คนส่วนใหญ่รู้จัก สว่าง ทองดี ในนามนักเดินทางท่องโลกด้วยจักรยาน เขามีหนังสือผลงานรวมเรื่องเล่าบนหลังอาน อาทิ ปั่นขนานโลก และปั่นหลายสถาน ฯลฯ เป็นนักเขียนท่องเที่ยวในพื้นที่สื่อต่างๆ หลายแห่ง อาทิ a day, a day Bulletin, The States Times, Coffee Traveller เป็นต้น การเดินทางเป็นลมหายใจสำคัญ เป็นเลือดเนื้อของเขาชนิดที่ไม่อาจจินตนาการได้เลยว่า…ชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้าไร้ซึ่งสิ่งนี้
สว่างเกิดและเติบโตที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งห่างไกลผู้คน จินตนาการและความฝันของนักเดินทางน้อยคอยเรียกร้องในใจเสมอว่าข้างนอกหมู่บ้านจะมีอะไรน่าตื่นเต้น ความฝันอยากเป็นกระเป๋ารถเมล์ ร่วมกับการที่พ่อพาขี่จักรยานตะลอนท่องเที่ยวและโบกรถไปตามที่ต่างๆ ช่วยจุดไฟฝันในใจให้ลุกโชนเสมอมา
สว่างเรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเริ่มต้นทำงานครั้งแรกๆ ด้วยการเป็นครูวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน มันตอบความหมายในการได้ทำอะไรเพื่อผู้อื่นก็จริงอยู่ แต่การเป็นครูในประเทศนี้เรียกร้องต้องการความคาดหวังที่เขารู้ดีว่าคงไม่เป็น ‘ทางที่ใช่’ สำหรับตัวเอง สว่างผันตัวเองไปทำงานอื่นๆ หลายอย่าง รวมทั้งงานแปลและผู้ประสานงานทัวร์อันเป็นจุดเริ่มต้นบ่มเพาะการเป็นนักจาริกบนผืนโลกในเวลาต่อมา (ชวนอ่าน ‘จาริกบนผืนโลก’ เขียนโดยสาทิส กุมาร มีหลายอย่างที่สว่างคิดคล้ายกันโดยบังเอิญ)
เขาปั่นจักรยานท่องโลกมาแล้วหลายแห่ง ทั้งในอินเดีย-เมืองที่เปิดทุกประสาทสัมผัสการรับรู้ชีวิต ปั่นจักรยานท้าความหนาวติดลบที่มองโกเลีย ปั่นเรียนรู้ตามเส้นทางกาแฟผ่านหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ห้ามการเดินทางเข้าออกประเทศ สว่างพายเรือล่องแม่น้ำจากเชียงใหม่ (แม่น้ำปิง) ไปนครสวรรค์ (ปากน้ำโพ) พายเรือล่องแม่น้ำโขงในเชียงรายจากสามเหลี่ยมทองคำไปแก่งผาได รวมถึงพายเรือล่องแม่น้ำปัตตานีในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ และเพิ่งได้ออกทริปต่างประเทศสมใจเมื่อปลายปี 2564 ด้วยการปั่นจักรยานในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาเกือบห้าเดือน
ปัจจุบันสว่างริเริ่มงานกาแฟของตัวเองด้วยการสร้างแบรนด์ Nomad Coffee เพื่อสื่อสารเรื่องราวกาแฟที่เป็นมากกว่าเครื่องดื่มรสอร่อย หากเป็นสุ้มเสียงสื่อสารและชวนคนขบคิดเรื่องระบบนิเวศน์เกื้อกูล ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำในสังคมผ่านการเดินทางของเมล็ดกาแฟด้วย
ชีวิตคือการเชื่อมโยงสรรพสิ่ง
ในมุมมองของสว่าง เขามองว่าตัวเองเป็นนักเดินทาง แต่ที่เราเลือกเรียกเขาว่านักจาริก เพราะเขาก้าวย่างบนโลกใบนี้ด้วยความรู้สึกเคารพสรรพชีวิตและเชื่อในการเกื้อกูลกันของสรรพสิ่ง เวลาพูดเรื่องชีวิต เขาไม่ได้คิดถึงความหมายในแง่ปัจเจกชน เพราะชีวิตคือการเชื่อมโยงของทุกสิ่งที่มนุษย์เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ บนโลกใบนี้
“สังคมสมัยนี้แยกตัวเองออกจากสังคมจน disconnect กับทุกอย่าง ใช่แหละ…ส่วนหนึ่งเราเป็นคนเดินทาง คนทำกาแฟ ชอบเขียนสื่อสาร แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงความหมายของชีวิต เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ ไม่ใช่ระบบทุนที่กำลังครอบสังคมในโลกตอนนี้ ความรู้สึกแบบนี้พัฒนาขึ้นเมื่อเดินทางเยอะ เมื่อก่อนเราอาจมองว่า อยากทำอะไร มีตัวตนแบบไหนเพื่อให้ผู้คนจดจำ แต่พอเห็นโลกเยอะขึ้น ความรู้สึกค่อยๆ เปลี่ยนไป มนุษย์ดำรงอยู่แค่ในช่วงเวลาหนึ่ง เต็มที่ไม่ถึงร้อยปีก็จากไป แล้วเราสะสมความเป็นตัวตนเพื่ออะไร ถึงที่สุดแล้วก็ต้องเรียนรู้ที่จะสลายสิ่งที่สะสมเป็นภาระมาตลอดชีวิตนั่นแหละ
“ตอนทำงานทัวร์ และ volunteer tourism เราต้องสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (sustainability) และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (responsibility tourism) กับเด็กมหาวิทยาลัยครั้งละสองสัปดาห์ ทำอย่างนี้อยู่ห้าปี เป็นการหล่อหลอมตัวเราในฐานะคนทำงาน เวลาพูดถึงเรื่องความยั่งยืน อะไรคือกำไรสูงสุด(profit) ตัวเรา สังคม ผู้คน หรือสิ่งแวดล้อม มันสอนว่าเรารอดคนเดียวไม่ได้ ถ้าเราได้ทุกอย่าง แต่อย่างอื่นตายหมด มันก็ไม่ใช่ความเจริญรุ่งเรือง” คุณค่าเช่นนี้เป็นความหมายที่สว่างใช้สานสัมพันธ์ต่อโลกและชีวิต
“เรายังเป็นมนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง เพียงแต่การเดินทางช่วยลดทอนได้มาก ข้อดีของการเดินทางด้วยจักรยานคือมีข้อจำกัดของการแบก ยิ่งเราแบกเยอะ ทุกอย่างก็ยิ่งหนัก ยิ่งช้า บางครั้งต้องลงไปเข็นเพราะปั่นไม่ไหว ซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิต เราเคยคิดบ่อยๆ ว่าทำแค่นี้พอแล้วหรือเปล่า ถ้าทำเยอะ อยากให้ธุรกิจโตก็ต้องรับผิดชอบเยอะขึ้น หรือว่าเราเป็นคนขี้เกียจก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาสมดุลแหละ เราต้องแน่ใจได้ว่าเราจะไม่ตกอับจนกลายเป็นภาระให้สังคม เพราะนี่ก็ไม่ใช่เรื่องยั่งยืนเหมือนกัน”
เดินทางข้างนอกเพื่อเข้าไปข้างใน (ใจ)
สว่างเป็นคนชอบตั้งคำถาม ทั้งกับตัวเองและกรอบความเป็นไปของสังคม และเพราะคำถามเหล่านั้นจึงผลักดันให้เขาเดินทางต่อเนื่องมานานนับยี่สิบปีแล้ว
“คำถามเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราออกเดินทาง อย่างคำถามแรกๆ ว่า ‘ความสุขคืออะไร’ เราไม่ชอบอยู่ในกรอบ สังเกตว่าตัวเองเดินทางแล้วมีความสุขมากกว่า สังคมที่เราเห็นมีกรอบครอบอยู่หลายชั้นทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ตอนที่เราเป็นครู สังคมก็คาดหวังของการเป็นครูที่ดี เมื่อเทียบกับการเดินทาง กรอบมันกว้างกว่ามาก มีอิสระมากกว่า เมื่อมีอิสระก็มีความสุข คำว่าความสุขนี่หมายถึงยอมรับความทุกข์ความสุขตามจริงได้มากขึ้นด้วย ชีวิตไม่ได้มีแค่ด้านเดียว คนเราต้องมีช่วงเวลาที่อะไรเข้ามาชนแล้วเซถลาได้ด้วย
การเดินทางไม่ได้เป็นอิสรภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่เป็นกรอบที่กว้างขึ้น อนุญาตให้เราทำหลายอย่างได้มากขึ้น เช่น ในทริปไปอเมริกา เราปั่นจักรยานไปกางเต็นท์นอนริมน้ำ ริมหน้าผาก็นอนได้ ลงไปแก้ผ้าอาบน้ำก็ทำได้ (ตามอุทยานแห่งชาติและจุดพักแรมต่างๆ – ผู้เขียน) เวลาเดินทาง เราชอบพูดกับตัวเอง แต่ถ้าอยู่ที่นี่ คนจะคิดว่าเป็นบ้าไหม (หัวเราะ) มีครั้งหนึ่งตอนที่กำลังปั่นจักรยานออกจากภูเขาไฟ ตอนนั้นบรรยากาศทุกอย่างเงียบผิดปกติ ลมไม่ไหวติงเลย พอเราปั่นออกมา ลมวูบใหญ่พัดกระแทกใส่ตัวเรา มันเหมือนกับคุณสายลมเงียบเพื่อให้เราได้ยินเสียงของภูเขาไฟจริงๆ”
สว่างเขียนบรรยายเรื่องนี้ลงในเว็บไซต์ a day ในบทความเรื่อง ‘เสียงกระซิบของภูเขาไฟ’ ครั้งไปเยือนภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์หรือฟูจิซังแห่งอเมริกาที่เป็นอนุสรณ์ภูเขาไฟแห่งชาติ ภูเขาไฟลูกนี้เคยระเบิดจนทำลายพื้นที่กว้างไกลไปมากกว่า 500 ตารางกิโลเมตรจนป่าไม้และสิ่งมีชีวิตล้มตายเป็นจำนวนมาก เป็นภัยจากภูเขาไฟที่สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศน์อย่างที่ไม่เคยมีภูเขาไฟลูกไหนกระทำมาก่อน …
“…เราพยายามปั่นเข้าไปให้ใกล้คุณภูเขาไฟลูกนี้ให้มากที่สุดเท่าที่ใจอยาก พิงจักรยานไว้กับก้อนหินใหญ่ แล้วยืนจ้องมองเซนต์เฮเลนส์อยู่นาน จนกระทั่งได้ยินเสียงกระซิบแผ่วเบา ‘อนุสรณ์ที่เจ้าเห็นโดยรอบ พลังมหาศาลซึ่งแสดงหลักฐานจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่นี่ ทำให้เจ้าลดความลำพองลงได้บ้างไหม หรือว่าใจเจ้ายังอหังการอยู่เช่นเดิม’ เป็นคำถามสำคัญคำถามหนึ่งที่ภูเขาไฟถามด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนที่สุด …”
“เรารู้ว่ามีการสื่อสารระหว่างเรากับธรรมชาติจริงๆ มีสายสัมพันธ์เกิดขึ้นจริงๆ เพราะคนสมัยก่อนก็เชื่อมโยงกับธรรมชาติ หมายถึงตระหนักรู้ว่ามนุษย์ไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่าธรรมชาติ เราเป็นจุดเล็กๆ ส่วนหนึ่ง พอตัวเราเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ เราจะรู้สึกจริงๆ ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของเขา ชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้เรา disconnect เยอะมาก เรามาอยู่กับวัตถุ เรากันตัวเองออกมาจากธรรมชาติ จนเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิถีชีวิตที่เราทำอยู่ มันทำร้ายทำลายธรรมชาติ ถ้าเรารู้ เราคงจะแคร์มากกว่านี้
การเข้าใจตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เป็นกระบวนการตลอดชีวิต การย้อนคิด (reflect) เป็นเรื่องที่ดีเสมอ ทำให้เราได้ตะกอนความคิดบางอย่าง จะถูกผิดก็เรื่องหนึ่ง แต่เป็นจุดเริ่มให้ตั้งคำถามถึงคุณค่าต่างๆ ของชีวิตที่เรายึดถือ อาชีพ ทัศนคติ หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งการเดินทางมันช่วยในการย้อนคิดได้มาก ความเงียบช่วยให้เราได้อยู่กับตัวเอง ช่วยให้เราได้จัดสรรเวลาคิดใคร่ครวญได้มากกว่าเวลาอยู่ในชีวิตปกติที่ถูกดึงความสนใจออกไปได้ง่ายกว่า”
ชีวิตคือความโปร่งเบา
เราเห็นภาพชัดเจนเมื่อสว่างเปรียบชีวิตเหมือนการเดินทางด้วยจักรยาน ยิ่งแบกเยอะ ยิ่งหนัก ยิ่งหนื่อยล้า บทเรียนของการท่องโลกกว้างจึงสอนว่าชีวิตที่เรียบง่ายและโปร่งเบานั่นแหละเป็นชีวิตที่ดีงามแท้จริง เขาเองไม่เคยคิดที่จะหยุดเดินทางมาก่อน แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้เขาทรมานไม่น้อยกับการห้ามเดินทางเข้าออกประเทศ หากในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเหมือนเสียงระฆังแห่งสติเรียกให้เขาต้องยอมเผชิญหน้ากับการตั้งคำถามสำคัญกับตัวเองอย่างแท้จริง
“เราเบื่อง่ายเลยต้องหากิจกรรมโลดโผนทำอยู่เรื่อย การผจญภัยมันเติมเต็มความต้องการของเรา พอมีสถานการณ์โควิดที่ห้ามเดินทาง ความรู้สึกดิ่งมาก จมมาก เหมือนตกลงไปในหลุมดำ ทำให้ทรมาน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็น wake up call ด้วยเหมือนกัน เพราะไม่ว่าวันใดวันหนึ่งในอนาคต เราต้องมีวันที่เดินทางไม่ได้แน่นอน อาจเป็นอุบัติเหตุหรือเรื่องอื่นๆ แล้วเราจะทำยังไง เรามีความสุขกับการเดินทางและควรหัดมีความสุขกับการอยู่กับที่ให้ได้ด้วยเหมือนกัน ตอนนี้เลยเริ่มค้นหาคำตอบว่า การอยู่กับที่ที่มีคุณภาพสำหรับเราจะเป็นยังไงได้บ้าง ซึ่งกำลังหาคำตอบอยู่
เราเคยเป็นคนสะสมข้าวของ เช่น กล้องวินเทจ กาดริปต่างๆ ครั้งหนึ่งไปเที่ยวปากีสถาน เราแบกกล้องถ่ายรูปเก่ากลับมาสามสี่ตัว แล้วเอามาตั้งทิ้งไว้เฉยๆ มาถึงจุดหนึ่งก็คิดว่า…เอามาทำไมวะ (หัวเราะ) ที่ผ่านมาเราลดทอนข้าวของ (declutter) ออกไปพอสมควร หลังกลับมาจากปั่นจักรยานที่อเมริกา เราจัดห้องใหม่อีกครั้ง สิ่งที่ค้นพบในการจัดห้อง 4×4 เมตร คือ ใน 100 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่มี เป็นขยะหรือของที่เราไม่ได้ใช้เลยถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ขนาดเรามีข้าวของน้อยมากแล้ว พอจัดการจริงๆ ยังทิ้งของไปได้อีกสามถุงขยะใหญ่ พอห้องโล่ง เรารู้สึกได้ว่าช่วยลด ‘น้ำหนักในใจ’ ได้ด้วย ข้าวของที่เราให้ค่า มันเชื่อมโยงกับอารมณ์ของเรา ยิ่งของเยอะก็ยิ่งรก อารมณ์ไม่โปร่ง มันมีผลต่อใจเแบบไม่รู้ตัว พอจัดห้องทำให้ทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและน้อยชิ้นก็มีความสุขขึ้น อยู่ติดห้องได้มากขึ้น ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน พอมีเวลานิดนึงก็มองแผนที่วางแผนเดินทางแล้ว (หัวเราะ)
ในอเมริกาบางคนมีบ้านตากอากาศหลังใหญ่มากและไม่ได้มีแค่หลังเดียว ในขณะเดียวกันคนไร้บ้านก็เยอะมากด้วยทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่ มันสะท้อนว่าระบบสังคมมีปัญหา การเห็นอะไรแบบนี้ บ้านเลยกลายเป็นภาระมากกว่า เราพอใจกับการอยู่แบบนี้ ไม่ต้องจัดการอะไรเยอะ พอของน้อยก็เก็บกวาดง่ายขึ้น เร็วขึ้น แค่สิบนาทีจบ”
ด้วยจิตวิญญาณแบบนักเดินทาง รักอิสระและพื้นที่สงบของตัวเอง แม้สว่างอยู่บ้านที่เชียงใหม่ หลายครั้งเขาก็เลือกนอนเต็นท์ในแบบที่คุ้นเคยมากกว่า และเพื่อโฟกัสกับงานกาแฟที่ริเริ่มไว้ให้ได้มากขึ้น เขาจึงสร้างบ้านในความหมายแบบแค้มป์ไลฟ์ที่กระจายในหลายพื้นที่เพื่อรับรู้ความรู้สึกเดินทางได้อยู่เสมอ (แม้ไม่ได้เดินทาง) ทั้งบ้านที่อยู่กับแม่ในสวนของพี่ชายและในสวนกาแฟของตัวเองซึ่งเขาขนานนามว่า “กระท่อมวอลเดน” (ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่องวอลเดน โดย เฮนรี เดวิด ทอโร) ซึ่งอันที่จริงก็คือเต็นท์ในสวนใต้เพิงพักง่ายๆ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและไม่มีไฟฟ้า
“เต็นท์เป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ มีของจำเป็นไม่กี่ชิ้นแต่อยู่แล้วสบายใจ เรามีแค่ฟูกรองนอน หมอน โต๊ะนั่งกับพื้นเพื่อเขียนอะไรต่างๆ วันไหนอยู่ใกล้บ้าน เราใช้ของจากในบ้านได้ ถ้าเป็นสวนกาแฟ เราก็จัดการพื้นที่ให้ดูแลเรื่องอาหารการกินได้ มีอาหารแห้ง อาหารสด มีพาวเวอร์แบงค์เพื่อเสียบหลอดไฟ”
Nomad Coffee กาแฟที่เล่าเรื่องได้
อันที่จริงสว่างเก็บเล็กผสมน้อยความรู้เรื่องกาแฟมาอย่างยาวนานผ่านความสนใจส่วนตัวและได้มีโอกาสเรียนรู้จริงจากการเดินทาง เขาสะสมความรู้หลายขั้นตอนทั้งเรื่องการปลูก แปรรูป คั่ว เบลนด์ ดมกลิ่นเพื่อคัดคุณภาพกาแฟ(cupping) จากการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ทั้งพม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย อเมริกา รวมถึงแหล่งกาแฟสำคัญของโลกอย่างอเมริกาใต้ อาทิ โบลิเวีย เปรู ปานามา เอธิโอเปีย ฯลฯ
ครั้งหนึ่งสว่างเคยทำร้านกาแฟขนาดจิ๋วที่เป็นรถพ่วงเล็กกับจักรยานและปั่นไปขายกลางเมืองเชียงใหม่ ชวนลูกค้ามาซื้อกาแฟด้วยการพกแก้วมาเองจากบ้าน หรือดื่มที่ร้านด้วยแก้วเซรามิคที่ล้างใช้ซ้ำได้เพื่อลดขยะ ชวนคนใช้ถุงผ้าดริปกาแฟแทนกระดาษกรอง เลือกใช้แพ็คเกจจิ้งบรรจุกาแฟที่ใช้ซ้ำได้ เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ใช้แนวคิดการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบเชื้อเชิญให้คนได้ลงมือทำไปด้วยกัน วันนี้เขามีสวนกาแฟในป่าเล็กๆ ของตัวเองที่บ้านขุนลาว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และเล่าขานความสุขอีกแบบหนึ่งในนาม “Nomad Coffee” คำว่า “Nomad” หมายถึงคนเร่ร่อน ซึ่งเป็นคำที่สว่างใช้นิยามตัวเอง เขาตั้งใจส่งมอบกาแฟที่ทำให้ผู้บริโภคได้มองเห็น ‘ผู้คนบนเส้นทางการเดินทางของกาแฟ’ ได้ แม้เป็นสิ่งที่อาจมองไม่เห็นก็ตาม
“สวนกาแฟคือความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น เราคลุกคลีอยู่ในสวนกับต้นกาแฟก็รู้สึกผูกพัน เราได้ประโยชน์จากเขา ต้องดูแลให้เขาดีที่สุด งานสวนเป็นงานหนักแน่นอนแต่เราเต็มใจทำ สวนกาแฟเป็นเหมือนโรงเรียนเพื่อเรียนรู้กระบวนการผลิตกาแฟสำหรับตัวเองด้วย ตอนเราเดินทาง เราเอาเมล็ดกาแฟจากประเทศนั้นประเทศนี้มาเพาะเป็นต้น เราได้สังเกต เรียนรู้ว่าต้นกาแฟสายพันธุ์ต่างๆ ชอบอะไรไม่ชอบอะไร เรียนรู้จากโรงเรียนของเราเอง
ในสวนกาแฟ มีคุณน้ำตาล (นกกางเขนดง) ชอบมาอยู่ใกล้ๆ ชอบมาจิกกินแมลงเวลาเราพรวนดิน ตัดหญ้า เก็บกาแฟ เหมือนมีนกเป็นเพื่อนใกล้ๆ ส่วนหนูจะชอบเอากาแฟสุกไปกินหน้ารัง กินเมือกน้ำหวานที่เปลือกแล้วกองทิ้งไว้ บุ้งบางตัวมีสีแบบธงชาติเยอรมันเลย (หัวเราะ) พอสังเกตอะไรแบบนี้ เราจะเห็นความละเอียดละออของสวนกาแฟซึ่งคนปลายทาง พ่อค้า หรือคนที่ไม่ได้ทำสวนกาแฟไม่รู้แน่นอน สายสัมพันธ์พวกนี้ไม่มีอยู่ในตำรากาแฟ แต่เพราะสิ่งเล็กๆ แบบนี้แหละที่เชื่อมโยงตัวเรากับระบบนิเวศน์สวนกาแฟในป่า และย้ำเตือนชัดเจนว่ามนุษย์เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของโลกใบนี้ เราได้ตระหนักมากขึ้นถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ทำว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นอย่างไร การที่เราปล่อยให้นกหนูกินกาแฟได้ เพราะเรามองว่าทุกชีวิตอยู่ด้วยกันได้ เราเอาไปใช้ด้วย เขาได้กินด้วย เรายังได้ผลผลิตเชิงปริมาณเหมือนกัน เป็นเรื่องเดียวกับการไม่สะสมมากและความยั่งยืนที่เราพูดถึงมาตลอด
เราทำ Nomad Coffee โดยตั้งใจเชื่อมโยงข้อมูลต้นทางไปสู่ปลายทาง เกษตรกรสี่คนที่เรารับซื้อกาแฟของเขาเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน แปรรูปกาแฟอย่างไร เพื่อเชื่อมโยงกับคนซื้อมากขึ้น เริ่มส่งเมล็ดกาแฟให้ร้านต่างๆ มากขึ้นเพื่อสื่อสารเรื่องเดียวกัน เป้าหมายคืออยากให้คนดื่มรู้ว่า กาแฟแต่ละแก้วได้ผ่านอะไรมาบ้างเพื่อรื่นรมย์กับกาแฟได้ลึกซึ้งขึ้น และถ้าหากช่วยให้คนตระหนักถึงประเด็นเรื่องความเป็นธรรม สังคม สิ่งแวดล้อมผ่านกาแฟได้ด้วยก็จะยิ่งดี
กาแฟเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้คนตลอดการเดินทาง คนเป็นส่วนสำคัญที่สุดเลย ตั้งแต่คนปลูก คนสวน คนเก็บ คนคั่ว คนเสาะหาเมล็ดกาแฟ คนขาย คนกิน ทุกสายพานของกาแฟ มีคนอยู่ในนั้นเสมอแต่เราไม่ค่อยมองเห็น ถ้ามองจากกรอบเรื่องความยั่งยืน หลายเรื่องไม่ยั่งยืนเลย คนต้นทางได้ผลตอบแทนน้อยที่สุด คนปลายทางตั้งแต่พ่อค้าถึงร้านกาแฟได้ผลตอบแทนสูงมาก มันเอียงกะเท่เร่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม กาแฟเอธิโอเปีย เคนย่าในบ้านเรา ขายกันแก้วละสองสามร้อย แต่ว่าต้นทางของเกษตรกรกาแฟที่นั่นมีคุณภาพชีวิตแย่มาก ทำงานเหนื่อยยาก การได้รับค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผล อยู่กระท่อมโทรมๆ ในขณะที่ปลายทางได้กำไรสูงมาก เราอยากให้คนได้คิด ได้ตระหนักกับเรื่องพวกนี้บ้าง นิดหน่อยก็ยังดี เพราะผู้บริโภคชอบความว้าว ไปโฟกัสที่รสสัมผัส แต่ภายใต้สิ่งเหล่านี้อาจมีเรื่องที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน เราอยากเป็นอีกเสียงที่ได้สื่อสาร การเดินทางของกาแฟจึงไม่ได้มีแค่มิติเชิงกายภาพจากต้นกาแฟถึงแก้วกาแฟเท่านั้น แต่มีมิติความเป็นธรรมอื่นๆ ซ่อนอยู่ด้วย
ตอนที่ไปเปรู ปานามา เราได้เห็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ในช่วงเวลาเก็บเกี่ยวกาแฟสุก ในกิ่งเดียวกันมีดอกออกใหม่ด้วย คือต้นกาแฟก็งง สับสนกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนเหมือนกัน ซึ่งมีผลกระทบซับซ้อนต่อจากนั้นอีกมากมาย สมัยก่อนคนทำงานเก็บเมล็ดกาแฟปีละครั้ง แปรรูปกันสองสามเดือนจบ แต่ความแปรปรวนของอากาศทำให้กาแฟทยอยติดผล ทยอยสุก ทยอยเก็บใหม่ มันคือต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลา รายละเอียดแบบนี้เป็นสิ่งที่คนกินกาแฟไม่มีโอกาสได้รู้เลย เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมจากสิ่งที่เราบริโภคโดยตรง การที่คนไม่รู้อาจกลายเป็นปัจจัยเร่งการเปลี่ยนแปลงเชิงลบได้เหมือนกัน แต่ลึกๆ ในใจแล้ว เราเชื่อว่าถ้ามนุษยชาติสร้างผลกระทบเชิงลบต่อโลกได้ เราน่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกมหาศาลได้เหมือนกัน”
สว่าง ทองดี เป็นคนที่ใช้ชีวิตผ่านการลงมือทำ เรียนรู้เติบโตจากการเดินทางแล้วลงมือทำสิ่งดีๆ เพิ่มพูนต่อเนื่องเป็นวัฏจักร เขาเชื่อเสมอว่าชีวิตเป็นดังของขวัญให้ได้ทดลองสนุก ทดลองทำในสนามเด็กเล่นของตัวเอง “เราคิดว่าตัวเองเป็นคนเร่ร่อนนะ เพราะรักการเดินทางเชิงกายภาพ เดินทางเพื่อกลับมาเชื่อมโยงกับภายใน เรายังอยากเร่ร่อนเพื่อเรียนรู้อยู่เสมอ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ สร้างรสชาติให้ชีวิต บางครั้งความ suffer ก็เป็นประโยชน์ ถ้ามันนำเราเข้าไปใกล้กับบางอย่างที่สำคัญมากขึ้น”
ขอให้ทุกคนสนุกสนานกับการเดินทางและได้พบพานของขวัญสำคัญในชีวิตด้วยเช่นกัน
–
ภาพ: กรินทร์ มงคลพันธ์
ภาพบางส่วน: สว่าง ทองดี
ติดตาม สว่าง ทองดี ได้ที่ Facebook: Sawang Thongde