เงินเฟ้อ เพ้อหนักมาก: 7 วิธีรัดเข็มขัดรับมือค่าครองชีพสูง 

ถึงแม้โควิดจะเริ่มซา แต่ปี 2022 ยังคงเป็นปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับใครหลายคน เพราะขณะที่หลายธุรกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ก็ดันมาเจอกับผลกระทบจากสงคราม ทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานพุ่งกระฉูด ส่งต่อเป็นลูกโซ่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าทุกประเภทถีบตัวสูงขึ้นหมด ไม่ว่าจะอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ แก๊สหุงต้ม ค่าไฟ… ทุกอย่าง แพงทั้งแผ่นดิน! 

ใครที่เคยประหยัดรัดเข็มขัดกันมาแล้วในช่วงโควิด มาปีนี้ บอกได้เลยว่ายิ่งต้องรัดให้แน่นมากกว่าเดิมเข้าไปอีก แต่จะทำยังไงถึงจะเซฟค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด… ลองดูวิธีดังต่อไปนี้

1. ตัด ตัด ตัด รายจ่ายที่ไม่จำเป็น

ตราบใดที่คุณยังหาช่องทางเพิ่มเงินเข้ากระเป๋าไม่เจอหรือเงินเดือนที่ขยับขึ้นในแต่ละปีก็ยังตามอัตราเงินเฟ้อไม่ทัน วิธีแรกที่จะช่วยบาลานซ์รายรับกับรายจ่ายได้คือ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก

ว่าแต่อะไรที่ถือเป็น “รายจ่ายที่ไม่จำเป็น” น่ะเหรอ… ส่วนใหญ่แล้วก็คือเงินที่คุณเสียไปกับพวกความบันเทิงเริงใจนั่นแหละ ลองถามตัวเองดูว่าคุณออกไปกินข้าวนอกบ้านบ่อยแค่ไหน หรือเอะอะนั่งชิลร้านกาแฟหรือเปล่า ที่ลืมไปไม่ได้อีกอย่างคือ ไล่เรียงดูให้ดีว่าคุณไปสมัครสมาชิกรายเดือนอะไรไว้บ้างที่ไม่ได้ใช้อย่างคุ้มค่า เช่น มีสตรีมมิ่ง (streaming service) ไว้ดูหนัง/ซีรีส์ กี่อันกัน แล้วใช้จริงๆ จังๆ แค่กี่อัน / จ่ายค่าสมาชิกฟิตเนสแบบรายเดือนหรือเปล่า แล้วเดือนหนึ่งไปเหยียบฟิตเนสกี่ครั้ง / หรือถ้าทำงานอยู่บ้านเป็นหลัก ลองดูว่าแพ็กเกจโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่นั้นพอจะลดเน็ตลงมาได้ไหม แล้วใช้ Wifi ที่บ้านเอา … จากนั้นก็ “ตัด” สิ่งที่ไม่คุ้มค่ากับเงินทิ้งไป

Tips: เอาจริงๆ เรานึกกันไม่ค่อยออกหรอกว่ารายจ่ายอะไรบ้างที่จัดเป็นรายจ่ายฟุ่มเฟือย วิธีที่จะทำให้เรามองเห็นรายจ่ายเหล่านั้นได้คือ จดบันทึกค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนว่ามีอะไรบ้าง แล้วค่อยมานั่งไล่เรียงดู

2. จ่ายตลาดอย่างชาญฉลาด

ของกินของใช้เป็นรายจ่ายที่เราไม่สามารถตัดออกได้ แต่… เรา “ลด” ค่าใช้จ่ายได้

อย่างแรก เลิกนิสัยติดแบรนด์ดัง และหันมาให้โอกาสแบรนด์เล็กๆ ที่ราคาถูกกว่าดู ลองเปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้า เพราะบางทีคุณภาพของแบรนด์เล็กอาจไม่ต่างจากแบรนด์ใหญ่เลย นอกจากนั้น เวลาที่ได้คูปองส่วนลดอะไรมา กำไว้ให้ดี แล้วอย่าลืมวางแผนเอาคูปองเหล่านั้นมาใช้ซื้อของพร้อมส่วนลดก่อนหมดอายุ ที่สำคัญอีกอย่าง ก่อนออกจากบ้านไปช็อป คุณควรลิสต์รายการของกินของใช้ที่จำเป็นต้องซื้อไว้ล่วงหน้า แล้วก็ซื้อตามที่ลิสต์ไว้เท่านั้น ย้ำว่าเท่านั้น! อย่าใจอ่อนหยิบขนมนมเนยติดมือมามากกว่าที่จดไว้ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าแล้ว ก็ยังดีต่อสุขภาพและช่วยลด ขยะอาหาร (Food waste) ได้อีกด้วย 

3. จ่ายตลาดออนไลน์ + รอช้อปตอนโปรปัง

ปัจจุบัน ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งมีบริการส่งถึงบ้านฟรีกันทั้งนั้น คุณแม่บ้านจึงอาจเลือกใช้ช่องทางการจ่ายตลาดแบบนี้บ้าง ก็ประหยัดค่าเดินทางไปได้พอดู นอกจากนั้น อีกวิธีที่ช่วยประหยัดได้มาก คือ วางแผนการช้อปเพื่อรอซื้อตอนมีโปรปัง เช่น 8.8 หรือวันเกิดลาซาด้า อะไรแบบนี้เป็นต้น แต่ย้ำอีกทีนะว่าการช้อปที่เราหมายถึงนี้คือของใช้จำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย

Tips: ถ้าจะประหยัดขั้นสุดไปอีก อย่าลืมเก็บกล่องพัสดุที่บรรจุสินค้ามาให้ดี สะสมไว้แล้วขายซาเล้ง ก็พอได้ค่าขนมมาเก็บหอมรอมริบ หรือจะใจดีให้ซาเล้งไปเลยก็เข้าท่า (เพราะคนอื่นก็ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อเหมือนๆ กับเรา ถือว่าช่วยๆ กัน) 

4. วางแผนการเดินทางให้รัดกุม

น้ำมันแพงลิตรจะครึ่งร้อยขนาดนี้ ก่อนออกจากบ้าน คุณควรศึกษาเส้นทางให้ดีและวางแผนให้รอบคอบว่าควรจะไปที่ไหนก่อนและหลัง หรือธุระอะไรที่อยู่ใกล้ๆ กันก็รวบมาทำในวันเดียวกันไปเลย จะได้ไม่ต้องขับรถวนไปวนมาให้เสียเวลาเสียเงิน นอกจากนั้น เราแนะนำให้คุณออกไปจ่ายตลาด ซื้อของเข้าบ้านแค่สัปดาห์ละครั้ง เพราะบ่อยกว่านั้นก็เปลืองน้ำมัน หรือถ้านานกว่านั้นแต่ซื้อทีนึงเยอะ การตุนของในตู้เย็นมากเกินไปจะทำให้เปลืองไฟ อีกอย่างที่ลืมไปไม่ได้คือ กรุณาดับเครื่องยนต์ทุกครั้งที่จอดรถทิ้งไว้ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำมันแล้ว ยังช่วยลดมลพิษได้อีกด้วย

5. ประหยัดไฟ

ประโยคนี้ฟังดูง่ายๆ ไม่น่าจะเป็นเคล็ดลับอะไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยคุณประหยัดเงินในกระเป๋าได้มาก เพราะค่าไฟขึ้นแล้วขึ้นอีก จนไปอยู่ที่หน่วยละ 4 บาทแล้วตอนนี้ แถมหลายคนหันมาเข้าออฟฟิศวันเว้นวัน ทำงานอยู่บ้านก็เปลืองไฟเข้าไปอีก ลองดูวิธี WFH อย่างไรให้ค่าไฟไม่กระฉูด! ได้ที่นี่ 

6. กดเลิกติดตามเพจขายของ

สำหรับใครที่ตั้งใจจะประหยัด แต่กลับไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการช้อปของฟุ่มเฟือยของตัวเองได้ ประมาณว่ารู้ตัวอีกทีก็ CF โน่นนี่เต็มไปหมดแล้ว เราแนะนำให้สำรวจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของตัวเองว่าไป follow เพจขายของจนจะกลายเป็นแคตาล็อกไปแล้วหรือเปล่า ถ้าใช่ กด unfollow บางเพจไปบ้าง เวลาเปิดเฟซบุ๊กหรือไอจีมา กิเลสของคุณจะได้ไม่ต้องถูกยั่วยุบ่อยเกินไป

7. หัด DIY 

DIY หรือ Do It Yourself ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงงานฝีมืออย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงทุกอย่างที่คุณต้องเสียเงินเพื่อให้ได้มา เช่น คุณอาจเลิกใช้บริการแม่บ้านชั่วคราวในช่วงนี้ และลองทำความสะอาดบ้านเอง หรือไม่ก็ลดความถี่การจ้างแม่บ้านลง เช่นเดียวกับงานบ้านอื่นๆ ที่คุณควรลองทำด้วยตัวเองดูบ้าง อย่าง ตัดหญ้า ทำสวน ล้างรถ อาบน้ำหมา ฯลฯ นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังถือเป็นการออกกำลังกายและเป็นการใช้เวลาร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว  นอกจากนั้น ใครที่มีฝีไม้ลายมือก็อาจเอาเสื้อผ้าข้าวของเก่าๆ มาตัด-ปรับ-แต่ง ให้เป็นของใหม่แทนการเสียตังค์ซื้อ ก็นับเป็นการประหยัดและงานอดิเรกที่น่าสนใจ ส่วนใครที่ชอบปลูกต้นไม้ ลองหันมาปลูกพืชผักสวนครัวง่ายๆ เช่น กะเพรา พริกขี้หนู มะกรูด ฯลฯ ทีนี้คุณก็จะมีซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ อยู่หลังบ้าน ไม่ต้องเสียตังค์ซื้อ แถมยังปลอดสารพิษอีกด้วย

หลังจากลองทำตาม 7 ข้อนี้แล้ว พอสิ้นเดือนลองมาดูว่าค่าใช้จ่ายคุณลดลงบ้างหรือไม่ ตัวเลขที่ลดลงน่าจะเป็นกำลังใจให้คุณประหยัดได้มากขึ้นอีก สู้ๆ นะทุกคน เราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกันอีกครั้ง!


ที่มา:
fnbo.com
ramseysolutions.com

Share :
go to top