต้นรำ โดยออกกำลังกายครั้งละ 20-40 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ 

2. ลับสมอง

คุณสมบัติหนึ่งของการเป็น Super Ager ที่บรรดานักวิจัยให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ คือ การเป็นผู้สูงวัยที่มีสมรรถภาพทาง ‘สมอง’ เป็นเลิศ ปลอดจากโรคความจำเสื่อม โดยเฉพาะ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ที่คุกคามผู้สูงวัยเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

เช่นเดียวกันกับร่างกาย ถ้าอยากให้สมองแข็งแรง เราก็ต้องออกกำลังสมองด้วย การบริหารสมองคือการหาความท้าทายใหม่ๆ ให้กับตัวเอง ลองออกจากกิจวัตรประจำวันที่คุณคุ้นชินและหันมาทำอะไรใหม่ๆ ที่คุณไม่คุ้นเคยมาก่อน หรือลองทำในสิ่งที่คุณเคยแต่ให้คนอื่นทำให้เป็นประจำ เช่น คุณอาจลองจ่ายบิลออนไลน์ด้วยตัวเอง สั่งอาหารทางแอปพลิเคชันด้วยตัวเอง ซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กๆ แล้วประกอบเอง ลุกขึ้นมาจัดมุมใหม่ๆ ในบ้านให้เป็นระเบียบและแตกต่างไปจากเดิม เป็นอาสาสมัครพาหมาในศูนย์พักพิงเดินเล่น เรียนรู้เครื่องดนตรีใหม่ๆ เรียนภาษาใหม่ๆ วาดรูป หรืออาจเป็นงานอดิเรกที่คุณอยากทำมาตลอดชีวิต แต่ไม่เคยมีเวลาหรือโอกาสได้ทำมาก่อนก็ได้

3. สร้างความสัมพันธ์

การเข้าสังคมและมีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับผู้คนรอบข้างไม่เพียงส่งผลดีต่อสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สมองของคุณแข็งแรงขึ้นด้วย

Dr. Emily Rogalski นักประสาทวิทยาที่ศึกษาเรื่อง Super Ager จากมหาวิทยาลัย Northwestern ในชิคาโก บอกไว้ว่าสุดยอดผู้สูงวัยมักจะเป็นคนที่ชอบเข้าสังคม ห้อมล้อมไปด้วยครอบครัวและเพื่อนอยู่เสมอ และมักไปปรากฏเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมทางสังคมต่างๆ Dr.Rogalski ยังค้นพบอีกว่า สุดยอดผู้สูงวัยเหล่านี้จะมีพื้นที่ที่ลึกเข้าไปในสมองที่ใหญ่กว่าคนในวัยเดียวกัน โดยในบริเวณสมองส่วนนี้เต็มไปด้วยเส้นประสาทที่มีส่วนสำคัญในการรับรู้และประมวลผล รวมทั้งยังมีเซลล์สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจดจำและเรียนรู้ (Entorhinal Cortex) ที่มีขนาดใหญ่และสุขภาพดีกว่าคนในวัยเดียวกันด้วย ซึ่งเซลล์สมองในส่วนนี้จะเป็นหนึ่งในด่านแรกๆ ที่ต้องรับมือกับการโจมตีของอัลไซเมอร์

4. มีความสุขกับชีวิต

อีกหนึ่งลักษณะที่ Dr.Rogalski พบในบรรดา Super Agers คือ พวกเขามักเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีและมีความสุขกับการใช้ชีวิต โดยสุดยอดสว.บางคนก็สนุกกับชีวิตถึงขั้น ‘ดื่ม’ แทบทุกคืนด้วย!

แต่เดี๋ยวก่อนนะคะ นักวิจัยไม่ได้สนับสนุนให้คุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันในปริมาณมากหรือบ่อยเกินไป แต่ดื่มนิดๆ หน่อยๆ เมื่อเข้าสังคม สนุกกับเพื่อนฝูง หรือเพิ่มบรรยากาศการพักผ่อนเท่านั้น โดยพวกเขาพบว่าผู้ที่ดื่มอย่างพอดีนี้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม 23% แต่ย้ำอีกครั้งว่าต้องดื่มแต่พอดีเท่านั้น เพราะถ้าดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปก็จะกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงต่ออัลไซเมอร์แทน

ไม่ยากเกินไปใช่ไหมคะสำหรับ 4 ข้อง่ายๆ สู่การเป็น Super Ager เราอยากให้ผู้สูงวัยทุกคนได้ลองทำ จะได้มีความสุขกับชีวิตในบั้นปลายได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญ นอกจาก 4 ข้อนี้แล้ว อย่าลืมดูแลเรื่องการกิน การพักผ่อน และความเครียดด้วย อะไรที่ปล่อยวางได้ก็ควรปล่อยวาง เพราะนับเป็นกำไรชีวิตที่เกินคุ้มแล้วถ้าคุณมีอายุยืนยาวมาถึงวันนี้ได้ 

อ้างอิง: 

health.harvard.edu
nm.org
edition.cnn.com

บทความที่เกี่ยวข้อง