ความเครียด…แม้หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถรับมือได้

ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 การใช้ชีวิตของคนในสังคมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากต้องป้องกันการระบาดไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อมากขึ้น วิถีชีวิตแบบเดิมจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เกิดการทำงานผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปที่ทำงาน นักเรียน นักศึกษา หรืออาจารย์ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้เป็นแบบออนไลน์เช่นกัน หากมองเพียงผิวเผินอาจดูเป็นเรื่องดีที่ไม่ต้องเดินทาง สามารถใช้เวลาอยู่ที่บ้านกับครอบครัวได้ แต่ในความเป็นจริงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลต่อการปรับตัวในสังคมมนุษย์เสมอ จากการทำงานที่มีเวลาเข้างาน ออกงานที่ชัดเจน กลายเป็นอยู่ที่บ้านทำงานเวลาไหนก็ได้จนขอบเขตของเวลาทำงานและการใช้ชีวิตปะปนกัน หลายคนรู้สึกเหมือนตนเองทำงานตลอดเวลาจนไม่มีเวลาพัก บางคนรู้สึกว่าภาระงานของตนเองเพิ่มขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เวลาที่เครียดหรือเบื่อ เราสามารถออกไปผ่อนคลายพบปะเพื่อนฝูง รับประทานอาหาร ทำกิจกรรมร่วมกัน ไปเที่ยวต่างสถานที่เพื่อเป็นการพักผ่อน สามารถมีเวลาส่วนตัว แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์เช่นนี้กิจกรรมดังกล่าวก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทำให้คนในสังคมไม่สามารถผ่อนคลายความเครียดของตนเองได้ดีเหมือนเมื่อก่อน จากสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นก็เพิ่มความเครียดมากกว่าปกติอยู่แล้ว อีกทั้งยังไม่สามารถมีวิธีลดความเครียดได้ตามที่ควรจะเป็นอีก จะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงทำให้สังคมต้องเจอปัญหาด้านสุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตตามไปด้วยโดยเฉพาะเรื่องความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น

ความเครียดไม่ดีจริงหรือ

ความเครียดคือปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นความรู้สึกที่ทำให้มนุษย์เกิดการตื่นตัวเพื่อหาทางปรับตัวในการดำเนินชีวิต จริงๆ แล้วความเครียดเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดเพียงแค่ในมนุษย์เท่านั้น สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็ใช้ความเครียดเป็นสัญชาตญาณเพื่อการอยู่รอด ทำให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ ดังนั้นความเครียดที่เกิดขึ้นกับมนุษย์จึงไม่ได้มีผลเสียเพียงอย่างเดียวอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ ความเครียดในระดับที่เหมาะสมจะทำให้เราเกิดการเตรียมตัว คิดวางแผน มีเป้าหมาย มีความทะเยอทะยาน ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต หากเราปราศจากซึ่งความเครียด การใช้ชีวิตแต่ละวันจะเป็นไปด้วยความเฉื่อยชา ไร้แรงกระตุ้น อาจไม่ถึงขั้นล้มเหลวในชีวิต แต่ก็เป็นอุปสรรคในความก้าวหน้าของการใช้ชีวิต 

ความเครียดส่งผลต่อเราอย่างไรบ้าง

คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะเครียด จากที่กล่าวข้างต้น ความเครียดเป็นผลจากปฏิกิริยาของร่างกาย ดังนั้นสัญญาณของความเครียดจะแสดงออกผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 

  1. การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

เมื่อเกิดความเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) จะทำงานมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าร่างกายอุ่นขึ้น เหงื่อออก ใจสั่น สีผิว-ใบหน้าดูแดงขึ้น หายใจไม่อิ่ม ปวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ บางรายมีอาการท้องไส้ปั่นป่วน รู้สึกอยากถ่าย คลื่นไส้ อาเจียน อาการเครียดอาจมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเมื่อมีอาการเครียดอาจทำให้ร่างกายติดเชื้อง่ายขึ้นหรือมีผื่นคล้ายภูมิแพ้ตามร่างกายได้

  1. อาการทางอารมณ์ความรู้สึก

การตอบสนองทางอารมณ์ความรู้สึกสามารถเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น หงุดหงิด โมโห เบื่อ เศร้า เสียใจ กังวล กลัว คิดแง่ลบ ทำอะไรแล้วไม่สนุกเท่าเดิม เป็นต้น โดยอารมณ์ที่เกิดขึ้นเราอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ดังนั้นคนรอบข้างอาจจะมีส่วนช่วยในการสะท้อนว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือไม่

  1. การแสดงออกด้านพฤติกรรม

เช่นเดียวกันกับอารมณ์ความรู้สึก มนุษย์จะมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเมื่อเกิดความเครียดโดยอาจจะรู้หรือไม่รู้ตัว เช่น กัดเล็บ ดึงผม แกะเกาผิวหนัง กระสับกระส่ายอยู่ไม่สุข กินเยอะขึ้นหรือลดลง นอนไม่หลับหรืออยากหลับมากกว่าปกติ แยกตัว สมาธิความจำแย่ลง หรือบางรายอาจแสดงออกผ่านการซื้อของเยอะขึ้น เล่นเกมหรือเล่นโซเชียลมีเดียเยอะขึ้น  

โดยอาการทั้ง 3 ด้านที่กล่าวข้างต้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน และแต่ละคนก็จะมีการแสดงออกที่ไม่เหมือนกัน บางคนมีอาการเด่นทางด้านร่างกาย แต่ไม่ชัดเจนในอาการด้านพฤติกรรม หรืออาจจะตรงกันข้าม ดังนั้นหากเราได้ฝึกสังเกตสัญญาณที่แสดงออกถึงความเครียดของตัวเรา รู้ทันอาการนั้น จะสามารถทำให้เรารับรู้และสามารถจัดการกับความเครียดได้ดียิ่งขึ้น   

รับมืออย่างไรหากรู้สึกเครียด

เมื่อเรารู้ว่ามีความเครียดเกิดขึ้น วิธีการในการจัดการความเครียดที่เหมาะสมคือ รับรู้ความรู้สึกเครียด ยอมรับ และใช้เวลาอยู่กับอารมณ์ด้านลบนั้น เนื่องจากความเครียดเป็นพลังงานทางอารมณ์รูปแบบหนึ่ง จึงต้องการการรับรู้ถึงการมีอยู่เสมอ หากเราได้ใช้เวลากับอารมณ์นั้น ความเครียดจะค่อยๆ เจือจางและดีขึ้นไปเอง (หากเป็นความเครียดในระดับปกติ) หลายคนมักเข้าใจผิดว่า หากเกิดอารมณ์ด้านลบขึ้นควรพยายามกดหรือลืมมันไป พยายามไม่ใส่ใจ การทำเช่นนั้นอาจจะรู้สึกดีขึ้นในช่วงแรก แต่พลังงานด้านลบนั้นไม่ได้หายไป ซ้ำยังเก็บสะสมไว้เพื่อรอวันที่จะรู้สึกแย่อีกเมื่อใจเราไม่พร้อม ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้เราได้อยู่กับความเครียด ความเปราะบางทางอารมณ์จึงมีความสำคัญในการจัดการความเครียด แต่ถ้าหากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่พร้อมให้อารมณ์เข้ามามีผลเต็มที่ เช่น กำลังทำงาน หรือเตรียมตัวสอบ อาจใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจเข้ามาช่วยก่อน โดยการรู้ทันความเครียดของตนเอง และหันไปให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น สังเกตว่ามีอะไรบ้างรอบตัวเราที่มีสีฟ้า หรือใช้การกำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นต้น เทคนิคอื่นๆ ในการจัดการความเครียด เช่น การระบายความรู้สึกคับข้องใจนั้นออกไป อาจทำได้โดยการพูดคุยกับคนรอบข้างที่ไว้ใจ ระบายโดยการเขียนหรือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งระบายผ่านการออกแรง เคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกาย เทคนิคการระบายนี้ก็เหมือนการทำให้อารมณ์ด้านลบค่อยๆ เจือจางลงนั่นเอง จากที่กล่าวข้างต้นว่าสาเหตุหนึ่งของความเครียดคือการที่เราไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือบุคคลรอบข้างได้เหมือนปกติ ดังนั้นการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ผ่านการสื่อสารออนไลน์จะช่วยทำให้เรายังคงไว้ในการมีส่วนร่วมทางสังคม ประการสุดท้ายคือการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือเรียนในที่พักอาศัยให้มีสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อให้เรามีขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น ลดความรู้สึกว่าต้องทำงานตลอดเวลา

เครียดแบบไหนควรมีที่ปรึกษา

ถ้าหากความเครียดที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงและมีอาการเป็นระยะเวลานาน เกิดอารมณ์เศร้า เบื่อหน่ายติดต่อกันเกือบทั้งวัน เกือบทุกวัน ไม่มีความสุขหรือมีไม่เท่าเดิมกับกิจกรรมที่เคยทำแล้วรู้สึกดี น้ำหนักลดหรือเพิ่มเกินร้อยละ 5 จากพื้นฐานเดิม นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป รู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนแรงง่ายขึ้น สมาธิความจำแย่ลง รู้สึกผิดหรือรู้สึกไร้ค่า ปวดตึงกล้ามเนื้อมากขึ้น หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่หรืออยากทำร้ายตัวเอง และอาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ประสิทธิภาพการทำงานหรือการเรียนแย่ลง ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเปลี่ยนแปลงไปมาก หากมีอาการดังกล่าวอาจมีความเป็นไปได้ว่าความเครียดที่มีไม่ใช่ความเครียดตามธรรมชาติ สมองและสารสื่อประสาทมีการทำงานที่ผิดปกติไป หรือเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล เทคนิคการจัดการความเครียดที่กล่าวไปอาจไม่เพียงพอ ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินอาการและเข้ารับการรักษาต่อไป

เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคมไปอีกนานเท่าใด แต่ถ้าหากเราได้ฝึกฝนที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจอารมณ์ด้านลบ ปรับตัวในสถานการณ์นี้ได้มากขึ้น เราก็จะสามารถใช้ชีวิตในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข

Share :
go to top