Wabi Sabi vs Kodawari สองแนวคิดที่แตกต่างของชาวญี่ปุ่น

Care / Self Care

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร ในด้านหนึ่งญี่ปุ่นจัดว่าเป็นประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีที่ส่งหุ่นยนต์สมองกลรุ่นใหม่ๆ ออกมาสร้างความตื่นตะลึงให้ชาวโลกเป็นประจำ แต่ในอีกด้านหนึ่งญี่ปุ่นก็ขึ้นชื่อในเรื่องของปรัชญาแนวคิดที่ลึกซึ้ง เฉียบแหลม และมีเสน่ห์ในแบบที่ชาวตะวันตกหลายคนต้องกลายมาเป็นแฟนคลับ  

ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราจะพบเห็นได้ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น 

ในแบบที่เราต้องพูดออกมาว่า “นี่มันช่างญี่ปุ๊น…ญี่ปุ่น!” 

Wabi Sabi สุนทรียะแห่งความไม่สมบูรณ์แบบ

“วะบิ ซะบิ” (Wabi Sabi) คือปรัชญาการใช้ชีวิตที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นมายาวนาน ความหมายของคำคำนี้อธิบายเป็นคำพูดได้ไม่ชัดเจนเท่าการกระทำ และแต่ละคนก็อาจตีความแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้ว วะบิ ซะบิ คือวิธีมองโลกที่ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบและความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่งในธรรมชาติ และชื่นชมความงามของมันด้วยใจสุขสงบ

ตัวอย่างแนวคิดแบบวะบิ ซะบิที่เห็นชัดก็คือ ศิลปะการปั้นถ้วยชาที่ใช้ในพิธีชงชาแบบโบราณของชาวญี่ปุ่น ถ้วยชาแต่ละใบสะท้อนความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ ด้วยพื้นผิวที่ขรุขระ ลักษณะไม่สมมาตร และโทนสีธรรมชาติ เป็นผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นอย่างถ่อมตน มอบความสงบสุขในใจให้ผู้ดื่มชาที่โอบรับความงามอันไม่สมบูรณ์แบบนี้ไว้

ศิลปะการซ่อมแซมถ้วยชามแบบ “คินสึงิ” (Kintsugi) ที่ใช้ยางรักสีทองมาอุดรอยต่อให้ถ้วยชามที่แตกบิ่นเสียหายกลับมาใช้งานได้ใหม่ ก็สะท้อนวิธีมองโลกแบบวาบิ ซะบิด้วยการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วตามความเป็นจริง สิ่งของที่แตกไปแล้วย่อมกลับคืนสภาพเดิมไม่ได้ แต่รอยแผลเป็นสีทองของถ้วยชามนั้นได้กลายเป็นความสวยงามในความไม่สมบูรณ์ 

วะบิ ซะบิ ยังสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตอีกหลายๆ ด้านของคนญี่ปุ่น สร้างความเป็นญี่ปุ๊น…ญี่ปุ่นแบบที่เราเห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บทันที ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของงานสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน การจัดสวน การทำอาหาร หรือแม้กระทั่งกิจกรรมเดินทางไปเที่ยวชมธรรมชาติในป่าเขา ก็เป็นงานอดิเรกยอดนิยมของคนญี่ปุ่น นอกจากจะทำให้จิตใจสงบผ่อนคลาย ธรรมชาติยังสอนให้เข้าใจถึงความสุขและทุกข์ที่เกิดคู่กันไป ไม่มีอะไรยั่งยืน และไม่มีอะไรที่เราไปบังคับควบคุมได้ เหมือนใบไม้ที่เปลี่ยนสีไปตามฤดูกาล และดอกไม้งามที่เปราะบาง มีวันร่วงโรย และผลิบานขึ้นมาใหม่…เช่นนี้นี่เอง

Kodawari ความสมบูรณ์แบบที่เกินความจำเป็น

ถ้าเปรียบวะบิ ซะบิเป็นบุคคล…คนคนนั้นก็น่าจะมีบุคลิกเงียบขรึม ใจเย็น และมีความสมถะเป็นที่ตั้ง ในขณะที่คนแบบ “โคดาวาริ” (Kodawari) คือคนที่จริงจัง บ้างาน และรักความสมบูรณ์แบบเป็นที่สุด!

คำว่า โคดาวาริ จากคำอธิบายของ อาจารย์เคน โมงิ (นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยด้านสมอง ผู้แต่งหนังสือ The Little Book of Ikigai : The secret Japanese way to live a happy and long life) ได้กล่าวไว้ว่า คือมาตรฐานส่วนบุคคลในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เป็นความใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อยในระดับที่ยิ่งใหญ่ 

คนที่มีโคดาวาริจะพิถีพิถันตั้งใจในเรื่องที่ตนสนใจในระดับที่คนภายนอกอาจมองว่า “บ้าคลั่ง” เลยก็ได้ แตกต่างจากคนที่ทำงานอดิเรกแบบสะสมสิ่งของเชิงปริมาณ หรือทำงานฝีมือพอแค่ให้เสร็จเป็นผลงานเท่านั้น คนที่มีโคดาวาริจะศึกษา วิเคราะห์ ทดลอง ฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนาความรู้ในด้านนั้นๆ ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีวันพอใจ พูดง่ายๆ ว่าเขาใฝ่หาความสมบูรณ์แบบอยู่เสมอ แต่จะไม่มีวันไปถึงความสมบูรณ์แบบนั้นได้เลย เพราะเขาจะมองหาสิ่งที่ดีกว่านั้นมากขึ้นไปอีกไม่สิ้นสุด 

ด้วยเหตุนี้ โคดาวาริมักถูกมองว่าเป็นความสมบูรณ์แบบที่เกินจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของร้านราเมนที่ใส่ใจพิถีพิถันกับการทำราเมนให้อร่อยในระดับเกินร้อยและมุ่งมั่นพัฒนาต่อไปไม่หยุด ในขณะที่ลูกค้าอาจไม่ได้สังเกตเห็นรายละเอียดเล็กน้อยเหล่านั้น (ใส่ความทุ่มเทมาแค่ 50 ลูกค้าก็พอใจแล้ว) การมอบคุณภาพที่เกินความคาดหมายเช่นนี้ แม้เป็นสิ่งเกินจำเป็นที่ไม่ต้องทำก็ได้ แต่ก็กลายเป็นช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่พร้อมจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อคุณภาพระดับพรีเมียม 

ถ้าใครเคยดูรายการทีวีแชมเปี้ยนของญี่ปุ่น คงจะเคยเห็นความจริงจังตั้งใจในการทำงานฝีมือ หรือความทุ่มเทกับงานอดิเรกในแบบโคดาวาริมาแล้ว ในการ์ตูนญี่ปุ่นก็มักสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครที่มีโคดาวาริอย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหนุ่มนักทำซูชิ เชฟกระทะเหล็กนักทำอาหารจีน หนุ่มน้อยนักปั่นจักรยาน หรือสาวน้อยนักทำขนม ฯลฯ ล้วนแสดงให้เราเห็นถึงความอดทนพยายาม และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองในระดับที่คนธรรมดาอาจถอดใจไปตั้งแต่สองฉากแรก นี่คือจิตวิญญาณแบบโคดาวาริที่คนญี่ปุ่นเคยชินและซึมซับเข้าไปในดีเอ็นเอผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัยมาเป็นเวลานาน

หลักการพัฒนาตัวเองในระดับที่เกินความจำเป็นและเกินความคาดหมายแบบโคดาวาริ ทำให้เราเห็นความเป็นญี่ปุ่นที่สะท้อนผ่านความสะอาดของน้ำในท่อระบายน้ำที่ใสไหลเย็นเห็นตัวปลา หรือความตรงเวลาของระบบขนส่งสาธารณะที่แม่นยำระดับนาทีต่อนาที และถ้าหากว่าเกิดมีความผิดพลาดขึ้นมาแม้แต่นาทีเดียว เราก็อาจจะได้เห็นผู้บริหารระดับสูงออกมาขอโทษในท่าโค้งตัวสุดกำลัง หรือถึงขั้นลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบกันเลยทีเดียว 

จาก Wabi Sabi ถึง Kodawari

ดูเหมือนว่าปรัชญาของชาวอาทิตย์อุทัยทั้งสองอย่างนี้จะแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ปรัชญาแรกบอกให้เราปล่อยวางและยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ ในขณะที่อีกปรัชญากลับพุ่งเป้าหมายไปสู่ความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า ในความปล่อยวางและความมุ่งมั่นนั้น มีองค์ประกอบบางอย่างที่คล้ายกัน…

ก่อนซามูไรจะเดินก้าวเข้าไปในเรือนชงชา ต้องถอดรองเท้า วางอาวุธ สละตัวตนทิ้งเอาไว้ข้างนอก แล้วก้มเดินอย่างสำรวมเข้าไปดื่มชาด้วยใจที่สุขสงบนิ่ง…วะบิ ซะบิ

คุณลุงพนักงานโบกรถกำลังยืนโบกรถอยู่กลางถนน ท่ามกลางแดดร้อน ด้วยใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มอยู่ตลอด และพร้อมจะโค้งคำนับสุดตัวให้ลูกค้าอย่างนอบน้อมถ่อมตน แม้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้นก็ได้…โคดาวาริ

สิ่งเหล่านี้ได้หลอมรวมจนเกิดความเป็นญี่ปุ่นขึ้นมานั่นเอง

แหล่งข้อมูล:
www.wikipedia.org
www.japandaily.jp
www.japanese-wiki-corpus.org
www.ikigaitribe.com

Share :