แนะนำ 3 ช่องทางดีๆ เพื่อส่งต่อ ‘ของบริจาค’ และ ‘ขยะกำพร้า’

Care / Social Care

ช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่แบบนี้ หลายคนมักถือโอกาสทำความสะอาดจัดระเบียบบ้านเสียใหม่ และอาจพบว่าตนเองนั้นมีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ หนังสือ หรือข้าวของเครื่องใช้หลายชิ้น ที่แม้ยังคงสภาพดีอยู่ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานอีกต่อไปแล้ว หรือยังอาจมีเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ที่เก่าเกินกว่าจะยกให้คนอื่นแล้วอีกกองพะเนินเทินทึก… คำถามถัดมาก็คือ เราจะนำของเหล่านี้ไปบริจาคหรือกำจัดที่ไหนดี? 

วันนี้ hhc Thailand คัดเลือกมูลนิธิและองค์กรที่รับบริจาคสิ่งของและขยะเหลือใช้เหล่านี้มาฝากกันแบบเน้นๆ 3 แห่ง เพื่อให้คุณได้เลือกส่งต่อสิ่งของที่ไม่มีประโยชน์ต่อคุณแล้ว ไปเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งขยะที่เหลือใช้ก็จะได้ถูกกำจัดด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อโลกอีกด้วย

1) มูลนิธิกระจกเงา (The Mirror Foundation)

ถ้าคุณมีสิ่งของอยากบริจาคหลากหลายประเภท แนะนำให้ตรงดิ่งไปที่นี่เลยค่ะ เพราะที่เดียวจบครบวงจรมากที่สุด มูลนิธิกระจกเงาเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาสังคมในหลากหลายด้าน และมีโครงการที่ทำอยู่มากมาย ทางมูลนิธิจึงเปิดรับบริจาคสิ่งของหลากหลายประเภท

สิ่งของที่รับบริจาค

  • เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (สภาพดี)
  • เฟอร์นิเจอร์ (สภาพดี)
  • คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พ่วง เช่น เมาส์ คีย์บอร์ด (ทั้งสภาพดีและที่ใช้งานไม่ได้)
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งขนาดใหญ่และเล็ก (ทั้งสภาพดีและที่ใช้งานไม่ได้)
  • หนังสือ นิตยสาร (ยกเว้นหนังสือโป๊)
  • เครื่องเขียนและอุปกรณ์ทางการศึกษา
  • อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย รถเข็นผู้ป่วย ถังออกซิเจน ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ฯลฯ

นอกจากนี้ มูลนิธิกระจกเงายังรับบริจาคพลาสติกและกระดาษที่สามารถรีไซเคิลได้ (กระดาษ 25 กก. จะสามารถเปลี่ยนเป็นนิทานสำหรับเด็กให้น้องๆ ที่ขาดแคลนได้หนึ่งเล่ม) หรือแม้แต่เวลาคุณไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ก็ยังช่วยบริจาคแต้ม All Member ให้กับทางมูลนิธิเพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นขนมและของใช้ให้น้องๆ ได้ ด้วยการแจ้งเบอร์ All Member: 063-931-6340

ของที่บริจาคแล้วไปไหน?

ส่วนหนึ่งของสิ่งของที่อยู่ในสภาพดี หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า/คอมพิวเตอร์ที่ทางมูลนิธิรับมาซ่อมแซมจนใช้งานได้แล้ว จะถูกส่งต่อไปยังผู้ขาดแคลนในโครงการต่างๆ และอีกส่วน ทางมูลนิธิจะนำมาวางจำหน่ายทาง ‘ร้านแบ่งปัน’ ในราคาย่อมเยา โดยรายได้ทั้งหมดจะนำเข้า ‘กองทุนแบ่งปัน’ เพื่อใช้เป็นทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาสังคมต่างๆ ของมูลนิธิ

  • เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ (สภาพดี) -> โครงการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
  • หนังสือ เครื่องเขียน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ -> โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง เพื่อจัดหาสื่อการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนในเขตชนบทที่ขาดแคลน
  • อุปกรณ์ทางการแพทย์ -> โครงการป่วยให้ยืม เพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ในการดูแลรักษาตัวที่บ้าน เป็นต้น

ช่องทางการบริจาค

  • นำไปบริจาคหรือส่งไปรษณีย์ไปที่ มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191 ซอยวิภาวดี 62 แยก 4-7 ถนนวิภาวดี แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210 / จันทร์-ศุกร์ 9.30-17.00 น. / เสาร์-อาทิตย์ 10.00-16.00 น. โทร. 061-909-1840
  • หากบริจาคสิ่งของจำนวนมาก (หนังสือ ขั้นต่ำ 2,000 เล่ม / อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ขั้นต่ำ 10 ชุด) สามารถติดต่อขอรับบริการจากมูลนิธิให้มารับของบริจาคของที่บ้าน (10 กิโลเมตรแรก ไม่มีค่าใช้จ่าย) ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม 02-973-2236-7, 063-224-1141

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

2) ร้านปันกัน โดย มูลนิธิยุวพัฒน์ (Pankan Society)

ร้านปันกัน ตั้งอยู่บนแนวคิดว่า “สังคมจะดีขึ้นได้ หากเราแบ่งปัน” ทางร้านปันกันจึงเปิดรับบริจาคเสื้อผ้าและสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในสภาพดี ทำความสะอาดเรียบร้อย พร้อมส่งต่อ เพื่อนำไปจำหน่ายในราคาย่อมเยา และนำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายมอบเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนทุนในมูลนิธิยุวพัฒน์ 

สิ่งของที่รับบริจาค

  • เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋า เครื่องประดับ
  • ของแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์
  • ตุ๊กตา ของเล่น
  • เครื่องดนตรี 
  • อุปกรณ์กีฬา
  • เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ

รู้ก่อนบริจาค

  • สิ่งของทุกชิ้นต้องอยู่ในสภาพดี ซ่อมแซมและทำความสะอาดเรียบร้อย พร้อมส่งต่อ
  • หากบริจาคเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มีราคาแพง กรุณาแนะนำราคา เพื่อที่ทางร้านจะได้นำไปจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม
  • ไม่รับบริจาค: เสื้อผ้าที่นำไปจำหน่ายต่อได้ยากและไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ชุดเครื่องแบบ ชุดนักเรียน เสื้อผ้าสภาพเก่า-ขาด ชุดชั้นในที่ผ่านการใช้งาน 

ช่องทางการบริจาค

รายการสิ่งของที่รับบริจาคของร้านปันกันใกล้เคียงกับมูลนิธิกระจกเงา แต่ข้อดีของร้านปันกันคือ มีคลังสินค้าและสาขาใกล้บ้านให้เลือกมากมาย

  • ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถนำไปบริจาคได้ที่ ร้านปันกัน 17 สาขา ดังต่อไปนี้ สาขาซีคอนแสควร์, สาขาซีคอนบางแค, สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว, สาขาเซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์, สาขาเดอะไนน์ พระราม 9, สาขาโลตัส พระราม 1, สาขาโลตัส หลักสี่, สาขาโลตัส รังสิต, สาขาโลตัส ศาลายา, สาขาโลตัสศรีนครินทร์, สาขาปาล์ม ไอส์แลนด์ มอลล์ เทพารักษ์, สาขาพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์, สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, สาขาโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ศรีสมาน, สาขาสุพรีม คอมเพล็กซ์, สาขาโรบินสัน สมุทรปราการ, Pop up store ศูนย์การค้ามิงเกิล มอลล์
  • นำไปบริจาคได้ที่ คลังสินค้า โครงการร้านปันกัน โดยมูลนิธิยุวพัฒน์: เลขที่ 7 ซอยอ่อนนุช 90 แขวงประเวศ เขตประเวศ กทม. 10250 (ทุกวัน 8.00-17.00 น.)
  • ในนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง สามารถมานำไปบริจาคได้ที่ โคราชปันกัน โดยมูลนิธิชุมชนโคราช (บริเวณชั้น B เดอะมอลล์โคราช)
  • ในขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง สามารถนำมาบริจาคได้ที่ ขอนแก่นปันกัน โดยมูลนิธิดุลยพัฒน์ (บริเวณชั้น 1 ศูนยการค้าแฟรี่ พลาซ่า)

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

3) N15 Technology

หลังจากคัดเลือกข้าวของเครื่องใช้ที่ยังอยู่ในสภาพดีและส่งต่อไปยังสองแห่งข้างต้นแล้ว ทีนี้ คุณก็ยังอาจเหลือของใช้ที่อยู่ในสภาพเก่าหรือชำรุดทรุดโทรมจนไม่สามารถใช้การต่อได้แล้ว เช่น เสื้อผ้าเก่า ชุดชั้นใน ที่นอนเก่า ลูกบอลเก่า ปากกา แผ่นซีดี บัตรเครดิตหมดอายุ ฯลฯ โดยเราแนะนำให้คุณคัดแยกสิ่งของเหล่านี้ไว้ แล้วส่งต่อไปยัง N15 Technology องค์กรที่นำเอา ‘ขยะกำพร้า’  ไปบดย่อยและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 

ทำไมจึงควรส่ง ‘ขยะกำพร้า’ ให้ N15

ปกติแล้ว ขยะส่วนมากจะถูกนำไปฝังกลบหรือบางส่วนอาจถูกเผาทำลายโดยไม่มีการควบคุมมลพิษ โดยขยะบางประเภทที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น ขยะที่มีส่วนประกอบของพลาสติก จะใช้เวลาย่อยสลายนานับร้อยปี และมีโอกาสหลุดรอดแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกเข้าสู่ธรรมชาติ เป็นภัยต่อสัตว์และตัวมนุษย์อย่างเราๆ  แต่ N15 จะนำขยะเหล่านี้ไปเผาในโรงงานที่มีการควบคุมมลพิษ ควบคุม PM 2.5 มีการบำบัดก๊าซพิษ และยังได้เป็นพลังงานทดแทนการใช้ถ่านหินอีกด้วย 

‘ขยะกำพร้า’ คืออะไรบ้าง

หลักๆ แล้ว ขยะกำพร้าคือ ขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และไม่สามารถรีไซเคิลได้ หรือรีไซเคิลได้แต่ไม่คุ้มกับต้นทุนในการรีไซเคิล รวมทั้งต้องเป็นขยะที่สามารถติดไฟได้ เช่น

  • เสื้อผ้าเก่า ชุดชั้นในเก่า ผ้าขี้ริ้ว
  • ฟูก ที่นอนเก่า (ต้องไม่มีสปริงลวดด้านใน)​
  • ถุงขนมขบเคี้ยวที่เป็นซองพลาสติก (ควรเทเศษอาหารออกให้หมดและไม่จำเป็นต้องล้าง)
  • ถุง refill น้ำยาต่างๆ ที่ใช้ในครัวเรือน (ตากให้แห้ง)
  • ขวดน้ำยาต่างๆ ที่ใช้ในครัวเรือน หลอดยาสีฟัน หลอดดูดน้ำ ขวดบรรจุครีม
  • กระดาษเคลือบมัน กระดาษติดสก็อตเทป
  • เศษพลาสติก
  • โฟม แผ่นซีดี บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต ปากกา
  • ยาหมดอายุ ซองกันชื้น
  • หน้ากากอนามัย ชุดตรวจ ATK (ไม่ใช่ของผู้ป่วยและควรตากแดด ใส่ถุงมัดให้แน่น) ฯลฯ

ขยะที่ไม่รับบริจาค

  • พลาสติกประเภท PVC เช่น สายไฟ ท่อประปา สายยาง หนังเทียม 
  • แก้ว กระเบื้อง เศษเหล็ก ลวด สังกะสี หิน
  • หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลับหมึกเครื่องพิมพ์
  • ร่ม

ช่องทางการส่งต่อ ‘ขยะกำพร้า’

  • ติดตามข่าวสารทางเพจ Facebook: N 15 Technology เพราะปัจจุบัน ทาง N15 มาเปิดจุดรับขยะกำพร้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายแห่ง ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วิธีการส่งต่อก็ง่ายๆ แค่คุณแพ็กขยะกำพร้าใส่ถุงขนาดกำลังดี มัดปากถุงให้แน่น แล้วใส่ท้ายรถ พอขับไปถึงจุดรับบริจาคก็เปิดท้ายรถแล้วเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจะมาช่วยขนขยะลงไป แต่อย่าลืม! เคลียร์ท้ายรถให้เหลือแต่ขยะที่ต้องการส่งต่อเท่านั้น และเช็กให้ดีว่าถุงขยะต่างๆ ไม่รั่ว ไม่ขาด และไม่หนักเกินไป เจ้าหน้าที่จะได้ทำงานกันสะดวกขึ้น
  • เดินทางไปบริจาคหรือส่งไปรษณีย์ไปได้ที่ N15 Technology 700/754 ม.1 ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160 (คุณสมบูรณ์ 086-334-2612)

หลังจากจัดเก็บข้าวของในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยจนเจ้าของบ้านมีความสุขกับการอาศัยอยู่ในบ้านแล้ว การส่งต่อสิ่งของที่ยังสามารถทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ รวมทั้งส่งขยะเหลือใช้ไปกำจัดอย่างถูกวิธีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็นับเป็นความสุขทางใจอีกอย่างหนึ่ง ถ้ายังไม่เชื่อ เราขอท้าให้คุณลองทำดูให้เป็นนิสัย

ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก: plus.thairath.co.th

บทความที่เกี่ยวข้อง