สิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช จิตแพทย์อารมณ์ดีผู้เรียนรู้ชีวิตจากแนวคิดอิคิไก 

Human

‘อิคิไก’ (Ikigai) ประกอบขึ้นจากคำว่า ‘อิคิ’ (iki) ที่หมายถึง ‘การมีชีวิต’ และ ‘ไก’ (gai) ที่แปลว่า ‘คุณค่าหรือความหมาย’ นอกจากจะเป็นปรัชญาญี่ปุ่นที่ว่าด้วยเรื่องเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งประกอบด้วยคำถามพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่ อะไรคือสิ่งที่เรารัก, อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี, อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดรายได้ และอะไรคือสิ่งที่สังคมต้องการแล้ว ยังเป็นปรัชญาที่คุณหมอคิว หรือ นายแพทย์สิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช ยกให้เป็นหนึ่งแนวคิดที่เขาใช้นำทางชีวิต หมอคิว ชื่อสั้นๆ ที่เขาแนะนำตัวตอนเจอกันบอกกับเราว่า อิคิไกของเขาคือการได้ดูแลคนไข้และใช้เวลาไปกับงานอดิเรกที่รักหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อมินิบล็อก สองสิ่งในหลาย ๆ สิ่งที่ทำให้เขาได้เรียนรู้คุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่ 

เรานัดหมายกับคุณหมอเพื่อทำความรู้จักตัวตนของเขาให้มากขึ้น มิใช่เฉพาะแต่เรื่องวิชาชีพอย่างการเป็นจิตแพทย์ ณ บ้านเกิดในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ในเวลานี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงงานอดิเรกอย่างเจ้ามินิบล็อก ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เขานำเอาความทรงจำและความประทับใจในวัยเด็กอย่างการต่อเลโก้มาต่อยอดเป็นผลงานสถาปัตยกรรมขนาดจิ๋วแต่ยิ่งใหญ่ที่รวบรวมไว้ในเพจ Qbrick Design ได้จัดแสดงเป็นนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองไปเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา รวมทั้งมุมมองของเขาที่มีต่อการใช้ชีวิต ตลอดจนการส่งต่อเคล็ดลับดี ๆ ในการสร้างความสุขตามแบบฉบับของจิตแพทย์อารมณ์ดีคนนี้

คุณหมอรักษาใจ

คุณหมอคิวจบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ก่อนจะไปศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้านในสาขาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และกลับมาทำงานเป็นจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก อยู่ประมาณ 5 ปี จนกระทั่งรู้สึกอิ่มตัวจากงานที่ทำ เขาจึงวางแผนที่จะไปทำงานเฉพาะทางมากขึ้น นั่นคือการดูแลสุขภาพจิตให้กับนิสิตนักศึกษาแพทย์ โดยมีโอกาสได้ทำหน้าที่อาจารย์แพทย์ฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ประมาณ 1 ปี ปีนี้ ในวัย 34 ปี หมอคิวตัดสินใจกลับบ้านเกิดอีกครั้งเพื่อไปเปิดคลินิกจิตเวชเฉพาะทางที่อำเภอสุไหงโก-ลก และยังคงต้องการสานฝันในการดูแลสุขภาพจิตให้กับนักศึกษาแพทย์อีกครั้งอย่างที่เคยทำมาหากโอกาสใหม่มาเยือน

“เหตุผลแรกที่ผมเลือกมาเรียนในสายจิตเวช เพราะหลังจากที่ได้ดูแลคนไข้มาหลากหลายด้าน ผมพบว่าการดูแลจิตใจเป็นสายงานที่ท้าทายทั้งในเรื่องการเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งในเชิงการรักษาผู้ป่วย ประกอบกับตอนนั้นผมอ่านหนังสือของคุณวินทร์ เลียววาริณ และคุณนิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจดีๆ จากหนังสือของทั้งสองท่านมากมาย โดยพบว่าการมีทัศนคติที่ดีต่อชีวิตทำให้เราสามารถก้าวผ่านความเครียดและอุปสรรคต่างๆ ไปได้นะ แล้วถ้าเรานำทัศนคติดีๆ แบบนี้ไปช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย คงเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกทำงานเป็นจิตแพทย์ครับ

“การทำงานเป็นจิตแพทย์มาได้ 5 ปีกว่า ผมพบว่าความยากของอาชีพนี้คือเรื่องการรักษาโดยการกินยาอย่างเดียวไม่สามารถทำให้โรคบางโรคหายได้ แต่จิตแพทย์จะต้องมีเวลาในการพูดคุยกับคนไข้ เพื่อให้เราเห็นไปด้วยกันว่า ที่มา ตัวตน ความคิด ความรู้สึก ความต้องการของคนไข้เป็นอย่างไร เมื่อคนไข้มีโอกาสได้ทำความเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น นั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนมากกว่าแค่ให้ยาเพียงอย่างเดียว ในมุมมองของผม เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับคุณหมอที่จะต้องให้ความสำคัญกับชีวิตองค์รวมด้านอื่นๆ ของคนไข้ด้วย และเราไม่ควรสั่งสอนหรือชี้นำคนไข้ วิธีการแบบนั้นจะไม่ค่อยเวิร์กสักเท่าไหร่สำหรับผม บทบาทของจิตแพทย์คือผู้ที่จะค่อยๆ ก้าวเดินไปด้วยกันแล้วนำเสนอแนวทางที่ทำให้คนไข้เห็นเองว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี ดังนั้น หน้าที่ของเราไม่ต่างไปจากเพื่อนที่พร้อมจะเดินเคียงข้าง เรียนรู้ และเติบโตไปด้วยกันกับพวกเขา” 

เคล็ดลับปรับสมดุลสุขภาพใจ  

“ในการทำงานของจิตแพทย์ ผมจะมีสโคปงานของตัวเองว่าเวลาเราต้องทำงานร่วมกับคนไข้จะเป็นประมาณไหน ฉะนั้น เวลามาทำงานจริงเราจึงสามารถเตรียมตัวตามสิ่งที่เราได้รับการสอนมาตลอดการเรียนเฉพาะทาง ทั้งการประเมิน พูดคุย และทำการรักษา แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือการตระเตรียมใจของเราให้ว่างและวางใจเป็นกลาง เพราะจะเป็นสภาวะใจที่ทำให้เราสามารถช่วยเหลือคนไข้ได้โดยไม่ได้ตัดสินล่วงหน้าไปก่อน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเส้นทางการรักษาที่ดีครับ

“แต่แน่นอนครับว่า จิตแพทย์ก็เครียดได้ ไม่ต่างไปจากการทำงานในสายอาชีพอื่นๆ เมื่อผมเจอกับทางตัน กระบวนการที่จะคลี่คลายปัญหานั้นๆ ก็คล้ายๆ กัน ผมจะเริ่มจากระบุก่อนว่าผมพบกับปัญหาอะไร ซึ่งแต่ละปัญหา การแก้ไขจะแตกต่างกัน แต่เราจะมีวิธีกว้างๆ ที่ทำได้เหมือนกัน ผมจะใช้การเขียน คล้ายๆ เขียนไดอารี่โดยระบุปัญหาเป็นข้อๆ พร้อมกับบอกความรู้สึก อารมณ์ ความคิด ความคาดหวัง เพื่อที่จะได้เข้าใจตัวเองว่าเราเครียดเราทุกข์จากอะไร การเขียนทำให้ผมมีโอกาสได้ทบทวนซึ่งจะนำไปสู่การเข้าใจตัวเอง และการได้เขียนทุกอย่างลงบนกระดาษ ทำให้ผมมองเห็นทั้งภาพกว้างและแง่มุมรอบด้านของปัญหา สิ่งที่ผมทำไปควบคู่กันคือการพูดคุยกับคนที่เราไว้เนื้อเชื่อใจ คนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเรา ทั้งครอบครัว เพื่อน อาจารย์ บุคคลที่เรารัก ซึ่งนอกจากจะได้ระบายในสิ่งที่อัดอั้นออกมาแล้ว ยังจะทำให้เห็นมุมมองจากคนอื่น ซึ่งอาจมีบางแง่มุมที่เรามองข้ามหรือตกหล่นไป และในบางปัญหาอาจไม่ต้องการการแก้ไขนะครับ อาจเป็นแค่เพียงเรารับรู้และเข้าใจก็เพียงพอแล้ว

“ตัวอย่างที่ชัดๆ อย่างเวลาที่ผมต้องเจอเคสยากๆ สมองของผมมักจะจดจำและพยายามหาหนทางเพื่อช่วยแก้ไขให้ได้ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความเครียดและความกังวลในสายอาชีพที่ผมทำอยู่ ทางออกที่ผมใช้คือผมจะต้องรู้ตัวให้ได้ก่อนว่าเราเครียดอยู่นะ พอเราเข้าใจและยอมรับได้ หลังจากนั้นผมจะเขียนออกมาเป็นข้อๆ ว่าปัญหาของคนไข้คนนี้ที่เรารู้สึกว่ายากมีอะไรบ้าง จากนั้นจึงมาลองดูว่าแต่ละปัญหาสามารถใช้วิธีใดได้บ้าง ในกรณีที่ผมแก้ไม่ได้จริงๆ ผมจะนำปัญหาที่ผมยังติดขัดไปปรึกษาเพื่อนแพทย์และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือเลือกวิธีส่งต่อคนไข้ให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งตรงกับปัญหาของเขาจริงๆ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถสลัดความเครียดที่ตกค้างอยู่ในใจได้ทั้งหมด ผมจึงมักใช้เวลาที่เหลือนอกเวลาทำงานไปทำอย่างอื่นด้วย เช่น การเข้ายิม การเล่นดนตรี ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือการต่อมินิบล็อก กิจกรรมเหล่านี้แหละที่ทำให้ผมมีโอกาสได้ใช้ชีวิตด้านอื่นๆ นอกห้องตรวจ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยดูแลใจได้ดีเลยครับ”

‘มินิบล็อก’ ของเล่นที่เป็นมากกว่าตัวต่อ 

“ย้อนเวลากลับไปเมื่อราวๆ 5 ปีก่อน หลังจากเรียนจบเฉพาะทางจากจุฬาฯ ผมเริ่มเป็นจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จึงมีเวลาว่างมากขึ้นไม่เหมือนตอนที่เราเป็นนักศึกษาแพทย์และช่วงใช้ทุน เลยอยากหาอะไรทำที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องงาน จนไปเห็นเลโก้ที่เคยต่อเล่นสมัยประถมอยู่ในห้องเก็บของ ผมนำมาล้างทำความสะอาด แล้วบูรณะ ต้องใช้คำว่าบูรณะเลยนะครับ (หัวเราะ) เพราะเก่าแก่มาก ผมนั่งต่ออยู่ประมาณ 1 เดือนได้ หลังจากนั้นก็รู้สึกว่าเวลาที่ได้ต่อเลโก้ เรามีความสุขจัง เลยไปซื้อเลโก้ทัชมาฮาลมาต่ออีก และคิดว่าอยากจะลงมือทำเอง อยากจะต่อสถานที่ไทยๆ อย่างวัดพระแก้ว วัดอรุณฯ บ้าง พอคิดได้อย่างนั้นก็เริ่มมาดูว่าเราจะใช้อะไรเป็นวัตถุดิบตั้งต้นได้บ้าง จนมาเจอมินิบล็อกที่มีราคาไม่แพงและสามารถใช้ต่อสถานที่ที่เราสนใจได้ ถือว่าเป็นการเปิดโลกใหม่แบบเริ่มจากศูนย์ เพราะผมต้องหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เริ่มคิดโครงการว่าอยากจะต่อสถานที่สำคัญให้ได้สัก 30 ชิ้น โดยเป็นสถานที่สำคัญทั้งของโลกและในบ้านเรา ผมใช้เวลา 3 ปีเศษ จนงานที่ผมวางแผนไว้เสร็จสมบูรณ์ พอเห็นงานเป็นรูปเป็นร่าง ก็อยากนำผลงานที่เราต่อไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการให้คนได้เข้ามาดู ประมาณต้นปี 2565 ผมจึงติดต่อไปทางมิวเซียมสยาม ซึ่งเป็นจังหวะพอดีที่ตึกครบรอบ 100 ปี และทางพิพิธภัณฑ์ได้ให้โอกาสผมนำผลงานไปจัดแสดงครับ”

‘มากกว่าตัวต่อ’ เป็นนิทรรศการจัดแสดงมินิบล็อก หรือเลโก้จิ๋วของสถาปัตยกรรมของไทยและโลก จำนวน 36 ชิ้น ที่ประกอบไปด้วยสถานที่และสิ่งสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทยอย่างเช่น พระเมรุมาศรัชกาลที่ 9 วัดอรุณฯ วัดพระแก้ว พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นครวัด ทัชมาฮาล หอไอเฟล ฯลฯ ซึ่งมีอาคารมิวเซียมสยามจัดแสดงอยู่ภายในนิทรรศการครั้งนั้นด้วย โดยผลงานแต่ละชิ้นไม่ใช่การซื้อมินิบล็อกสำเร็จรูปมาประกอบขึ้นตามคู่มือ แต่หมอคิวลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกชิ้นงานสถาปัตยกรรมต้นแบบ การซื้อวัตถุดิบอย่างมินิบล็อกและจับแยกสีใส่กล่องเตรียมไว้ การค้นหาแปลนของสถาปัตยกรรมหลังนั้นๆ ในอินเทอร์เน็ตเพื่อถอดแบบเข้าสู่กระดาษกราฟ ออกแบบแปลน และเริ่มต้นประกอบจนได้ชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์

“งานชิ้นแรกคือพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ตอนนั้นเป็นช่วงพระราชพิธีพอดี ผมรู้สึกประทับใจในความงามของสถาปัตยกรรมไทยที่มีลักษณะของบุษบก 9 ยอด จึงได้อัญเชิญพระเมรุมาศมาเป็นต้นแบบ เป็นงานปฐมฤกษ์ในการเริ่มต้นโครงการทำมินิบล็อกในเวอร์ชั่นของตัวเอง แบบที่คิดและเริ่มต้นจากศูนย์จนสำเร็จ

“ถามว่าผมเคยเรียนศิลปะอะไรมาก่อนไหม ไม่เคยเลยนะครับ แต่ถ้าถามว่าได้อิทธิพลเรื่องเหล่านี้มาจากใคร คงจะเป็นคุณพ่อ เพราะท่านเป็นวิศวกร ผมคงได้ทักษะเรื่องอะไรแบบนั้นมาและชอบการเขียนแบบเพราะสนุกดี สำหรับผม เสน่ห์ของมินิบล็อกในความรู้สึกคือช่วงเวลาที่ได้เห็นแบบแปลนจากกระดาษกราฟถูกก่อร่างขึ้นเป็นงานจริงอยู่ตรงหน้า ลงมือทำด้วยสองมือของเราเอง มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากที่ผมค่อยๆ หยิบชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาบรรจงต่อเข้าด้วยกัน ต้องใช้สมาธิ ความใจเย็น แต่บางทีผมก็ใจร้อนนะครับ (หัวเราะ) ยิ่งใกล้จะเสร็จ ยิ่งอยากเร่งให้เสร็จตอนนั้นเสียเลย ทำแบบข้ามวันข้ามคืนสว่างคาตาแบบนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้น สนุก และมีความสุขมากๆ ครับ 

“เอาจริงๆ นะ มินิบล็อกในเวลานี้ไม่ใช่แค่งานอดิเรก แต่คือส่วนหนึ่งของชีวิตผมไปแล้ว เป็นส่วนสำคัญในชีวิตที่ช่วยทำให้ช่วงเวลาของการเป็นจิตแพทย์ในช่วง 5 ปีนั้นสนุก มีความสุข และมีความหมายขึ้นเยอะ ความเหนื่อยความเครียดจากห้องตรวจ คลายลงไปเมื่อผมรู้ว่าถ้าเรากลับมาบ้านจะมีอะไรที่รอเราอยู่ เหมือนได้ไปอยู่ในโลกอีกใบที่ทำให้มีสมาธิและลืมเรื่องอื่นๆ ไปเลย การต่อมินิบล็อกจึงเป็นสิ่งที่ช่วยคลายเครียดจากชีวิตการทำงานและยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า เป็นความรู้สึกประมาณว่า ‘ดีจังที่เราได้ทำสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ในบ้านเรายังไม่เคยมีใครทำงานศิลปะลักษณะนี้มาก่อน พอคิดแล้วก็รู้สึกภูมิใจที่ผมเป็นคนๆ นั้นที่สร้างสรรค์ออกมา’ เรียกว่าเป็นหนึ่งในอิคิไกของผมก็ว่าได้”

เหตุผลของการมีชีวิตอยู่

“ความสุขของมนุษย์ ลึกๆ คือการมีอิคิไก หรือคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ เมื่อคนเรารู้สึกมีคุณค่าหรือมีความหมาย เขาจะมีภูมิต้านทานยากต่อการเป็นโรคทางใจหนักๆ เพราะเขารู้ว่าชีวิตยังมีอะไรที่น่าทำ น่าค้นหา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากแนะนำคือลองค้นหาว่าอิคิไกของคุณคืออะไร แต่ไม่ต้องซีเรียสมากเกินไปนะครับ แค่พยายามเข้าใจตัวเองว่าเราชอบอะไร ทำอะไรแล้วเรามีความสุข เดินตามเสียงภายในของเรา ไม่ควรเดินตามคนอื่น แต่การเลือกจากข้างในก็เป็นโจทย์ที่ยากอีกว่าคนเราจะรู้จักตัวเองได้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง ผมมีทางออกครับ การที่เราจะรู้จักตัวเองได้มากๆ คือการได้ลองใช้ชีวิต ลองไปนู่นไปนี่ ทำนู่นทำนี่ดูว่าเราชอบอะไร เรามีความสุขกับอะไร เวลาเราไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ เราชอบผู้คนแบบไหน ชอบอยู่ในสังคมประมาณไหน หรือเวลาเราดูคอนเทนต์ เราชอบเพจแบบไหนนะ ศาสตร์ไหนที่เราชอบเป็นพิเศษ หรือเวลาไปร้านหนังสือ เรามักจะไปขลุกอยู่มุมไหนของร้าน พอเรารู้แล้วว่าชอบอะไร ให้ลองทำเลย ถ้าเวิร์กก็ทำต่อ ถ้าไม่เวิร์กก็ถอยออกมา แต่ขอให้ได้ลองก่อน คนเราจะมีความสุขในชีวิตตัวเองได้ เราต้องรู้จักตัวเองให้ได้เสียก่อน

“สองเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดี มนุษย์เราต้องมีความสัมพันธ์กับผู้คน การมีใครสักคนในชีวิตที่ไว้ใจพึ่งพาได้ จริง ๆ แค่สักคนหนึ่ง นั่นถือว่าคุณโชคดีมากแล้วนะครับ เพราะเมื่อไหร่ที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดี นั่นจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านความทุกข์ไปได้ และสามคือการมีเวลาให้ตัวเองได้ไปพักผ่อน ได้ออกไปเจอกับโลกที่เราไม่คุ้นเคยบ้าง หาช่วงเวลาและอนุญาตให้ตัวเองได้ไปเปิดหูเปิดตา ได้ไปเห็นว่าโลกเราไปถึงไหนแล้ว แม้ว่าคุณจะมีความสุขกับงานมากแค่ไหนก็ตาม แต่อย่างไรเสียคุณต้องจัดสรรเวลาให้ตัวเองด้วย ดังนั้น ความสุขคนเราสร้างได้จากการหาอิคิไกของตัวเอง การมีความสัมพันธ์ที่ดี และมีเวลาให้ตัวเองครับ

“จริง ๆ การหาสมดุลให้ชีวิตเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนอยากได้นะ แต่น่าจะเป็นเรื่องในอุดมคติ หากเกิดสมดุลอาจจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะชีวิตคนเราต้องพบเจอกับมรสุมและความผันผวน ดังนั้น ผมอยากให้พวกเราเข้าใจชีวิตว่ามนุษย์ต้องเจอทุกข์บ้าง สุขบ้าง ถือเป็นเรื่องธรรมดา ผมเองก็เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง หลายคนอาจมองว่าจิตแพทย์คงจะเก่งในเรื่องการดูแลจิตใจ แต่ผมก็มีวันที่รู้สึกแย่ๆ เช่นกัน ดังนั้น การหาวิธีรับมือกับความทุกข์ได้อย่างไรและทำให้ชีวิตมีความสุขได้เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะทำเสมอมาครับ

“ในเวลานี้ อิคิไกของผมคือการเป็นจิตแพทย์ อาชีพที่ทำให้ผมได้ช่วยเหลือคนอื่น ช่วยให้เขาสบายใจขึ้น เป็นเพื่อนร่วมทางไปกับเขาในวันที่เขาต้องการที่พึ่ง จนกระทั่งหายจากโรคทางใจที่เป็นอยู่ แม้เราจะได้เจอกันในช่วงเวลาสั้นๆ แต่การได้ดูแลด้วยความหวังดีและมีความไว้วางใจต่อกัน สำหรับผมถือเป็นความสุขในระดับลึกที่อาจเรียกว่าเป็นความอิ่มใจก็ได้ และอาชีพนี้ยังทำให้ผมเข้าใจชีวิตมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง รวมทั้งเข้าใจชีวิตของตัวเองไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งอย่างหลังนี่สำคัญมากนะครับ

“ถ้าเป็นชีวิตส่วนตัว ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ว่ามนุษย์เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าหนึ่งอย่าง และเราอาจทำสิ่งนั้นได้ดีมากกว่าที่คิดไว้ด้วย อย่างผมก็เป็นหมอคนหนึ่งที่มีความฝันและมีชีวิตในด้านอื่นไม่ต่างจากใคร อย่างเช่น การต่อมินิบล็อกที่กลายเป็นอีกส่วนสำคัญในชีวิต พวกคุณก็เช่นกันที่สามารถจะชอบอะไร อยากทำอะไร อยากเห็นภาพตัวเองเป็นแบบไหนก็ได้ ขอเพียงลองลงมือทำดู หากสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์กับคุณ ไม่ได้ไปทำร้ายใคร ไม่เดือดร้อนตัวเอง อย่าให้ใครมาบอกว่าต้องทำแบบนี้สิถึงจะดีนะ หากทำได้แบบนั้น นั่นจะกลายเป็นความสุขที่มาจากข้างในของเราและเป็นความสุขที่ยั่งยืนครับ”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพบางส่วนจาก: Qbrick Design
เพิ่มเติม: www.facebook.com/QbrickDesign

บทความที่เกี่ยวข้อง