ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง ‘Greenery’ รีเซ็ตชีวิตสู่วิถีกรีนที่ยั่งยืน 

Human / Social-Inspiration

ย้อนเวลากลับไปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติได้รับรองวาระ ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2573 ประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย 230 ตัวชี้วัด ครอบคลุมในเรื่องต่างๆ อาทิ ความยากจน ความหิวโหย สุขภาพ การศึกษา ความเสมอภาคทางเพศ น้ำและสุขอนามัย พลังงาน เมือง ไปจนถึงสภาพแวดล้อม โดยเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าวจะให้ความสำคัญไปกับการปรับสมดุลใน 3 มิติ ตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในรูปแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมโดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับการพัฒนาอย่างหลังในเรื่องสิ่งแวดล้อม เราเห็นผู้เล่นมากมายที่ตบเท้าเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อนำพาความสมดุลกลับคืนสู่ธรรมชาติ เอซ – ธนบูรณ์ สมบูรณ์ คือหนึ่งในนั้น กับการเป็นผู้ขับเคลื่อนวิถีรักษ์โลกและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนผ่านการก่อตั้งแพลทฟอร์มอย่าง ‘Greenery’ ที่มาพร้อมความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความตระหนักให้กับสังคมทั้งเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยของอาหาร การบริโภคและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ไปจนถึงการคืนความสุขและสมดุลให้กับธรรมชาติด้วยการปฏิบัติตนแบบวิถีเขียว เพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดีของผู้ปฏิบัติเอง ตลอดจนสร้างสุขภาพที่ดีให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และธรรมชาติรอบตัว เนื้อหาทั้งหมดที่จะเล่าต่อไปนี้ คือสิ่งที่เอซทำมาตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา กับเส้นทางชีวิตและมิตรสหายสายกรีนของเขาที่พร้อมเดินร่วมทางเพื่อสร้างพัฒนาการด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนให้กับโลกของเรา 

สุขภาพดีสร้างได้แถมกรีนด้วย 

ในปี 2555 เอซก่อตั้ง CreativeMOVE เพื่อเป็นองค์กรที่ดำเนินการในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้วยเป้าหมายที่ต้องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ และศิลปะ ในการขับเคลื่อนปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้บริการด้านการวิจัยและออกแบบพัฒนานวัตกรรมสังคม ตั้งแต่การจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการให้บริการด้านการสื่อสารกับองค์กรภาครัฐ เอกชน และองค์กรด้านสังคมต่างๆ ไม่นานนัก CreativeMOVE ขยายขอบเขตงานของตัวเองไปสู่การก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์อย่าง Creative Citizen ด้วยความตั้งใจที่ต้องการสร้างกลุ่มอาสาสมัครนักสร้างสรรค์สังคม กระทั่งปี 2560 ความสนใจในเรื่องความตระหนักด้านอาหารปลอดภัยและการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับคนรุ่นใหม่ของเอซได้ถูกนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มใหม่ ทั้งรูปแบบออนไลน์และออนกราวด์ในนาม Greenery แห่งนี้ 

“หลังจากที่ผมทำ CreatvieMOVE มา 11 ปี จนวันหนึ่งผมทำงานจนดึกแล้วออกไปหาของกินที่ร้านสะดวกซื้อ ตอนนั้นผมยืนมองชั้นวางที่เต็มไปด้วยอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง จนเกิดคำถามในใจว่า ทำไมเรายังต้องกินอาหารแบบนี้อยู่ ทำไมถึงไม่มีอาหารที่ดีกับสุขภาพของเรามาวางขายบ้าง และเราควรจะกินอาหารที่ดีกว่านี้ได้แล้วหรือเปล่า แต่ความสะดวกในการหาอาหารสุขภาพดีๆ หาความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ หรือการใช้ชีวิตที่กรีนมากขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเลยเป็นสิ่งที่จุดประกายให้ผมอยากจะนำเสนอประเด็นนี้เพื่อให้คนได้เห็นว่าการใช้ชีวิตยั่งยืน รวมถึงการกินอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพและดีกับสิ่งแวดล้อมทำได้และเข้าใจได้ไม่ยากนะ แล้วช่วงเวลานั้น ผมยังไม่เห็นใครทำเลยคิดว่า ‘เอาล่ะ ถ้าอย่างนั้น เราทำกันเองเลยแล้วกัน’ ผมอยากสร้างแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ทั้งต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม นำเสนอการกินอาหารจากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้เคมีในการเพาะปลูก ขณะเดียวกัน การกินดียังเป็นการอุดหนุนและส่งเสริมชุมชม ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมตามไปด้วย ผมอยากจะสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้คนลุกขึ้นมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อตัวเรา ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”  

‘g.’ บนโลโก้ของ Greenery เป็นการนำเอาสัญลักษณ์อินฟินิตี้ กับจุดเล็กๆ ที่สื่อถึง ‘คน’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ส่วนชื่อเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วย ‘.org’ ไม่ได้ย่อมาจาก Organization อย่างที่เราคุ้นเคย แต่อักษรสามตัวนี้คือตัวแทนของคำว่า ‘Organic’ เขายังเล่าให้เราฟังต่อว่า Greenery เรียกตัวเองว่าเป็น One Stop Service Platform for Creative Sustainable Lifestyle ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นแพลตฟอร์มที่มาพร้อมเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและนำเสนอเรื่องความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ให้กับผู้บริโภค ใช้วิธีสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ผ่านรูปแบบออนไลน์ ด้วยเนื้อหาในรูปแบบบทความ บทสัมภาษณ์ อินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ โดยมีผู้ติดตามกว่า 1,000,000 คน ผ่านทางเว็บไซต์ และกว่า 100,000 ฟอลโลเวอร์ทาง Facebook รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการนำเสนอกิจกรรมออฟไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Greenery Market, Farm Visit หรือ Greenery Talk เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตสีเขียวของผู้คน

“เมื่อ 2 ปีก่อน ผมมีโอกาสได้เข้าคลาสพอแล้วดี The Creator ตรงนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนพอสมควร เพราะที่เราเริ่มต้นจาก CreativeMOVE ซึ่งเป็นเอเจนซี่ด้านสังคม เรามาปรับโพซิชั่นตัวเองเป็นเอเจนซี่ที่ทำงานส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน เปลี่ยนมาเป็น One Stop Service Platform ที่ประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลักภายในองค์กร ส่วนแรกคือ Green Agency สอง Green Marketplace ที่เราจะทำตลาดออนกราวน์ซึ่งเราทำต่อเนื่องมา 30 ครั้งแล้ว ในชื่อ Greenery Market ซึ่งต้องการเชื่อมโยงเกษตรกร 130 กลุ่ม กับกลุ่มผู้บริโภคเข้าด้วยกัน โดยตอนนี้กำลังทำออนไลน์กันอยู่ สามคือ Green Media ที่เราจัดทำเป็นเว็บไซต์ greenery.org เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเห็นการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน นำเสนอ how to ของการใช้ชีวิตให้ยั่งยืนว่าเราทำอย่างไรได้บ้าง รวมถึงชวนผู้คนให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกัน ถัดมาคือ Green Activity ซึ่งเป็นพาร์ทที่เราจะใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งงานทอล์ค งานเสวนา เพื่อสร้างประสบการณ์และเปิดโอกาสให้คนทำงานด้านนี้มาเจอ มาแลกเปลี่ยน สร้างชุมชน ท้ายสุดคือ Green Product ซึ่งเป็นการพัฒนาสินค้าบริการที่จะช่วยให้คนใช้ชีวิตได้ยั่งยืนมากขึ้น ในเฟสแรกเราทำ Greenery Water หรือน้ำดื่มบรรจุกระป๋องที่บรรจุภัณฑ์ผลิตจากอลูมิเนียมซึ่งสามารถรีไซเคิลได้ 100% 

“เรายังมีกลุ่มที่ชื่อ Greenery Challenge ที่ปัจจุบันมีสมาชิกราว 56,000 คน โดยเราจะชวนสมาชิกให้มาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อม อาทิ งานทอล์คที่เราจะเชิญคนและองค์กรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต เจ้าของธุรกิจเล็ก กลาง ใหญ่ รวมทั้งผู้บริโภคมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และเรื่องราวการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนของตัวเองกับโปรเจ็กต์ที่สร้างสรรค์ต่างๆ เราทำแคมเปญต่างอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำ DIY ของเหลือใช้โดยเชิญชวนสมาชิกให้เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน การใช้ทฤษฎี 21 วัน เปลี่ยนนิสัย เช่น การชวนคนพกขวด 21 วัน ชวนพกกล่องอาหารไปกินข้าว 21 วัน ชวนคนพกหลอด 21 วัน ซึ่งสุดท้ายเราเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนคนได้ จนถึงวันนี้ Greenery Challenge ยังเป็นแอคทีฟกรุ๊ปที่ทำกิจกรรมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องครับ”

ตลาดอาหารปลอดภัยจากใจผู้ผลิตสู่คนเมือง

“สำหรับงานที่ผมเห็นอิมแพคที่ชัดเจนมากงานหนึ่งคือ Greenery Market ตลาดนี้เราไม่ได้เซ็ตว่าจะเป็นเพียงตลาดขายสินค้า แต่เราตั้งใจสร้างให้เกิดชุมชน เราอยากพาคนมาเจอกัน ถ้าย้อนเวลากลับไปในช่วงเริ่มต้น ตลาดกรีนส่วนใหญ่ในเวลานั้นจะอยู่ชานเมืองหมดเลย ผมมองว่าทำไมไม่มีตลาดแบบนี้กลางเมืองบ้างนะ ประจวบเหมาะกับที่เรามีพาร์ทเนอร์อยู่ที่ Siam Discovery ที่อนุเคราะห์เรื่องพื้นที่หน้าห้างโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้เรา นั่นทำให้ Greenery Market เกิดขึ้นได้ โดยทาง สสส. เข้ามาสนับสนุนเรื่องการบริหารจัดการทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าเต็นท์ เราอยากให้ตลาดนี้เชื่อมโยงคนเมืองให้มีโอกาสได้คุยกับเกษตรกรอินทรีย์ ได้เข้าถึงอาหารปลอดภัยในราคามิตรภาพ ขณะเดียวกัน เกษตรกรเองก็มีโอกาสได้เข้ามาขายผลิตภัณฑ์ของพวกเขากับผู้บริโภคโดยตรงโดยที่ไม่ต้องผ่านคนกลางและไม่เสียค่าเช่าที่ ที่สำคัญคือการได้มาสื่อสารสิ่งที่พวกเขาทำมาตลอด 

“เกณฑ์ในการคัดเลือกเกษตรกรเข้ามาตลาด เราจะมี Greenery GPS ซึ่งเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ทุกคนจะมาช่วยตั้งกฎกติการ่วมกัน อาหารที่เข้ามามีการตรวจสถานที่ผลิตสินค้าต่างๆ ว่าจะต้องไม่ใช้เคมี อาหารแปรรูปที่เป็นอาหารสำเร็จรูปจะต้องมีวัตถุดิบที่เป็นอินทรีย์อย่างน้อย 90% ผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้จากธรรมชาติ เช่น เสื้อผ้า ผ้าทอมือย้อมคราม ของเล่นจะไม่ใช้เคมีในการทำ และเนื่องจากตลาดมีการจัดจำหน่ายแค่เดือนละครั้ง เราจึงโปรโมทประชาสัมพันธ์ตลาดกลุ่มเกษตรกรทุกรายด้วยข้อมูลที่สามารถติดต่อได้โดยตรง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถกดเข้าไปว่าจะซื้อได้ที่ไหน เพราะเรามองว่าการประชาสัมพันธ์ให้มาขายที่ตลาดมีเพียงเดือนละ 1 ครั้ง แต่ที่เหลืออีก 29 วัน เขายังสามารถเข้าไปซื้อเองได้นะ แล้วพอมีคนเติบโต เริ่มได้ขึ้นห้าง หรือมีโอกาสที่ดีกว่าแล้ว เราจะขอสลับให้กับคนหน้าใหม่ๆ เข้ามาขายแทน 

“นอกจากนี้ ตลาดของเราจะไม่ใช้หลอด ถุง จาน และกล่องที่ทำจากพลาสติก แต่เราจะให้ทุกคนพกปิ่นโตมาเอง หรือใครไม่มี เราจะมีให้ยืมแบบใช้เสร็จแล้วนำมาคืน หรือการเลิกใช้หลอดพลาสติก โดยเราจะมีหลอดไม้ไผ่ หลอดแก้ว หลอดสแตนเลสมาให้เลือกใช้แทน รวมทั้งของที่ดิสเพลย์ต่างๆ เราก็พยายามให้เป็นของที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรายังชักชวนคนให้มาใช้ถุงผ้าจริงจังมากขึ้น ทั้งการพกถุงผ้ามาเองหรือใครไม่มีก็สามารถมาซื้อในราคา 5 บาท ได้เหมือนกัน โดยเราจะสะสมเงินจนครบปี แล้วจึงนำไปบริจาคให้กับองค์กรเกษตรกรรมยั่งยืน” 

ในการจัดกรีนมาร์เก็ตมา 30 ครั้ง ตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปี มานี้ นอกจากจะสามารถเชื่อมโยงเกษตรกร 130 กลุ่ม จาก 33 จังหวัดทั่วประเทศ กับคนอีก 7 หมื่นคนให้มาเจอกัน จนได้รับเลือกให้เป็น Best Possible Tourism ที่เป็น 1 ในการท่องเที่ยวยั่งยืนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรประมาณ 7 ล้านบาทแล้ว ตลาดเขียวแห่งนี้ยังกลายเป็นต้นแบบที่ทำให้ตลาดกรีนแห่งอื่นๆ เริ่มปรับตัว อาทิ การเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตลาดเหล่านั้นหันมาลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งเช่นเดียวกัน

“เราทำตลาด Greenery Market เพราะเราอยากเห็นสังคมมีแหล่งอาหารปลอดภัย แล้วสามารถหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมส่งผลเชิงบวกกับตัวเองได้ เราอยากสนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์และอยากช่วยส่งเสริมพวกเขาให้ไม่ต้องใช้สารเคมีในดิน น้ำ อากาศ ซึ่งทำให้เกษตรกรอินทรีย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขายสินค้าได้ เราพบเกษตรกรบางรายได้ลูกค้าที่มีร้านอาหารมาเดินช็อปที่นี่จนสั่งตรงกันเป็นรายเดือน บางรายยอดสั่งมากจนทำเองไม่ไหวและต้องกลับไปบอกคนในชุมชนว่าช่วยกันมาทำเถอะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น คือนอกจากการสร้างรายได้ให้กับตัวเกษตรกรเองแล้ว ยังทำให้ชุมชนเขาเติบโตขึ้นได้ เมื่อชุมชนเกษตรอินทรีย์ขยายตัวขึ้นและทำให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดีขึ้น ผลที่ตามมาคือการขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้มีสุขภาพที่ดีตามไปด้วย”

#กรีนที่สบายใจ

“ในช่วงแรกที่ผมเข้ามาทำงานด้านนี้ใหม่ๆ ในฐานะของคนที่ไม่ได้อยู่ในสายสิ่งแวดล้อม เรื่องแรกที่ถือเป็นชาเล้นจ์คือการมีคนตั้งคำถามว่า เราเป็นใคร อยู่ๆ มาทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม มาจัดตลาดออร์แกนิก เป็นตัวจริงเสียงจริงหรือเปล่า เราพยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเราไม่ได้มาในนามของการเป็นผู้เชี่ยวชาญนะ แต่เราอยากเป็นคนเชื่อมโยง เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้บริโภคที่ว่า…เราสามารถจะมีชีวิตแบบกินดีอยู่ดีได้นะ 

“การทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้วิถีชีวิตและความคิดของผมเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน สมัยก่อนผมจะมาแนวให้ข้อมูล ในทางที่เข้มงวดพอสมควร เช่น บอกว่าถ้าคุณทำแบบนั้นผลจะเป็นแบบนี้นะ ถ้าคุณใช้พลาสติกมากๆ เต่าจะตายนะ แล้วสิ่งที่คุณใช้จะกลับมาหาคุณนะ คุณจะได้กินไมโครพลาสติกที่อยู่ในน้ำทะเลเพราะปลากินเข้าไป แล้วคุณกินปลาอีกทีหนึ่ง ลองนึกสิจะเป็นอย่างไร หรือแต่ก่อนผมมองว่า จะต้องไม่ใช้พลาสติกเลย แล้วพอเราตึงมากๆ แค่เห็นคนใช้พลาสติกในตลาด Greenery Market ก็จะรู้สึกปวดร้าวมากแล้ว ไม่อยากเห็น ไม่อยากให้มีสักชิ้นเดียวแบบนั้นเลยนะ แต่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้คือ ผมเริ่มกลับมาตกตะกอนจนได้คำคำหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ ‘กรีนที่สบายใจ’ ความกรีนของเราไม่ควรจะเป็นการไปบังคับคนอื่น ไปบ่นเขา ไปรู้สึกไม่ดีกับเขา ผมเริ่มมองอีกมุมหนึ่งว่า เราน่าจะทำอะไรในเชิงของการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีต่อเราทั้งหมดมากกว่า ผมเลยหันมาใช้วิธีด้านบวกในการดึงคน ที่บอกว่า กรีนที่สบายใจ คือเราจะทำในส่วนของเราให้เต็มที่ ทำให้คนอื่นเห็น จะไม่ตัดสินใคร” 

ซึ่งมุมมองที่ว่า เอซได้สื่อสารในกลุ่ม Greenery Challenge ด้วยนิยามสั้นๆ ว่า #กรีนที่สบายใจ คือ ‘สุขเท่าที่กรีนได้ อย่าทุกข์เพราะกรีนไม่ได้ อย่าให้ความกรีนเป็นภาระกับเราและคนรอบตัวเกินพอดี โดยเริ่มต้นที่ ‘ลดสร้างขยะ’ ลดไม่ได้หาทาง ‘ใช้ซ้ำ’ เหลือใช้ก็ ‘ส่งไปเกิดใหม่’ หรือ ‘ส่งไปที่ชอบๆ’

“แล้วพอเราเริ่มเข้าใจว่ามีคนหลากหลายและความกรีนของแต่ละคนมีระดับที่แตกต่างกันได้นะ เลยทำให้เรามีเหตุและผลมากขึ้นในการทำตรงนี้ ที่ไม่มีถูกไม่มีผิด ผมจะใช้เครื่องมือที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงซึ่ง Greenery และตัวผมทำมาตลอด นั่นคือ Inspiration / Education / Action เช่นว่าถ้าเราอยากจะเปลี่ยนคนจากจุด A ไปจุด B จะไปทำให้คนอยากกินอาหารออร์แกนิก/อินทรีย์ อยากให้คนเลิกใช้ถุงพลาสติก เราต้องเริ่มจากการสร้างแรงบันดาลให้คนเห็นข้อดีก่อน จากนั้นจึงให้ความรู้เขาผ่านข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ จากนั้นจึงเริ่มลงมือทำ เช่น การเปิดตลาด การมีกิจกรรม farm visit เพื่อให้คนได้ไปเรียนรู้ ได้เชื่อมโยงไปสู่แหล่งต้นน้ำอย่างเช่นเกษตรกร ฟาร์ม ชาวประมง แล้วสุดท้าย พอเขาได้เห็น สัมผัส ลองนำไปปฏิบัติกับตัวเองและพบว่าดีกับตัวเขา คนรอบตัว หรืออาจจะไปไกลถึงสภาพแวดล้อม เขาจะกลับมาช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ต่อไป เช่น กลับมาช่วยสอน ช่วยบอกต่อ มาทำเวิร์คช็อป พอคนมีความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ การส่งต่อแรงกระเพื่อมก็จะเพิ่มขึ้นทวีคุณ ซึ่งนั่นเป็นปลายทางที่ผมอยากเห็นและจะไปให้ถึงในสักวันครับ

“ตลอด 6 ปีที่ทำ Greenery เรื่องแรกที่ได้รับแบบตรงๆ คือผมได้รับความรู้มากขึ้นเยอะเลย เพราะได้ทำคอนเทนท์เกี่ยวกับสุขภาพ  ได้เรียนรู้จากข้อมูลความรู้ต่างๆ ของคนในกลุ่ม Greenery Challenge เลยมีข้อมูลที่ถูกต้องที่สามารถนำไปปฏิบัติกับชีวิตได้ เช่น การแยกขยะ แล้วพอทำตลาด ผมก็สามารถเข้าถึงอาหารดีๆ และปลอดภัยได้ง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลง ถ้าเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ 10 ปี ผมทำงานหนักมาก ตอนนี้เลยมีโอกาสเริ่มดูแลตัวเองมากขึ้นเยอะ สุขภาพก็ดีตามไปด้วย สิ่งที่ผมทำในการดำเนินชีวิต ยังส่งผลไปถึงคนรอบข้าง ทั้งครอบครัวที่สุขภาพดีขึ้นด้วย เพราะพวกเขาได้เห็นเราทานอาหารจากแหล่งวัตถุดิบดี หรือพอกลับมาถึงออฟฟิศ น้องๆ ในทีมก็เริ่มปรับตัวเอง อย่างเช่นลดการที่ใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นต้น 

“เอาจริงๆ ความสุขจากการที่ทำ Greenery คือการที่ผมได้ใช้ชีวิตแบบไม่สุดโต่ง เพราะการใช้ชีวิตแบบนั้น เราจะเป็นทุกข์เอง ผมเข้าใจคำว่าทางสายกลาง ทางที่พอดีกับการใช้ชีวิต ความคิด และนิสัยเราจริงๆ แล้วพอเราเดินสายกลาง เราก็ไม่ทุกข์ แล้วสุดท้ายเราเลยสนใจแค่การตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้โลกที่เราอยู่ดีขึ้น จะไม่ไปทุกข์ว่าทำไมโลกเราถึงแย่”

วิกฤตโลกกู้ได้ด้วยมือเรา

“ผมสนใจเรื่อง Single-Use Plastic มาตลอด เป็นสิ่งที่ผมพยายามทำมาตั้งแต่ตอนเริ่มทำตลาดแล้ว และยังคงเป็นประเด็นที่อยากแก้ปัญหามากที่สุดในตอนนี้ ตั้งแต่ชวนคนพกขวด หรือการทำน้ำดื่ม Greenery Water เพราะความจริงที่น่าเศร้าคือเราไม่สามารถแยกไมโครพลาสติก (Microplastics) หรืออนุภาคพลาสติกเล็กๆ ที่เกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่จากโลกนี้ได้แล้ว พูดให้เห็นภาพคือ ไม่ว่าคุณจะกำทรายที่ทะเลแห่งไหนของโลก ทรายกำนั้นจะปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติกและเจ้าอนุภาคขนาดเล็กๆ เหล่านี้นอกจากจะเป็นพิษกับร่างกายของสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังเป็นวัสดุตัวกลางที่สะสมสารพิษอื่นๆ ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เราจึงเห็นเปอร์เซ็นต์ของคนป่วยที่มีมากขึ้น นักวิชาการบอกว่าเขาอยากจะพูดเหลือเกินว่าสถานการณ์ตอนนี้เกินแก้ไขแล้วนะ แต่ถ้าทำแบบนั้น สุดท้ายคนจะหมดกำลังใจกัน เวลานี้ สิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำได้คือการชะลอ” 

จากตัวเลขทางสถิติเปิดเผยว่า Single-Use Plastic (พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว) เป็นวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญ ระหว่างปี 2019-2021 การผลิตพลาสติกประเภทดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก 6 ล้านตันต่อปี แม้จะมีการรณรงค์ทั่วโลกให้ลดการใช้พลาสติกประเภทดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ถูกปล่อยทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง ทั้งถนนหนทาง ป่าเขา แม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องทะเลและมหาสมุทร ซึ่งส่งผลกับชีวิตของสัตว์และมนุษย์อย่างเราๆ ด้วยเช่นกัน 

“นี่เลยเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ผมและ Greenery อยากจะนำเสนอวิธีให้ผู้บริโภคหันมาสนใจที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดการใช้พลาสติกชนิดที่ว่า โดยเฉพาะขวดน้ำพลาสติกที่คนไทยบริโภคไป 6 พันล้านขวดต่อปี นี่ยังไม่นับทั้งโลกเลยนะครับ เรียกว่าเป็นจำนวนที่มหาศาลเลย ดังนั้น จุดยืนจากนี้ไปอีก 10 ปี พวกเราจึงโฟกัสเรื่อง Creative Sustainable Lifestyle จะทำงานเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ให้กับคน สร้างผลิตภัณฑ์ บริการ การสื่อสาร กิจกรรม ที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น วันนี้ เรามีคนติดตามแพลตฟอร์มอยู่ประมาณ 3 ล้านคน เราอยากไปถึงเป้าหมาย 30 ล้านคน ผมนึกดูเล่นๆ แต่อยากให้เกิดขึ้นจริงนะว่า ใน 1 วัน ถ้ามีคนเข้าเว็บไซต์ของเราได้ 30 ล้านคน เราคงจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะกระจายความจริงที่ว่านี้และช่วยสร้างความตระหนัก ปลูกจิตสำนึก  รวมถึงช่วยเปลี่ยนคนได้สักครึ่งประเทศ ผมและ Greenery อยากเป็นส่วนสำคัญในการปลูกจิตสำนึกเรื่องการใช้ชีวิตที่ที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุดและวิถีชีวิตแบบยั่งยืน สนับสนุนการให้ความรู้เพื่อนำไปสู่การลงมือทำ ผมอยากเห็นสังคมที่คนทุกคนสามารถมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมที่เราสามารถใช้ชีวิตที่ยั่งยืนโดยไม่เบียดเบียนตัวเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม สังคมที่จะเกื้อกูลกัน นี่น่าจะเป็นมิชชั่นที่อยากและกำลังทำให้เกิดขึ้นจริงครับ (ยิ้ม)”

ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์, www.facebook.com/greeneryorg
เพิ่มเติม: www.greenery.org

บทความที่เกี่ยวข้อง