‘อัลไซเมอร์’ รู้ได้ด้วย PET Scan จริงหรือ?

Brain / Health

หลายท่านน่าจะพอทราบแล้วว่า โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) นั้นเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 60-80% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด และส่วนใหญ่มักเป็นในผู้สูงอายุ แต่…มิได้หมายความว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นความผิดปกติตามวัย อัลไซเมอร์เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสื่อมถอยของสติปัญญาอย่างช้าๆ ส่วนใหญ่มักเริ่มที่ความจำ ทำให้หลงลืม ถามซ้ำ เมื่อการดำเนินโรคมากขึ้น การรู้คิดในแง่ต่างๆ ก็จะถดถอย เช่น หลงทาง สื่อสารไม่เข้าใจ แสดงอารมณ์พฤติกรรมไม่เหมาะสม ช่วยเหลือตนเองได้ลดลงจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง โดยสาเหตุของอัลไซเมอร์นั้นเริ่มต้นมาจากความผิดปกติเล็กๆ ในสมองนั่นเอง

มหานครที่เรียกว่า ‘สมอง’

เรามาทำความรู้จักสมองของเรากันซักนิดนะครับ ในสมองของมนุษย์เรานั้นมีเซลล์ประสาท (neuron) ประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์เลยทีเดียว โดยเซลล์ประสาทเหล่านั้นจะจัดเรียงกันเป็นร่างแหและแบ่งการทำงานกันอย่างมีระเบียบ ซึ่งเซลล์ประสาทแต่ละกลุ่มนั้นจะทำหน้าที่อย่างจำเพาะ บางกลุ่มทำหน้าที่คิดวิเคราะห์ บางกลุ่มทำหน้าที่จดจำ บางกลุ่มรับกลิ่น บางกลุ่มรับภาพ เป็นต้น ‘สมอง’ จึงเปรียบดังมหานครใหญ่ที่แต่ละส่วนต่างทำหน้าที่ของตน โดยสอดประสานคำสั่งหรือส่งผลิตภัณฑ์ให้ส่วนอื่นๆ ผ่านสายใยประสาท มหานครใหญ่ที่ชื่อว่าสมองนี้ทำงานอย่างหนักตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งช่วงตื่นและช่วงหลับ และมีส่วนสนับสนุนที่เรียกว่า เซลล์เกลีย (glial cell) คอยค้ำจุนการทำงานของเซลล์ประสาท  สมองรับพลังงานจากภายนอกและขับของเสียออกไป ซึ่งมหานครนี้จะยังคงมีประสิทธิภาพดีจนกระทั่งมีความผิดปกติเล็กๆ เกิดขึ้น 

ความผิดปกติของ ‘สมอง’ กับ ‘อัลไซเมอร์’

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ความผิดปกติเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในสมองนั้นเกิดจากความผิดปกติของโปรตีน 2 ชนิด ที่เรียกว่า beta- amyloid (เบต้า อะไมลอยด์) และ Tau (เธาว์) หากเกิดการสะสมของ beta-amyloid จะทำให้เกิด plaques (แผ่น) และการสะสมของ Tau จะทำให้เกิด tangles (สายพันแบบยุ่งเหยิง)  

 

การเกิด plaques และ tangles นี้จะไปทำลายเซลล์ประสาท ทำให้การเชื่อมต่อของสายใยประสาทนั้นเสื่อมลงและเกิดกระบวนการอักเสบ อีกทั้งยังทำให้การสนับสนุนจากเซลล์เกลียแย่ลงอีกด้วย การไหลเวียนของหลอดเลือดขนาดเล็กก็แย่ลงทำให้พลังงานที่เข้าสู่สมองลดลง การกำจัดของเสียถดถอย สารสื่อประสาทต่างๆ แปรปรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเชื่อว่าเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญของโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งการสะสมของ beta-amyloid และ Tau อย่างยาวนานนับสิบปีจนมี plaques และ tangles ครอบคลุมเนื้อสมองจะทำให้สมองนั้นค่อยๆ เหี่ยวลงจนกระทั่งสูญเสียศักยภาพในด้านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเริ่มที่ปัญหาความจำ และเมื่อการดำเนินโรคมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้การรู้คิดโดยรวมเสื่อมถอยและการช่วยเหลือตนเองจะด้อยลงในที่สุด

ด้วยความรู้นี้ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้ไวขึ้น โดยการตรวจ beta-amyloid และ Tau ด้วยกรรมวิธีต่างๆ อาทิเช่น การวัดปริมาณ beta-amyloid และ Tau ในน้ำไขสันหลัง ซึ่งในอนาคตอาจจะสามารถตรวจในเลือดได้ หรืออาจใช้การตรวจด้วย PET scan (Positron Emission Tomography scan) เป็นต้น

ทำความรู้จัก PET scan vs อัลไซเมอร์ 

มารู้จัก PET scan กันบ้างดีกว่าครับ PET scan เป็นการตรวจภาพวินิจฉัยที่อาศัยสารเภสัชรังสี โดยการนำสารกัมมันตภาพรังสีที่จับกับสารที่มีความจำเพาะกับโปรตีนที่ต้องการตรวจ ในกรณีนี้คือ beta-amyloid และ Tau นั่นเอง ด้วยเทคนิคนี้จะทำให้เราสามารถเห็นภาพการสะสมของ beta-amyloid และ Tau ในเนื้อสมองได้ และในเทคนิคสารเภสัชรังสีกลุ่มอนุพันธ์น้ำตาล อาจทำให้เห็นการทำงานในระดับเซลล์ได้ด้วย ซึ่งการตรวจ PET scan นี้สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอัลไซเมอร์ได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ ได้

ถึงแม้เทคโนโลยีปัจจุบันจะก้าวไกลจนสามารถระบุ beta-amyloid และ Tau ในเนื้อสมองได้ด้วย PET scan แต่ ไม่แนะนำ ให้ตรวจในผู้ที่มีการรู้คิดปกติหรือไม่มีอาการนะครับ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า beta-amyloid และ Tau นั้นก็สามารถพบได้ในคนปกติตามวัยด้วยเช่นกัน แต่จะมีเด่นขึ้นมากขึ้นในผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งการตรวจ PET scan ไม่จำเป็นต้องตรวจในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทุกรายหรือผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์อย่างชัดเจนอยู่แล้ว คงสงสัยกันใช่ไหมครับว่า กรณีไหนที่ควรตรวจด้วย PET scan ในทางการแพทย์เราจะใช้ PET scan ช่วยวินิจฉัยโรคในกรณีที่การดำเนินโรคของสมองเสื่อมไม่เป็นไปตามแบบแผน เช่น แยกโรคอัลไซเมอร์กับโรคอื่นไม่ได้ หรือกรณีที่เป็นโรคสมองเสื่อมในผู้ที่มีอายุน้อย เป็นต้น ซึ่งการวินิจฉัยโรคนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลรักษา แต่การตรวจ PET scan นั้นก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง เกี่ยวกับปัญหาของระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหากต้องอดอาหารในการตรวจบางเทคนิค และมีโอกาสแพ้สารทึบรังสีหากมีการตรวจร่วมกัน  

4 ข้อง่ายๆ ห่างไกลอัลไซเมอร์

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ‘การป้องกันโรคอัลไซเมอร์’ จึงมีความสำคัญอย่างที่สุด ไม่ว่าจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงต่ออัลไซเมอร์ก็ตาม มีการศึกษาวิจัยอย่างแน่ชัดแล้วนะครับว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคสมองเสื่อมสามารถป้องกันได้ โดย 

  1. ควบคุมไม่ให้มีภัยอันตรายต่อสมอง อาทิ หยุดบุหรี่ คุมเบาหวาน คุมน้ำหนัก ระวังอุบัติเหตุต่อศีรษะ ดื่มสุราในปริมาณที่เหมาะสม 
  2. ถนอมจิตใจให้แจ่มใส หากมีภาวะซึมเศร้าให้รักษา  
  3. เสริมสร้างศักยภาพสมองด้วยการออกกำลังกายและการเข้าสังคม 
  4. หากมีการได้ยินเสื่อมให้รีบตรวจรักษา 

อย่ามองข้าม…สัญญาณเตือนอัลไซเมอร์

หากมีสัญญาณเตือนของอัลไซเมอร์เกิดขึ้นแล้วแนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยละเอียดต่อไป โดยสัญญาณที่สงสัยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งสมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer association) ได้สรุปไว้ มีดังนี้ครับ

โดยสรุปแล้ว โรคอัลไซเมอร์เกิดจากสาร beta-amyloid และ Tau ที่สะสมในเนื้อสมอง ทำให้ระบบประสาท รวมถึงการเชื่อมต่อโดนทำลายจนเกิดความผิดปกติทั้งด้านความจำ พฤติกรรม และการดูแลตนเอง  ซึ่งการตรวจ beta-amyloid และ Tau นั้นมีหลายเทคนิค โดย PET scan เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีแต่ควรตรวจในรายที่จำเป็น เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาต่อไปนั่นเองครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง