8 วิธีลด ‘ขยะอาหาร’ (food waste) ตัวการทำโลกร้อน

Care / Social Care

ไม่ใช่แค่ “ขยะ” จำนวนมหาศาลจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วเท่านั้น ที่ COVID-19 บังคับให้เราทำร้ายโลก แต่ในช่วงล็อกดาวน์เช่นนี้ หลายคนยังเลือกซื้อวัตถุดิบและอาหารในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกจากบ้านบ่อย แต่รู้หรือไม่ว่า การกักตุนอาหารจำนวนมากเกินพอดี มีแนวโน้มจะทำให้อาหารหลายอย่างต้องเน่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ ส่งผลให้เกิด “ขยะอาหาร” หรือ food waste เป็นจำนวนมาก ซึ่งในท้ายที่สุดก็เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกทาง เพราะนอกจาก food waste ที่สูญเสียไปจะสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้ในการเพาะปลูกหรือผลิตอาหารชนิดนั้นๆ โดยเฉพาะทรัพยาการที่มีจำกัดอย่างน้ำ เมื่อ food waste ถูกนำไปฝังกลบก็จะค่อยๆ แตกตัว ก่อเป็นก๊าซมีเทนที่สามารถสร้างก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 86 เท่าตัว 

อะไรบ้างที่จัดเป็น food waste

Food waste เกิดขึ้นแทบจะในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต ขนส่ง และจัดจำหน่าย ตั้งแต่ผลผลิตบางส่วนที่ถูกทิ้งไว้ในไร่เพาะปลูก อาหารที่เน่าเสียระหว่างการขนส่ง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผู้ขายไม่เลือกนำไปจัดวางเพื่อจำหน่าย (เพราะเป็นสินค้ามีตำหนิหรือมีรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้มาตรฐานตามที่ตั้งไว้) เศษวัตถุดิบที่ถูกคัดออกระหว่างการปรุงอาหาร เศษอาหารที่ถูกทิ้งเหลือไว้บนจาน และอาหารหมดอายุหรือเน่าเสียในตู้เย็น ซึ่งมีที่มาจากการกักตุนอาหารมากเกินความจำเป็น

รู้หรือไม่:

  • ในแต่ละปี ปริมาณของ “ขยะอาหาร” ที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีมากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารที่ถูกผลิตขึ้นมาทั้งหมดเลยทีเดียว
  • ในขณะที่เราสูญเสียอาหารไปเป็นขยะมากถึง 1.3 พันล้านตันต่อปี บนโลกใบเดียวกันนี้กลับมีประชากรมากกว่า 800 ล้านคนที่ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนอาหารหรือไม่ได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าเพียงพอ
  • ข้อมูลจาก Waste & Resources Action Programme (WRAP) องค์กรจากสหราชอาณาจักรที่รณรงค์เรื่องการกำจัดขยะเพื่อความยั่งยืนบอกไว้ว่า หากเรานำเอา “ขยะอาหาร” ทั้งหมดออกจากพื้นที่ฝังกลบในสหราชอาณาจักร ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะลดลงเป็นจำนวนมาก เท่ากับการนำเอารถยนต์จำนวน 1 ใน 5 ของรถทั้งหมดในประเทศออกจากถนน
  • ส่วนในกรุงเทพฯ นั้น “ขยะอาหาร” มีปริมาณมากถึง 64% ของขยะทั้งหมด แต่เพราะไม่มีการแยกทิ้งขยะตามประเภทที่ถูกสุขลักษณะดีพอ ทำให้ในจำนวนนั้นมีเพียง 2% เท่านั้นที่สามารถนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีได้ ส่วนขยะที่เหลือจะถูกนำไปฝังกลบ

ลด food waste ด้วยวิธีง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้

นอกจาก food waste จะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังทำให้เงินในกระเป๋าของคุณหล่นหายไปฟรีๆ อีกด้วย ดังนั้นนอกจากเราจะต้องดูแลตัวเองแล้ว เรามาพยายามหาทางลด food waste ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้กันดีกว่า

1. ช็อปอย่างมีสติ

ในสถานการณ์ปกติ เราแนะนำให้คุณออกไปจับจ่ายอาหาร วัตถุดิบ และของสด สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แทนการออกไปตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตแค่สัปดาห์ละครั้ง แล้วก็ซื้อทุกอย่างเต็มรถเข็น เพราะการซื้อทีละมากๆ มีแนวโน้มว่าจะทำให้คุณก่อ food waste มากขึ้นตามมาด้วย 

แต่ในช่วงล็อดดาวน์อย่างนี้ เราเข้าใจว่าคงไม่มีใครอยากออกจากบ้านบ่อย แต่ก็ยังมีวิธีอื่นที่คุณควรทำ เช่น ตั้งกฎว่าคุณต้องใช้วัตถุดิบที่ซื้อมาคราวก่อนให้หมดเกลี้ยงก่อนที่จะออกไปซื้อของครั้งใหม่ และอย่าลืมจดรายการสินค้าที่คุณต้องการสำหรับหนึ่งสัปดาห์ไว้ก่อนจะออกไปซื้อ ที่สำคัญ อย่าซื้อมากกว่าที่คุณได้ลิสต์ไว้แล้ว ไม่ว่าสินค้าที่คุณไปเจอนั้นจะลดกระหน่ำแค่ไหนก็ตาม เพราะนั่นอาจจบลงที่ถังขยะโดยที่คุณไม่ได้ใช้มันเลยแม้แต่นิดเดียว

2. เก็บอาหารให้ถูกวิธี

หลังจากซื้อของเข้าบ้านมาแล้ว อย่าโยนทุกสิ่งอย่างเข้าตู้เย็น โดยเฉพาะผักผลไม้ เพราะมีผักผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย อโวคาโด มะเขือเทศ แคนตาลูป ฯลฯ ที่จะปล่อยก๊าซเอทิลีนออกมาระหว่างที่เริ่มสุก โดยก๊าซเอทิลีนที่ว่าจะทำปฏิกริยาทางเคมีทำให้ผักผลไม้อีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือ มันฝรั่ง แอปเปิ้ล เบอร์รี่ พริกไทยสด ฯลฯ เน่าเสียได้ง่าย ดังนั้นคุณควรแยกเก็บผักผลไม้ทั้งสองประเภทนี้ออกจากกัน จะช่วยยืดอายุพวกมันได้ดียิ่งขึ้น

3. จัดระเบียบตู้เย็น

การตุนอาหารไว้ในตู้เย็นมากๆ มักทำให้คุณหลงลืม เป็นต้นว่า “อ้าว… นี่ฉันมีหัวหอมอยู่ตรงนี้ด้วยเหรอ ลืมไปเลย” แล้วหัวหอมที่ถูกลืมเพราะอยู่ด้านในสุดของตู้เย็นก็เน่าเสียไปแล้วเรียบร้อย เราแนะนำให้คุณจัดระเบียบตู้เย็นสม่ำเสมอ คุณจะได้เห็นว่าอาหารต่างๆ ที่คุณซื้อมามีอะไรบ้าง แล้วมันอยู่ตรงไหนกันบ้าง นอกจากนั้น เวลาซื้อของใหม่มาโดยที่ของเดิมยังไม่หมด คุณควรเอาของใหม่เข้าไปไว้ด้านใน เพื่อที่ตอนหยิบใช้ คุณจะได้กำจัดอาหารที่ใกล้หมดอายุออกไปก่อน

4. ใช้กล่องเก็บอาหารแบบใส

เมื่อมีอาหารเหลือจากการรับประทานในแต่ละมื้อ เราแนะนำให้คุณเก็บใส่ภาชนะที่เป็นแก้วหรือกล่องแบบใส เพื่อที่เวลาเปิดตู้เย็น คุณจะได้มองเห็นได้ง่ายว่ายังมีอะไรเหลืออยู่บ้าง แล้วก่อนจะลงมือเข้าครัวทำอาหารมื้อต่อไป คุณก็ควรจัดการอาหารที่เหลืออยู่ให้หมดก่อน ประหยัดทั้งเงินในกระเป๋าและช่วยลด food waste ได้ด้วย

5. รู้จัก Best Before และ Expiration Date

Best Before (ควรบริโภคก่อน…) หมายความว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ จะมีรสชาติและคุณภาพตามมาตรฐานที่ตั้งไว้หากบริโภคก่อนวันที่ระบุไว้ แต่เมื่อผ่านวันนั้นไปแล้ว ก็ยังสามารถบริโภคได้ เพียงแต่คุณภาพอาจลดลงเท่านั้นเอง (แต่ก็ไม่ควรเกินวันที่กำหนดมากเกินไป) ส่วน Expiration Date หรือ Expired (วันหมดอายุ) คือวันที่ผู้ผลิตคำนวณไว้ว่าสินค้าชนิดนั้นๆ จะมีส่วนผสมบางอย่างหมดอายุและไม่ควรบริโภคอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม การที่อาหารชนิดต่างๆ จะหมดอายุลงจริงๆ นั้น ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษาของคุณด้วย เช่น ขนมปังบางยี่ห้อจะให้ข้อมูลไว้ชัดเจนว่า หากเก็บรักษาในช่องแช่แข็งจะสามารถเก็บขนมปังไว้ได้นานกว่าวันหมดอายุอีกเป็นเดือนๆ แต่แน่นอนว่ารสชาติอาจไม่อร่อยเท่าการรับประทานแบบสดใหม่

6. อย่าเป็น perfectionist 

ผู้บริโภคส่วนมากมักเลือกซื้อผักผลไม้ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยเพอร์เฟกต์ ทำให้ร้านค้าหลายแห่งปฏิเสธผักผลไม้ที่มีตำหนิ และทำให้มันไม่มีโอกาสขึ้นมาอวดโฉมบนชั้นเพื่อวางจำหน่าย แต่ต้องกลายเป็น food waste เพียงเพราะไม่สวยเลิศเลอเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นคราวหน้าที่ไปซูเปอร์มาร์เก็ต ลองเลือกผักผลไม้ที่ไม่เพอร์เฟกต์ดูบ้าง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ขายรู้ว่าเราไม่รังเกียจของมีตำหนิ (ซึ่งเราอาจซื้อได้ในราคาที่ถูกลงอีกด้วย)

7. นำเศษอาหารไปหมักทำปุ๋ย (composting)

เทรนด์ของการนำเอาเศษอาหารจำพวกผักผลไม้ไปหมักเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์นั้นกำลังมาแรง แล้วเราก็ไม่อยากให้คุณพลาดเทรนด์ดีๆ นี้ไป ข่าวดีก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องมีสวนหรือพื้นที่เอาท์ดอร์ขนาดใหญ่ก็สามารถหมักปุ๋ยที่ว่าได้ เพราะปัจจุบันมีถังหมักอินทรีย์ (compost bin) ที่ตอบสนองความต้องการและเงื่อนไขหลากหลายของผู้ใช้งาน อย่าง ถังหมักที่สามารถใช้ในคอนโด เป็นต้น ประโยชน์ของการนำเศษอาหารไปหมักทำปุ๋ยมีทั้งช่วยลด food waste ได้ปุ๋ยคุณภาพไร้สารเคมีไปใส่ต้นไม้ และประหยัดเงิน

8. กากกาแฟ… ของมีค่า อย่าทิ้ง!

สมัยนี้ หลายคนเป็นบาริสต้าดริปเองดื่มเองที่บ้าน ขยะชนิดหนึ่งที่เพิ่มขึ้นตามมาในแต่ละครัวเรือนจึงหนีไม่พ้น กากกาแฟ หรือเศษของเมล็ดกาแฟที่เหลือจากการบด คั่ว และชง

ประโยชน์ของกากกาแฟนั้นมีมากมาย เช่น ช่วยดับกลิ่นในตู้เย็น ตู้เสื้อผ้า รถยนต์ หรือแม้แต่ในรองเท้าอับชื้น สำหรับคนรักสวยรักงาม ยังสามารถนำกากกาแฟมาผสมกับน้ำผึ้งและมะขามเปียก ใช้ขัดผิวเพื่อกำจัดเซลล์ที่ตายแล้วออกไปได้ด้วย สุดท้าย ถ้านำกากกาแฟไปผสมปุ๋ยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มแร่ธาตุโพแทสเซียม ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสให้กับต้นไม้ แถมยังช่วยไล่แมลงบางชนิดและหอยทากให้ห่างไกลจากต้นไม้ได้อีกด้วย 

เห็นไหมว่าวิธีลด food waste นั้นไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย เราจึงอยากเชิญชวนให้คุณลองทำตามวิธีข้างต้นกันสักนิด เพื่อที่จะช่วยโลก ช่วยเซฟเงินในกระเป๋า และทำให้อาหารทุกชนิดที่ผลิตขึ้นมาได้ถูกบริโภคอย่างคุ้มค่า

ที่มา:
foodprint.org
healthline.com
bangkokpost.com
coffeepressthailand.com

บทความที่เกี่ยวข้อง