มา ‘ล้างพิษ’ ออกจากสมองและจิตใจ ด้วย Social Media Detox กันดีกว่า

Care / Self Care

ก่อนหน้านี้ เมื่อพูดถึงเรื่องดีทอกซ์ (Detox) หลายคนน่าจะนึกถึงการดีทอกซ์ร่างกาย หรือการล้างสารพิษที่เกิดจากอาหารต่างๆ ที่เรากินเข้าไปและร่างกายไม่สามารถขับออกมาได้หมด จนทำให้ตกค้างอยู่ในลำไส้ แต่ในปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารออนไลน์กำลังรายล้อมเราอยู่ทุกทิศทุกทาง ร่างกายของเราไม่ใช่ส่วนเดียวที่รับ ‘พิษ’ เข้าไปเท่านั้น แต่สมองและจิตใจยังถูกรบกวนจากสิ่งเป็นพิษที่เราเสพผ่านข้อมูลข่าวสารมากมายทางโซเชียลมีเดียอีกด้วย ซึ่งข้อมูลมากมายมหาศาลที่เราผ่านตาในแต่ละวันเหล่านี้อาจทำให้เราเกิดอาการเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีอาการทางจิตใจที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหลายด้าน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ทุกวันนี้ การดีทอกซ์ที่กำลังได้รับความนิยมมากที่สุด ไม่ใช่ดีทอกซ์ร่างกายอีกต่อไป แต่เป็นการดีทอกซ์จิตใจด้วยการหลีกห่างจากโซเชียลมีเดีย หรือที่เรียกว่า โซเชียลมีเดียดีทอกซ์ (Social Media Detox)

โซเชียลมีเดียดีทอกซ์คือ การละเว้นจากการเสพข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย ทั้งการงดโพสต์สื่อสารออกไปและงดรับข่าวสารเข้ามาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น การดีทอกซ์ 3 วัน 5 วัน ดีทอกซ์เป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน หรือดีทอกซ์หลังจบชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน

ส่วนคำถามว่าใครบ้างที่ควรทำโซเชียลมีเดียดีทอกซ์นั้น เราขอยกคำพูดของ Dr.Adam Borland นักจิตวิทยาและนักบำบัด จาก Cleveland Clinic มาเป็นคำตอบ นั่นคือ “(คนที่ควรทำโซเชียลฯ ดีทอกซ์) ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียในแต่ละวันมากเสมอไป แต่คือคนที่รู้สึกว่าการเสพข่าวสารออนไลน์เหล่านี้เริ่มจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคุณแล้ว” 

ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่า โซเชียลมีเดียเริ่มทำร้ายคุณแล้วหรือไม่ และคุณควรทำดีทอกซ์บ้างแล้วหรือยัง ขอให้ดูเช็กลิสต์ด้านล่างนี้ 

สัญญาณว่าคุณควรทำโซเชียลมีเดียดีทอกซ์

1. ติดนิสัยเช็กโทรศัพท์บ่อยๆ

หมายถึงการที่นั่งอยู่ดีๆ คุณก็หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเปิดแอปฯ เข้าโซเชียลฯ ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลอะไรให้ต้องเข้าไป เรียกว่าเป็นการทำไปอย่างอัตโนมัติโดยที่คุณเองแทบไม่ได้ใช้สมองคิด แต่พอรู้ตัวอีกทีนิ้วก็คลิกเลื่อนหน้าจอขึ้นลงไปแล้ว ฟันธงเลยว่าหลายคนเป็นข้อนี้แน่นอน!

2. เริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ ในโซเชียลฯ 

Dr.Myra Altman รองประธานของ Clinical Care จาก Modern Health กล่าวไว้ว่า เวลาที่เราเลื่อนฟีดส์เสพข่าวสารต่างๆ ทางโซเชียลฯ และเห็นบรรดาเซเลปหรือเพื่อนๆ คนอื่นๆ มีหน้าตารูปร่างเพอร์เฟกต์ไปหมด แถมยังมีชีวิตดีงามน่าหลงใหล อาจทำให้เราอดรู้สึกไม่ได้ว่าคนอื่นกำลังมีชีวิตที่ดี ชีวิตที่สนุกสนานกว่าเรา ทั้งๆ เราอาจลืมไปว่า นั่นเป็นการเลือกสื่อสารชีวิตเพียงด้านเดียว แถมภาพที่เราเห็นก็อาจผ่านการตกแต่งให้เกินจริงอีกด้วย และเมื่อเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับ ‘ชีวิตที่เลิศเลอเกินจริง’ นั้น ก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพจิตใจตามมา

3. กลัวตกเทรนด์ (FOMO)

อาการกลัวตกเทรนด์ของสังคมโซเชียลฯ ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า FOMO ที่ย่อมาจาก Fear of Missing Out หมายถึง ความกลัวว่าถ้าไม่ได้เข้าโซเชียลฯ บ่อยๆ เพื่อมาดูว่าคนอื่นๆ กำลังทำอะไรกันอยู่ พูดถึงเรื่องอะไรกันบ้าง หรือว่าเล่นมุกตลกไร้สาระอะไรกันแล้วบ้างในตอนนี้ คุณจะตามคนอื่นไม่ทัน และไม่ถูกนับเป็นพวกเดียวกันกับพวกเขา ทั้งๆ ที่ จริงๆ แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องตามติดทุกเทรนด์ให้เหนื่อยเปล่าๆ เลยแม้แต่นิดเดียว

4. เริ่มหงุดหงิดกับทุกอย่างในโซเชียลฯ

ข้อนี้คงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะถ้าเมื่อไรก็ตามที่คุณหงุดหงิดกับอะไรมากๆ คุณก็ควรถอยห่างออกจากมันได้แล้ว

5. มีเพื่อนมากมายในโซเชียล แต่กลับเหงามากขึ้นในชีวิตจริง

เป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่า โซเชียลมีเดียเชื่อมต่อคุณกับเพื่อนๆ และคนมากมาย แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันก็เป็นเพียงการติดต่อกันในโลกเสมือนจริงเท่านั้น ถ้าในโซเชียลฯ คุณพูดคุยหยอกล้อกับคนมากมาย แต่ในชีวิตจริงๆ พออยากจะคุยกับใครสักคนอย่างจริงจัง คุณกลับนึกไม่ออกว่าจะโทรฯ หาใครดี นี่แหละที่เรียกว่าความเหงา

6. รู้สึกว่าการใช้ชีวิตจริงๆ ไม่เติมเต็มหากไม่ได้โพสต์ลงโซเชียลฯ

ถ้าก่อนคุณจะกินข้าว คุณต้องถ่ายรูปอาหารโพสต์ลงโซเชียลฯ ก่อน หรือก่อนจะไปไหนต่อไหนและทำอะไรจะต้องประกาศให้โลกรู้ หรือทำไปแล้วก็ต้องเอามาโพสต์ไปหมดทุกเรื่อง จนถ้าไม่โพสต์ จะรู้สึกไม่มีความสุขเท่าที่ควร นั่นแหละค่ะคืออาการของการใช้ชีวิตจริงที่เริ่มจะไม่เติมเต็มแล้ว

พูดว่าจะงดใช้โซเชียล 3 วัน 5 วัน นั้น ใครก็พูดได้ แต่จะทำได้หรือเปล่าเป็นอีกเรื่องนึง เพราะเอาเข้าจริง ให้งดใช้สักหนึ่งชั่วโมงสำหรับบางคนยังยากเลย แต่… อย่าเพิ่งท้อและล้มเลิกความตั้งใจไปค่ะ ถ้าคุณตั้งใจจริงและอาศัยเคล็ดลับด้านล่างนี้อีกสักหน่อย เราเชื่อว่าคุณจะดีทอกซ์ได้อย่างที่ต้องการแน่นอน

1. ปิด notification ทุกชนิด

notification หรือ สัญญาณแจ้งเตือน คืออุปสรรคอันดับต้นๆ ที่ทำให้คุณทำโซเชียลฯ ดีทอกซ์ไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เมื่อมีสัญญาณแจ้งเตือนขึ้นมาในหน้าจอ เราก็มักอยากรู้ว่ามีใครส่งข้อความมาหาเรา หรือใครมีธุระอันใดเกี่ยวข้องกับเรา สุดท้าย เราก็เลยต้องวิ่งแจ้นไปหยิบโทรศัพท์มาเปิดดู และกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็นั่งไถฟีดส์ต่อซะแล้ว ดังนั้นก่อนจะดีทอกซ์ คุณจึงควรปิด notification ทุกอย่างเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะ notification ที่แจ้งเตือนเวลามีคนมาคลิก Like หรือคอมเมนต์โพสต์ เรายิ่งแนะนำว่าควรปิดเป็นการถาวรไปเลย (จริงๆ ไม่ควรเปิดใช้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ) เพราะข้อมูลเหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องที่ ‘รอได้’ ไม่จำเป็นที่เราต้องรู้ในทันทีทันใด

2. แจ้งครอบครัวและเพื่อนให้ทราบ

หลายคนใช้ข้อความทางโซเชียลมีเดียในการติดต่อกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อนๆ ไปจนถึงเพื่อนร่วมงาน เพราะฉะนั้นก่อนที่คุณจะปิด notification แล้วเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการดีทอกซ์ คุณจึงควรแจ้งให้คนรอบข้างทราบเสียก่อนว่า คุณกำลังจะทำโซเชียลฯ ดีทอกซ์นะ หากพวกเขาส่งข้อความมาแล้วคุณเงียบหายไป จะได้ไม่ตกอกตกใจกัน หรือถ้ามีอะไรเร่งด่วนก็จะได้เลือกใช้วิธีโทรศัพท์มาโดยตรง

3. ตั้ง Screen Time Limit

สมาร์ทโฟนหลายยี่ห้อมีฟังก์ชันให้เราสามารถกำหนดเวลาที่เราจะใช้แอพฯ ต่างๆ ได้เป็นเวลาจำกัดต่อวัน ซึ่งเมื่อเราใช้โควต้าจนครบเวลาของแต่ละวัน สมาร์ทโฟนก็จะทำการล็อกไม่ให้เราเข้าไปใช้ได้อีก เช่นเดียวกันกับโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook ที่มีฟังก์ชันมีประโยชน์ที่หลายคนอาจไม่รู้ นั่นคือ Quiet Mode ที่ให้คุณสามารถตั้งเวลาได้ว่าต้องการจะปิด Facebook ในช่วงเวลาไหนบ้างของวัน เช่น ถ้าเราต้องการ Quiet Mode ในช่วง 22.00-7.00 น. เมื่อถึงเวลานั้น พอเราเข้ามาใน Facebook หน้าจอก็จะปิดกั้นไม่ให้เราเข้าไปได้โดยง่าย ยกเว้นเราจะขอเข้าไป 15 นาที เพื่อจัดการธุระ หรืออีกฟังก์ชันที่น่าสนใจคือ Daily Time Reminder ที่ถ้าเราเลือกระยะเวลาการใช้ไว้วันละ 1 ชม. เมื่อเราใช้ Facebook ครบหนึ่งชั่วโมง Facebook ก็จะทำการแจ้งเตือนให้เรารู้ โดยทั้งสองฟังก์ชันนี้สามารถเข้าไปตั้งได้ในหัวข้อ Your Time on Facebook

4. กำหนด Social Media Curfew 

คล้ายๆ กับข้อก่อนหน้า แต่คราวนี้ คุณจะเป็นคนกำหนดการใช้โซเชียลฯ ของคุณเอง โดยเลือกช่วงเวลาที่คุณจะไม่ใช้โซเชียลฯ อย่างเด็ดขาด เช่น สำหรับมือใหม่ เราแนะนำให้เลือกช่วงเวลา 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และ 2 ชั่วโมงหลังตื่นนอน เป็นช่วงเคอร์ฟิวที่คุณจะไม่เปิดแอพฯ โซเชียลใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นถ้าเริ่มชินกับการดีทอกซ์มากขึ้น ให้คุณลองเพิ่มช่วงเวลาที่จะไม่หยิบจับสมาร์ทโฟนเลย เช่น ช่วงระหว่างกินข้าว เพื่อเป็นการฝึก Mindful Eating หรืออาจตั้งเป้าใหญ่กว่านั้นโดยดีทอกซ์ต่อเนื่องเป็นวันๆ ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความสามารถของคุณ

5. ลบแอปฯ โซเชียลฯ

ถ้าคุณไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียในการทำงานและอยากจะดีทอกซ์แบบแอดวานซ์ไปเลย เราแนะนำให้ลบแอพฯ ออกจากสมาร์ทโฟนค่ะ แล้วถ้าจะใช้โซเชียลมีเดีย ก็ค่อยใช้ตอนคุณนั่งลงบนโต๊ะทำงานและเปิดคอมพิวเตอร์ก็พอ รับรองว่าจะช่วยลดเวลาการใช้โซเชียลฯ ไปได้มากทีเดียว

6. ใช้ชีวิต off line แทนชีวิต on line

ในบรรดาเคล็ดลับทั้งหมดที่ว่ามา เราคิดว่าข้อนี้คือข้อที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าในแต่ละวันคุณมีกิจกรรมสนุกๆ ทำ คุณก็คงไม่มัวมานั่งไถฟีดส์หรอก จริงไหมคะ? หรือสำหรับใครที่มีข้ออ้างว่า คุณใช้โซเชียลฯ เพื่อความบันเทิง เราก็ขอแนะนำให้คุณออกไปหาความบันเทิงในรูปแบบอื่น เช่น ฟังดนตรีสด เดินเล่น เที่ยวพิพิธภัณฑ์-แกลเลอรี่ เล่นกีฬา หรือชวนเพื่อนๆ มาทำอะไรสนุกๆ ด้วยกัน หรือใครที่บอกว่าใช้โซเชียลฯ เพื่อสังสรรค์หรือสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น เราอยากให้ลองออกไปเจอเพื่อนฝูงแบบตัวต่อตัว ลองทำงานอาสาสมัคร และสมัครเข้าชมรมเพื่อทำกิจกรรมที่คุณสนใจ เป็นต้น รับรองว่าไม่ใช่เพียงชีวิตคุณจะสนุกกว่าในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่สุขภาพโดยรวมของคุณจะดีขึ้นด้วย

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ไม่ว่าคุณจะมีสัญญาณว่าควรทำโซเชียลฯ ดีทอกซ์แล้วหรือยัง เราก็ยังอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาลดเวลาการใช้โซเชียลฯ กันให้มากขึ้นอยู่ดี เพราะจากการทดลองหลายๆ โครงการพบว่า คนที่ทำโซเชียลฯ ดีทอกซ์เป็นเวลา 1-7 วัน ล้วนมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นทั้งนั้น พวกเขามีอารมณ์แจ่มใสขึ้น นอนหลับได้ดี ลดความวิตกกังวล แถมยังทำงานได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นอีกต่างหาก หรือแค่ลดเวลาการใช้โซเชียลฯ ให้เหลือ 30 นาทีต่อวัน ก็ส่งผลดีอย่างมหาศาลต่อสุขภาพกาย-ใจโดยรวมแล้ว ที่แน่ๆ มันจะไม่ดีกว่าเหรอที่คุณจะลดเวลาในการฟังเสียงของคนอื่น อ่านเรื่องราวไร้สาระของคนอื่น แล้วหันมาฟังเสียงของตัวเองและใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ส่วนเวลาในการใช้โซเชียลฯ นั้น เอาให้เหลือแต่พอเหมาะ และใช้อย่างเป็นประโยชน์ เช่น การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงและอ่านเรื่องราวเป็นความรู้รอบตัวจะดีกว่า 

สุดท้ายจริงๆ นะ เราแนบเช็กลิสต์สัญญาณเตือนว่าคุณควรเริ่มทำ Social Media Detox จากที่กล่าวข้างต้นมาให้แล้ว คุณจะได้รู้ว่าโซเชียลมีเดียเริ่มทำร้ายคุณแล้วหรือยัง 

ที่มา: 
health.clevelandclinnic.org
cnet.com

บทความที่เกี่ยวข้อง