‘ญี่ปุ่นบันดาลใจ’ ศิวกร ตติยพินิจ กับอาชีพผู้ถ่ายทอดและออกแบบความเป็นญี่ปุ่นคนแรกของไทย

Human / Self-Inspiration

ชื่อของ ศิวกร ตติยพินิจ หรือ บุ๊ง เป็นที่รู้จักในฐานะของชายผู้หลงใหลความเป็นญี่ปุ่น เส้นทางชีวิตของเขาแตกต่างไปจากเด็กในวัยเดียวกัน ที่คนอื่นๆ พุ่งเป้าไปที่การเรียนในสายวิชาการ ขณะที่เขาเลือกเดินออกมาจากกระแสหลักด้วยการหาเลี้ยงตัวเองจากงานสายโฆษณามาตั้งแต่อายุ 18 ก่อนจะมาตกหลุมรักวัฒนธรรมและความเป็นญี่ปุ่นเข้าอย่างจัง จากการซื้อ เริ่มกลายเป็นการสะสมสิ่งละอันพันละน้อยที่มีที่มาจากญี่ปุ่น ก่อนที่จะก่อตั้งเพจ JPN Japanese Culture และ ชอบความเป็นญี่ปุ่น เพื่อบอกเล่าสิ่งที่เขารัก กระทั่งเริ่มต่อยอดไปสู่การสร้างธุรกิจ คาเฟ่ตึกแถว คาเฟ่ที่มีมากกว่าแค่ชาและกาแฟอันหอมกรุ่น หรือข้าวหน้าเนื้อแสนอร่อยที่เป็นเมนู A Must ประจำร้าน แต่คาเฟ่ที่เขาและพาร์ทเนอร์ปลุกปั้นร่วมกันมายังอบอวลไปด้วยเสน่ห์และบรรยากาศแบบญี่ปุ่น 

คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าใครจะคิดว่าเขากล้าบ้าบิ่นยอมทิ้งอาชีพด้านโฆษณาที่ตัวเองคร่ำหวอดมากว่า 20 ปีแล้วหันมาโฟกัสกับสิ่งที่รักอย่างจริงๆ จังๆ กับงาน Japanese Stylist ที่รับดูแลและให้คำปรึกษาโครงการที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยตอนนี้ อาชีพที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและสิ่งตัวเองทำจะหาเลี้ยงชีพได้จริงไหมในวันที่เริ่มต้น แต่สิ่งที่เขารู้ในเวลานั้นมีเพียงอย่างเดียวคือปณิธานและความตั้งใจที่อยากทำสิ่งที่รักเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเขาเองและเติมเต็มชีวิตให้กับผู้อื่น การพูดคุยในครั้งนี้ เราจึงขอนั่งไทม์แมทชีนย้อนเวลาไปยังเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาก่อนจะมาเป็นตัวเขาอย่างทุกวันนี้ พร้อมๆ ไปกับโปรเจ็กต์ที่เขากำลังทำอยู่อย่าง ‘Community Think Park’ และ ‘Tofuya’ ในเชียงใหม่ รวมถึงการก่อตั้งบริษัท ‘JPN Japanese Culture’ ที่มาพร้อมสโลแกนสั้นๆ แต่ได้ใจความอย่าง “นึกถึงญี่ปุ่น นึกถึงเรา” กัน

จากแมวมองสู่การเป็นที่ปรึกษาด้านญี่ปุ่น

“ผมไม่เคยใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยเลย เพราะเลือกออกมาทำงานหาเลี้ยงตัวเองตั้งแต่อายุ 18 ถามว่าเรียนได้ไหม เรียนได้นะ ผมไม่ใช่คนเกเรอะไร แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตการเรียนอาจจะไม่เหมาะกับเราในเวลานั้น ผมเลยไปบอกกับพ่อแม่ว่า “ป๊าม๊าไม่ต้องเหนื่อยหาค่าเทอมมาให้ลูกแล้วนะ เดี๋ยวลูกออกไปใช้ชีวิตและลองหาเงินเองด้วยตัวเอง” จนกระทั่งจับพลัดจับผลูมีรุ่นพี่มาชวนให้ไปช่วยงานเบื้องหลังด้านโฆษณา ถ้าภาษาในยุคนั้นเขาจะเรียกอาชีพอย่างผมว่าแมวมอง การทำงานในโมเดลลิ่งเอเจนซี่นอกจะเป็นโลกใบใหญ่สำหรับเด็กมัธยมปลายแล้ว ยังเป็นอาชีพที่ทำให้ผมมีความมั่งคงมากขึ้นด้วย 

“เมื่อมีความมั่นคงทางการเงินระดับหนึ่งที่พอจะดูแลตัวเองได้ นั่นเป็นจุดแรกที่ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงตอนเด็กๆ ในวัยที่เราไม่เคยมีของเล่นที่อยากได้เลย ถ้าอยากเล่นก็ต้องไปเล่นของคนอื่นอยู่บ่อยๆ จนแอบได้ยินพ่อแม่เด็กคนอื่นพูดว่าทำไมต้องมาแบ่งให้เราเล่น ตอนนั้นรู้สึกเสียใจ เพราะในความเป็นเด็ก เราแค่อยากเล่น แต่จะไปขอที่บ้าน เรารู้อยู่แล้วว่าเขาไม่ได้มีสตางค์มาฟุ่มเฟือยกับของเหล่านี้ พอความรู้สึกนี้ย้อนกลับมาในวันที่เรามีกำลัง นั่นจึงเป็นที่มาของการซื้อของเล่นวัยเด็กที่ผมเคยอยากได้มาเก็บสะสมไว้ ผมเริ่มซื้อจากเกมกด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เปิดโลกให้ผมได้เจอกับอะไรอีกมากมาย เก็บไปเก็บมาผมเริ่มอินกับโปรดักท์อย่างอื่นที่เป็นของญี่ปุ่น ยิ่งได้เสพแมกกาซีน ได้ไปเห็นของจริงที่ญี่ปุ่น ผมรู้สึกว่าสิ่งของในแต่ละยุคที่ถูกผลิตขึ้นมีเสน่ห์ในแบบตัวเอง รวมทั้งยังสะท้อนภาพของวัฒนธรรม ความคิด และความเป็นอยู่ของคนในแต่ละยุค ผมจึงเริ่มซื้อมาเรื่อยๆ จนเข้าไปอยู่ในโลกของการสะสม 

“กระทั่งผมย้ายบ้านมาอยู่ในที่ที่มีพื้นที่มากขึ้น ตอนนั้นอยากมีรถมอเตอร์ไซค์คันเล็กๆ เอาไว้ขี่แถวบ้านจนได้รถ 50 cc มาคันหนึ่ง ผมเอาพื้นที่จอดรถในบ้านมาทำการาจเล็กๆ สำหรับจอดมอเตอร์ไซค์ เริ่มตกแต่งพื้นที่ให้มีบรรยากาศแบบญี่ปุ่นที่เหมือนหลุดมาจากแมกกาซีนญี่ปุ่นยังไงยังงั้น จากพื้นที่ที่เป็นเหมือนฮ็อบบี้ส่วนตัว ผมเริ่มทำเพจชื่อ Garage Cube (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น JPN Japanese Culture) ให้เป็นเหมือนแกลเลอรี่เล็กๆ ของผมกับของสะสมจนคนเริ่มรู้จักว่า ไอ้คนเนี้ยบ้าของญี่ปุ่น แต่งญี่ปุ่นแล้วดูเหมือนหลุดไปอยู่ญี่ปุ่นเลย หลังจากนั้นก็เริ่มมีคอนเน็กชั่นในการซื้อของสะสมจากรุ่นพี่ เพื่อน และนักสะสม จนคนเริ่มมาถามว่าช่วยไปออกแบบบ้านเขาให้เป็นแบบญี่ปุ่นได้ไหม นั่นเป็นงานแรกๆ ที่ทำให้ผมเริ่มหันหางเสือมาทำงานตรงนี้ จากที่ทำเพราะสนุก เหมือนได้ทำงานศิลปะของตัวเอง ก็เริ่มมีคนเปิดโอกาสให้เราไปทำแบบจริงๆ จังๆ จนกลายเป็นรายได้เข้ามาครับ”

ผลงานจากวัตถุดิบที่เรียกว่า ‘ใจ

คาเฟ่ตึกแถว (Kafae Tuktheaw) นับเป็นผลงานแจ้งเกิดที่ทำให้ชื่อของบุ๊งเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยคาเฟ่ย่านพัฒนาการที่เขาและหุ้นส่วนช่วยกันสร้างขึ้นด้วยบรรยากาศแบบญี่ปุ่นคลาสสิกแห่งนี้ เริ่มต้นจากความชอบและความหลงใหลในประเทศญี่ปุ่น ที่ประกอบรวมเข้ากับความทรงจำดีๆ ต่อเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ในวัยเด็กของเขา โดยองค์ประกอบทุกส่วน ทั้งข้าวของ เครื่องตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์เรียกได้ว่า Made in Japan ขนานแท้ 

“พอพูดว่าคาเฟ่ ความคิดของคนที่จะมามักนึกถึงขนมและเครื่องดื่มอร่อยๆ ที่เป็นซิกเนเจอร์ประจำร้าน แต่ที่นี่ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะความตั้งใจในการทำคาเฟ่ตึกแถวคือการนำเสนออาหาร ขนม และเครื่องดื่มคุณภาพดีที่สามารถทานไปได้เรื่อยๆ เราไม่ได้ตามเทรนด์ ไม่แฟชั่น ไม่ฟิวชั่น ผมต้องการอยู่แบบระยะยาว ไม่ฉาบฉวย เราขึ้นชื่อเรื่องอาหาร โดยเฉพาะข้าวหน้าเนื้อและข้าวหน้าหมู เพราะคนในระแวกนั้นต้องการทานอาหาร โดยมีเครื่องดื่มและขนมเป็นตัวรอง ถามว่าจุดแข็งและเสน่ห์ของเราคืออะไร อย่างแรกคือบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความเป็นญี่ปุ่น กับสองคือหลังบ้านที่เรามีวัตถุดิบที่ดี ดังนั้น โพซิชั่นของร้านจึงจะไม่ได้หวือหวา แต่จะเป็นคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นแบบอบอุ่นกับอาหารคุณภาพดีที่ทุกคนสามารถแวะเวียนมาได้เรื่อยๆ มากกว่า”

คาเฟ่ที่จะเข้าสู่ปีที่ 5 ในเดือนธันวาคม 2565 นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งการเป็นโปรเจ็กต์นี้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งยังฝึกให้เขาและพาร์ทเนอร์มีทักษะด้านธุรกิจ การสร้างแบรนด์ ไปจนถึงสร้างความแข็งแรงให้กับวิธีคิดของเขาด้วย 

สำหรับโครงการที่ผมกำลังทำอยู่จะเป็นการทำงานร่วมกับคุณตัน (ตัน ภาสกรนที) โดยโลเคชั่นอยุู่ที่เชียงใหม่ทั้งคู่ งานแรกคือ ‘Community Think Park’ ที่ผมรับหน้าที่ดีไซเนอร์กึ่งๆ ที่ปรึกษาด้านญี่ปุ่น ซึ่งจะดูในเรื่องการวางธีมหลักให้กับโครงการว่าอยากจะให้ออกมาหน้าตาแบบไหน เพื่อให้ได้ฟีลลิ่งแบบญี่ปุ่น ส่วน ‘Tofuya’ เป็นโครงการที่มีธีมหลักซึ่งจำลองมาจากปั๊มญี่ปุ่น จริงๆ ผมเริ่มทำโครงการนี้ในช่วง 2-3 ปีก่อน แต่ถูกพักไว้เนื่องจากสถานการณ์โควิด งานนี้ได้มาทำต่อเพราะระหว่างที่ทีมงานคุยและเปิดคลิปโครงการอยู่ คุณตันบังเอิญได้เห็นพอดีจึงอยากเข้ามาช่วยซัพพอร์ตจนได้ไปต่อ โดย Tofuya สาขาเชียงใหม่จะเป็นเหมือนชุมชนเล็กๆ ที่นำเสนอความเป็นญี่ปุ่น เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้คนในชุมชนสามารถมีอาชีพ สร้างรายได้ที่หมุนเวียนได้ โดยผมเป็นสไตลิสต์ดีไซเนอร์ของโครงการ ดูเรื่องคอนเซ็ปต์ใหญ่ๆ หา reference และกำหนดว่าพื้นที่ส่วนไหนจะมีบรรยากาศอย่างไร จะเอาองค์ประกอบอะไรใส่เข้าไปตรงไหนบ้างครับ”

ความรัก ความสุข แรงบันดาลใจ

“เวลาทำงานผมชัดเจนว่างานผมสไตล์เป็นอย่างนี้นะ ซึ่งแทบจะ 100% ของคนที่มาติดต่อจะบอกเพียงสโคปกว้างๆ ว่าพวกเขาต้องการอะไร ส่วนที่เหลือเขาบอก “เอาสไตล์คุณบุ๊งเลย” ดังนั้นคนที่มาจึงมักจะมากับความเชื่อและชอบงานสไตล์เราจริงๆ เพราะผมไม่มีทฤษฎี ถ้าเทียบคงคล้ายๆ กับงานศิลปะที่ลูกค้ามอบแคนวาสมาให้หนึ่งผืนแล้วยกหน้าที่สร้างสรรค์ให้ผมทำไปอย่างอิสระ 

“ทุกโครงการที่ผมทำ ผมทำด้วยความรักและผมคิดว่าคนอื่นคงจะสัมผัสได้และมีความสุขไปกับที่เราทำ ผมพูดเสมอว่าผมชอบสร้างภาพ แต่สร้างภาพในที่นี้ไม่ได้สร้างเพื่อหลอกลวงใคร แต่เพื่อให้เกิดความรู้สึกดีๆ ผ่อนคลาย และอยากจะชวนให้คนได้มาดื่มด่ำและแบ่งปันความสุขจากเรากลับไป พอเห็นคนได้รับความสุขนั้น เหมือนเราประสบความสำเร็จไปแล้วแบบที่ไม่ต้องไปพูดกันเรื่องตัวเงิน เพราะมันเหนือกว่านั้นไปแล้ว ความรู้สึกแบบนี้นอกจากจะเป็นแรงขับดันที่ทำให้ผมอยากทำอะไรแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ แล้ว ยังเป็นการพิสูจน์กลายๆ ว่าผมไม่ได้ทำเรื่องเพ้อเจ้อ เพ้อฝัน หรือมีความสุขอยู่คนเดียว 

“อย่างคาเฟ่ตึกแถวเองก็มีพาร์ทอะไรแบบนี้อยู่เหมือนกัน ที่พีคสุดคือมีลูกค้าคนหนึ่งนั่งวีลแชร์มาที่ร้าน เขาเปิดวิดีโอที่ถ่ายภาพบรรยากาศในร้านแล้วบอกผมว่าเพราะวิดีโอนี้เขาเลยมาที่นี่ เขาเล่าให้ผมฟังว่า เขาเคยวิ่งมาก่อนจนต้องผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดครั้งนั้นอาจทำให้เขาวิ่งไม่ได้อีก แล้วตั้งแต่ผ่าตัดมาเขายังไม่ได้เดินและออกจากบ้านเลย นี่เป็นครั้งแรกที่เขาขอให้แฟนช่วยพาออกจากบ้านหน่อย อยากจะมาที่คาเฟ่ตึกแถว เขาตบไหล่ผมและกล่าวขอบคุณที่สร้างอะไรแบบนี้ขึ้นมา งานที่ทำให้เขารู้สึกว่าอยากออกจากบ้าน เท่านั้นแหละ…น้ำตาผมมาเลย นี่คงเป็นความรู้สึกตื้นตันซึ่งไม่ใช่แค่การเติมเต็มตัวเราเพียงคนเดียว แต่บางทีสิ่งที่เราทำ ยังได้สร้างแรงบันดาลใจหรือเติมเต็มส่วนที่ขาดหายในชีวิตของคนอื่นได้เหมือนกัน” 

การแก้ปัญหาไม่มีสูตรสำเร็จ

“ที่หนักที่สุดในชีวิต คนเกือบ 100% น่าจะเหมือนผมคือโควิด เพราะทุกอย่างถูกฟรีซไว้จนนิ่งหมดเลย ถามว่าผมรับมืออย่างไร พูดตรงๆ คือทำได้เท่าที่ทำได้เลยครับ การรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ ไม่มีสูตรสำเร็จ ผมจึงอยู่กับความเป็นจริงล้วนๆ อย่างแรกคือการบริหารด้านการเงินก่อน อะไรไม่จำเป็นต้องตัด ต้องบอกตัวเองว่า บุ๊งอยู่นิ่งๆ นะ แล้วรอจังหวะอย่างเดียว

“วิกฤตครั้งนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าทุกอย่างไม่แน่นอน ดังนั้น เราจึงต้องอยู่บนความไม่ประมาทเสมอ หลังจากนี้ โลกของเราจะไม่เหมือนเดิมอีก ที่ชัดๆ คือเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เราต้องเรียนรู้ว่าจะไปอยู่จุดไหนและอย่างไร แต่ถามว่าวิกฤตแบบนี้เลวร้ายไปเสียหมดไหม ก็ไม่นะครับ ช่วงที่ทุกอย่างหยุดนิ่ง เปิดโอกาสให้ผมมีเวลาได้คิดและวางแผนสิ่งต่างๆ ในอนาคต อยากทำอะไรก็ได้คิดและหา reference เตรียมไว้ เหมือนเรามีเวลาได้ซ้อมมือก่อนที่สนามจริงจะเปิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่ผมเรียนรู้จากช่วงวิกฤตกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจของผมสามารถดำเนินต่อไปหลังโควิดได้”

ดอกไม้แต่ละชนิดผลิบานในฤดูกาลของตัวเอง 

“ผมคิดว่าส่วนสำคัญที่ทำให้ผมยังทำงานด้านญี่ปุ่นได้จนถึงวันนี้ นอกจากความบ้าบิ่นของตัวเองแล้ว คงเป็นความอดทน ผมพยายามอย่างมากเลยนะกว่าจะเป็นได้อย่างทุกวันนี้ และผมยังคงกระหายในการทำงาน อยากให้งานของผมอิมแพ็คกว่านี้ ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้แบ่งปันความคิดต่างๆ กับคนอื่นๆ บางคนมาขอบคุณเพราะว่าผมให้พลังบวกหรือกระตุ้นพวกเขาให้เดินหน้าทำในสิ่งที่ตั้งใจ แต่ผมไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ผมแชร์เป็นพลังอะไร ผมแค่อยากเล่าว่าผมเคยเจออะไรมา และอยากบอกว่าทุกอย่างเป็นไปได้หมด ขอเพียงคุณมุมานะและอดทนรอ ดอกไม้แต่ละชนิด ยังมีช่วงเวลาผลิบานตามฤดูกาลของมัน ชีวิตคนก็เช่นกัน

“การเริ่มต้นทำอะไรจากสิ่งที่รัก ตามประสบการณ์ผมก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยนะครับ เพราะกว่าจะค้นพบสิ่งที่ใช่แบบสุดจริงๆ ผมใช้เวลานานพอสมควร และระหว่างที่ทำ ผมยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่เหมือนกัน ซึ่งคุณมีความรู้สึกแบบนี้ได้นะ แต่อย่าให้ความกลัวทำให้คุณไม่กล้าไปต่อ อยากให้คุณลองทำให้สุดจริงๆ ในเส้นทางที่ตัวเองชอบก่อนถึงจะมาบอกว่าไปไม่รอด ซึ่งถ้าคุณตั้งเป้าไว้ 100% แต่ทำไป 30% แล้วบอกว่าไม่รอด คุณอาจจะยังพยายามไม่พอ ไม่มีงานไหนหรอกครับที่เราอยู่นิ่งๆ แล้วมีคนเข็นคุณไปถึงเป้าหมาย แม้แต่คนที่มีต้นทุนที่ดี เขาอาจจะได้เปรียบในบางปัจจัยก็จริง แต่เขาเองก็ยังต้องลองผิดลองถูกเหมือนกัน 

“สำหรับคนที่กำลังทำอะไรของตัวเอง อย่างแรกคุณต้องชัดเจนในการบริการกับโปรดักท์ก่อน สองอย่าไปทำตามคนอื่น ผมอยากให้คุณหาเสน่ห์ของตัวเองในด้านนั้นๆ ให้คนจดจำว่าคุณเป็นใคร เป็นอย่างไร ภาพแบบไหนที่คุณอยากให้คนอื่นมองเห็นและรัก ถ้าแบรนด์ของคุณดีทั้งในแง่บริการ คุณภาพผลิตภัณฑ์ เสน่ห์ในแบบฉบับของคุณ คนจะรักคุณ เมื่อนั้นคุณจะต่อยอดและเติบโตไปในเส้นทางของตัวเองได้ในระยะยาว

“แม้ผมไม่ได้เรียนสูง แต่ผมได้เรียนรู้จากชีวิตจริงที่ไม่มีในตำรา ผมเลยไม่อยากให้ทฤษฎีกลายเป็นตัวกำหนดให้คุณไม่กล้าเดินออกนอกกรอบ ถ้าเราเอาทฤษฎีทุกอย่างมาเป็นตัวกำหนด โลกของเราอาจไม่มีเครื่องบินหรือสิ่งประดิษฐ์มากมายแบบทุกวันนี้ อย่าเพิ่งไปคิดว่าอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้หรอก อย่าคิดอย่างนั้นเชียวนะครับ ดังนั้น ถ้าคุณชอบ ให้ลองจนสุดจริงๆ อย่างที่บอก ลองทำลองผิดลองถูก ซึ่งถ้าสุดแล้วคุณไม่ชอบหรือไม่รอด อย่างน้อยคุณจะมีประสบการณ์และเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ที่สำคัญคือได้รู้ว่างานนี้ไม่เหมาะกับตัวเราจริงๆ”

ความสำเร็จคือขั้นบันไดที่ต้องก้าวต่อไปเรื่อยๆ

“ไม่มีใครทำอะไรสำเร็จถ้าเดินสองก้าวแล้วหยุด ผมอยากให้คุณเก็บความรู้สึกอยากได้ อยากมี อยากเป็น เพื่อให้ความรู้สึกนี้นำทางเราไปสู่ความสำเร็จ ความอยากคือแพชั่นชั้นดีที่จะผลักดันตัวเองให้ไปถึงฝั่งฝัน ผมเองต้องใช้ความอึดถึกทนอย่างมากในการผลักดันตัวเองเช่นกัน เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น ใครจะมายอมคุยกับผม ต่อให้ผมอยากทำแค่ไหนแต่ถ้าผมไม่มีโปรไฟล์ ไม่มีความตั้งใจ ไม่มีผลงานอะไรเลย ไม่มีใครเขาอยากเดินมาหาเราหรอก เขายกหูจ้างบริษัทใหญ่ๆ โตๆ ไม่ดีกว่าเหรอ แล้วผมเป็นใคร เป็นแค่บุ๊งคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้มีบริษัทอะไรเลย ดังนั้น เราต้องทำตัวเองให้เต็มที่ก่อน ไม่ว่าจะสายอาชีพไหนก็ตาม 

“เป้าหมายที่ผมตั้งใจไว้คืออยากจะมีบริษัทเป็นของตัวเองที่ทำเกี่ยวกับด้านญี่ปุ่นโดยเฉพาะ เมื่อก่อนผมเคยคิดเหมือนกันนะครับว่าความบ้าญี่ปุ่นของเราจะมีใครกล้าจ้างไปเป็นที่ปรึกษาด้านญี่ปุ่นไหม ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย เป็นการคิดเล่น แต่ลงมือทำจริงๆ ผมเลยต้องวางรากฐานแล้วทำให้สิ่งที่เป็นความคิดนี้เป็นไปได้ด้วย ไม่ใช่แค่คิดหรือพูดลอยๆ ว่าอีก 5 ปีจะมีบริษัท แต่ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ไปไหน ตอนนี้ผมตั้งบริษัท JPN Japanese Culture เรียบร้อยแล้ว ซึ่งวัตถุประสงค์หลักสั้นแต่ชัดเจนก็คือ ‘นึกถึงญี่ปุ่น นึกถึงเรา’ โดยผมจะค่อยๆ ทำให้เห็นว่าเรามีบริการอะไรบ้าง และหยิบเอาจุดแข็ง รวมถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของผมมาใช้ ทั้งเรื่องการหาของญี่ปุ่น ความชอบในการออกแบบและตกแต่ง รวมถึงทักษะที่ผมได้จากการทำงานในสายโฆษณา 

“โปรเจ็กต์ล่าสุดที่จะเปิดตัวสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 นี้ก็คือ ‘SnapLife​ Studio’ งานนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผมเข้าไปสังเกตการณ์ในธุรกิจคาเฟ่ห้องแถวจนพบว่า คนต้องการอะไร พวกเขาชอบบรรยากาศ ชอบถ่ายรูป ผมเลยทำสตูดิโอแห่งนี้ขึ้น โดยตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่นให้เป็นห้องที่มีบรรยากาศที่แตกต่างกันไป ห้องหนึ่งจะจำลองบรรยากาศของโรงอาบน้ำญี่ปุ่นมา ซึ่งจะเป็นไฮไลท์ที่เมืองไทยยังไม่เคยมีแบบนี้ ที่เหลือก็จะเป็นการจำลองห้องนอนและห้องนั่งเล่นโดยจะมี 2 แบบ คือยุคโบราณที่เราจะใช้เสื่อทาทามิจริงๆ มาเป็นองค์ประกอบหลัก กับห้องแบบในปัจจุบันที่เรียบง่าย คลีนๆ เกลี้ยงๆ โดยความตั้งใจที่จะเปิดสตูดิโอแห่งนี้เหมือนเป็นการท้าทายตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง เพราะผมไม่เคยทำที่ไหนให้เป็นสตูดิโอแบบจริงจังสำหรับการถ่ายรูปโดยเฉพาะ ที่ผ่านมาจะเป็นพื้นที่สำหรับใช้บริการ คือลูกค้าต้องมาใช้บริการหรือมาซื้อของ แล้วถึงได้เสพบรรยากาศและถ่ายรูปกลับไป แต่จุดต่างของที่นี่จะไม่มีบริการอย่างอื่น แต่เป็นการเปิดสตูดิโอเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการถ่ายรูปอย่างเดียวจริงๆ ดังนั้น ความสำเร็จของผมเป็นการไต่ระดับขึ้นไปทีละขั้นเพื่อเติบโตและแตะให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ครับ”  

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

บทความที่เกี่ยวข้อง