เช็กลิสต์ให้ ‘คะแนนความกรีน’ ส่งเสียงให้ผู้ประกอบการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Care

ในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียครองเมืองอย่างทุกวันนี้ พลังแห่งการ ‘รีวิว’ ของผู้บริโภคนับว่าสำคัญมาก เพราะถ้าร้านค้าไหนมีสินค้าคุณภาพดี ราคาคุ้มค่า และบริการประทับใจ คุณลูกค้าก็มักจะแนะนำกันปากต่อปากผ่านทางหลากหลายแพล็ตฟอร์มที่เปิดให้เข้าไปรีวิว หรืออาจเป็นการกระจายข่าวทางโซเชียลมีเดียก็ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าสินค้าคุณภาพไม่ผ่านมาตรฐาน บริการก็ไม่ดี คุณลูกค้าก็สามารถให้คะแนนติดลบผ่านการรีวิวหรือสร้างดราม่าในโลกโซเชียลได้เหมือนกัน จนบางครั้งธุรกิจที่ว่าอาจพังครืนลงเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ดี ส่วนมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร หรือโรงแรมที่พัก ผู้บริโภคมักจะให้คะแนนกันแต่เฉพาะคุณภาพของสินค้าและบริการ แต่ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไป เพราะดูเผินๆ เหมือนไม่ได้ส่งผลถึงเราโดยตรง (แต่ถ้าดูให้ดีแล้วจะพบว่าเกี่ยวข้องกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) นั่นคือ การรีวิวในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ชาว hhc Thailand นั้น เป็นสายกรีนรักษ์โลกพอๆ กับรักสุขภาพ เพราะเราเชื่อว่าถ้าสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพของพวกเราก็จะดีตามไปด้วย เราจึงอยากเชิญชวนผู้บริโภคทุกคนมาเริ่มรีวิวให้ ‘คะแนนความกรีน’ แก่สินค้าและบริการทั้งหลายที่เราใช้ๆ กัน โดยคราวนี้เราขอเริ่มแนะนำ ‘เช็คลิสต์ความกรีน’ ที่เน้น เรื่องการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ก่อน เพื่อที่คุณจะได้ลองนำไปให้คะแนนความกรีนในการรีวิว ส่งเสียงให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

ภาชนะแบบสะดวกสบาย แต่… ทำร้ายโลก

เป็นเรื่องเศร้าใจที่ทุกวันนี้ มองไปทางไหน เราก็เจอแต่คาเฟ่ที่ใช้แต่แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก ขนาดว่าถึงลูกค้าจะเลือกนั่งดื่มที่ร้านและขอใช้แก้วที่ทำจากแก้วหรือพลาสติกที่สามารถนำกลับมาล้างและใช้ซ้ำได้ ทางร้านก็ส่ายหัวและบอกว่าไม่มี ร้านมีแต่แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเท่านั้น

เช่นเดียวกันกับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดหลายเจ้า ที่ พ.ศ.นี้ ไม่มีแล้วค่ะ ช้อม-ส้อม-มีดแสตนเลส แต่ทุกอย่างกลายเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหมด แม้ว่าลูกค้าจะเลือกกินที่ร้านก็ตาม ที่เพลียใจมากที่สุดอีกอย่างก็คือ พอลูกค้ายกถาดอาหารที่กินเสร็จไปตรงที่วางถาด พนักงานก็เดินมาแล้วจัดการ ‘เทรวม’ ทุกอย่างลงไปในถังขยะ ไม่ว่าจะเศษอาหารหรือพลาสติกที่สามารถนำมาล้างและรีไซเคิลได้ ก็ลงไปกองรวมกันหมดในที่เดียว

ขอบอกเลยว่าถ้าเป็นสองกรณีนี้ เราให้คะแนนติดลบค่ะ แล้วถ้าลูกค้าเตรียมแก้วไปใช้เองเพื่อจะช่วยลดการใช้พลาสติก แต่ทางร้านปฏิเสธไม่ยอมใช้แก้วลูกค้า ก็ยิ่งติดลบหนักเข้าไปอีก 

ถุงผ้าสปันบอนด์ อันตรายไม่ต่างจากถุงพลาสติก

ยังจำกันได้ไหมคะว่าเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อหลายแห่ง ได้ร่วมมือกัน ‘งดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว’ ความร่วมมือนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีมาก และเราได้เห็นผู้บริโภคพกถุงผ้า กระเป๋า กล่อง ต่างๆ นานา ไปช้อปปิ้งของเข้าบ้าน ทำให้ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกไปได้มากทีเดียว

อย่างไรก็ดี มีผู้ประกอบการบางเจ้า ที่งดแจกถุงพลาสติก แต่กลับแจกหรือขาย ‘ถุงผ้าสปันบอนด์’ แทน ซึ่งบอกได้เลยว่าอาจทำร้ายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเรามากกว่าถุงพลาสติกด้วยซ้ำ เพราะถุงผ้าสปันบอนด์ทำจากเส้นใยพลาสติกที่อัดเป็นแผ่น ถึงจะดูคล้ายถุงผ้า แต่จริงๆ แล้ว ถุงผ้าสปันบอนด์เปื่อยง่ายมาก โดยเมื่อเปื่อยแล้วจะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกที่กระจายตัวออกไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราอย่างง่ายดาย

ถุงอีกชนิดที่ไม่ควรใช้เลยคือ ถุงพลาสติก oxo-biodegradable เพราะถึงจะย่อยสลายได้เมื่อเจอความร้อน แต่เมื่อแตกตัว จะยังคงทิ้งไมโครพลาสติกไว้อยู่ ซึ่งก็จะเกิดการปนเปื้อนได้เช่นกัน

บอกได้เลยว่า ถ้าใช้ถุงเป็นพิษกับโลกพวกนี้… คุณไม่ได้ไปต่อค่ะ 

🙁 ใส่ใจกับคำขอของเราแค่ไหนว่า “ไม่รับเครื่องปรุงค่ะ” “ไม่รับหลอดครับ” 

วิถีชีวิตสมัยใหม่มาพร้อมกับความสะดวกสบาย อย่าง อาหารแต่ละมื้อ ถ้าไม่อยากออกจากบ้าน ขี้เกียจทำเอง ก็สามารถสั่งผ่านแอปพลิเคชันให้ไรเดอร์มาส่งถึงบ้านได้ง่ายๆ แต่ในความสะดวกสบายนี้เอง รู้ไหมว่า บริการฟู้ดเดลิเวอรี (food delivery) แต่ละครั้ง สร้างขยะพลาสติกอย่างน้อยก็ 4 ชิ้น เข้าไปแล้ว นั่นคือ กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ถุงน้ำซุป ถุงพลาสติกหูหิ้ว แล้วถ้าคุณลูกค้าไม่คลิกระบุไปว่าไม่รับช้อนส้อมพลาสติก ก็จะเพิ่มขยะพลาสติกเข้าไปอีก 3 ชิ้น (ช้อน ส้อม และถุงใส่ช้อนส้อม)​ โดยข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า บริการฟู้ดเดลิเวอรีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน สร้างขยะพลาสติกมากถึง 840 ล้านชิ้นต่อปี!

สำหรับสายกรีนที่ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี แน่นอนว่าเราระบุทุกครั้งว่าไม่รับช้อนส้อมพลาสติก กล่องอาหารที่ใช้แล้วก็นำมาล้างสะอาดเพื่อส่งรีไซเคิล ส่วนถุงพลาสติกต่างๆ ก็ล้างเตรียมส่ง N15 Technology ไปเผาเป็นเชื้อเพลิง แต่… ความกวนใจอย่างหนึ่งคือ หลายครั้งที่พิมพ์ไปแล้วว่า ‘ไม่รับเครื่องปรุง’ หรือ ‘ไม่รับหลอด’ ทางร้านก็ใส่มาให้เราอยู่ดี… ถ้าอย่างนั้น เราขออนุญาตหักคะแนนนิดนึงนะคะ 

😀 แพ็กเกจจิ้งรักษ์โลก vs. 🙁 แพ็กเกจจิ้งพลาสติกจัดเต็ม

เช่นเดียวกันกับฟู้ดเดลิเวอรี การสั่งซื้อของออนไลน์และจัดส่งพัสดุมาที่บ้าน ถึงจะสะดวกสบาย ประหยัดเวลาในการเดินทาง และราคาย่อมเยากว่า แต่ก็บรรจุภัณฑ์หีบห่อ (packaging) ก็ทิ้งขยะกองโตไว้ข้างหลัง 

จากประสบการณ์การ CF (Confirm) ของ hhc Thailand เราพบว่า ร้านค้าบางแห่งจะใช้พลาสติกในการห่อและบรรจุสินค้าเกินความจำเป็น แถมยังใช้พลาสติกกันกระแทก (bubble wrap) ห่อสินค้ามาซะแน่นหนา สินค้าบางอย่างไม่เสี่ยงต่อการแตกหักหรือชำรุดก็ยังคงห่อบับเบิ้ลมา แล้วก็พันเทปกาวแน่นจนเราที่พยายามจะค่อยๆ แกะเพื่อเก็บบับเบิ้ลไว้ใช้งานต่อ ถึงกับต้องยอมแพ้

แต่บางร้านที่เราประทับใจ เขาจะเน้นการใช้กระดาษในการห่อ เช่น ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อของที่แตกได้หลายๆ ชั้นก่อน แล้วจึงตบท้ายด้วยบับเบิ้ลที่ใช้น้อยมาก หรือเลือกใช้กระดาษรังผึ้งกันกระแทก (honeycomb paper) ที่ทั้งสวยดูดีมีคลาสกว่า แล้วก็ส่งรีไซเคิลได้ด้วย หรือสำนักพิมพ์บางแห่งที่ขายหนังสือออนไลน์ ก็จะสั่งทำแพ็กเก็จจิ้งห่อหนังสือที่ทำจากกระดาษลังสีน้ำตาลหรือกระดาษลูกฟูก (corrugated cardboard) ให้พอดีกับขนาดของหนังสือ ทำให้ไม่ต้องใช้บับเบิ้ลกันกระแทกเลย แถมแกะง่ายอีกด้วย… ถ้าแบบนี้ สายกรีนให้คะแนนบวกๆ เลยค่ะ

😀 ใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น ใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกแทนพลาสติก

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงแอบคิดว่า แหม… สายกรีนนี่เอาใจยากจัง ขอตอบแทนทุกคนเลยว่า ไม่ยากหรอกค่ะ เพราะเอาจริงๆ เราก็ไม่ได้ปฏิเสธการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งไปเสียหมด เราเข้าใจดีว่า บางครั้งผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องใช้จริงๆ แค่เราอยากให้ใช้พลาสติกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหันไปใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกอื่นๆ ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น กล่องข้าวชานอ้อย จานกาบหมาก-กาบกล้วย ช้อนส้อมฟางข้าวสาลี หลอดกระดาษ/ต้นอ้อ ถุงกระดาษ กล่องกระดาษ กระดาษรังผึ้ง ถุงพลาสติกชีวภาพ (ทำจากมันสำปะหลัง) ฯลฯ 

ส่วนถ้าเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ หรือโรงแรมที่พัก ที่ลูกค้าเข้าไปใช้บริการกินดื่มภายใน ก็อยากเชิญชวนให้ใช้ภาชนะประเภทเซรามิก แก้ว แสตนเลส หลอดซิลิโคน หลอดไม้ไผ่ หรือพลาสติกคุณภาพดีที่ใช้ซ้ำได้ เพราะนอกจากจะช่วยลดการใช้พลาสติก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังทำให้ได้บรรยากาศการกินดื่มที่ดีกว่าภาชนะพลาสติกเป็นไหนๆ แถมยังช่วยทางร้านประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอีกต่างหาก

ถ้าทำได้ทั้งหมดนี้ เราให้ใจไปเลยค่ะ

.

.

ถึงใครจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร แต่ทุกวันนี้ มีรายงานเกี่ยวกับการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในอาหาร ดิน และน้ำ มากขึ้นเรื่อยๆ และไมโครพลาสติกที่ตกค้างในอาหารและสิ่งแวดล้อมก็สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ผ่านการกิน ดื่ม และหายใจ ซึ่งมีรายงานมากขึ้นเรื่อยๆ อีกเช่นกันว่า ไมโครพลาสติกเหล่านี้อาจก่อให้เกิดโรคร้ายในอนาคต 

hhc Thailand ขอเป็นอีกเสียงหนึ่งที่สนับสนุนให้เราทุกคนช่วยกันลดการใช้พลาสติกตั้งแต่วันนี้ หรือหากจำเป็นต้องใช้ ควรรีไซเคิลและส่งไปทำลายอย่างถูกวิธีให้ได้มากที่สุด


อ้างอิงข้อมูลส่วนหนึ่งจาก: 
theactive.net
greenpeace.org

บทความที่เกี่ยวข้อง