Blink to Speak: คู่มือภาษาตา สื่อสารได้แม้กายไม่ขยับ

Care / Family Care

‘Blink To Speak’ ถือเป็นระบบ ‘ภาษาตา’ ระบบแรกของโลกเลยก็ว่าได้ ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่ไม่สามารถพูดหรือขยับร่างกายได้ เช่น ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือผู้ป่วยหนักที่อยู่ในห้องไอซียู สามารถใช้การกะพริบตาอย่างเป็นระบบเพื่อสื่อสารกับผู้ดูแลหรือสมาชิกในครอบครัว ช่วยเพิ่มความสะดวกในการดูแลรักษา และยังช่วยลดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยได้อีกด้วย

ภาษาตา: 50 ความหมาย / 25 ตัวอักษร

ตามกลไกธรรมชาติแล้ว คนเราจะกะพริบตาทุกๆ 4-6 วินาที หรือประมาณ 10-15 ครั้งต่อนาที เป็นการกระตุ้นให้ต่อมน้ำตาไหลออกมาในปริมาณที่ทำให้ดวงตาชุ่มชื้นพอดี และเป็นการปัดกวาดฝุ่นละอองที่มาเกาะดวงตาให้สะอาดอยู่เสมอด้วย 

แต่สำหรับการกะพริบตาในระบบภาษาตาแบบ ‘Blink To Speak’ จะมีรูปแบบการกะพริบตาที่แตกต่างกันไป โดยใช้การ หลับตา / กระพริบตา / มองไปทางซ้าย / มองไปทางขวา / มองขึ้น / มองลง / ขยิบตาทีละข้าง / กลอกตาเป็นวงกลม เพื่อสร้างคำศัพท์ ประโยค หรือวลีที่ใช้สื่อสารได้ถึง 50 ความหมาย มุ่งเน้นการบอกอาการ ความรู้สึก และความต้องการ เช่น “ตามหมอ” “ตามผู้ดูแล” “หายใจไม่ออก” “เกา” “ง่วงนอน” “หิวน้ำ” รวมถึงข้อความสำหรับพูดคุยทั่วไป เช่น “ฉันรักคุณ” “ฉันขอโทษ” “ยินดีด้วย” “ฉันภูมิใจในตัวคุณ” “สุขสันต์วันเกิด” “ฉันอยากกลับบ้าน” หรือ “ฉันอยากเจอสัตว์เลี้ยงของฉัน” 

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบภาษาตาของตัวอักษรภาษาอังกฤษ A-Z ทั้ง 26 ตัวอักษรไว้ใช้ในกรณีที่ต้องการจะผสมคำหรือประโยคใหม่เองอีกด้วย

หัวใจหลักของภาษาตานี้อยู่ที่การจำ รูปแบบการเคลื่อนไหว + จำนวนครั้ง ยกตัวอย่างคำว่า “ใช่” ให้กะพริบตา 1 ครั้ง ส่วนคำว่า “ไม่ใช่” ให้กะพริบตา 2 ครั้ง และถ้าจะบอกว่า “ฉันโอเค” ให้กะพริบตาติดกัน 3 ครั้ง ส่วน “ฉันไม่โอเค” ให้มองไปซ้าย 1 ครั้ง ขวา 1 ครั้ง และกะพริบตา 1 ครั้ง หรือถ้าเป็นคำว่า “สุขสันต์วันเกิด” ให้มองขึ้นบน 1 ครั้ง มองลง 1 ครั้ง และกะพริบตา 1 ครั้ง อะไรเช่นนี้เป็นต้น

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ผลงานที่คว้ารางวัลระดับโลก

โครงการ Blink To Speak มีจุดเริ่มต้นที่บริษัทโฆษณาระดับโลกอย่าง TBWA\ India โดยมาจากทีมงานคนหนึ่งมีผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ในครอบครัว ซึ่งเธอจะใช้วิธีเขียนข้อความที่ใช้บ่อยๆ ไว้บนผ้าม่านในห้อง เพื่อให้ผู้ป่วยใช้สายตามองไปยังคำต่างๆ เพื่อสื่อสารกัน เรื่องราวเล็กๆ นี้ไม่ได้ถูกมองข้ามไป แต่ถูกนำมาต่อยอดกลายเป็นโครงการ Blink To Speak ขึ้นมา

หลังจากนั้นทีม TBWA\ India ก็ได้เริ่มต้นออกแบบและพัฒนารูปแบบภาษาตา และได้เข้าไปจับมือกับอีกสององค์กรในอินเดีย คือมูลนิธิ Asha Ek Hope Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (Motor Neuron Disease) และ NeuroGen Brain & Spine Institute โรงพยาบาลที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและสมอง ทั้งสามทีมนี้ได้ร่วมกันพัฒนาและทดลองจนกลายเป็นระบบภาษาตาที่ใช้งานได้จริงในที่สุด

โครงการนี้ทำให้บริษัท TBWA\ India คว้ารางวัล Health Grand Prix For Good ในงานเทศกาลโฆษณาระดับโลกอย่าง Cannes Lions  มาครอง โดยได้รับเสียงชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์เพื่อสังคมที่เรียบง่ายแต่มีพลัง และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่จะ “ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”

ใช้งานง่าย คือเป้าหมายสำคัญ

สิ่งที่ทีมออกแบบให้ความสำคัญที่สุดคือ การทำให้แน่ใจว่าระบบภาษาตานี้ใช้งานง่ายและไม่ทำให้เกิดความสับสน โดยได้ทดลองใช้นำร่องกับผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างก่อน รูปแบบไหนที่ผู้ป่วยใช้งานยากก็จะปรับแก้ไข และไม่ให้มีการเคลื่อนไหวตาเยอะเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเหนื่อยและท้อ หรือสับสน จนอาจล้มเลิกการฝึกไปในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ การจดจำภาษาตาทั้งหมดจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องใช้เวลาในการจดจำ ทีมงานประเมินคร่าวๆ ว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยแนะนำให้เริ่มจำทีละ 10-15 คำก่อน และควรซักซ้อมให้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายด้วย (ทั้งผู้ป่วย และผู้ดูแล) 

นวัตกรรมสุดล้ำที่ไม่ต้องเสียเงินสักบาท

ภาษาตา Blink To Speak เป็นนวัตกรรมสุดล้ำที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่เคยถูกปล่อยทิ้งไว้ ทำให้แพทย์และผู้ดูแลเข้าใจอาการทางกายของผู้ป่วยได้มากขึ้น ส่งผลให้การดูแลรักษามีประสิทธิภาพขึ้น และยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยสามารถถ่ายทอดความคิดความรู้สึก ลดการเกิดโรคซึมเศร้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในผู้ป่วยอัมพาตระยะยาว เป็นโครงการดีๆ ที่ทุกอย่างฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์ไฮเทคราคาแพงแต่อย่างใด มีให้เลือกถึง 14 ภาษา สามารถดาวน์โหลดคู่มือภาษาตา Blink To Speak มาฝึกใช้กันได้ที่ www.blinktospeak.com 

ที่มา: 
blinktospeak.com
thebetterindia.com

บทความที่เกี่ยวข้อง