จัดตู้เสื้อผ้า: งานมหากาพย์ของพ่อบ้านแม่บ้าน

Care / Family Care

ตู้เสื้อผ้าของคุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า? – มีแต่เสื้อผ้าที่แขวนอยู่เป็นปีไม่เคยใส่ พอจะหาเสื้อผ้าที่อยากใส่กลับไม่เจอ เจอแต่กองผ้ารกๆ ยับๆ ที่อัดแน่นไว้ และพร้อมจะถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ

ถ้าคำตอบคือใช่ นั่นแปลว่าได้เวลาที่คุณต้องจัดตู้เสื้อผ้าของคุณครั้งใหญ่แล้วล่ะ!

Let’s Start!

เริ่มจากเลือกวันจัดตู้เสื้อผ้าให้เหมาะสม อย่าเลือกวันที่เหนื่อยล้ากับงานมาทั้งวัน เพราะภารกิจอาจล่มกลางคัน ให้เลือกวันเวลาที่เราจะสามารถทุ่มเทให้กับภารกิจนี้ได้โดยไม่มีอะไรรบกวน ควรตั้งเป้าจัดรวดเดียวเสร็จไปเลยเพราะเราจะมีแรงจูงใจที่จะทำให้สำเร็จมากกว่า

อีกเคล็ดลับที่หลายคนมองข้ามคือการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นถุงขนาดใหญ่หรือตะกร้าผ้าเอาไว้สำหรับการคัดแยกเสื้อผ้า สิ่งนี้สำคัญมากเพราะจะช่วยให้การคัดแยกเป็นไปอย่างไหลลื่นและเป็นระบบ รวมทั้งควรมีกระดาษโพสต์อิทหรือเทปกาวเอาไว้แปะป้ายที่ถุงหรือตะกร้าผ้าเพื่อกันหลงลืมหรือสับสนว่ากองไหนสำหรับอะไร เช่น บริจาค ส่งต่อ หรือคัดทิ้ง

Clear & Clean

การจัดตู้เสื้อผ้าถือเป็นโอกาสทองให้เราได้ปัดกวาด ดูดฝุ่น เช็ดถูตู้เสื้อผ้าอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุม โดยก่อนอื่นก็ต้องเคลียร์เสื้อผ้าข้าวของออกจากตู้เสียก่อน ข้อควรระวังในการทำความสะอาดก็คือหากมีการเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำ ควรตรวจสอบก่อนว่าตู้เสื้อผ้าของเราทำจากวัสดุที่ทนทานต่อความชื้นมากน้อยแค่ไหน ถ้าทนทานน้อยควรบิดน้ำให้หมาดที่สุดหรือรีบใช้ผ้าแห้งเช็ดตามเพื่อให้แห้งสนิทโดยเร็วที่สุด ป้องกันวัสดุขึ้นรา หรือบวมชื้น อันจะเกิดความเสียหายตามมาได้

เคล็ดลับจัดการตู้เสื้อผ้าแบบมาริเอะ คนโด

1.  รวบรวม เสื้อผ้าทุกชิ้นในบ้านมากองรวมกัน ย้ำว่า-ทุกชิ้น! วิธีนี้จะทำให้เราเกิดความตระหนัก​(และตกใจ) ว่าเรามีเสื้อผ้าจำนวนมากมาย (จนเกินพอ) เราจะต้องเตรียมพื้นที่โล่งกว้างไว้เพื่อรองรับเสื้อผ้าทั้งหมดด้วย ซึ่งหลายคนใช้พื้นที่บนเตียงนั่นเอง

2.  ตั้งคำถาม ด้วยการหยิบเสื้อผ้ามาทีละชิ้นแล้วถามตัวเองว่า มันยังจุดประกายความสุข (Spark joy) ให้เราอยู่หรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ก็ให้กล่าวขอบคุณแล้วแยกใส่ถุงหรือตะกร้าสำหรับคัดทิ้ง​/บริจาค/ส่งต่อ แต่ถ้ายัง spark joy อยู่ไม่สร่าง ก็ให้เก็บแยกไว้อีกกอง

3.  ไม่ลดระดับ เสื้อผ้าที่เคยใส่ออกนอกบ้านมาเป็นชุดอยู่บ้าน เพียงเพราะเสียดายไม่อยากทิ้งไป (ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใส่แล้ว) เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็นของสะสมที่ค้างอยู่ในตู้เสื้อผ้าอยู่ดี

4. พับเก็บใส่ลิ้นชัก เป็นวิธีการจัดเก็บเสื้อผ้าที่มาริเอะซังย้ำว่าช่วยประหยัดพื้นที่ได้มากกว่าการแขวนด้วยไม้แขวนเสื้อ โดยจะไม่พับผ้าให้แบนแล้ววางซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป เพราะเสื้อผ้าที่อยู่ด้านล่างจะถูกน้ำหนักด้านบนทับจนยับ และมักถูกหลงลืม แต่ให้พับผ้าเป็นรูปทรงแนวตั้ง แล้ววางเรียงต่อกันไปตามแนวราบตามความยาวลิ้นชัก เมื่อเปิดมาสามารถมองเห็นเสื้อผ้าทุกชิ้นไม่มีเบียดบังกัน

5.  เลือกแขวน เฉพาะเสื้อผ้าที่เหมาะกับการแขวนมากกว่าพับ เช่น เสื้อผ้าที่มีเนื้อบางเบา เนื้อผ้าพลิ้ว ชุดกระโปรงยาว หรือชุดสั่งตัดพิเศษ เป็นต้น

6.  แบ่งหมวดหมู่ ให้แบ่งพื้นที่ในตู้เสื้อผ้าโดยจัดเก็บเสื้อผ้าหมวดหมู่เดียวกันไว้ด้วยกัน ซึ่งมาริเอะซังได้กำหนดหมวดหมู่แบบคร่าวๆ (ไม่มีถูกผิดตายตัว เพราะสไตล์เสื้อผ้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน) ได้แก่ เสื้อผ้าชิ้นบน (ประเภทเสื้อ), เสื้อผ้าชิ้นล่าง (กางเกง กระโปรง), เสื้อผ้าที่ควรใช้ไม้แขวนเสื้อ, ถุงเท้า, ชุดชั้นใน, กระเป๋า, อุปกรณ์เสริม เช่น เข็มขัด หมวก, เสื้อผ้าที่ใส่ในโอกาสเฉพาะ เช่น ชุดว่ายน้ำ ชุดเครื่องแบบ และรองเท้า

7. จัดเสื้อผ้าจากซ้ายไปขวา โดยแขวนเสื้อผ้าที่มีสีเข้ม ยาว หรือหนาหนักไว้ด้านซ้าย ส่วนเสื้อผ้าเบาๆ สีอ่อนๆ ไว้ด้านขวา รวมถึงเสื้อผ้าที่พับอยู่ในลิ้นชักก็ให้วางจากซ้ายไปขวาเช่นกัน

8. ห้ามม้วนถุงเท้า และถุงน่องให้เป็นก้อนกลมๆ เพราะจะทำให้ผ้าเสื่อมสภาพได้ง่าย แต่ให้ใช้วิธีพับทบกัน แล้วจัดวางในลิ้นชักแบบที่สามารถเปิดลิ้นชักแล้วสามารถมองเห็นถุงน่องหรือถุงเท้าทุกคู่

อย่าปล่อยให้ความรกลอยนวล

อย่าปล่อยให้ตู้เสื้อผ้ารกจนกลายเป็นงานมหากาพย์ก่อนถึงจะเริ่มลงมือจัดตู้เสื้อผ้าได้ ควรหมั่นดูแลความเป็นระบบระเบียบอยู่เป็นประจำทุกวัน และทุกครั้งที่หยิบเสื้อผ้าออกมาลอง หากไม่ได้ใส่ให้เก็บเข้าที่ทันที อย่าวางกองสุมกันไว้ และเมื่อเก็บผ้าที่ซักมาใหม่ให้รีบพับเก็บทันที เมื่อเราปรับพฤติกรรมให้ ‘เก็บทันที’ จนเกิดความเคยชิน ชีวิตก็จะง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ 

การจัดตู้เสื้อผ้าให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ได้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ… ทุกครั้งที่คุณเปิดตู้เสื้อผ้าก็จะเจอแต่ความสุขสงบ และนับเป็นจุดเริ่มต้นของวันดีๆ อีกด้วย

อ้างอิง:
www.thespruce.com
www.konmari.com

บทความที่เกี่ยวข้อง