เปิดแนวคิด นิธิพัฒน์ สมสมาน ผู้นำทัพแอนิเมชันไทยทะยานไกลระดับโลก 

Human / Self-Inspiration

หากลองสำรวจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในบ้านเรา หนึ่งในแวดวงที่น่าจับตามองคงหนีไม่พ้นวงการแอนิเมชันและการออกแบบคาแร็กเตอร์ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3,500 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด 19 ที่ผู้คนอยู่กับบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ มีตัวเลขสูงขึ้นตามไปด้วย นั่นจึงทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ซึ่งรวมไปถึงผู้ประกอบการแอนิเมชันไทยเติบโตแบบสวนกระแสธุรกิจอื่นอย่างชัดเจน

The Monk Studios (เดอะมั้งค์ สตูดิโอ) คือผู้ผลิตแอนิเมชันรุ่นเก๋าที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ด้วยเป้าหมายที่อยากสร้างสตูดิโอผลิตผลงานแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์สัญชาติไทยแท้ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล รวมถึงฝึกปรือฝีไม้ลายมือแอนิเมเตอร์ไทยให้มีทักษะและความสามารถเทียบเท่าต่างชาติ เราอาจเคยได้เห็นผลงานของพวกเขาในฐานะผู้ผลิตให้กับค่ายดังๆ จากงานแอนิเมชันอย่าง Wish Dragon (2021),

The Yin Yang Master (2020), Final Fantasy XV Kingsglaive (2016) รวมไปถึงผลงานสร้างสรรค์ภายใต้ชื่อ เดอะมั้งค์ สตูดิโอ เอง อาทิ Escape of the Gingerbread Man!!! และ Nine ที่คว้ารางวัลจากเทศกาลหนังชั้นนำของโลกมาแล้วหลายต่อหลายเวที และล่าสุดกับ ‘Sea of Love’ แอนิเมชันซีรีส์สัญชาติไทยแท้เรื่องแรกบน Netflix

เส้นทางของ เดอะมั้งค์ สตูดิโอ นับตั้งแต่วันที่เป็นเพียงสตูดิโอเงา สู่การมีชื่อใน end credit กระทั่งขยับขึ้นเป็นผู้ผลิตผลงานของตัวเองจนกวาดรางวัลจากสถาบันภาพยนต์มาแล้วทั่วโลกจะเป็นมาอย่างไร โต-นิธิพัฒน์ สมสมาน รองกรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งที่อยู่เบื้องหลังทุกวิกฤติและความสำเร็จของสตูดิโอระดับเวิลด์คลาสแห่งนี้จะมาเล่าให้เราฟัง รวมไปถึงความฝันและความหวังต่ออนาคตของอุตสาหกรรมดังกล่าวที่เขาและทีมมีส่วนร่วมบุกเบิกฝ่าฟันกันมาด้วย

จุดสตาร์ทของเส้นทางสายแอนิเมชัน

หลังเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง โตรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ก่อตั้งบริษัทออกแบบในนาม Contour ขึ้น โดยเขารับหน้าที่ดูแลในส่วนงานกราฟิกดีไซน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ทุกอย่างดำเนินมาได้อย่างดีจนกระทั่งเข้าสู่ปีที่ 10 ปีที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล

“ตอนนั้น จั๊ก (สุภณวิชญ์ สมสมาน) น้องชายของผมทำงานอยู่ที่ Rhythm & Hues Studios ซึ่งเป็น 1 ใน 4 บริษัทผลิตแอนิเมชันยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูดได้ถูกส่งตัวไปเซ็ตอัพบริษัทที่อินเดีย หน้าที่ของจั๊กคือการเทรนคนอินเดียจำนวน 150 คนแบบเริ่มจากศูนย์ เขาใช้เวลาฝึกสต๊าฟที่นั่นอยู่ร่วมปีจนสามารถรับงานเรื่อง Garfield 2 ของ Rhythm & Hues Studios มาทำต่อได้ เราทั้งคู่จึงคิดตรงกันว่า ถ้าจั๊กฝึกคนอินเดียได้ แล้วทำไมจะฝึกเด็กไทยไม่ได้ล่ะ ประจวบเหมาะกับที่พาร์ทกราฟิกดีไซน์ของผมซึ่งแยกย่อยมาจาก Contour เริ่มเข้าสู่ขาลง ขณะที่แอนิเมชันเป็นงานสามมิติที่สเกลใหญ่กว่า น่าสนใจกว่า และเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย เราจึงคิดกันว่า ถ้าอย่างนั้นเราทำบริษัทแอนิเมชันกันดูสักตั้งไหม นั่นจึงเป็นที่มาของ เดอะมั้งค์ สตูดิโอ เมื่อ 15 ปีก่อน

“ช่วงเริ่มต้น เราพบว่าธุรกิจแอนิเมชันแข่งกันที่เงื่อนไขด้านราคากับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งที่อเมริกามีค่าแรงแพงหูฉี่ การที่เขากระจายงานจากอเมริกามายังเอเชียก็เพราะว่าค่าแรงถูกกว่า ส่วนการทำแอนิเมชันหรือ CG ในไทยยังมีตลาดที่แคบและมีข้อจำกัดในเรื่องทุนอยู่มากในเวลานั้น ดังนั้น แรกเริ่ม เดอะมั้งค์ฯ จึงมุ่งผลิตแอนิเมชันให้ต่างประเทศเป็นหลัก เรียกว่าเป็นมือปืนรับจ้างให้เขา ซึ่งข้อได้เปรียบของเราคือเรื่องของราคาที่สมน้ำสมเนื้อ จุดแข็งเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และมีฝีมือทางด้านศิลปะ เรามีความเชี่ยวชาญด้านแอนิเมชันสามมิติและวิชวลเอฟเฟกต์ รวมถึงการทำงานที่ยืดหยุ่นและอะลุ้มอล่วย ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นเส้นทางสายใหม่ที่ดีทีเดียว”

จากผู้ผลิตเงาสู่ผู้สร้างคอนเทนต์

“ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทีวีคือสื่อกระแสหลัก งานของเราจึงเริ่มจากการผลิตทีวีซีรีส์และสร้างแอนิเมชันสำหรับเด็ก โดยคาแร็กเตอร์ตัวแรกของ เดอะมั้งค์ สตูดิโอ คือ Paddle Pop หรือ พี่สิงห์ของไอศกรีมวอลล์ที่อาจจะพอคุ้นตากันบ้าง ซึ่งทางยูนิลีเวอร์อยากจะสร้างการ์ตูนตัวนี้เป็นสามมิติ ตอนแรกเขาติดต่อไปที่บริษัทเก่าที่จั๊กเคยทำงาน ที่นั่นใช้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทางอเมริกาจึงแนะนำให้ลองทำงานกับบริษัทของไทยดู เดอะมั้งค์ สตูดิโอ กับ ยูนิลีเวอร์จึงมีโอกาสทำงานร่วมกันใน ‘Paddle Pop The Adventure’ ตั้งแต่ปี 2007-2016 จากปีแรกที่เป็นแอนิเมชันซึ่งมีความยาวเพียงไม่กี่นาที ก็ค่อยๆ เพิ่มความยาวขึ้นเรื่อยๆ โดยผลงานเรื่องนี้นอกจากที่ไทยแล้ว เรายังได้ไปฉายในประเทศต่างๆ ทั้งจีน อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จึงทำให้เราเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

ด้วยปัจจัยทั้งในเรื่องราคา ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ในช่วง 15 ปีมานี้ เดอะมั้งค์ สตูดิโอเป็นที่ยอมรับในวงการแอนิเมชันอย่างรวดเร็วจนพวกเขามีโอกาสได้ร่วมงานกับค่ายหนังยักษ์ใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น DreamWorks Animation, Disney, Industrial Light & Magic, Lucasfilm Ltd., Alibaba Pictures, McCann และ LoweWorldWide ซึ่งหลังจากเป็นมือปืนรับจ้างมาพักใหญ่ๆ พวกเขาต้องฝ่าวิกฤติจากการถูกตัดราคาโดยบริษัทคู่แข่ง การแก้เกมของเดอะมั้งค์ สตูดิโอในเวลานั้นคือการลุกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตผลงานของตัวเอง โดยมี Escape of the Gingerbread Man!!! (2011) เป็นผลงานแอนิเมชันขนาดสั้นเรื่องแรก ที่เป็นการทำงานร่วมกับ Tod Polson ผู้กำกับชาวอเมริกันในการนำนิทานพื้นบ้านของชาวไอริชมาดัดแปลงและถ่ายทอดผ่านตัวละครขนมปังขิง จนกวาดรางวัลจากเทศกาลภาพยนต์มามากถึง 17 รางวัล อาทิ 1st Place in Animation Category จาก Los Angeles Reel Film Festival, Best Animation จาก California International Shorts Festival (summer), Best Short Film จาก Oregon Fil Awards รวมทั้ง Best Animation Metropolitan Film Festival of NYC ด้วย

เมื่อเจ้าขนมปังขิงได้เสียงตอบรับอย่างล้นหลาม เดอะมั้งค์ สตูดิโอจึงเดินหน้าสานต่อความสำเร็จของพวกเขาด้วย Nine (2014) ผลงานที่ดัดแปลงมาจากหนังสือขายดี Nine Lives ของ ทรงศีล ทิวสมบุญ ว่าด้วยเรื่องของแมวบ้านๆ ตัวหนึ่งที่ยอมขายชีวิตตัวเองให้กับปีศาจเพื่อแลกกับความเป็นอมตะ เพราะการนำเสนอออกมาได้อย่างเต็มอรรถรสจากฝีมือของผู้กำกับและอาร์ตไดเร็กเตอร์ชาวไทยอย่าง ชวลิต แก้วมณี และ วณิชยา แพร่จรรยา ประกอบกับการนำเอาเสน่ห์ของแอนิเมชันแบบ 2 มิติมาผสมผสานกับองค์ประกอบที่ยอดเยี่ยมแบบ 3 มิติ ทำให้ Nine คว้ารางวัลไปถึง 14 รางวัล เช่น Best Animated Short Film จาก California International Shorts Festival (Spring), Best Animated Short Film จาก Los Angeles Cinema Festival of Hollywood, Best Animation จาก World Arts Film Festival รวมถึง Best Animation โดย Los Angeles Film and Script Festival (Fall) เป็นต้น

“ความสำเร็จของ Escape of the Gingerbread Man!!! ทำให้เราสานต่อผลงานของตัวเองในเรื่องที่สอง โดย Nine เป็นการทำงานที่กลับกันกับเรื่องแรก เพราะเราใช้คนไทยล้วนเลย ทั้งผู้กำกับฯ และเรื่องราวจากฝีมือนักเขียนไทย ผลงานทั้งสองเรื่องนี้นอกจากจะทำให้เราเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากขึ้น ยังทำให้เรากล้าที่จะต่อยอดผลิตผลงานของเราเองมาจนถึงวันนี้”

เมื่อเจ้าบรูด้าพา ‘Sea of Love’ ขึ้นแท่นแอนิเมชันไทยเรื่องแรกบน Netflix

Sea of Love คือแอนิเมชันซีรีส์ขนาด 15 ตอน ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กระดับ pre-school ถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนรักใต้ทะเล ประกอบไปด้วย ‘บรูด้า’ ปลาวาฬช่างเรียนรู้, ‘วายู’ ปลากระเบนผู้เริงร่า, ‘ภูริ’ ม้าน้ำแสนใจดี และ ‘บ๊อบบี้’ ปลาฉลามคึกคัก โดยทั้ง 4 มีรูปร่าง ท่าทาง บุคลิก และความถนัดที่แตกต่างกันออกไป แต่พวกเขาชอบที่จะอยู่และเรียนรู้ไปด้วยกัน ช่วยเหลือกันและเติบโตไปพร้อมๆ กัน ใต้ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ Sea of Love นอกจากจะเป็นผลงานที่นำเสนอผ่านรูปแบบแอนิเมชัน 2 มิติ ซึ่งคล้ายคลึงกับผลงานศิลปะและนิทานที่เด็กๆ คุ้นเคย ทำให้ผู้ชมวัยเยาว์สามารถเชื่อมโยงได้ง่ายแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังเป็นแอนิเมชันสัญชาติไทยที่เป็น original content เรื่องแรกบน Netflix ด้วยเช่นกัน

“Sea of Love เป็นไอเดียที่เกิดจากทีมงานของเราซึ่งเป็นกลุ่มคุณแม่ที่อยากสร้างงานแอนิเมชันของคนไทยให้ลูกๆ ดู พวกเขาอยากทำแอนิเมชันที่สอนอะไรมากกว่าเรื่องการแปรงฟัน แต่คือการใช้ชีวิตในสังคมผ่านเรื่องราวสมมุติเพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ เข้าใจและสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ได้ง่ายขึ้น เราเห็นว่าน่าสนใจจึงผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น โดยงานนี้ได้รับการสนับสนุนเรื่องงบประมาณจากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘บรูด้าน้อยผจญภัย’ จากนั้นเราได้นำเสนอไปทาง Netflix ซึ่งเขาชอบมาก โครงการนี้จึงถูกพัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้น

“งานนี้ยังทำให้เราได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนง ตั้งแต่นักการศึกษาและคุณครูอนุบาลเพื่อหาประเด็นและเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียน รวมทั้งวิธีการที่เหมาะสมกับการจัดการเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของเด็กๆ เพื่อนำมาเป็นต้นทางในการวางเส้นเรื่อง การเข้าไปสำรวจลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของเด็กๆ เพื่อให้เรามีความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสามารถนำสิ่งที่ได้รับไปพัฒนาเป็นตัวละครหลักทั้ง 4 ขึ้นมา นอกจากนี้ เรายังได้เวิร์กช็อปกับผู้เชี่ยวชาญด้านปะการัง เพื่อเป็นข้อมูลในออกแบบภาพใต้ท้องทะเลให้สมจริงและสวยงามที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากเลยครับ”

นิเวศของแอนิเมชันไทย

“การทำให้แอนิเมชันให้ประสบความสำเร็จ คงไม่ต่างกับการสร้างภาพยนตร์สักเรื่องให้ประสบความสำเร็จ เพราะทั้งสองอย่างนี้มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ การเล่าเรื่องที่จะต้องทำให้คนดูตราตรึงและจดจ่ออยู่ได้ การสร้างภาพที่สวยงามเพื่อดึงดูดสายตา มีความหลากหลายทั้งสไตล์ ทักษะ เนื้อหา และ know how ที่ใส่เข้าไป และด้วยตลาดแอนิเมชันเป็นตลาดขนาดใหญ่ไม่ต่างจากภาพยนตร์ เราจึงต้องมีความเป็นสากลเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษาหรือความเข้าใจในบริบทสากลของโลกเพื่อให้สามารถสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนได้แบบทั่วถึง ดังนั้น ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งจะทำให้งานชิ้นนั้นไม่น่าสนใจพอ

“ปัจจุบันนี้ ถ้ามองภาพรวม ศักยภาพของสตูดิโอแอนิเมชันไทยถือว่าอยู่ในมาตรฐานสากล เรามีผลงานโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ และได้ขึ้นเครดิตท้ายภาพยนตร์กันหลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งเรายังมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านแอนิเมชันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในแง่ของการรับจ้างผลิต เราสู้เขาได้เลยนะครับ ทั้งเรื่องราคาและฝีมือ เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าการผลิตงานแอนิเมชันสักเรื่องจะต้องใช้คนเยอะพอสมควร เช่น ถ้าคุณจะทำแอนิเมชันที่ฉายทางทีวี คุณต้องมีคนสักประมาณ 50 คน ส่วนถ้าคุณจะทำงานแบบภาพยนตร์แอนิเมชัน (Animated Feature Film) ต้องมีคนหลักร้อย บริษัทที่ทำงานประเภทนี้ในอินเดียและจีนมีเป็นพันคน เรายังต่างจากเขามาก เพราะคนเขาเยอะและเก่งเรื่องโปรแกรมมิ่ง ฉะนั้น ถ้าทำภาพยนตร์แอนิเมชันที่ฉายในโรงหนัง กระบวนการต้องละเอียดและเข้มข้นมาก ซึ่งนอกจากฝีมือและความแข็งแรงของพื้นฐานแล้ว สิ่งสำคัญกว่านั้นในการทำแอนิเมชันคือการทำงานเป็นทีมที่ต้องสอดประสานกันไปได้อย่างดีด้วย แต่ประเทศไทยยังเป็นแบบ one man show อยู่ เพราะฉะนั้น การจะทำ Animation IP (แอนิเมชันที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง) จึงต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการผลักดันและสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่ายภายในประเทศ ตั้งแต่ผู้ชม ช่องทางการสื่อสาร และภาครัฐด้วย” 

เส้นชัยในเวทีโลก

“เราโชคดีอย่างหนึ่งคือคอนเซ็ปต์ของเดอะมั้งค์ สตูดิโอตั้งแต่เริ่มต้น เราไม่ได้ทำงานให้ค่ายในประเทศเลย เพราะตอนนั้นตลาดเมืองไทยยังเล็กมาก ขณะที่ค่าใช้จ่ายเรื่องการผลิตของเราหากเทียบกับต่างประเทศถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผล ฉะนั้น เราจึงสามารถกำหนดกลุ่มลูกค้าว่าเราทำงานให้ต่างประเทศล้วนๆ ได้ แต่ถามว่าเรามีปัญหาไหม มีครับ วิกฤติของเราคือ การเจอคู่แข่งตัดราคา เราเคยเจอบริษัทคู่แข่งจากแคนาดาที่รัฐบาลของเขามีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่งแม้ว่าเขา bid ในราคาต้นทุนที่สูงกว่าเราตามค่าแรงก็จริง แต่พวกเขาได้เงินอุดหนุนจากภาครัฐมากถึง 15-20% ซึ่งทำให้ราคาต่ำลงมาก จนช่วงหนึ่งที่เราสู้เขาไม่ได้ ถือเป็นวิกฤติที่ต้องวิ่งหาญาติพี่น้องว่าใครมีให้เราหยิบยืมบ้างไหม แต่เราผ่านมาได้เพราะการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการหันมาผลิตผลงานภายใต้ชื่อของเดอะมั้งค์สตูดิโอออกมา ซึ่งต้องขอบคุณทุกคนในองค์กรที่ช่วยกันทำให้งานลุล่วงมาได้จนถึงวันนี้ครับ”

จากพนักงานเพียง 3 คนในวันที่เริ่มต้น ตอนนี้ เดอะมั้งค์ สตูดิโอ มีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 300 คน และได้ขยายสาขาจากกรุงเทพฯ ไปที่เชียงใหม่มาตั้งแต่ต้นปี 2565 เพื่อเป็นฐานทัพคู่ขนานด้านการผลิตให้กับบริษัท 

“ที่เมืองไทยเรามีสำนักงานอยู่ 2 แห่งแล้ว และเรายังตั้งใจจะไปเปิดสาขาที่ต่างประเทศด้วย แห่งแรกคืออินเดีย ซึ่งเราอยากให้สาขาที่ไทยกับอินเดียเป็นโซนการผลิต เป็นส่วนของงานด้านโปรดักชั่นเป็นหลัก อีกแห่งคือจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ เราอยากให้ที่นั่นเป็นด่านหน้าเหมือนเป็นฝ่ายขายของเรา นอกจากนี้คือการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ครับ ที่แพลนไว้คือไม่เกิน 2 ปีนี้ ผมอยากให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่บริษัทแบบครอบครัวแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตอนนี้คือ เรื่องของธรรมาภิบาลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องของการจัดการโครงสร้างภายใน นี่เป็นเป้าหมายที่อยากทำและตั้งใจว่าจะทำให้ได้ครับ”

ฟังเบื้องหลังวิกฤติและความสำเร็จของ The Monk Studios ผู้ผลิตแอนิเมชันสัญชาติไทยแท้ในเวทีโลก และผลงาน ‘Sea of Love’ แอนิเมชันซีรีส์ไทยเรื่องแรกบน Netflix

เพราะชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องงานอย่างเดียว

“ความต่างของอุตสาหกรรมแอนิเมชันกับธุรกิจอื่นๆ คือวัตถุดิบเดียวที่เรามีคือ ‘ทรัพยากรบุคคล’ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดคือเราอยากให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่นี่จะไม่มีพนักงานคนไหนต้องมาค้างคืนที่ออฟฟิศ เราไม่สนับสนุนการทำงานดึกๆ ดื่นๆ นี่คงจะเป็นข้อดีที่เราเริ่มต้นด้วยการจ้างชาวต่างชาติซึ่งเป็นเพื่อนๆ ของจั๊กมาสอนงาน เพราะนอกจากทักษะแล้ว เรายังซึมซับระบบการทำงานจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของเรามาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรงต่อเวลาที่ 9 โมง เขานั่งหลังตรงอยู่หน้าคอม พอ 6 โมงเย็น เขาวางเม้าท์เพื่อไปใช้ชีวิตส่วนตัว มีคนบอกว่า คนทำงานศิลปะหรือสร้างสรรค์คุมยาก ต้องใจเย็นๆ ต้องทำงานถึงดึกดื่นนะ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นที่นี่เลย นั่นจึงทำให้พวกเราสามารถบาลานซ์ระหว่างชีวิตงานและส่วนตัวได้

“ตัวผมเองก็เช่นกัน ถ้าเป็นเวลางาน ผมจะโฟกัสที่งานอย่างเต็มที่ แต่ถึงเวลาเที่ยวเมื่อไหร่ ผมก็สุดขั้วเหมือนกัน ที่ผ่านมาถือว่าผมเป็นนักเดินทางได้เลย ว่างเมื่อไหร่หรือหากมีงานต่างประเทศ ผมจะอยู่ต่อเพื่อไปดื่มด่ำกับชีวิตนอกเวลางานเสมอ ผมชอบกิจกรรมเอกซ์ตรีม เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามที่ต่างๆ ผมชอบวิ่ง ยิ่งอายุมากขึ้น ผมยิ่งต้องใส่ใจตัวเอง การวิ่งทำให้ผมได้ขยับร่างกายตัวเองจากการต้องทำงานนานๆ ได้ปลดปล่อย ได้ออกไปที่โล่งๆ สูดอากาศได้เต็มปอด ในปฏิทินของผมเองจะเขียนไว้เลยว่าปีนี้ผมมีแพลนจะวิ่งงานไหนบ้าง ต้องซ้อมก่อนหน้างานสักกี่เดือนเพื่อให้ร่างกายพร้อมเต็มที่ ผมเริ่มวิ่งจาก 10 กิโลเมตร เป็นฮาล์ฟ มาราธอน จนถึงมาราธอน วิ่งทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย

“สำหรับชีวิตในวัย 60 การศึกษาเรียนรู้เรื่องธรรมะก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจมากอยู่ พุทธศาสนาสอนอะไรผมเยอะเลย ทั้งการเรียนรู้เรื่องจิตและการฝึกจิตของเรา ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า ‘ตายก่อนตาย’ หมายถึง การพิจารณาความตาย มีสติรู้เท่าทันความตาย ซึ่งหากเรารู้และเข้าใจชีวิต ได้ฝึกปฏิบัติทดลองตายก่อนตายจะเป็นการช่วยให้ผู้นั้นไม่กลัวตาย กล้าเผชิญหน้ากับความตายที่มาถึงได้อย่างกล้าหาญ ผมถือว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ครับ”  

พินัยกรรมชีวิต

“ถ้าไม่นับเรื่องการทำงาน วิกฤติหนักที่สุดในชีวิตคือภรรยาผมเสียด้วยโรคมะเร็ง เป็นมะเร็งตับอ่อนที่เขาว่ากันว่าเป็น King of Cancer ตอนที่เรารู้ก็ระยะสุดท้ายแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว ช่วงที่ภรรยาผมป่วย ผมหยุดงานทั้งหมดและไปดูแลเธอที่โรงพยาบาล ถือว่าเป็นช่วงที่จิตตกพอสมควร ภรรยาถามคุณหมอว่า “ถ้าคีโมแล้วจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน” เมื่อคำตอบของคุณหมอคือจาก 2 เดือนเป็น 5 เดือน เธอบอกว่า “แค่ 5 เดือน ไม่ต้องยืดหรอก ไม่มีประโยชน์” เธอจึงเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาทุกอย่าง แต่เธอเข้มแข็งมาก มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดในเวลา 2 เดือนนั้น

“ผมแต่งงานแต่ไม่มีลูก เราตั้งใจที่จะไม่มีเพราะเราทั้งคู่เป็นภูมิแพ้ เราเห็นเด็กๆ ที่เป็นภูมิแพ้ต้องอยู่ในตู้ ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เราไม่อยากสร้างใครมาเป็นภาระต่อโลก เราทั้งคู่จึงได้ใช้เวลาร่วมกันมาตลอด จนกระทั่งช่วงสุดท้ายของชีวิต ก่อนเธอจากไปเธอบอกว่าให้ดูเธอเป็นตัวอย่างว่าสัจธรรมและชีวิตเป็นแบบนี้ ร่างกายค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ผอมลง ทรุดโทรมลง ตอนที่เธอกำลังจะเสีย ทุกคนขอให้เธอสวดมนต์ แต่เธอขออยู่เงียบๆ แล้วเธอก็จากไปอย่างสงบ เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนผมว่าชีวิตจะมีคุณค่าในเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ และทำให้รู้ว่าชีวิตคน การเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นสัจธรรม

“ช่วงแรกๆ ที่อยู่คนเดียว ผมไม่มีอะไรที่ต้องห่วงแล้ว ผมจึงทำอะไรที่เคยอยากทำ เพราะตอนที่ภรรยายังอยู่ เธอจะเป็นห่วงความปลอดภัยของผม และผมไม่อยากทำให้เธอไม่สบายใจ อย่างการขี่มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ไปที่ต่างๆ แต่ตอนนี้ผมโดนห้ามจากคนรอบๆ ตัวเพราะปีนี้ 60 แล้ว เลยยกมอเตอร์ไซค์ให้คนอื่น พอถึงวัยหนึ่งก็รู้สึกว่า ‘ต้องพอแล้ว’ จัดเวลาให้สุขภาพตัวเอง หลังจากวันที่เธอไม่อยู่ ผมจึงใช้ชีวิตบนความไม่ประมาท ไม่รู้ว่าเคยได้ยินไหมคำว่า ‘พินัยกรรมชีวิต’ ผมบันทึกไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะทำอะไรตอนที่ไม่สบาย ไม่ต้องปั๊มหัวใจนะ ไม่ใส่สายยางนะ และจะขอจากไปแบบไหน”

เราถามทิ้งท้ายกับเขาว่า หากเปรียบชีวิตของตัวเองเป็นแอนิเมชันสักเรื่อง เรื่องราวของผู้ชายชื่อ โต-นิธิพัฒน์ สมสมาน จะเป็นแบบไหนกัน 

คงเป็นแอนิเมชันที่ฉายภาพชีวิตของคนธรรมดาคนหนึ่ง ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้ต้องการเป็นอะไรเป็นพิเศษ ผมอยากจะให้ชีวิตแบบเรียบง่ายและมีความสุข ฉะนั้น เส้นเรื่องแอนิเมชันของผมน่าจะเป็นเส้นเรื่องมาตรฐานว่าเกิดมาแล้วต้องเจออุปสรรค เจอปัญหาที่เข้ามาในชีวิต เจอเรื่องที่บีบคั้นเราจนน้ำตาร่วง จนวันหนึ่งที่มองอุปสรรคและปัญหาในชีวิตเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ มีบั้นปลายที่ได้ใช้ชีวิตในแบบตัวเอง ทำในสิ่งที่ชอบโดยไม่ทำให้คนรอบข้างกังวลใจ และสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีคุณค่าและมีความสุขได้อย่างเต็มที่ คงเป็นชีวิตที่ไม่ได้แสวงหาอะไรมากมาย เพราะการมีชีวิตธรรมดาๆ ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับผม”


ภาพ: มณีนุช บุญเรือง

บทความที่เกี่ยวข้อง