วิถีชีวิตสมัยใหม่ในโลกออนไลน์ กำลังทำร้ายสมองของเราอย่างไรบ้าง

Care / Self Care

ทุกวันนี้ เราต่างอาศัยอยู่ใน ‘ยุคสมัยแห่งข้อมูลข่าวสาร’ (Information Age) ที่เริ่มก่อกำเนิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนโดยมี ‘อินเทอร์เน็ต’ (Internet) เป็นแรงผลักดันสำคัญ และพร้อมๆ กับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของอินเทอร์เน็ต เราก็ได้เห็นการสื่อสารและการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่มากมายที่เราไม่เคยจินตนาการมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นจริง เช่น เราสามารถพูดคุยมองหน้ามองตากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่อยู่ห่างไกลในอีกซีกโลกได้ เราเลือกซื้อของ จ่ายค่าไฟค่าน้ำ ทำธุรกรรมทางการเงิน หรือแม้แต่ตัดต่อวิดีโอ โดยใช้สมาร์ทโฟนเพียงแค่เครื่องเดียว เราเฝ้าดูชีวิตของเพื่อนแต่ละคนผ่านทางโซเชียลมีเดีย เราเสพข่าวสารบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในแบบที่เกือบจะเรียลไทม์ และเราสามารถทำงานหรือประชุมออนไลน์ได้จากเกือบทุกที่ทั่วโลก 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการสื่อสารทำให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น นี่เป็นข้อดีของยุคสมัยแห่งข้อมูลข่าวสาร แต่… เหรียญย่อมมีสองด้าน และยุคสมัยที่ว่านี้ก็เช่นกัน ว่าแต่ข้อเสียของยุคสมัยแห่งความรวดเร็วสะดวกสบายนี้คืออะไรกัน? มันมีข้อเสียอยู่ด้วยเหรอถ้ามันทำให้ชีวิตของเราง่ายดายขนาดนี้? หลายคนอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าวิถีชีวิตหลายอย่างกำลังทำร้าย ‘สมอง’ ของเรา

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองชักจะเป็น ‘พวกเสพติดข่าวสาร’ (Infomania) คือ ติดนิสัยหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาไถฟีดโซเชียลมีเดียดูบ่อยๆ วันละหลายๆ ครั้ง และเริ่มรู้สึกว่าตัวเองใช้เวลาทำงานตรงหน้ามากขึ้นกว่าเดิม ทั้งๆ ที่จำนวนงานก็เท่าเดิม ถ้าคุณติดนิสัยทำอะไรต่อมิอะไรอย่างรวดเร็ว ตอบอีเมล รับโทรศัพท์ สั่งอาหาร ไลน์หาเพื่อน ฯลฯ แล้วรู้สึกว่าตัวเองจำอะไรต่างๆ ได้น้อยลงทุกที หรือถ้าคุณชอบทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน กินข้าวไปคุยงานทางไลน์ไป นั่งทำงานอยู่ก็ต้องแวบไปเสิร์ชเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วเริ่มพบว่าตัวเองโฟกัสกับงานหรืออะไรที่ต้องใช้เวลาระยะยาวไม่ได้ เช่น ไม่สามารถอ่านหนังสือได้จบเล่มสักที… 

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในจำนวนคนเหล่านี้ เราอยากให้คุณอ่านบทความชิ้นนี้ เพราะบอกได้เลยว่า ‘สมอง’ ของคุณกำลังถูกวิถีชีวิตในปัจจุบันเล่นงานเข้าแล้ว

เมื่อสมัยที่เราเริ่มมีโทรศัพท์มือถือใช้งานกัน คำว่า ‘เชื่อมต่อ’ (connect) เป็นอีกหนึ่งคำที่เครือข่ายโทรศัพท์มือถือจำนวนไม่น้อยนำไปใช้สร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ หรือแม้แต่ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียบางเจ้าก็ยังคงใช้เรื่องการเชื่อมต่อ (connection) ระหว่างครอบครัว เพื่อนฝูง  เป็นจุดขาย

จริงอยู่ที่เทคโนโลยีทางการสื่อสาร อย่าง Facebook, Facetime, Zoom, Line, Messenger ฯลฯ ทำให้เราเชื่อมต่อกับครอบครัวและคนรักที่อยู่ห่างไกลได้ รวมทั้งยังพิสูจน์ให้เห็นชัดด้วยว่ามีประโยชน์แค่ไหนในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา แต่… การสื่อสารทางออนไลน์ที่มากเกินไปจะทำให้สมองของเราสูญเสียโอกาสที่จะ ‘เชื่อมต่อ’ กับประสาทสัมผัสของเราเอง เพราะการสื่อสารด้วยการพิมพ์ข้อความเพียงอย่างเดียวจะปิดโอกาสไม่ให้สมองของเราได้ใช้ประสาทสัมผัสได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น การรับฟังน้ำเสียง การสัมผัส การอ่านภาษากาย ฯลฯ นอกจากนั้น หากเราใช้แต่การสื่อสารทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะกับเพื่อน คนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน เราก็มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างกันได้ เพราะแม้เราจะใช้วิดีโอคอลที่เห็นหน้าค่าตากันเหมือนนั่งอยู่ตรงหน้า แต่การสบตาคู่สนทนาผ่านจอก็ไม่มีทางเหมือนการพูดคุยและสบตากันแบบซึ่งหน้าได้เลย ยังไม่นับที่การสื่อสารทางวิดิโอคอลไม่สามารถสื่อสารในเรื่องที่ละเอียดอ่อนหรือซับซ้อนได้ดีเท่าการสื่อสารแบบตัวต่อตัว ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เราอาจพูดคุยติดต่อกันทางออนไลน์เป็นประจำก็จริง แต่เราจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างกันได้ และเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าขาดซึ่งความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สภาพจิตใจของเราก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดความเหงาและซึมเศร้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่อันตรายต่อสุขภาพสมอง

นอกจากนั้น งานวิจัยจาก University of Michigan ยังพบว่า การสื่อสารแบบตัวต่อตัวเพียงแค่ 10 นาทีต่อวัน ก็สามารถช่วยให้ระบบความจำและการรับรู้ของเราดีขึ้นได้ แต่การพัฒนาของสมองนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการสื่อสารทางออนไลน์ แม้ว่าภาพและเสียงผ่านจอและลำโพงจะคมชัดแค่ไหนก็ตาม

วิถีชีวิตของเราได้เปลี่ยนไปอย่างที่เราอาจแทบไม่ได้สังเกต ยกตัวอย่างการติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นต้น ก่อนหน้านี้ เราอ่านหนังสือพิมพ์ โดยใช้วิธีอ่านข่าวเรื่องหนึ่งที่ต้องใช้เวลาและสมาธิจดจ่อพอสมควร จากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนไปอ่านอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน ข่าวสารที่เราอ่านทางโซเชียลมีเดียมักเขียนด้วยความยาวไม่มาก หรือหลายสำนักก็มักใช้การสรุปเพียงสั้นๆ และมีลิงค์สำหรับอ่านบทความเต็ม (ซึ่งคนส่วนมากไม่ค่อยคลิกเข้าไปอ่าน) และเรายังมักมีนิสัย ‘นิ้วไถไปไวกว่าสมอง’ คือ เราเลื่อนหน้าจอไปอย่างรวดเร็ว อ่านโน่นอ่านนี่อย่างละนิดอย่างละหน่อย เปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งสู่เรื่องหนึ่งภายในไม่กี่วินาที

นอกจากนั้น ในวัฒนธรรมแบบใหม่ที่เรียกกันว่า วัฒนธรรม TikTok (รวมถึง Reels จาก Instagram และ Shorts จาก Youtube ที่ปรับตัวตาม TikTok) คนส่วนมากดูคลิปที่มีความยาวเพียงแค่ 20-30 วินาที แล้วก็กระโดดจากคลิปหนึ่งไปอีกคลิปหนึ่งอย่างรวดเร็ว ทำให้วันๆ หนึ่ง เราเสพข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงสั้นๆ เหล่านี้ เป็นจำนวนมากมายเต็มไปหมด แต่คำถามคือ เมื่อหมดวันแล้ว เราจำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน? หรือว่าในขณะที่เรา ‘รู้อย่างผิวเผิน’ เกี่ยวกับหลายสิ่งหลายอย่าง มีสิ่งใดบ้างที่เราได้ทำความรู้จักมันจนรู้อย่างลึกซึ้งและ ‘ละเอียด’ แท้จริง?

งานวิจัยจากหลายแห่งออกมายืนยันแล้วว่า การเสพข้อมูลข่าวสารสั้นๆ โดยกระโดดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งอย่างรวดเร็วในโซเชียลมีเดีย ทำให้ สมาธิของเราแตกออกเป็นเสี่ยงๆ (fragmented attention) ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ เราจะไม่สามารถโฟกัสกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ โดยเฉพาะองค์ความรู้หรือความคิดสลับซับซ้อนที่ต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจ และเมื่อสมาธิของเราถูกโพสต์หรือคลิปสั้นๆ ที่มีจำนวนมหาศาลเหล่านี้ทำให้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ แล้ว ความทรงจำของเราก็จะแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้เราไม่สามารถจดจำอะไรได้ดีเท่าที่ควรอีกด้วย 

พฤติกรรมการเสพข่าวสารนี้นับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงทั้งสำหรับผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย ที่เรายังไม่ทราบว่าอาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้มากน้อยแค่ไหน และสำหรับเด็กในวัยเรียนนั้น เมื่อไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับอะไรได้นาน ก็จะทำให้พวกเขาไม่สามารถศึกษาเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างที่ผลการวิจัยค้นพบว่า ผู้ที่ใช้ TikTok เป็นประจำ จะไม่สามารถทนดูคลิปที่มีความยาวเกิน 30 วินาทีได้ เพราะจะเกิด ‘ความเครียด’ ขึ้นมาทันที ซึ่งก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการอ่านที่ต้องใช้สมาธิและระยะเวลามากกว่าเป็นเท่าตัวเลย โดยเฉพาะเด็กที่เสพแต่ ‘ภาพและเสียง’ จากวิดีโอสั้นๆ เหล่านี้เป็นประจำ ก็จะทำให้ทักษะการอ่านของพวกเขาลดน้อยถอยลงตามไปด้วย

สมาร์ทโฟนทุกวันนี้เป็นโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และกล้องถ่ายภาพยังไม่พอ แต่ยังเป็นธนาคาร ห้างสรรพสินค้า เอเยนต์จำหน่ายตั๋วโดยสาร และเอเยนต์จองที่พัก ฯลฯ อีกด้วย สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันต่างๆ ที่พัฒนาไปมากได้ย่อโลกมาไว้ที่มือเรา ทำให้เราสามารถจัดการธุระปะปังต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายรวดเร็ว

คำกล่าวข้างต้นไม่มีอะไรผิด แต่ก็เป็นมุมมองด้านหนึ่งเท่านั้น เพราะหลายคนคงจะหลงลืมมุมมองอีกด้านไปว่า เพราะสมาร์ทโฟนนี่แหละที่ทำให้ทุกวันนี้ เราต้องทำงานของคนสิบคนด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขายของ เอเยนต์จองตั๋ว เจ้าหน้าที่ธนาคาร ฯลฯ ขณะที่เราเองก็ต้องใช้ชีวิตของเราไปด้วย

ที่สำคัญ เมื่อเรามีธุระปะปังที่ต้องทำด้วยตัวเองเพิ่มมากขึ้นขนาดนี้ แต่เรามีเวลาอยู่ในมือเท่าเดิม เราจึงมักจะทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน เช่น นั่งกินข้าวก็ตอบอีเมลไปด้วย นั่งทำงานอยู่ก็แวะมาดูราคาตั๋วเครื่องบินสำหรับพักร้อน เดินช็อปปิ้งอยู่ก็โอนจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หรือประชุมอยู่ในห้องแต่แอบใช้สมาร์ทโฟนทำทุกอย่างที่ว่านี้ไปพร้อมๆ กัน

คำในภาษาอังกฤษที่ใช้เรียก ‘การทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน’ คือคำว่า multitasking ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษ คำว่า multitasking ดูจะมีความหมายในเชิงบวก ประมาณว่าเราชื่นชมและยกย่องการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน ว่าเป็นเรื่องดีและผู้ที่ทำแบบนั้นได้ก็เก่งกาจ แต่… สำหรับนักประสาทวิทยาหลายคน พวกเขาไม่คิดเช่นนั้น

Earl Miller นักประสาทวิทยาจาก MIT และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ กล่าวไว้ว่า สมองของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ดี และจริงๆ แล้ว เราไม่ได้ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันอย่างที่เราเข้าใจ เราแค่เปลี่ยนจากการทำสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่งอย่างรวดเร็วเท่านั้น นอกจากนั้น ในขณะที่เราเข้าใจว่า multitasking ทำให้เราประหยัดเวลาและทำอะไรหลายอย่างเสร็จสิ้น จริงๆ แล้ว สิ่งต่างๆ ที่เราทำไปนั้นกลับเป็นการทำที่ไม่มีประสิทธิภาพเลยสักอย่าง

คำกล่าวของ Miller คล้ายกับสิ่งที่ Glen Wilson อดีตอาจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Gresham College ใน London ว่าไว้ นั่นคือ เวลาที่เรากำลังจดจ่อกับการทำงานอย่างหนึ่งตรงหน้า แต่ถูกอีเมลที่เด้งขึ้นมารบกวน จะทำให้ IQ ของเราที่กำลังใช้ไปในการทำงานนั้นลดลงไป 10 คะแนนเลยทีเดียว

ในงานวิจัยเกี่ยวกับ multitasking ยังพบอีกว่า การทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันจะทำให้สมองเหนื่อยล้าจนรู้สึกขาดน้ำตาลกลูโคสมากกว่าการจดจ่ออยู่กับกิจกรรมแค่อย่างเดียว ที่สำคัญ multitasking จะทำให้ร่างกายผลิตคอร์ติซอล (cortisol) หรือ ฮอร์โมนความเครียด และอะดรีนาลีน (adrenaline) เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองนี้จะไปกระตุ้นสมองมากจนเกินไป ทำให้เราเกิดภาวะงุนงง คิดวิเคราะห์อะไรได้ไม่กระจ่าง รวมทั้งขี้หลงขี้ลืม หรือเรียกโดยรวมว่า mental fog 

สุดท้าย Russ Poldrack นักประสาทวิทยาอีกคนจาก Stanford พบว่า หากเรากำลังเรียนรู้สิ่งใหม่โดยทำอีกสิ่งหนึ่งไปพร้อมกันด้วย เช่น นักเรียนที่อ่านหนังสือไปพร้อมกับดูทีวี ข้อมูลใหม่ที่เราเรียนรู้นั้นจะไปถูกจัดเก็บอยู่ในส่วนของสมองที่ผิดที่ผิดทาง คือแทนที่จะไปอยู่ในส่วนของสมองที่จัดเก็บเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและความคิด ก็จะไปอยู่ในส่วนของสมองที่เกี่ยวกับทักษะและกระบวนการแทน ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เราจะเรียกข้อมูลความรู้นั้นกลับมาใช้ได้ยากเย็นเต็มที

hhc Thailand อยากให้คุณได้ใช้สื่อออนไลน์อย่างเหมาะสม คือใช้หาข้อมูลความรู้ ติดตามข่าวสาร (โดยไม่ตกเป็นเหยื่อเฟคนิวส์) ใช้ติดต่อครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก ยามที่ต้องอยู่ห่างไกลกัน และใช้ในเชิงสันทนาการบ้างเป็นครั้งคราว โดยที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่ควรใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากเกินไป แต่ควรออกไปพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่า และในหนึ่งวัน ลองแบ่งเวลาที่จะ ‘ออฟไลน์’ แล้ว ใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างหนึ่งโดยไม่มีข้อความทางไลน์เด้งมารบกวน เช่น อ่านหนังสือ เป็นต้น แค่นี้ เราก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ โดยไม่ให้มันมาทำร้ายสมองของเราได้

ที่มา:
theguardian.com
Socialmediapsychology.eu
internationals-students.acen.edu.au

บทความที่เกี่ยวข้อง