รติกร ตงศิริ สู่ความธรรมดาที่เป็นธรรมชาติและความมั่นคงทางใจ

Human / Self-Inspiration

หากจะเล่าเรื่องคนคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร นั่นอาจเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเรากำลังจะเล่าชีวิตของบัณฑิตจากคณะวารสารฯ ที่เคยทำรายการสารคดีโทรทัศน์ก่อนจะผันตัวมาเป็นเกษตรกรผู้ดูแลพื้นที่นาและป่าบนที่ดินของครอบครัวให้กลายเป็นพื้นที่รักษาสมดุลให้ชีวิตในนาม ‘ป่านาคำหอม’ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ปลอดจากสารพิษ สร้างอาหารและใช้ทรัพยากรดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวที่จังหวัดบ้านเกิดอย่างสกลนคร แถมพ่วงมาด้วยการเป็นหนึ่งในสมาชิก ‘ชาวนาไทอีสาน – Thai i-san farmers’ กลุ่มชาวนารุ่นใหม่ซึ่งมุ่งอนุรักษ์พันธุ์ข้าวบนวิถีการทำนาแบบอินทรีย์ อาจจะทำให้เรื่องราวนั้นน่าติดตามขึ้นมาสักหน่อย 

ทว่า เรื่องราวของ อิ๋ม-รติกร ตงศิริ ยังมีอีกหลายๆ ด้านที่น่าสนใจให้เราเข้าไปค้นหาและเรียนรู้จากการได้นั่งพูดคุยกับเธอผ่านบทสัมภาษณ์ที่ทุกคนจะได้อ่านต่อไปนี้    

เมื่ออดีตคือปัจจุบัน

หลังจากเป็นบัณฑิตหมาดๆ อิ๋มพกเอาความรู้ด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มาเริ่มต้นงานแรกของเธอกับการผลิตสื่อวิดีโอให้บริษัทวิดีโอโปรดักท์ชั่นของรุ่นพี่ จากนั้นไม่นาน เธอโยกย้ายไปทำงานด้านสารคดีที่สนใจมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ในบริษัททีวีบูรพา การเดินทางและได้ทำความรู้จักกับผู้คนมากมายที่มีพื้นเพและความสนใจที่แตกต่างกันตลอดระยะเวลา 1 ปี 2 เดือนที่แม้จะไม่นานนัก แต่ทุกอย่างที่นี่สอนอิ๋มทั้งในเรื่องการปรับตัว การรู้ขีดจำกัดและศักยภาพของตัวเอง ตลอดจนการรับฟังอย่างตั้งใจ ซึ่งส่งผลต่อวิธีในการทำงาน การดำเนินชีวิต และการมองโลกในปัจจุบัน

หลังจากออกจากทีวีบูรพา แพลนแรกของเธอคือการเรียนต่อ แต่สุดท้ายแล้ว อิ๋มเลือกที่จะไปทำงานแลกการเรียนรู้ที่สถาบันขวัญเมือง ในจังหวัดเชียงราย ตามคำแนะนำของพี่เขย ที่นั่นเป็นชุมชนของกระบวนกรที่จัดกระบวนการการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่เน้นหนักในประเด็นเรื่องการจัดการความรู้ ความสัมพันธ์ ความขัดแย้ง การสร้างทีม การทำงานของสมอง เรื่องของพุทธปัญญา โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวอธิบาย ภายในสถาบัน อิ๋มทำหน้าที่ช่วยประสานงาน ถ่ายรูป ขับรถ ผู้อำนวยความสะดวก และเป็นผู้ช่วยกระบวนกร เรียกว่าได้ทำทุกอย่างที่ความสามารถเธอจะทำได้

“การเรียนรู้ที่นี่เปิดโลกเรามาก ตั้งแต่การมีโอกาสได้ทำความเข้าใจกับตัวเองว่าสิ่งที่หล่อหลอมคนหนึ่งคนประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งหากเราเข้าใจตัวเองในด้านต่างๆ แม้จะยังไม่ลึกซึ้งมาก แต่จะทำให้เราเห็นโอกาสในการประกอบเป็นคนหนึ่งคนขึ้นมาได้ บางทีเราคิดว่าตัวเราเป็นคนเด็ดขาด แข็งแรง แต่ทุกอย่างมีด้านตรงข้ามเสมอ รวมทั้งภายในตัวเราด้วย ดังนั้น การที่เราสามารถเข้าใจตัวเองหรือเห็นว่าตัวเราไม่ได้มีคุณสมบัติเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเปิดโอกาสให้เราเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นตามมาด้วย การอยู่ที่นั่นเลยทำให้อิ๋มได้เห็นว่า ตัวของเราไม่ใช่ขาว ไม่ใช่ดำ แต่เรามีและเป็นทั้งขาว ดำ และเทา ความรู้หลายอย่าง อิ๋มได้เรียนรู้จากความเทาๆ ตรงนั้น ยังจำคำว่า ‘ปัญญาสีเทา’ ที่อาจารย์สอนได้การรู้เรื่องพวกนี้ทำให้เราประนีประนอมกับตัวเองและคนอื่นได้มากขึ้น”

ตัดสินใจกลับบ้าน 

“หลังจากอยู่ที่สถาบันขวัญเมืองได้ปีกว่าๆ เวลานั้นอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ท่านรับงานเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ ซึ่งอิ๋มรู้จักท่านตอนทำงานยังเป็นนักศึกษาอยู่ และมีโอกาสได้ติดตามช่วงที่อาจารย์เป็นที่ปรึกษาให้บริษัทธุรกิจในจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีสกลนครบ้านเกิดอิ๋มอยู่ในนั้นด้วย ท่านถามขึ้นมาว่า “อิ๋มอยากกลับมาอยู่บ้านไหม?” ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตัวเองรู้สึกอยากจะทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน เลยตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่บ้านและทำงานในกิจการร้านขายมอเตอร์ไซค์ของครอบครัว อาจเพราะเนื้องานในแผนกเร่งรัดหนี้สินของธุรกิจซึ่งเป็นรูทีนและอยู่กับความเครียดพอสมควร ทำให้อิ๋มรู้สึกขาดชีวิตชีวา ทำงานทุกวัน มีผลงานแต่เหมือนไม่ได้ทำงานจริงๆ พอทำงานไปได้ประมาณครึ่งปีจึงขอคุณแม่ว่าอยากไปเรียนรู้เรื่องอื่นควบคู่กับการทำงานให้ที่บ้านด้วย  

“ในช่วงเดียวกันนั้น มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมาพูดเรื่องคุณค่าของพืชและสมุนไพรต่างๆ เมื่อฟังจบ อิ๋มพบว่าน่าสนใจมากในแง่ที่ว่าประเทศไทยของเรามีความอุดมสมบูรณ์มากและความสมบูรณ์นั้นควรค่าอย่างมากต่อการเก็บรักษา นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มปลูกผัก ตอนนั้นอายุ 29 จากเด็กเมือง 100% ไม่จับดิน รังเกียจความเฉอะแฉะของน้ำ โตมากับ PlayStation, Game Boy, โดราเอมอน และดราก้อนบอล ทำให้รู้สึกว่า นี่คือความรู้เรื่องพื้นฐานที่เกี่ยวพันกับชีวิตจริงๆ แบบที่เด็กๆ อีกค่อนประเทศเขาทำได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งการที่อิ๋มอยากหัดปลูกผัก ทำการเกษตร นอกจากต้องการที่จะมีทักษะแล้ว อิ๋มยังอยากมีความมั่นคงทั้งทางกายและทางจิตใจไปในเวลาเดียวกันด้วย”

อิ๋มเริ่มต้นเรียนรู้ด้านเกษตรและการทำนาจาก ตุ๊หล่าง (แก่นคํากล้า พิลาน้อย) นักพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจากยโสธร ซึ่งเป็นชาวนารุ่นใหม่ผู้สอนเธอปลูกผักและทำนาด้วยวิถีแบบ ‘ตุ๊หล่างสไตล์’ นั่นคือ การทำนาที่ต้องเอาใจใส่ในทุกกระบวนการ ที่ทั้งละเอียด ประณีต และพิถีพิถัน 

“อิ๋มเคยเจอตุ๊หล่างตอนทำงานในทีวีบูรพา ซึ่งตอนที่อยากเรียนรู้เรื่องการเพาะปลูก รุ่นพี่ที่บริษัทแนะนำว่าลองมาปรึกษาตุ๊หลางดูสิ จนกระทั่งได้มาเจอกันอีกครั้ง สิ่งที่ตุ๊หล่างสอนจะเป็นหลักการง่ายๆ เป็นต้นว่า มีอะไรให้ใช้อย่างนั้น ไม่ได้ทำสูตรหรือใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน แต่รู้ว่าใช้อะไรเพื่ออะไร ครั้งแรกที่ไปหาตุ๊หล่าง ได้ไปอยู่ที่สวน ไม่มีไฟฟ้า ทุกอย่างต้องทำให้เสร็จก่อนดวงอาทิตย์ตก อิ๋มรู้สึกว่าเป็นวิธีคิดที่ยุติธรรมกับชีวิตมากเลย เพราะช่วงของวันที่มีแสงอาทิตย์คือช่วงที่เราต้องฉกฉวยและทำประโยชน์ ทำภาระหน้าที่ให้เสร็จสิ้น เพราะเราโกงเวลาไม่ได้ ในขณะที่เราอยู่ในเมือง เราอาจจะบอกตัวเองได้ว่า เดี๋ยวค่อยทำก็แล้วกัน เพราะว่ามีไฟฟ้า ทั้งๆ ที่เวลานั้นเป็นเวลาที่เราควรต้องพักผ่อนแล้ว

“อิ๋มใช้เวลาอยู่หลายเดือนกับการค่อยๆ เรียนรู้ ทดลองปลูกผักต่างๆ จำได้ว่าเริ่มเรียนเรื่องปลูกผักกับตุ๊หล่างช่วงเดือนมกราคม 2556 พอมิถุนายนได้ทราบว่าคุณแม่เป็นมะเร็งขั้นที่หนึ่ง ผักอินทรีย์ที่เราปลูกก็ได้ใช้ประโยชน์เลย นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าตัวเองได้ทำสิ่งที่มีความหมาย เราได้ดูแลคุณแม่บ้างแล้ว แบบที่ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน เรียกว่าได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำตั้งแต่ปีแรกเลยค่ะ (ยิ้ม)” 

เมื่อฉันเป็นเกษตรกร

จากแปลงผักเล็กๆ หลังบ้าน อิ๋มขยับขยายแปลงเกษตรไปยังที่ดินเปล่าของครอบครัวและสร้างเป็น ‘นาคำหอม’ ขึ้น โดยมีผลผลิตตั้งแต่ข้าว ผักออร์แกนิก ชา คอมบูฉะรสชาติต่างๆ น้ำส้มมะนาวอินทรีย์หมัก แยม ซอสมะเขือเทศ และสมุนไพรแห้งอื่นๆ ซึ่งงอกเงยจากแผ่นดินสกลนครผืนนี้ เธอดูแลเองทุกขั้นตอน

ในปีที่ 3 ของการปลูกผักและทำนา มีการรวมกลุ่มของตุ๊หล่างและเพื่อนๆ เป็นกลุ่ม ‘ชาวนาไทอีสาน – Thai i-san farmers’ ขึ้น โดยมีตุ๊หล่างเป็นศูนย์กลาง กลุ่มที่ว่าเป็นการรวมตัวกันของเหล่าเกษตรกรและชาวนารุ่นใหม่ที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สระแก้ว และสกลนคร ที่ใช้วิถีการทำนาประณีตแบบ ‘ตุ๊หล่างสไตล์’ เป็นแนวทางหลัก โดยมีภารกิจสำคัญคือการสืบทอดความดีงามแห่งท้องไร่ท้องนาจากบรรพบุรุษ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน พร้อมๆ ไปกับการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองทั้งด้านรสชาติ การผลิต บริโภค เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและการทำเกษตรพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

“ในฐานะสมาชิกกลุ่ม อิ๋มมีหน้าที่หลักๆ แบบเดียวกับสมาชิกคนอื่น นั่นคือการนำพันธุ์ข้าวของตุ๊หล่างไปปลูกและใช้แปลงของตัวเองเป็นแปลงทดสอบพันธุ์ข้าวนั้นๆ ว่าข้าวสายพันธุ์นี้หากมาอยู่ที่นี่แล้วจะเป็นอย่างไร เพราะบางทีข้าวสายพันธุ์เดียวกันหากอยู่คนละพื้นที่ สภาพแวดล้อม การดูแลคนละแบบจะให้ผลที่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องความอร่อย ความแข็งแรง เช่น หากปลูกข้าวพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง เราก็ต้องปลูกและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่จะเอาไปปลูกต่อปีหน้าให้ตรงตามลักษณะของพันธุ์ข้าวชนิดนั้นๆ โดยเราจะคัดพันธุ์ข้าวกันกลางทุ่งนาเลย ทีละรวงๆ เช่น ข้าวพันธุ์นี้ทรงกอจะต้องตั้งตรง ไม่แบะออก ใบธงควรตั้ง การจับเมล็ดจะถี่ประมาณนี้ คอควรสั้นหรือยาวเท่านี้ เมล็ดควรมีรูปทรงแบบนี้ ตอนไม่สุกต้องสีแบบนี้ สุกแล้วสีแบบนี้ ทุกคนจะต้องทำอย่างนี้ในพื้นที่ตัวเองเพื่อทดสอบและคัดพันธุ์ข้าวสำหรับการพัฒนา อนุรักษ์ และส่งต่อองค์ความรู้ให้ผู้อื่น รวมทั้งเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์ข้าวให้คนไทยได้กินกัน” 

สร้างป่าที่ปลอดภัย

“จริงๆ อิ๋มไม่เคยคิดว่าจะทำเป็นอาชีพเลยนะคะ เหมือนสถานการณ์พาเราไปมากกว่า อย่างที่บอก ตอนเรากลับมาที่บ้านแล้วทำงานในแผนกเร่งรัดหนี้สินของที่บ้าน ตอนนั้นจิตใจห่อเหี่ยว ซึ่งการได้เห็นการเติบโตงอกงามของผักที่ปลูกเลยเป็นสิ่งที่ดีต่อใจ บวกกับคุณพ่อคุณแม่ได้กินอาหารที่ปลอดภัยด้วย เลยทำให้รู้สึกดีว่าเราดูแลท่านทั้งสองตามกำลังและวีถีของเราได้บ้าง 

“พอเพาะปลูกไปได้สักพัก อิ๋มเริ่มสร้างบ้านและย้ายจากบ้านในเมืองที่เป็นที่ตั้งของธุรกิจครอบครัวมาอยู่ที่ป่านาคำหอม กระทั่งปี 2562 พ่อเสีย ตอนนั้นอิ๋มรู้สึกว่าพ่อมีความกังวลที่อิ๋มมาอยู่ใกล้กับป่า เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย จึงทำให้คิดว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะต้องอยู่อย่างปลอดภัยให้ได้ ในมุมของอิ๋ม การจะทำให้พื้นที่ป่าปลอดภัยคือเราต้องเข้าหาป่า เข้าไปทำความรู้จักและเรียนรู้ป่าให้บ่อยขึ้นว่าเขาเป็นอย่างไร เติบโตและอยู่ร่วมกันอย่างไร ใช้มูลค่าของป่าให้เป็นประโยชน์มากกว่าการเป็นต้นไม้เฉยๆ อาจมีการจัดการอะไรเพิ่มเติมบ้าง แต่ต้องไม่ไปเบียดเบียน และคุกคามเขา ต้องดูแลให้แข็งแรงและเติบโตในแบบที่เขาเป็นโดยรบกวนเขาให้น้อยที่สุด อิ๋มเลยพยายามหาวิธีอยู่ตลอดว่าทำอย่างไรถึงจะอยู่กับป่าโดยที่ให้ป่าดูแลเราและเราดูแลป่าไปพร้อมๆ กัน ซึ่งตอนนี้สิ่งที่ทำคือ บริเวณที่เป็นป่า อิ๋มจะไม่ไปกวน ไม่เอาของแปลกปลอมเข้าไปเลยนอกจากป้ายผูกชื่อต้นไม้ที่เราค่อยๆ ทำความรู้จัก จะใช้เฉพาะพื้นที่ที่เป็นทุ่งนาร้าง ชายป่าซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของคน รวมถึงส่วนที่มีพืชเอเลี่ยนอยู่แล้วสร้างอาคารและปลูกพืชเพื่อเก็บมาเป็นอาหารและสร้างรายได้ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้พื้นที่และแปลงให้เป็นงานที่เราสามารถอยู่ไปด้วยได้ตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่อิ๋มตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้น” 

ชีวิตที่รื่นรมย์

“อิ๋มเคยได้ฟังเรื่องราวของคุณยายรัญจวน อินทรกำแหง ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาส ผู้ที่ดูแลคุณยายรัญจวนจนถึงวินาทีสุดท้ายได้แบ่งปันเรื่องราวการเดินทางครั้งสุดท้ายของคุณยายว่า ท่านจากไปอย่างมีสติและสงบ ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จนดับไป อิ๋มรู้สึกว่าคนเราควรจะได้จากไปแบบนั้น และอาจเพราะคิดเรื่องนี้อยู่เสมอ เลยรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองจะต้องทำก่อนตายคือการเตรียมพร้อมสำหรับวันสุดท้ายของชีวิต ดังนั้น เมื่อตัดสินใจว่าจะอยู่ที่ป่านาคำหอมไปจนตายแล้ว อิ๋มจึงอยากทำพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะที่จะทำแบบนั้นได้ นั่นคือภารกิจหนึ่งในชีวิต 

“ขณะที่ระหว่างทางที่เราจะไปถึงจุดนั้น อิ๋มอยากออกแบบชีวิตที่อยากให้เป็นเช่นกัน นั่นคือชีวิตที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีสุขภาพดี ทั้งกาย ใจ อารมณ์ อาหาร และมีสุนทรียภาพ ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องมาดูพื้นฐานว่าแล้วอะไรที่จะเอื้อ ที่สอดคล้องกับจริต กำลัง และทักษะของเราบ้าง อิ๋มเป็นคนชอบมีเพื่อน ชอบแลกเปลี่ยนกับผู้คน สนใจว่ามนุษย์คิดอะไร ทำอะไร เลยอยากทำป่าน่าคำหอมให้เป็นพื้นที่ที่คนสามารถมาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ระหว่างกันได้ โดยได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดีซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ ได้กินอาหารที่ปลอดภัยและช่วยรักษาสมดุลชีวิต 

“นอกจากผลผลิตทางการเกษตร การอนุรักษ์ป่าให้สมบูรณ์เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้กับคนในชุมชนหรือคนที่สนใจ รวมถึงคาเฟ่ที่ขายเครื่องดื่มที่ใส่ใจที่มาและสุขภาพซึ่งกำลังทำให้เป็นรูปเป็นร่างอยู่ ณ เวลานี้แล้ว อีกหนึ่งอย่างที่อยากทำคือโรงครัวเล็กๆ ในป่านาคำหอมนี้เพื่อใช้สำหรับปรุงอาหารที่ประนีประนอมกับร่างกายคน อาหารที่ถูกปรุงขึ้นจะไม่ใช่อาหารแนวรักสุขภาพแบบสุดโต่ง แต่เป็นอาหารที่จะช่วยยืดโควต้าการกินของคนเราเพื่อให้เราสามารถทานของอร่อยได้นานขึ้นอีกสักหน่อย อิ๋มเห็นคนอายุ 40 บางคนถูกคุณหมอสั่งให้งดอาหารบางประเภท ถามว่าเพราะอะไร นั่นเพราะร่างกายไม่ให้เราไปต่อ เพราะเราใช้เขามาหนักเกินไป แล้วเสียสมดุล เลยคิดว่าเราควรจัดให้ร่างกายเราได้ทานอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ ปรุงง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ประโยชน์พอดีกับร่างกายสัก 70%  อีก 30% สามารถเก็บไว้กินอาหารอื่นๆ ที่เราชอบมากแต่อาจไม่ค่อยดีต่อสุขภาพบ้าง เราจะได้มีสุขภาพที่ดีพอที่จะรื่นรมย์กับการทานอาหารไปได้เรื่อยๆ จนแก่เฒ่า ตอนนี้งานส่วนนี้ยังไม่เกิด แต่เราวางแผนเอาไว้ก่อน ตั้งใจอยากให้อาหารของเราเป็นอาหารที่รู้ที่มาของวัตถุดิบและเป็นวัตถุดิบที่เราสามารถจะจัดการเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะจัดการได้ตามความเป็นจริง การเลือกใช้ วิธีการปรุง วิธีการจัดการก็คาดหวังกับตัวเองแค่ให้พอดีๆ แบบไม่เบียดเบียนทั้งตัวเราและคนอื่นๆ รวมถึงธรรมชาติด้วย”

ธรรมชาติกับการสร้างความมั่นคงทางใจ

“การได้อยู่กับธรรมชาติทั้งต้นไม้และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทำให้สุขภาพจิตอิ๋มดีเลยนะ แต่สิ่งที่เห็นและได้รับชัดๆ จากการได้อยู่กับธรรมชาติเอาจริงๆ เรื่องความสุขอิ๋มยังรู้สึกไม่ชัดเท่าเรื่องของความมั่นคงนะคะ อย่างกลุ่มชาวนาไทอีสานที่สมาชิกหลายๆ คนมีข้อจำกัดหลายๆ อย่างในชีวิต แต่ถึงขนาดนั้นเมื่อได้คลุกคลีอยู่กับพวกเขา อิ๋มยังสัมผัสได้ถึงความมั่นคงของพวกเขาที่มีมากกว่าคนเมือง เป็นความมั่นคงข้างในหัวใจของพวกเขา ในแง่หนึ่งอาจจะเป็นความรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะเสียหรือไม่มีอะไรต้องหวงมากนักก็ได้ แต่คนแบบนี้จะพร้อมสละและไม่รีรอที่จะช่วยเหลือผู้อื่นตามศักยภาพที่เขาจะให้ได้ จำได้ว่าตอนโควิดปีแรก พวกเราแพนิกกันทั้งประเทศว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ทั้งทำมาหากิน ทั้งต้องระแวดระวังโรค ในทุกกลุ่มในไลน์เรียกว่าสั่นสะเทือน แต่พอเราเข้าไปในกรุ๊ปชาวนาไทอีสาน สิ่งที่เขาคุยกันคือ “ถ้าโควิดอยู่นานๆ แบบนี้ เราคิดว่าบ้านเราแต่ละคนจะรองรับคนที่เขามาให้เราดูแลได้กี่คน ได้กี่เดือน จะดูแลคนที่เดือดร้อนกว่าได้อย่างไร 

“อีกเรื่อง น่าจะเป็นการได้เห็นสัจธรรมหลายๆ อย่างที่ส่งผลต่อความคิดในการมองตัวเอง มองโลกภายนอก และนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ธรรมชาติทำให้เราเห็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ได้เห็นการเกิดและดับอยู่เสมอ อย่างปลูกผัก เราต้องลงแรง ใส่ความพยายาม เฝ้ารอคอยการเติบโต เรากำลังเห็นอยู่ตรงหน้าแล้วว่าสิ่งที่เราลงแรงไปกำลังออกดอกผลออกผล แต่วันหนึ่ง พายุถล่มสิ่งที่เราฟูมฟักเสียหายไปหมด หรือบางทีอาจเป็นแมลงลงแปลงผัก หรือลงแปลงนาแล้วทุกอย่างเสียหายในชั่วข้ามคืน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เรายอมรับความจริงของธรรมชาติและฝึกปล่อยวางได้ง่ายขึ้นนะอิ๋มว่า”

ทุกขณะคือการเรียนรู้

“ครูบาอาจารย์ที่นึกถึงบ่อยๆ เวลาที่เจออะไรแย่ๆ หรือเห็นมนุษย์ทำร้ายกันคือ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ท่านเป็นบุคคลที่ทำให้เรานึกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ประนีประนอม และให้เกียรติ ที่ไม่ใช่กับใครหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนะคะ แต่กับทุกคนและทุกอย่าง อิ๋มเคยได้อ่านหนังสืออาจารย์ ฟังสัมภาษณ์ จนมีโอกาสได้เจออาจารย์สมัยที่ท่านยังเดินทางไปไหนมาไหนอยู่ ซึ่งอิ๋มสัมผัสได้ถึงความเมตตาและการให้เกียรติทุกคนเสมอ ครั้งหนึ่งเคยนำสมุดพกของตัวเองไปให้อาจารย์ประมวลท่านช่วยเขียนอะไรก็ได้เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ทีแรกอิ๋มคิดว่าท่านคงจะเขียนอะไรสั้นๆ มาให้ แต่อาจารย์นั่งมองสมุดเล่มนั้นอยู่พักหนึ่งและบอกว่า “ผมขอเอาสมุดเล่มนี้ไปอยู่กับผมสักคืนหนึ่งได้ไหม” พอวันรุ่งขึ้นมา ท่านเขียนมา 5-6 หน้า ซึ่งมีความหมายกับอิ๋มมากๆ พอได้อ่าน อารมณ์โดยรวมของเราคือ ทำไมอาจารย์ถึงให้เกียรติเราขนาดนี้ เรายังไม่ให้เกียรติตัวเองขนาดนี้เลย (หัวเราะ)

“อิ๋มมีเพื่อนที่ทำรายการสัมภาษณ์อาจารย์ประมวล เขาถามคำถามหนึ่งว่า “เวลาเขาไปห้างสรรพสินค้า แล้ววนหาที่จอดรถแทบตาย จังหวะที่กำลังจะได้ที่อยู่แล้ว แต่มีรถมาเสียบแทนที่ เหตุการณ์แบบนี้จะคิดเมตตาหรือคิดดีกับคนแบบนี้ได้อย่างไร?” อาจารย์ประมวลตอบกลับมาว่า “นั่นอาจจะเป็นเหตุการณ์เดียวในชีวิตของที่เราจะได้เจอเขาก็ได้นะ เราอาจจะรอเวลาทั้งชีวิตเพื่อที่จะได้มาเจอเขา เพื่อที่จะได้ให้เขาทำอย่างนั้นกับเรา” นั่นเลยทำให้เราเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์ดีร้ายอะไรก็ตาม นั่นคือการเรียนรู้ทั้งหมดเลย เรียนรู้ใจตัวเอง 

“อิ๋มคิดว่าตัวเองคงได้ความคิดแบบนี้มาจากอาจารย์ประมวลนี่ล่ะที่ทำให้เชื่อเสมอว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะร้าย ดี สุข ทุกข์ สำเร็จ ล้มเหลว ปัญหา หรือความรู้สึกต่างๆ ที่เข้ามากระทบ คือการเรียนรู้ทั้งหมด มีเรื่องหนึ่งเพิ่งผ่านมาไม่นาน ตอนนั้นอิ๋มตากเมล็ดสลัด แล้วคนที่อิ๋มจ้างให้มาช่วยทำงานดันทำเมล็ดพันธุ์สลัดปนกันแบบคนละสี ซึ่งจำนวนเป็นหลายหมื่นหลายแสนเมล็ดเลย ตอนนั้นถามว่าโกรธไหม เรียกว่าตึงๆ อยู่เหมือนกัน แต่สุดท้ายเราคิดว่า โอเค ไม่เป็นไร อย่างไรกว่าจะได้ใช้อีกทีก็ปลายปี ตอนนี้ก็ค่อยๆ แยกแล้วกัน นั่งฟังพอดแคสต์ไป คีบออกไปทีละเมล็ด ถือว่าเป็นการภาวนาไป ฝึกสมาธิดี มีเวลาว่างก็ทำ นี่จนถึงตอนนี้อิ๋มยังแยกไม่เสร็จเลย (หัวเราะ) นั่นก็เป็นการเรียนรู้ที่จะจัดการกับความไม่แน่นอน หรือเมื่อมีการถกเถียงกันกับเพื่อน แล้วสถานการณ์นั้นก่อให้เกิดความขุ่นมัว อิ๋มจะเช็คว่าเรารู้ทันอารมณ์ตัวเองมากแค่ไหน วันที่รู้เท่าทัน เราจะเลือกได้ว่าจะเถียงต่อหรือว่าปล่อยผ่าน ขณะที่ในวันที่เราทำเรื่องแย่ๆ ไป พอรู้เนื้อรู้ตัวแล้วว่าสิ่งที่ทำไม่ดี ถ้าเมื่อไหร่เรามีสติเราจะเลือกได้ว่าเราจะเมตตาหรือเฆี่ยนตีตัวเอง ในชีวิตคน เรื่องที่ไม่เป็นไปตามแผนเกิดขึ้นได้เสมอและเป็นสิ่งที่เราต้องเจอไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้น จงพร้อมเผชิญและเรียนรู้มันค่ะ” 

ภาพ: จิราภรณ์ ล้อมหามงคล

บทความที่เกี่ยวข้อง