‘ช่าง(หัว)มัน’ กับเรื่อง ‘รกหัว’ แล้วชีวิตจะมีความสุขขึ้น

Care / Self Care

ซาราห์ ไนท์ (Sarah Knight) เป็นเวิร์กกิ้งวูเม่นชาวอเมริกันผู้ซึ่งมีหน้าที่การงานดี อยู่ในสำนักพิมพ์ชั้นนำแห่งหนึ่งในนิวยอร์กมานานถึง 15 ปี แต่แล้ววันหนึ่งเธอก็พบว่าตัวเอง ‘ไม่มีความสุข’ เอาเสียเลย กับชีวิตยุ่งๆ แสนวุ่นวายในเมืองใหญ่ เธอเริ่มเบื่อกับการต้องตื่นเช้า เดินทางด้วยรถไฟไปกลับ ทำงานเคร่งเครียดวันละ 8-10 ชั่วโมง แล้วก็วนซ้ำใหม่ทุกวัน หลังจากไตร่ตรองอยู่พักใหญ่ เธอก็ตัดสินใจลาออกจากงาน 

นี่ฟังดูเหมือนเรื่องราวของมนุษย์เงินเดือนที่เราได้ยินอยู่เป็นประจำ แต่เรื่องราวของซาราห์น่าสนใจตรงที่เธอได้ค้นพบเคล็ดลับบางอย่างที่ทำให้ชีวิตมีความสุขเพิ่มขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน และนี่คือเคล็ดลับดีๆ ที่ ชีวิตดี by hhc Thailand หยิบมาเล่าให้ฟัง

จุดเปลี่ยนและแรงบันดาลใจ

หลังลาออกจากงาน ซาราห์หลุดพ้นชีวิตพนักงานประจำที่กินเวลาและพลังงานชีวิตในแต่ละวันไปจนหมด ทำให้มีเวลาและพลังงานมากพอที่จะหันมาโฟกัสที่ตัวเองอย่างจริงจัง ประกอบกับเธอสนใจแนวคิดของมาริเอะ คนโดะ นักจัดบ้านผู้โด่งดังที่บอกเราว่า “ชีวิตเปลี่ยนได้ด้วยการจัดบ้าน” กับคาถา ‘spark joy’ อันลือลั่นที่จัดการความรกในบ้านโดยเริ่มจากตัดใจทิ้งสิ่งของที่ไม่จุดประกายความสุขออกไป เก็บไว้แต่สิ่งที่จำเป็นและทำให้เรามีความสุขเท่านั้น 

แต่สำหรับซาราห์ เธอมองอีกมุมว่า ถ้าเปลี่ยนจากการตัดใจทิ้งสิ่งของที่ทำให้บ้านรก มาเป็นทิ้งสิ่งที่มันรกอยู่ในหัวของเรา ชีวิตก็อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้เหมือนกัน โดยเธอได้ถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือขายดีที่ชื่อว่า The Life-Changing Magic of Not Giving a F*ck 

  1. ท่องคาถา ‘ช่างมัน’ 

ตรงข้ามกับคาถา ‘spark joy’ ของมาริเอะ คนโดะ คาถาวิเศษของซาราห์ ไนท์ คือคำว่า ‘Not giving a f*uck’ หรือแปลเป็นไทยได้ใกล้เคียงว่า ‘ช่าง(หัว)มัน!’ 

หลักการของซาราห์มีอยู่ว่า ในหัวของเรามักอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวมากมาย ทั้งเรื่องที่ทำให้มีความสุขและไม่มีความสุข ดังนั้นเพื่อไม่ให้สิ่งไม่มีความสุขมาแย่งพื้นที่ความสุข จงเลือกที่จะ ‘ช่างมัน!’ ไปเสียบ้าง 

  1. เลือกเรื่องที่ควร ‘ช่างมัน’ 

ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราจะสามารถช่างมันไปได้ แต่มีหลายเรื่องที่เรามักลืมไปว่าสามารถช่างมันได้!

ซาราห์ให้เราลองลิสต์สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันออกมา แล้วลองดูว่าเรื่องอะไรที่เราไม่ได้อยากทำจริงๆ หรือไม่ได้มีความสุขกับมัน หรือไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ จากนั้นให้ขีดฆ่าเรื่องเหล่านั้นทิ้งไป อย่าไปเสียเวลา พลังงาน และเงิน กับสิ่งเหล่านั้น จงช่างมัน!

ตัวอย่างเช่น ในการออกไปทำงานหนึ่งวัน รายการสิ่งที่ต้องทำในวันนั้นก็คือ 1) งานที่ต้องรับผิดชอบเป็นปกติ 2) การเข้าประชุมของแผนก 3) งานวิ่งมาราธอนการกุศลตามคำชวนของเพื่อนร่วมงาน และ 3) งานแต่งงานของน้องสาวของเพื่อนร่วมงาน

จากตัวอย่างนี้ เราคงไม่สามารถช่างมันกับงานที่ต้องรับผิดชอบ และการเข้าประชุมของแผนกได้ แต่ถ้าลองสังเกตดีๆ จะพบว่า เราอาจจะไม่ได้อยากไปงานวิ่งมาราธอนการกุศลที่เพื่อนชวนสักเท่าไหร่ แต่ตอบรับไปด้วยความเกรงใจ ส่วนงานแต่งงานน้องสาวเพื่อนร่วมงานก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่เราไม่ได้ชอบหน้าและไม่ได้สนิทด้วย ดังนั้น สองอย่างหลัง จงช่างมัน! 

  1. ช่างมัน–อย่างสุภาพและมีเหตุผล

หลายคนมักตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตอบรับคำชวนไปแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้อยากทำ พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ไม่มีความสุข เสียทั้งเวลา ทั้งพลังงาน และอาจต้องเสียเงินอีกด้วย เพียงเพราะไม่กล้าปฏิเสธ ปฏิเสธไม่เก่ง ขี้เกรงใจ หรือเป็นคนประเภทที่ชอบเอาใจคนอื่น (มากกว่าตัวเอง) 

ดังนั้น ซาราห์จึงแนะนำกฎเหล็กอีกข้อมาควบคู่กับคาถาช่างมัน นั่นคือการ ‘ปฏิเสธอย่างสุภาพจริงใจและมีเหตุผล’ ตัวอย่างเช่น บอกเขาไปตรงๆ ว่า “ขอบคุณที่ชวนนะ แต่ฉันไม่มีเวลา” “ฉันไม่มีเงิน” หรือ “ฉันอยากทำอย่างอื่นมากกว่า” จากนั้นก็ ‘ไม่ต้องรู้สึกผิด’ เพราะคุณไม่ได้ทำความผิดอะไร คุณแค่เลือกที่จะให้ความสำคัญกับตัวเองและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

ถ้ากลัวว่าการตอบปฏิเสธจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ ซาราห์แนะนำให้เราจำกัดกลุ่มคนที่เราควรแคร์เอาไว้ เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือญาติสนิท ย้ำว่าต้องสนิทกันเท่านั้น แต่ถ้าเป็นญาติห่างๆ ที่เป็นน้าเขยของลูกพี่ลูกน้องของเพื่อนแม่ หรือเป็นเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนอีกที แบบนี้ให้ช่างมัน!

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่อาจเปลี่ยนชีวิตของเราให้มีความสุขขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานก่อนถึงจะทำได้ เพียงแค่รู้จักปฏิเสธเสียบ้าง โดยใช้เทคนิคปฏิเสธอย่างสุภาพจริงใจในเวลาที่เหมาะสม อย่าลืมว่า แม้การใส่ใจคนอื่นจะเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องให้ความสุขกับคนสำคัญที่สุดอย่าง ‘ตัวเรา’ เองด้วย


แปลและเรียบเรียงจาก: The Magic of Not Giving a F*** | Sarah Knight | TEDxCoconutGrove

บทความที่เกี่ยวข้อง