ถอดบทเรียนชีวิต ‘ริวอิจิ ซากาโมโต้’ แรงบันดาลใจด้านดนตรีและการรับมือกับโรคมะเร็ง

Care / Self Care

วันนี้ ชีวิตดี by HHC Thailand จะพาคุณไปถอดบทเรียนชีวิตของ ริวอิจิ ซากาโมโต้ (Ryuichi Sakamoto) นักประพันธ์เพลงชาวญี่ปุ่นผู้มีฝีมือเป็นที่ยอมรับทั้งในญี่ปุ่นและในระดับโลก ผู้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดสร้างสรรค์ผลงานสุดล้ำชิ้นใหม่ๆ ออกมาแม้ว่าปัจจุบันเขาจะมีอายุ 69 ปีแล้วก็ตาม 

เขาเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรีชื่อ Yellow Magic Orchestra วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สุดล้ำในยุค 80s ที่โด่งดังไปทั่วโลก ต่อมาเขาทำผลงานเพลงเดี่ยวโดยมีเอกลักษณ์เป็นเสียงเปียโนผสมผสานกับซาวด์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมือนใคร เขาได้สร้างสรรค์งานเพลงประกอบภาพยนต์หลายเรื่อง และเป็นคนญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง The Last Emperor ในปี 1988 

การสนับสนุนจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ

ริวอิจิ ซากาโมโต้เติบโตมาในครอบครัวที่เห็นคุณค่าของงานศิลป์ พ่อของเขาเป็นบรรณาธิการหนังสือวรรณกรรมที่ทำงานร่วมกับนักเขียนนวนิยายชื่อดังของญี่ปุ่นหลายคน ส่วนคุณแม่นั้นเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ เขาได้คลุกคลีอยู่กับงานศิลปะแทบทุกรูปแบบตั้งแต่เด็ก ทั้งวรรณกรรม บทกวี ภาพยนตร์ และดนตรีคลาสสิคเรียนเปียโนเมื่ออายุ 6 ขวบ หัดแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เข้าเรียนระดับปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยศิลปะอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น คือ Tokyo University of the Arts 

ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยนี้เองที่เขาได้ทำงานพิเศษเป็นนักดนตรีตามคลับบาร์​ เป็นนักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ และได้ร่วมงานกับศิลปินมากมายหลายแขนงทั้งร็อค แจ๊ส และคลาสสิก จากนั้นเพียงไม่นานเขาก็กลายเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น

การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตัวเองชอบได้อาจมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สำหรับซากาโมโต้ซัง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเส้นทางดนตรีของเขานั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการสนับสนุนของครอบครัว

เปิดใจรับความหลากหลาย และกล้าออกจาก comfort zone 

ซากาโมโต้ซังเติบโตมากับการฟังดนตรีหลากหลายแขนง แม้จุดเริ่มต้นวัยเด็กของเขาคือดนตรีคลาสสิค แต่ในช่วงวัยรุ่นเขาเริ่มสนใจดนตรีฝั่งป็อปและร็อค เช่น The Beatles และ Rolling Stones ที่กำลังโด่งดังในเวลานั้น ต่อมาเขาเริ่มอ่านนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ซึ่งช่วยเปิดโลกให้เขารู้จักกับศิลปินมากมายทั้งสายดนตรีและศิลปะ เขาเริ่มสนใจงานศิลปะและดนตรีแนวทดลอง ในขณะเดียวกัน ดนตรีคลาสสิคก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ฝังแน่นอยู่ในตัวเขา การรับสิ่งใหม่ไม่ได้แปลว่าต้องทิ้งสิ่งเก่าเสมอไป และทั้งหมดนี้หลอมรวมกันจนกลายเป็นริวอิจิ ซากาโมโต้ผู้ขึ้นชื่อในเรื่องการสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่อยู่เสมอนั่นเอง

การลงมือทำในสิ่งที่เราชอบอย่างทุ่มเทและตั้งใจ เมื่อเวลาผ่านไปย่อมทำให้เราพัฒนาฝีมือและเชี่ยวชาญในสิ่งนั้นมากขึ้น  แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยึดติดอยู่กับกรอบความคิดเพียงแบบเดียว ถ้าลองเปิดใจให้กับแนวคิดที่หลากหลาย และกล้าออกจาก comfort zone บ้างอาจทำให้เราปิ๊งไอเดียใหม่ๆ ที่น่าสนใจและคิดไม่ถึงมาก่อน

สิ่งเล็กๆ ก็เป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ได้

เบื้องหลังความสำเร็จของผู้มีชื่อเสียงหลายคนมีแรงบันดาลใจจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่รอบตัว ตัวอย่างเช่น เซอร์ไอแซค นิวตัน ที่สังเกตเห็นลูกแอปเปิ้ลที่หลุดจากต้นจนเกิดความสงสัยว่าทำไมมันถึงตกสู่พื้นดิน และนำไปสู่การค้นพบกฎแรงดึงดูดของโลก หรือเซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ผู้สังเกตเห็นเชื้อราประหลาดโดยบังเอิญจนพัฒนาไปสู่การคิดค้นยาเพนนิซิลิน ยาปฏิชีวนะชนิดแรกของโลก หรือจะเป็นหลักการฟิสิกส์ของนักปราชญ์ที่ชื่ออาร์คิมิดีส ซึ่งคิดขึ้นได้เมื่อเขาเห็นน้ำล้นออกมาจากอ่างอาบน้ำที่เพิ่งแช่ตัวลงไป 

ซากาโมโต้ซังเป็นคนที่ชื่นชอบและได้รับบันดาลใจจากการฟัง “เสียง” ต่างๆ รอบตัว เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายในโตเกียว ต้องเดินทางด้วยรถไฟไปเรียนทุกวัน สิ่งที่เขาทำเป็นประจำในขณะที่ร่างกายอัดแน่นเบียดเสียดกับผู้โดยสารคนอื่นจนขยับตัวไม่ได้ก็คือ การฟังและจำแนกเสียงต่างๆ ที่ได้ยินบนรถไฟนั้น เขาเคยเดินทางไปยังอาร์กติกเพื่อบันทึกเสียงหิมะที่กำลังละลาย เขาบันทึกเสียงฝนตกและเสียงต่างๆ รอบตัวมากมาย แม้กระทั่งเสียงจานชามกระเบื้องที่ตกแตก เขาสามารถนั่งฟังเสียงที่บันทึกมาเหล่านั้นเป็นเวลานานซ้ำไปซ้ำมาเพื่อค้นหาองค์ประกอบทางดนตรีที่ซ่อนอยู่ในนั้น ความตั้งใจของเขาก็คือ การสร้างผลงานใหม่ๆ ที่มีเอกลักษณ์และไม่ซ้ำใคร  

รับมือกับการจู่โจมของโรคมะเร็ง

ในเดือนมิถุนายนปี 2014 ริวอิจิได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำคอระยะที่ 3 อีกหนึ่งเดือนต่อมาเขาได้เปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณชนโดยออกแถลงการณ์ผ่านทางเว็บไซต์เป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ เนื้อหากล่าวถึงอาการป่วยและความจำเป็นที่จะต้องหยุดพักเพื่อรักษาตัว การแจ้งยกเลิกงาน คำขอบคุณทีมหมอที่ให้การรักษา และคำกล่าวขอโทษต่อผู้ร่วมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด วิธีการสื่อสารที่ริวอิจิแสดงออกนี้ตรงกับหัวใจหลัก 5 ประการของการสื่อสารในภาวะวิกฤต (Crisis Management) ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์สรุปไว้ ได้แก่ 1. รวดเร็ว 2. แสดงความรับผิดชอบ 3. เข้าใจหัวอกเพื่อนมนุษย์ 4. บอกช่องทางการสื่อสาร และ 5. เตรียมแผนการณ์ไว้สำหรับคราวหน้า นอกเหนือจากนี้ก็คือความสุภาพที่แฝงอยู่ในการใช้ภาษา รวมถึงท่าที และการแสดงออกของซากาโมโต้ซังที่สุภาพและให้เกียรติคนอื่นเสมอ บนเวทีเขาแสดงออกอย่างมั่นใจ ในขณะเดียวกันก็รับรู้ได้ถึงความถ่อมตน 

ต้นปี 2021 เขาประกาศข่าวร้ายอีกครั้ง เมื่อมะเร็งร้ายกลับมาโจมตี ครั้งนี้ที่ลำไส้ใหญ่ แม้เขาจะรักการทำดนตรี และมีโปรเจกต์ที่ต้องรับผิดชอบมากมาย แต่สุขภาพย่อมสำคัญที่สุด ทำให้เขาตัดสินใจไม่ยากที่จะหยุดงานเพื่อรักษาตัวและรับการทำเคมีบำบัดแบบเข้มข้น ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะทำให้เขาสามารถฟื้นตัวกลับมาทำงานเพลงได้ต่อไป ดนตรียังคงเป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิต และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยากมีชีวิตเพื่อสร้างผลงานเพลงต่อไปให้นานที่สุด เขาจึงพร้อมกับรับมือกับโรคมะเร็งอย่างมีสติ

ในโลกที่เต็มไปด้วยไลฟ์โค้ชเยอะแยะมากมาย แต่หลายครั้งที่เราพบว่าผู้คนที่สร้างแรงบันดาลใจและให้แง่คิดกับเราได้อย่างลึกซึ้งและจริงแท้มากที่สุดกลับกลายเป็นคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะสอนอะไรใคร หากแต่เป็นคนที่กำลังใช้ชีวิตของเขาได้อย่างน่าทึ่ง จนเราอดไม่ได้ที่จะนำมาเป็นบทเรียนสอนตัวเอง

แหล่งข้อมูล:
www.sitesakamoto.com
www.asahi.com
www.apjjf.org
www.thecreativeindependent.com/
www.theartsdesk.com/
www.indiewire.com/

บทความที่เกี่ยวข้อง